ฉลาดเรียนรู้

ฝึกหนูเรียนรู้การแก้ปัญหา

       เวลาที่ลูกมีปัญหา หากเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แทนที่คุณแม่จะยื่นมือเข้าช่วยทุกครั้ง ควรใช้วิธีกระตุ้นให้ลูกคิดหาทางแก้ปัญหาเอง มิเช่นนั้นลูกจะไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เลย  และคอยที่จะขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่หรือคนรอบข้างอยู่ตลอด ปัญหาบางเรื่องถ้าลูกแก้ไม่ได้ คุณแม่ก็ควรชี้นำหรือเสนอทางเลือก 2-3 ทาง ไม่ใช่คอยแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จเรียบร้อยทุกครั้ง

       คุณแม่จะต้องให้เวลาในการอยู่กับลูก ให้ลูกเล่าถึงปัญหา จากนั้นก็ลองให้ลูกคอยหาวิธีแก้ปัญหาหลายๆ ทาง แล้วให้ลูกเลือกทางแก้หรืออาจจะช่วยให้กำลังใจ ช่วยเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาให้ คอยสนับสนุนและให้กำลังใจลูก สอนวิธีคิดให้ลูก อย่างน้อยก็กระตุ้นให้เข้ากล้าที่จะเผชิญปัญหาก่อนที่จะหนีปัญหา
       ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการของเด็กบอกว่า เด็กที่มีความสามารถคิดแก้ปัญหาซับซ้อนได้ตั้งแต่วัยเล็กๆ นั้น มีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดี ทั้งนี้เพราะความยินดี ความพึงพอใจของเด็กที่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาได้สำเร็จตั้งแต่วัยเล็กๆ (Early Success) จะเป็นแรงผลักดันให้เขามีความต้องการ มีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งอื่นๆ เพิ่มขึ้น และต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการด้านต่างๆ ก้าวหน้าได้

 

ฉลาดเคลื่อนไหว

เล่นรับส่งลูกบอลพัฒนากล้ามเนื้อ

       นอกจากการเตะลูกบอลแล้ว คุณแม่สามารถนำลูกบอลมาใช้เล่นกีฬาในแบบอื่นๆ ได้อีกหลายวิธี เพื่อทำให้ลูกไม่เบื่อกับการเล่นแบบเดิมๆ  เป็นต้นว่า คุณพ่อคุณแม่ลองนั่งกางขาต่อกันกันเป็นวงกลม แล้วใช้มือกลิ้งลูกบอลส่งต่อกันไปมา หรือจะใช้วิธีโยนลูกบอลให้อยู่ในวงก็ได้ ลูกจะได้ฝึกการใช้มือจับลูกบอลได้มั่นคงขึ้น  ซึ่งการที่ได้จับลูกบอลอย่างมั่นคง การใช้มือเลี้ยงลูกบอล การโอบกอดลูกบอลนั้น จะช่วยให้กล้ามเนื้อแขนและมือทั้งสองข้างและนิ้วของลูกแข็งแรงขึ้น  ช่วยทำให้เขาหยิบจับสิ่งอื่น ๆ ได้ดีขึ้นด้วย
       หรืออาจชวนสมาชิกในบ้านมาล้อมวงส่งต่อลูกบอลด้วยเท้า เป็นฝึกทักษะการควบคุมบอลด้วยปลายเท้า จะทำให้สมองเกิดการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างอวัยวะต่างๆ จะช่วยให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อ ประสาทสัมพันธ์ทั้งตา มือ ขา แขน  รวมถึงการพัฒนาทางสังคมเพราะต้องเล่นกับคนอื่นจึงจะสนุก  ช่วยให้รู้จักกฎกติกา ฝึกความแม่นยำ  ฝึกการเคลื่อนไหวอย่างมีเป้าหมายด้วยค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

แก้ปัญหาลูกพูดเสียงดัง

       คุณแม่เคยเจอปัญหาลูกชอบพูดเสียงดัง บางครั้งอาจถึงขั้นตะโกนใส่หน้าแม่โดยคิดว่าเป็นการพูดปกติธรรมดา จนคุณแม่ต้องคอยปรามกันอยู่บ่อยๆ ไหมคะ สิ่งนี้อาจส่งผลต่อการสื่อสารของลูกได้  มี 6 วิธีแก้ปัญหาลูกชอบพูดเสียงดังมาแนะนำกันค่ะ

1. ทำให้ดู
       ต้องเริ่มที่คุณพ่อคุณแม่เอง ผู้ใหญ่เองก็มีช่วงเวลาที่เสียงดังออกมาได้เวลาดีใจหรือตื่นเต้นมากๆ แต่นั่นควรทำเป็นนานๆ ครั้ง เวลาออกไปข้างนอกเราก็ต้องคุยกับลูกด้วยเสียงที่ไม่ดังมาก แล้วลูกก็จะทำตาม

2. ลดเสียงลง
       เวลาลูกพูดกับคุณแม่เสียงดัง  คุณแม่ควรจะตอบด้วยเสียงที่เบาและนิ่มนวลกว่า ทำมือหรือทำหน้าให้ลูกรู้ว่าเสียงลูกดังเกินไปแล้วนะ ทำให้ลูกรู้ว่าพูดเบาๆ ก็ได้ยินค่ะ

3. ไม่ยอมรับ
       ถ้า 2 ข้อแรกทำแล้วไม่ได้ผล ก็ทำเป็นไม่สนใจ ไม่ยอมรับลูกเวลาลูกพูดเสียงดัง บอกลูกว่าแม่ไม่เข้าใจว่าลูกพูดอะไรเพราะลูกพูดดังเกินไป สอนให้ลูกพูดด้วยเสียงนิ่มนวลปกติเพื่อให้ลูกได้ตั้งสติก่อนพูดด้วย

4. อย่าตะโกนใส่ลูกว่าให้เงียบ
       พยายามพูดกับลูกด้วยคำพูดในแง่บวก เช่น บอกลูกให้มาใกล้ ๆ แม่ แล้วถามว่าอยากได้อะไรเหรอจ๊ะ บอกแม่เสียงเบาๆ น่าฟังสิลูก

5. ชมลูกเมื่อพูดด้วยเสียงเบา
       การให้รางวัลด้วยการชมลูกเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณแม่อาจจะไม่ต้องใช้คำชมทุกครั้ง เมื่อลูกเริ่มพูดเสียงเบาได้บ่อย ๆ ครั้งต่อ ๆ ไป เพียงแค่ยิ้มแบบภาคภูมิใจให้ลูกเห็นก็พอแล้ว

6. พูดสลับดัง-เบา   
       ถ้าวิธีต่างๆ ข้างต้นไม่ได้ผล ให้บอกลูกพูดดังๆ (ทำขณะอยู่บ้าน)  เสร็จแล้วก็ให้ลูกลองพูดคำเดิมแต่เป็นแบบเบา ๆ แล้วถามลูกว่าลูกรู้สึกถึงความแตกต่างมั้ย  บอกให้ลูกรู้ว่าเวลาเราอยู่ที่เงียบๆ พูดเบาๆ ก็พอแล้ว เขาจะได้เข้าใจว่าสถานการณ์ไหนควรใช้เสียงดัง สถานการณ์ไหนควรจะเบา ซึ่งเป็นทักษะหนึ่งของการสื่อสารค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

สอนลูกให้มีความมั่นคงทางอารมณ์

       พ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูกเป็นเด็กร่าเริงแจ่มใส มีความมั่นคงทางอารมณ์ แต่การที่คอยปกป้องไม่ให้อะไรมากระทบกระเทือนจิตใจ จะทำให้ลูกไม่รู้วิธีรับมือกับความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องหาวิธีฝึกลูกให้มีความมั่นคงทางอารมณ์ให้ได้

  • รู้จักฟัง   - ฟังให้รู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของลูกว่าตอนนั้นเขารู้สึกแย่มากน้อยแค่ไหน การฟังอย่างเข้าใจจะช่วยเรื่องกำลังใจได้มาก ทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้นพอที่จะรับมือกับช่วงเวลาที่เลวร้ายได้

  • ซักไซ้ไล่เลียง  - พ่อแม่คงต้องฝึกตัวเองให้รู้จักถามเพื่อที่จะได้คำตอบที่ต้องการ การถามจึงเป็นศิลปะอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเวลาถามเด็ก ต้องทำให้ลูกไว้วางใจในตัวคุณแม่และเปิดใจเล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นและทำให้เขารู้สึกแย่อย่างไร

  • ให้ได้ระบายความในใจ   - การได้ระบายความรู้สึกที่แท้จริงเป็นเหมือนการยกภูเขาออกจากอก ทำให้รู้สึกโล่ง การระบายความรู้สึกของเด็กอาจจะออกมาในรูปตัดพ้อต่อว่าหรือร้องไห้ก็ได้ ถ้าออกมาในการตัดพ้อต่อว่า ต้องพยายามจูงใจให้ใช้คำพูดที่ไม่ก้าวร้าว ที่จะช่วยให้เด็กอารมณ์เย็นลงและมีสติมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวเด็กเองเมื่อโตขึ้น