ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 5 ปี 11 เดือน

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 5 ปี 11 เดือน

ฉลาดเรียนรู้

สร้างสรรค์และฉลาดเรียนรู้ผ่านการวาดรูประบายสี

       การวาดรูประบายสีนั้น นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถช่วยในการพัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของลูกได้ดี  อย่างที่เราทราบกันว่าสมองของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่สำคัญ คือ ส่วนของความคิดที่เป็นเหตุผล (Logic) และส่วนที่เป็นความคิดด้านจินตนาการ (Imagination) การวาดรูประบายสีก็จะทำให้เด็กสามารถแสดงจินตนาการออกมา คุณพ่อคุณแม่จะพบว่าจินตนาการของเด็กจะกว้างไกลอย่างคาดไม่ถึง การเปิดโอกาสให้เด็กวาดรูป จะช่วยให้คุณแม่ทราบได้ว่าลูกกำลังมีความคิดในเรื่องอะไรอยู่ ลูกจะเรียนรู้วิธีการถ่ายทอดความคิด และอารมณ์ผ่านรูปวาดของเขา

       ยิ่งไปกว่านั้นคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถสอดแทรกความรู้ต่างๆ เข้าไปได้ในขณะที่ลูกกำลังวาดรูป เช่น การสอนให้ลูกรู้จักแยกแยะสี เช่น สีไหนคือสีแดง สีไหนคือสีเขียว และรูปต่างๆ ที่ลูกอยู่นั้น ในธรรมชาติหรือในความเป็นจริง มีสีอะไร  เช่น เมื่อลูกวาดต้นไม้ ก็ควรจะระบายสีเขียว หากวาดดอกไม้ก็ควรจะใช้สีที่สดใสอย่างสีส้มหรือสีแดง นอกจากเรื่องสีแล้ว ลูกยังได้เรียนรู้ด้านรูปทรงต่างๆ ด้วย เช่น สี่เหลี่ยม วงกลม คุณแม่อาจชวนให้ลูกวาดดวงจันทร์ พร้อมกับถามว่าดวงจันทร์กลมๆ วาดอย่างไรนะ ลูกจะเรียนรู้ได้ทันทีว่าดวงจันทร์ที่เห็นอยู่ทุกคืนนั้น มีรูปทรงกลมนั่นเอง  เรียกว่าได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และยังช่วยให้ฉลาดเรียนรู้ด้วย

 

ฉลาดเคลื่อนไหว

ฉลาดเคลื่อนไหวบนจักรยาน 2 ล้อ

       ลูกน้อยวัยนี้สามารถขี่จักรยาน 2 ล้อได้แล้ว เพราะร่างกายแข็งแรง และสามารถทรงตัวได้ดีพอ นอกจากนี้ ยังเริ่มเข้าใจทิศทาง และรู้จักสังเกตถนนหนทางแล้ว เราจึงมาฝึกลูกขี่จักรยาน 2 ล้อ เพื่อพัฒนาการเคลื่อนไหวกันค่ะ 
       เริ่มต้นด้วยการให้ลูกได้ฝึกฝนทักษะการทรงตัวบนจักรยานที่จอดอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวเสียก่อน  ปรับเบาะให้ลงต่ำจนเท้าลูกแตะพื้นได้ สอนวิธีใช้เบรคอย่างถูกต้อง และฝึกฝนจนกว่าจะทำได้คล่อง จึงให้ได้ลองขี่จริง จากนั้นหาถนนเงียบๆ  เช่น ในสวนสาธารณะ เพื่อให้ลูกได้ลองขี่  ก่อนอื่น คุณแม่อาจให้ลูกลองนั่งนิ่งๆ บนอานจักรยาน แล้วใช้ปลายเท้าไถไปกับพื้นไปก่อน เพื่อเสริมการทรงตัวที่ดี กำหนดเป้าหมายที่จะให้ลูกไป  
       เมื่อรู้สึกว่าลูกพร้อมแล้ว  ให้ลูกใช้ปลายเท้าไถไปกับพื้นช้าๆ แล้วค่อยๆ เริ่มเร็วขึ้น จากนั้นก็ปั่นจริงเลย  ควรปรับเบาะที่นั่งให้ต่ำ เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และมั่นใจว่าถ้าจะล้มก็เอาเท้าแตะพื้นก็ได้  คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกปั่นไปเรื่อยๆ และปั่นให้เร็วขึ้นๆ โดยมีคุณแม่วิ่งประคองไปด้วย อาจจะฟังดูอันตราย แต่วิธีนี้จะช่วยให้ลูกทรงตัวได้อย่างสมดุล  แรกๆ ลูกอาจล้มได้บ้าง แต่หัดไปเรื่อยๆ ไม่นานลูกก็จะปั่นได้   ถ้ารู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจ คุณแม่อาจหาหมวกกันน็อค สนับเข่า และสนับศอกให้ลูกน้อยใส่เพื่อป้องกันอันตรายได้ค่ะ 
       การปั่นจักรยาน 2 ล้อได้ ช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ให้ลูกได้อย่างรอบด้านทีเดียว อย่าลืมชมลูกเมื่อเขาปั่นได้นะคะ...

