ฉลาดเรียนรู้

เคล็ดลับเพิ่มสมาธิลูกน้อยวัยอนุบาล

       สมาธิเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนรู้  สมาธิสำหรับเด็ก คือ การฝึกเด็กให้ความสนใจหรือจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแน่วแน่และตั้งใจในชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาการ และความเพลิดเพลินควบคู่กันไป แต่ในวัยเด็ก การจะจับให้เด็กมาสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นัก แต่ก็ใช่ว่าจะส่งเสริมกันไม่ได้  วิธีที่จะช่วยให้เด็กวัยอนุบาลจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้นานขึ้น ก็ได้แก่... 

  • เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำอะไรๆ ด้วยตัวเองบ้าง  อาจเริ่มจากให้เด็กฝึกแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองก่อน เช่น ให้เด็กหยิบของ หรือแกะขนมด้วยตัวเอง เพราะขณะที่เขากำลังพยายามทำสิ่งนั้นอยู่ เขาต้องใช้สมาธิจดจ่อกับการกระทำนั้นๆ พอสมควร

  • ให้ลูกได้สัมผัสธรรมชาติบ้าง การให้เด็กได้คุ้นเคยกับธรรมชาติ จะช่วยให้เขาสงบนิ่งมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากการพาไปเดินสวนสาธารณะแล้วให้เขาสังเกตสิ่งต่างๆ หรือพาไปเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูก และให้เขาดูแลต้นไม้ของเขาเองจนโต

  • ชวนลูกทำกิจกรรมนั่งโต๊ะ กิจกรรมต่างๆ ที่ทำบนโต๊ะเตี้ยๆ เช่น การต่อบล็อก วาดภาพ ฉีก ปะ ปั้น ต่อจิ๊กซอว์ ร้อยลูกปัด ฯลฯ  ล้วนต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มือ และตาที่กว่าจะสำเร็จเป็นชิ้นงาน เด็กต้องนั่งใช้สมาธิ จดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า

ฉลาดเคลื่อนไหว

วาดรูปคน พัฒนากล้ามเนื้อมือ

       สำหรับผู้ใหญ่ การวาดรูปคนอาจจะไม่ยาก แต่สำหรับเด็กแล้ว เรื่องนี้ต้องอาศัยพัฒนาการที่เป็นลำดับขั้นตอนกว่าเขาจะวาดรูปคนที่มีส่วนหัว ลำตัว แขนและ ขาครบ  พัฒนาการของเด็กเรื่องการวาดคนจะเริ่มดังนี้ คือในวัย 2-3 ปี จะวาดได้เฉพาะวงกลมที่เป็นใบหน้า โดยเกิดจากแรงบันดาลใจจากรูปวงกลม  อีกสักระยะจึงมีแขน ขา เพิ่มขึ้น   เมื่อย่างเข้าวัย 4 ปี  เด็กจะสามารถวาดรูปคนมีส่วนหัว ลำตัว แขนและ ขา  นั่นเป็นเพราะเด็กใช้แขน – ขาได้มากขึ้น และแขนขาของผู้อื่นมีความสัมพันธ์กับเด็กเป็นอันมาก  เด็กเล็ก ๆ รู้สึกต่อแขน – ขาของผู้ใหญ่ใช้โอบอุ้มเลี้ยงดู   ดังนั้นเด็กจึงเริ่มวาดรูปโดยมี หัว แขน ขา ก่อน เป็นการวาดตามความรู้สึก  รายละเอียดต่าง ๆ ยังถูกละเลยแต่จะเพิ่มเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งพอย่างเข้า 5 ปีจะสามารถเติมผม หู มือ และเท้าได้
       ลองชวนลูกวาดรูปคนดูสิคะว่าตอนนี้พัฒนาการการวาดหน้าคนของลูกอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว...

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

นิทานลูกจบเอง...ฝึกคิดและจินตนาการ

       การเล่านิทาน หรือแม้แต่เรื่องราวต่างๆ ที่สนุกสนานให้ลูกฟัง นอกจากจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ทักษะการฟังและทักษะด้านภาษาของเขาแล้ว คุณแม่ยังจะช่วยให้เขามีการคิดและจินตนาการมากขึ้นได้ด้วย
       วิธีง่ายๆ คือ เมื่อคุณแม่เล่านิทานใกล้จะถึงตอนจบของเรื่องก็ให้หยุดเล่า แล้วลองให้ลูกช่วยคิดต่อว่า นิทานเรื่องนั้นจะจบอย่างไรดี บางครั้งลูกอาจจะจบเรื่องไม่ตรงตามในหนังสือหรือในนิทาน แต่กลับเป็นเรื่องในแบบที่คุณแม่เองก็คิดไม่ถึงว่าลูกคิดได้อย่างไร หลายครั้งเด็กๆ ก็ทำให้เราทึ่งในความคิดของเขา คุณแม่เองก็อาจจะสนุกสนานไปกับความคิดของลูกด้วยก็ได้ค่ะ
       การเล่าตอนจบเรื่องนิทานของลูกนั้น คุณแม่ต้องใจกว้างและรับฟังทุกความคิดของลูกนะคะ แม้ลูกจะคิดตอนจบของเรื่องได้ไม่ถูกใจคุณแม่ก็ตาม คุณแม่อาจคิดว่าจบแบบอื่นดีกว่าตั้งเยอะ แต่ขอให้ยอมรับในความคิดและจินตนาการของลูก  อย่าพูดว่า “จบแบบนั้นไม่ดีเลย จบแบบนี้ดีกว่า” แล้วก็บรรยายตอนจบในแบบที่คุณแม่คิดให้ลูกฟัง  เพราะถ้าเป็นแบบนั้น เมื่อลูกรู้สึกว่าโดนขัดความคิดอยู่บ่อยๆ หรือความคิดของเขาถูกปฏิเสธไม่ได้รับการยอมรับ  ครั้งต่อไปลูกก็จะกลายเป็นเด็กไม่อยากคิด เพราะคิดไปแล้ว คุณแม่ก็เปลี่ยนทุกครั้ง ขอให้คุณแม่นึกไว้เสมอว่าจินตนาการไม่มีสิ่งใดผิดหรือถูก การที่ลูกคิดต่างจากคุณแม่ นับเป็นสิ่งที่ดี เพราะถือเรื่องเฉพาะบุคคลที่ควรส่งเสริมค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

สอนลูกรู้จักการขอโทษ

       เด็กในวัย 4 ขวบนี้ กำลังเรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์มากขึ้น คุณแม่ต้องพยายามให้เขาเรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เขาควรพูดคำว่า “ขอโทษ”  อย่าให้เขาแค่พูดเป็นเฉยๆ แต่ต้องรู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ขอโทษ” ด้วย เวลาพูดต้องให้ชัดถ้อยชัดคำ ไม่ใช่การพึมพำอยู่ในลำคอ  และควรทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง เช่น เวลาคุณแม่ทำผิดก็พูดคำว่า “ขอโทษ” ให้ลูกเห็น เขาจะเรียนรู้จากเราได้เองค่ะ หรืออาจจะเล่าเรื่องเป็นสถานการณ์ขึ้นมา อย่างเช่น  “ถ้าหนูกับเพื่อนทะเลาะกัน หนูจะทำยังไง ถ้าเขายังไม่พูดคำว่าขอโทษ”  หรือคุณแม่เราอาจถามนำได้ว่า “หนูจะทำให้ทุกคนรู้สึกดีได้ยังไง” ถ้าเขาไม่ตอบเรา อาจตอบนำให้ฟังว่า ถ้าเป็นแม่นะคะ แม่จะพูดคำว่าขอโทษ
       เวลาที่ลูกใช้คำว่า “ขอโทษ”  คุณแม่ควรชมเชยด้วยว่าเขาทำถูกต้องแล้วจ๊ะ น่ารักมากค่ะลูก เขาจะเรียนรู้ได้ว่าเขาทำดีแล้ว และต่อไปเมื่อเขาทำอะไรไม่ดีหรือว่ารู้สึกผิดต่อใคร เขาจะรู้จักขอโทษด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องให้คุณแม่คอยบอก และเขาจะรู้สึกภูมิใจที่ตนเองได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อความฉลาดด้านอารมณ์ของเขาค่ะ