ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 10 เดือน

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 10 เดือน

ฉลาดเรียนรู้

เคล็ดลับสอนลูกให้รู้จักคิดวิเคราะห์

       ด้วยสภาพสังคมที่ซับซ้อนวุ่นวาย ทั้งโลกออนไลน์ และออฟไลน์ อย่างทุกวันนี้  ทำให้คนเป็นพ่อแม่ อดห่วงไม่ได้ว่า ลูกของเราจะเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่นหรือไม่  

       การสอนให้ลูกรู้จักคิด วิเคราะห์แยกแยะถูกผิด จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องปลูกฝังให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ เพื่อให้เขามีหลักคิด ก่อนที่จะทำสิ่งใดลงไป
สิ่งแรกที่จะช่วยให้ลูกรู้จักคิดเป็นคือ เราต้อง..

 

  • เปิดโอกาส ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่คิดแทนลูกไปเสียหมด เป็นการเริ่มต้นเพาะเมล็ดพันธุ์ให้ลูกรู้จักคิด เพราะการที่ลูกจะพูดจะแสดงความคิดเห็นออกมาได้เขาต้องคิดก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยกระตุ้นให้เขาได้คิดกับเรื่องต่าง ๆ รอบตัวอย่างถูกต้อง เหมาะสม

  • กระตุ้นให้ลูกคิดด้วยคำถาม  โดยเฉพาะช่วงที่พ่อแม่ลูกดูโทรทัศน์ร่วมกัน  ไม่ว่าจะเป็นรายการการ์ตูน ข่าวบ้านการเมือง หรือแม้แต่โฆษณา  เหล่านี้เราสามารถหยิบยกมาพูดคุยและถามเพื่อกระตุ้นความคิดลูกได้ โดยต้องไม่ลืมว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่ คำตอบ ว่าถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่  แต่คือกระบวนการที่ลูกได้ใช้ความคิด   จากนั้นค่อยๆ เปิดทางเลือก ชี้ให้ลูกรู้จัก วิเคราะห์แยกแยะข่าวสารที่ได้รับมา ว่าเขาควรจะเชื่อหรือไม่  เพราะอะไร ข้อดี ข้อเสียคืออะไร ผลที่ตามมาคืออะไร ถ้าไม่ได้เป็นอย่างอื่นแทนได้ไหม  ชวนลูกช่วยกันหาทางเลือกหลาย ๆ ทาง เพื่อให้ลูกเห็นตัวอย่างของการคิดหลายแง่มุมและคิดอย่างรอบคอบ...ค่อยๆ ฝึกกันไป ทักษะการคิดวิเคราะห์ต่อข้อมูลต่างๆ จะเกิดกับลูกได้ไม่ยากค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว

ชวนลูกออกกำลังกายนอกบ้าน

       การได้ออกนอกบ้าน ลูกจะได้ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับธรรมชาติ  ซึ่งจะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ ช่วยให้ลูกผ่อนคลาย ได้ออกกำลังกาย ได้พัฒนาการเคลื่อนไหว  ซึ่งกิจกรรมการออกกำลังกายนอกบ้านนั้นมีหลายอย่างเช่น...

  • ชวนลูกปลูกต้นไม้  - ลูกจะไม่ได้แค่ประสบการณ์การเรียนรู้เรื่องการปลูกต้นไม้เท่านั้น แต่การถอนหญ้าและพรวนดินยังทำให้เขาได้เคลื่อนไหว ทั้งลำตัว แขน ขา แม้จะต้องเสียเหงื่อไปบ้าง แต่ลูกจะเพลิดเพลินกับกิจกรรมนี้  และถ้าในสวนมีพืชผักสวนครัวที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ คุณแม่สามารถสอดแทรกเรื่องคุณค่าทางสารอาหารหรือประโยชน์ที่เด็กๆ จะได้รับจากการรับประทานผักเหล่านี้ได้ค่ะ

  • สนามกีฬาจำลอง  - ลองเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้านให้กลายเป็นสนามกีฬาขนาดเล็กดูสิคะ ด้วยการใช้อุปกรณ์อย่างกรวยพลาสติก ถังขยะใบใหญ่ และลูกบอล คุณแม่อาจใช้วิธีตั้งกรวย ให้ลูกวิ่งอ้อม และพยายามโยนลูกบอลให้ลงถังขยะในเวลาเดียวกัน งานนี้ได้ออกกำลังกาย ได้ทั้งเหงื่อและความสนุกแน่ๆ ค่ะ