ฉลาดสื่อสาร

คำพูดที่ลูกอยากได้ยิน

       การสื่อสารด้วยคำพูดที่ถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ ที่เต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ ความห่วงใย ช่วยให้ลูกมีความสุข รู้สึกอบอุ่น ซึ่งถ้อยคำดีๆ เหล่านั้น มีดังนี้    

  • ถ้อยคำเชิงบวกที่ให้กำลังใจ  เช่น “แม่ภูมิใจในตัวหนูจริง ๆ หนูทำได้ดีมากจ้ะ” “ลูกทำได้แล้ว ยอดเยี่ยมมาก” “ลูกเป็นเด็กดีมีน้ำใจที่ช่วยแม่ทำงานบ้าน” ฯลฯ  จะช่วยทำให้ลูกมีกำลังใจที่ดีในการต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่เขาต้องเผชิญและมีความกระตือรือร้นที่อยากจะทำในสิ่งที่ดีๆอยู่เสมอ เพราะรู้สึกว่าหากทำดีแล้วก็จะเกิดผลดีตามมา อย่างน้อยคือพ่อแม่ภูมิใจในตัวเขา เชื่อมั่นว่าเขาเก่งและยอมรับในตัวเขา

  • ถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความรัก เช่น “พ่อแม่รักลูกที่สุดเลยนะจ๊ะ” “ลูกคือคนพิเศษสำหรับพ่อแม่นะ” “พ่อแม่รู้สึกมีความสุขที่สุดเลยที่มีหนูเป็นลูก” ถ้อยคำที่แสดงความรักของพ่อแม่จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น มีความสุข และก่อเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้จะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของลูก คือจะทำให้ลูกเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีต่อการดำเนินชีวิต เขาจะเป็นคนที่มีจิตใจที่ดีงาม เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ไม่เห็นแก่ตัว และพร้อมที่จะแบ่งปันความรักไปให้แก่คนอื่นๆอีกมากมายเหมือนที่เขาได้รับมาจากพ่อแม่นั่นเอง

  • ถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความห่วงใย เช่น “เล่นดีๆ ระวังตัวนะลูก” “ค่อยๆทำนะลูก พ่อแม่จะอยู่เป็นเพื่อนลูกตรงนี้ไม่ไปไหนหรอก” “พ่อกับแม่เป็นห่วงหนูนะจ๊ะ” ถ้อยคำที่แสดงออกถึงความห่วงใยที่มีต่อลูกนั้น จะช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงในอารมณ์ให้กับลูก โดยให้ลูกมีความมั่นใจว่าไม่ว่าเขาจะทำอะไรหรืออยู่ที่ไหน พ่อแม่จะคอยอยู่เคียงข้างเขาเสมอ และสิ่งนี้จะเป็นการฝึกให้ลูกเป็นคนที่รู้จักห่วงใยผู้อื่นด้วยเช่นเดียวกันค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

สอนลูกควบคุมอารมณ์

       เมื่อลูกมีอาการโกรธ โมโห ไม่ใช่เป็นสิ่งไม่ดี หรือเป็นความผิด แต่เป็นอารมณ์ที่เด็กต้องการส่งสัญญาณบางประการให้พ่อแม่ได้รับรู้ว่าหนูเกิดความไม่พอใจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องหาทางช่วยให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ได้ ดังนี้

  • พ่อแม่ควรตรวจสอบตัวเองก่อนว่าชอบตามใจลูก หรือตอบสนองลูกทุกครั้งที่ลูกต้องการหรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องปรับตัวเอง ไม่ตามใจลูกเกินไป และอธิบายให้ลูกฟังด้วยว่าเพราะอะไรถึงตามใจเขาไม่ได้ในเรื่องนั้นๆ

  • ควรฝึกให้ลูกรู้จักสังเกตอารมณ์ของตัวเองว่าสัญญาณเริ่มต้นของอารมณ์โกรธเป็นยังไง เช่น อึดอัด หายใจแรง กล้ามเนื้อเกร็ง มือเย็น เหงื่อแตก ฯลฯ บอกลูกให้เข้าใจว่า ถ้ามีพฤติกรรมเหล่านี้ ให้พยายามหายใจเข้าลึกๆ และฝึกให้ผ่อนอารมณ์ เช่น นับหนึ่งถึงร้อย หรือให้นึกถึงเรื่องที่ลูกคิดถึงแล้วสบายใจ

  • ฝึกให้ลูกระบายความรู้สึกเมื่อเกิดอารมณ์โกรธ ให้เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้พ่อแม่ฟัง และสอบถามอารมณ์ความรู้สึกของลูกว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เขาได้เรียนรู้อารมณ์ของตัวเอง

  • พาลูกออกไปจากบรรยากาศที่ทำให้เขาเกิดอารมณ์โกรธ หรือชวนทำกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าจะช่วยให้ลูกผ่อนคลาย เช่น ชวนไปเดินเล่น วาดรูป ชวนไปกินไอศกรีม เป็นต้น

  • เมื่ออารมณ์ของลูกเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อย่าลืมที่จะชวนลูกพูดคุยว่าต้นตอของความโกรธเกิดจากอะไร และเขาคิดอย่างไรกับสถานการณ์นั้นๆ ควรสอบถามว่าเมื่อเกิดอารมณ์โกรธแล้วผลที่ตามมาเป็นอย่างไร เพื่อให้เขาได้ลำดับเหตุการณ์และคิดถึงผลเสียที่ตามมาหากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้      

       อย่างไรก็ตาม สำหรับคนเป็นพ่อแม่แล้วย่อมไม่อยากให้ลูกมีอารมณ์โกรธ หรือเป็นเด็กเจ้าอารมณ์อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกเป็นเด็กอารมณ์ดี ร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี จะช่วยสร้างพื้นฐานด้านอารมณ์ที่ดีให้กับลูกได้ เพราะคนที่มีทักษะทางอารมณ์ที่ดี คือคนที่รู้จักและเท่าทันอารมณ์ตัวเอง และมีโอกาสที่จะจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีกว่าค่ะ

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 5 ปี 11 เดือน
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner