ฉลาดเรียนรู้

เคล็ดลับเติมเต็มสมาธิ เพื่อการเรียนรู้ที่ยาวนานกว่า

       มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า สมาธิสัมพันธ์กับสมอง เพราะเวลาเด็กนิ่งเป็นเวลานานระยะหนึ่ง สมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) จะเกิดการทำงานของคลื่นสมองแอลฟา (Alpha) ได้ดี ทำให้เด็กเกิดการจำ การเรียนรู้ และการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย สมาธิจึงสัมพันธ์กับการเรียนรู้ของเด็กด้วย

       เคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณสามารถส่งเสริมสมาธิให้ลูก เพื่อส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขาทำได้ดังนี้

 

  • เข้าใจธรรมชาติของลูก ว่าวัยนี้มีพัฒนาการเรียนรู้และอารมณ์อย่างไร เพื่อเสริมกิจกรรมได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม

  • จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์สมาธิ เช่น บ้านไม่รก ไม่มีเสียงรบกวน เป็นต้น

  • ดนตรีและศิลปะเป็นกิจกรรมที่ชวนให้เด็กๆ เพลิดเพลินและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้นาน

  • การอ่านสร้างสมาธิให้ลูกได้ เพราะขณะที่ฟังนิทาน เขาได้มีโอกาสฝึกการใช้ประสาทสัมผัส การมองสีหน้า ท่าทางของพ่อแม่ขณะเล่า ฝึก ประสาททาง หู ในการฟัง และปากในการพูดตาม รวมทั้งการใช้สมาธิจดจ่อในเรื่องราวที่พ่อแม่เล่า ซึ่งเด็กจะจดจำเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างไม่น่าเชื่อ

  • สนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตว่า ลูกชอบหรือสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ เช่น ลูกสนใจเรื่องไดโนเสาร์ แมลง ฯลฯ ก็ควรกระตุ้นความอยากรู้ของ ด้วยการตั้งคำถามและข้อสงสัย แล้วท้าทายให้ลูกแสวงหาคำตอบ เช่น ค้นคว้าจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต ไปตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สมาธิจดจ่อในการศึกษาเรื่องที่สนใจยาวนานขึ้นได้

       การมีสมาธิจะช่วยให้ลูกน้อยเกิดความฉลาดเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว

ชวนลูกว่ายน้ำ พัฒนากล้ามเนื้อ

       การเล่นกีฬาเป็นสิ่งสำคัญ วัยนี้สามารถเล่นกีฬาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้แล้ว  คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกกีฬาที่เหมาะสมกับวัยของลูก เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะกีฬาบางอย่างอาจจะต้องอาศัยกล้ามเนื้อที่แข็งแรง หรือมีการกระแทกมากเกินไป ซึ่งยังไม่เหมาะกับลูกนัก  กีฬาบางชนิดอาจจะต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ ”การว่ายน้ำ”
       คุณพ่อคุณแม่ควรให้คุณครูสอนว่ายน้ำลูก เพราะครูสอนว่ายน้ำจะมีเทคนิคและวิธีการสอน ที่ทำให้เด็กคุ้นเคยกับน้ำ คุณพ่อคุณแม่อาจจะสอนว่ายน้ำให้กับลูกเองก็ได้ แต่ควรระวังอย่าทำให้ลูกกลัวน้ำตั้งแต่ต้น เพราะจะทำให้ลูกเกิดความกลัวฝังใจ และจะเป็นการยากที่จะสอนว่ายน้ำให้กับลูกในอนาคต

       เด็กทุกคนควรมีโอกาสที่จะได้ว่ายน้ำ และรู้จักการว่ายน้ำที่ถูกต้อง เพราะการว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด เด็กได้พัฒนาร่างกายและกล้ามเนื้อแทบทุกส่วน และยังสามารถทำให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ระดับหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น
       ยิ่งไปกว่านั้นเด็กส่วนใหญ่ชอบการเล่นน้ำ ดังนั้นบางครั้งเราอาจจะไม่สามารถดูแลเด็กได้ตลอดเวลา เขาอาจจะไปเล่นน้ำโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ การที่เด็กว่ายน้ำเป็น ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เบาใจได้ว่าเด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เมื่ออยู่ในน้ำ...เรียกว่าได้พัฒนาเคลื่อนไหวร่างกาย ยังช่วยให้ลูกปลอดภัยได้ด้วยค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

สอนลูกอ่านหนังสือ พัฒนาภาษา

       คุณแม่อาจคิดว่าการสอนให้ลูกอ่านหนังสือนั้นเป็นหน้าที่ของคุณครู เพราะเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าที่คุณแม่จะทำได้ อันที่จริงแล้ว ไม่ยากเกินไปหรอกค่ะ เพราะในหนังสือเรียนก็จะมีวิธีการสอนอธิบายอยู่ในนั้นอยู่แล้ว ลองดูนะคะ
       เริ่มจาก พยัญชนะ + สระ (ยังไม่มีตัวสะกด) เช่น

กา ให้อ่านว่า กอ-อา-กา
มี ให้อ่านว่า มอ-อี-มี

       ควรเริ่มจากสระทีละตัว เช่น สระอา คุณแม่ก็เอาพยัญชนะ ผสมกับ สระอา เช่น กา ขา คา มา นา ยา วา ลา สา อา หา ฯลฯ ให้ลูกอ่านไปเรื่อยๆ จนเข้าใจ และจำได้ ค่อยเริ่มสระตัวต่อไป เช่น สระอี มี พี ที สี ยี ปี ฯลฯ เพิ่มไปทีละตัวค่ะ ลูกจะเข้าใจหลักการผสมคำไปเอง นอกจากสอนลูกอ่านโดยวิธีนี้แล้ว ยังสามารถสอนเป็นคำๆ ไปพร้อมกันได้ โดยคุณแม่อาจจะทำเป็นบัตรคำ ให้ลูกดูบ่อย ๆ เขาจะจำได้เช่น คำว่า กบ ให้อ่านว่า กอ-โอะ-บอ-กบ ค่ะ
       การสอนอ่านของเด็ก ควรเริ่มจากสระเสียงยาวก่อนค่ะ คือเอาพยัญชนะต้นมาประสมกับสระเสียงยาว ยังไม่ต้องใส่ตัวสะกดนะคะ เช่น

อา มา หา ตา , อีกา มา หา ปู,
อีกา มา ดู งู , ตา มา ตี งู,

       คือเอาคำเหล่านี้สลับที่แล้วความหมายจะเปลี่ยน  พอลูกเริ่มสนุกและแม่นสระเหล่านี้แล้ว ก็เริ่มเพิ่มตัวสะกดเข้าไป แต่ลูกวัยนี้ยังไม่ควรเร่งให้ถึงขั้นนั้น  เพราะถ้ายากขึ้นลูกจะเบื่อเร็วขึ้นค่ะ
       คุณแม่ต้องมีความอดทนค่ะ ชวนกันเล่น ชวนกันอ่านวันละ 5 นาที ถ้าเขาอ่านได้สักคำนึง ก็ชมเขาดังๆ   ลูกจะสนุกกับการอ่านและอยากอ่านให้เราฟัง ลองดูนะคะ และเมื่อถึงวันที่ลูกเก่งด้านการอ่านแล้ว เรื่องตัวสะกด สระเสียงสั้น และวรรณยุกต์ก็จะตามมาในที่สุดค่ะ ค่อยๆ สอนกันไปนะคะ

ฉลาดด้านอารมณ์

เคล็ดลับรับมือลูกขี้อาย

       อาการขี้อายเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน โดยเฉพาะเวลาเด็กๆ เจอคนแปลกหน้า  บางคนมักจะหลบๆ ซ่อนอยู่หลังแม่ ไม่กล้าออกมาพบปะพูดคุย
       ถ้าลูกขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก คุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกด้วยการ...

  • เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับคนอื่น เพื่อเป็นการเรียนรู้ทักษะทางสังคมในการกล้าแสดงออก

  • พยายามให้ลูกได้ตัดสินใจด้วยตนเองในเรื่องต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น  ถามว่า “วันนี้ลูกอยากกินข้าวกับอะไรจ๊ะ แม่ให้ลูกเลือก” “แม่อยากซื้อเสื้อผ้าสวย ๆ ให้ลูกใส่  เลือกลองเลือกสิว่าชอบตัวไหน”

  • ให้อิสระลูกในการเล่น การเลือกสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา

  • ชื่นชมลูก  เมื่อลูกสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง ให้คุณแม่แสดงความชื่นชมต่อลูกทันที ซึ่งจะทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
    คุณแม่ควรพยายามดึงส่วนที่ดีหรือเด่นในตัวลูกให้แสดงออกให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกมีโอกาสแสดงจุดเด่นของตนเอง

       ดังนั้น เมื่อไรที่ลูกทำดี หรือคุณแม่มองเห็นข้อดีอะไรในตัวลูก แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ให้ชื่นชมลูกค่ะ เด็กที่รู้สึกดีกับตนเองมักจะกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้องค่ะ เด็กส่วนใหญ่จะมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ หากได้ลองทำแล้วเกิดผลสำเร็จแล้วมีคุณพ่อคุณแม่ชื่นชม ลูกก็จะมั่นใจขึ้นเพราะรู้ว่ามีคนที่คอยสนับสนุนเขาอยู่เสมอค่ะ