ฉลาดสื่อสาร

สอนภาษาที่สองลูกวัยอนุบาลอย่างไรดี

       คุณพ่อคุณแม่คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาที่สองได้ดีในวัยก่อน 7 ขวบ และทุกคนก็ต้องการให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ ซึ่งการเรียนรู้จากที่บ้านเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับการเรียนที่โรงเรียน วิธีง่ายๆ ก็คือ  การสร้างบรรยากาศภายในบ้าน สร้างกิจวัตรประจำวันที่มีภาษาอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ลูกรู้สึกว่าภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของทุกคน เช่น เช้าขึ้นมาก็ทักทายลูกว่า Good Morning  ก่อนนอนก็ Good Night รวมทั้งเล่นเกมง่ายๆ ที่สอดแทรกภาษาอังกฤษเข้ามา เพื่อสร้างความสนุกสนานในการเรียนรู้ ประกอบไปด้วย  ก็จะช่วยให้ลูกสนุกกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
       คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจคิดว่า ไม่เก่งภาษาอังกฤษจะสอนลูกได้อย่างไร จริงๆ แล้ว   ความรู้ภาษาอังกฤษของพ่อแม่ส่วนใหญ่เพียงพอที่จะสร้างรากฐานการเรียนรู้ ภาษาอังกฤษให้กับลูกๆ ได้ หรืออย่างน้อยก็พอที่จะสร้างให้ลูกน้อยรักการเรียนภาษาที่สองได้ เพียงแต่ต้องกล้าพูด กล้าบอกเขาด้วยประโยคภาษาอังกฤษง่ายๆ
       เมื่อลูกรู้สึกว่าการใช้ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสนุก เรียกเสียงหัวเราะ สร้างรอยยิ้มให้เขาได้  เท่ากับว่าเราได้สร้างรากฐานที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองให้กับลูกแล้ว ที่สำคัญไม่จำเป็นเลยที่จะต้องฝึกให้ลูกท่องจำศัพท์ภาษาอังกฤษจำนวนมากมายในวัยที่เขาไม่จำเป็นต้องจำ...เรียนอย่างเล่น คือการเรียนรู้ที่ดีกับเด็กๆ มากกว่าค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

เคล็ดลับช่วยลูกรับมือ “เพื่อนจอมเกเร”

       เมื่อลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียน โอกาสที่จะถูกเพื่อนเกเรรังแก ซึ่งจะทำให้ลูกไม่มีความสุขกับการไปโรงเรียนได้ คุณพ่อคุณแม่คงต้องช่วยเตรียมลูกให้ดี หากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ถูกเพื่อนแกล้ง หรือมีจอมเกเรร่วมห้อง

สิ่งที่คุณแม่ควรทำคือ...

  • อย่าเพิกเฉยเมื่อลูกเล่าว่า ถูกรังแก  เพราะลูกต้องใช้ความกล้าอย่างมากเพื่อมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง ฉะนั้นจึงควรตั้งใจฟัง แสดงความคิดเห็น และพยายามเข้าใจความรู้สึกของลูกให้มากที่สุด เพราะการถูกเพื่อนแกล้งสำหรับเด็กนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา (แม้บางครั้งผู้ใหญ่จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย)

  • ควบคุมอารมณ์  เมื่อคุณแม่รับทราบว่าลูกถูกแกล้ง  ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อน อย่าโวยวายตำหนิลูก ว่าอ่อนแอ หงอจนถูกเพื่อนแกล้ง หรืออย่าทําให้ลูกต้องวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น หรือเข้าข้างลูกจนเกินเหตุ คุณแม่ควรใจเย็น ฟังลูกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเห็นอกเห็นใจ ต้องพยายามถามถึงรายละเอียดอย่างชื่อคนมารังแก เวลา สถานที่ เหตุการณ์แวดล้อมต่างๆ เพื่อค้นหาสาเหตุว่าการถูกรังแกนั้นมาจากลูกของเราหรือมาจากเด็กที่มารังแกลูก จากนั้นร่วมกันกับลูกในการแก้ไขปัญหา

  • บอกลูกก่อนลงมือจัดการ โดยทำให้ลูกมั่นใจว่า สิ่งที่คุณแม่จะทำนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อลูก ว่าลูกจะไม่ถูกรังแกเพิ่มขึ้นและไม่ถูกกีดกันออกจากลุ่มเพื่อน

  • แนะนำให้ลูกลดการตอบสนอง และสอนให้ลูกรู้จักแก้ปัญหา โดยสอนให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะจะทำให้เขากล้าแสดงออก กล้าทำในสิ่งต่าง ๆ และผลักดันให้เขากล้าที่จะบอกกล่าว หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อถูกรังแกด้วยตัวของเขาเอง รวมทั้งสอนลูกให้รู้จักระวังตัวเอง เช่น  รู้จักหลบเลี่ยงไม่ไปเล่นกับเพื่อนที่ชอบรังแกคนนั้น หรือไปไหนก็ไปเป็นกลุ่ม ไม่อยู่ลำพังคนเดียว

  • อย่าให้ลูกตอบโต  ที่สำคัญ ไม่ควรแนะให้ลูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงเมื่อถูกรังแก เพราะจะบ่มเพาะทัศนคติเรื่องการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาให้ลูก หากเป็นไปได้ลองให้ลูกสร้างสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนเกเรคนนั้นแทน เช่น อาจจะชวนทานขนม ชวนเล่นของเล่นด้วยกัน อาจทําให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นได้

  • พูดคุยและขอความร่วมมือกับคนที่เกี่ยวข้อง หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ถึงเวลาที่คุณแม่ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยลูก โดยอาจปรึกษาคุณครู ให้คุณครูช่วยดูแลอีกทางหนึ่ง หรือพูดคุยปรึกษากับผู้ปกครองของเด็กคนนั้นและหาทางคลี่คลายเรื่องนี้ร่วมกัน โดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์  

       ความเข้าใจและการจัดการด้วยความใจเย็นของคุณแม่ จะช่วยให้ลูกผ่านปัญหานี้ไปได้ และมีความสุขกับการไปโรงเรียนค่ะ

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 4 ปี 10 เดือน
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner