ฉลาดเรียนรู้

ฉลาดเรียนรู้ เมื่อพาลูกไปจ่ายตลาด

       บ่อยครั้งที่คุณแม่อยากไปจับจ่ายซื้อของในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็ติดตรงที่ว่าจะพาลูกไปด้วยดีไหม เพราะกลัวว่าเขาจะวิ่งวุ่นวาย หรือไม่ก็ร้องขอซื้อนั่นซื้อนี่ ทำให้ไม่เป็นอันซื้อของตามที่ตั้งใจไว้ ถ้าอย่างนั้นเปลี่ยนความวุ่นของลูกมาเป็นการเรียนรู้กันดีกว่า

  • ก่อนออกจากบ้าน  คุณแม่กับลูกร่วมกันคิดร่วมกันเขียนรายการของที่ต้องซื้อให้เรียบร้อย พร้อมอ่านให้ลูกฟัง ถามว่าลูกต้องการซื้ออะไรบ้าง แม่ให้ 1 อย่าง พร้อมกำชับอย่างหนักแน่นว่าแม่ต้องซื้อของตามรายการเท่านั้นนะจ้ะ

  • เมื่อไปถึงตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ชวนลูกเดินหาของเหล่านั้นตามชั้น ฝึกให้ลูกสังเกตป้ายบอกแผนก แล้วเดินไปยังจุดนั้นด้วยกัน  ให้ลูกได้มีส่วนร่วมหา ไม่ใช่คุณแม่เกิดหาแล้วให้ลูกเดินตาม อย่างนี้ลูกเบื่อแน่นอนค่ะ

  • เมื่อไปถึงชั้นที่ต้องการ ก็ชวนกันเลือกของ คุณแม่สอนให้ลูกดูขนาด ราคาตามป้าย ฝึกให้ลูกสังเกต ให้ลูกได้ลองตัดสินใจเลือกว่าขนาดนี้ราคาเท่านี้ เปรียบเทียบกับขนาดนั้นที่ราคาต่างกัน ลูกคิดว่าจะเลือกสิ่งไหน เพราะเหตุใด

  • ขณะเดินผ่านชั้นสินค้า สอนให้ลูกฝึกสังเกต เช่น การจัดหมวดหมู่สินค้า สังเกตความแตกต่างของสินค้าและราคาของแต่ละยี่ห้อ

  • เมื่อพาลูกไปช่องจ่ายเงิน ให้ลูกได้เห็นการคิดเงิน การจ่ายเงินและรับเงินทอน โดยมีคุณแม่คอยสอนและอธิบายอยู่ใกล้ๆ ว่าคือการคิดเงินของสินค้าทั้งหมด คุณแม่จ่ายเงินเท่านี้ ได้รับเงินทอนมาเท่านี้ เป็นต้น

       หากทำได้อย่างนี้ ลูกได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ เขาก็จะไม่เบื่อและงอแง ครั้งต่อๆ ไปก็จะสนุกในการมาจ่ายตลาดกับคุณแม่ และถือว่าเป็นการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวที่ดีและมีประโยชน์มากเลยทีเดียวค่ะ      

ฉลาดเคลื่อนไหว

ออกกำลัง เคลื่อนไหวร่างกายให้ได้ประโยชน์

       การออกกำลัง เคลื่อนไหวร่างกายเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่คุณแม่ควรดูแลให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่หักโหมจนเกินไป หรือเลือกชนิดกีฬาที่ไม่มีความยากเกินสรีระ และร่างกายที่ลูกจะรับไหว เพราะหากหักโหมมากเกินไปอาจส่งผลให้ลูกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า นอกจากนี้ ก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง ควรวอร์มอัพ และคูลดาวน์ทุกครั้งที่เล่นกีฬา เพื่อช่วยเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนและหลังการเล่นกีฬา ซึ่งการวอร์มอัพ และคูลดาวน์ สามารถทำได้โดยทำท่าท่ากระโดดปรบมืออยู่กับที่ กระโดดสลับเท้า ก้มแตะสลับปลายเท้า จะช่วยพัฒนาสมองซีกซ้ายและซีกขวา การนั่งยองๆ กระโดดจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้แข็งแกร่งและมีผลดีต่อร่างกายในระยะยาวการ ส่วนการ Sit-Up จะช่วยพัฒนากระดูกสันหลัง และความทนทานของกล้ามเนื้อหลัง ท้อง และแขนขา

       สำหรับเด็กในวัยนี้ ควรเลือกชนิดกีฬาที่ทำให้เด็กได้ยืดหยุ่นอวัยวะของร่างกาย เช่น เต้นแอโรบิก วิ่งจ๊อกกิ้ง วิ่งเร็ว กิจกรรมปีนป่าย บัลเล่ต์ หรือว่ายน้ำ และควรออกกำลังกายวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง และควรมีการแบ่งการออกกำลังกายออกเป็น 30 นาที พักอย่างน้อย 5 นาที เช่น ในช่วงเช้า หรือช่วงเย็นที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป แสงแดดไม่แรงมากนัก
       นอกจากนี้ คุณแม่ยังควรให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าในการใส่ออกกำลังกายด้วย  ควรทำด้วยเส้นใยธรรมชาติ สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี และไม่ระคายเคืองต่อผิวอันบอบบางของลูกค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

สื่อสารแบบไหนลูกเข้าใจเรื่องที่ทำผิด

       เคยไหมคะที่เมื่อลูกทำผิด คุณแม่ก็ทำโทษเขา แต่ดูเหมือนลูกแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองทำผิดอะไร แล้วก็กลับมาทำผิดซ้ำในเรื่องเดิม  เพราะคุณแม่ไม่ได้ชี้แนะหรือสื่อสารให้เขาเข้าใจว่าเขาทำผิดอะไร 
       คุณแม่ควรพูดคุยอธิบายให้ชัดเจน โดยไม่ใช้อารมณ์ว่า พฤติกรรมที่ลูกทำนี้ไม่ดีอย่างไร มีผลเสียอย่างไร  และลูกต้องหยุดพฤติกรรมนี้ และอาจทำข้อตกลงกับลูก โดยกำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน และทำตามนั้น เช่น หากเห็นอีกจะเตือนกี่ครั้ง หากเตือนแล้วลูกไม่หยุด จะมีการตี หรือจะลงโทษด้วยอะไรก็ต้องกำหนดชัดเจน
       คุณแม่ไม่ควรคุยกับลูกในขณะที่มีอารมณ์โกรธ และต้องรอความพร้อมของเด็กในการฟัง อย่าพูดในขณะที่เด็กกำลังโกรธหรือไม่สนใจ  เพราะต้องอาศัยความร่วมมือและยินยอมจากลูกด้วย การที่คุณแม่ลงโทษอย่างรุนแรงบ่อยๆ โดยไม่มีเหตุผล นอกจากจะไม่ช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพและจิตใจของเด็กด้วย การลงโทษไม่จำเป็นต้องเป็นการดุว่า ตำหนิ หรือ การตีเสมอไป อาจใช้วิธีอื่นๆ  แทนได้ เช่น การตัดสิทธิหรือรางวัล การจำกัดหรือกักบริเวณ การให้ออกกำลังกายเพิ่ม เป็นต้น

การสื่อสารกันอย่างตรงจุดจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ค่ะ 

ฉลาดด้านอารมณ์

สั่งสอนแบบไหนดีต่ออารมณ์ลูก

       มีวิธีที่คุณแม่ใช้อบรมสั่งสอนลูกบางอย่างที่ไม่ควรใช้มาแนะนำกัน เพื่อให้ลีกเลี่ยง ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกไม่มีพัฒนาการที่ดีแล้ว ยังอาจเกิดผลเสียต่อความฉลาดด้านอารมณ์ของลูกด้วย  เช่น...

  • สอนแบบเทศนา   เพราะจะทำให้เด็กเบื่อ ไม่สนใจที่จะฟัง ดังนั้นในการอบรมหรือสั่งสอนลูก จะต้องสอนด้วยเหตุผลสั้นๆ  ชัดเจน และเข้าใจง่าย

  • สอนแบบตำหนิ ดุด่า  ไม่ควรนำมาใช้เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ชอบพ่อแม่แทนที่จะสนใจหรือเรียนรู้ว่าตนถูกดุหรือตำหนิด้วยเรื่องใด

  • สอนแบบขู่   พ่อแม่มักขู่ลูกเมื่อมีความโกรธหรือเด็กไม่ยอมทำตาม หรือไม่เชื่อฟัง เช่น ขู่ว่าจะไม่รัก ขู่ว่าจะเอาไปปล่อยหากไม่ยอมทำตามที่สอน  ซึ่งไม่เป็นผลดีค่ะ จะสร้างความไม่มั่นคงในจิตใจให้ลูกมากกว่าการที่เขาจะปรับปรุงพฤติกรรม

  • สอนแบบพูดเสียดสี  เหน็บแนมหรือถากถางที่พ่อแม่ทำเพื่อประชดหรือให้ลูกได้เจ็บโดยหวังว่าเด็กจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น  แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับกลายเป็นการทำลายสัมพันธ์ภาพระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับเด็ก

  • สอนแบบติดสินบน   ลูกจะทำดีเพียงชั่วครู่เท่านั้น  แต่ในระยะยาวแล้วจะไม่ได้ผล เพราะไม่ได้เกิดจากภายในที่เด็กต้องการทำพฤติกรรมดีนั้นจริงๆ แต่ทำเพราะหวังรางวัลตอบแทนมากกว่า

  • สอนแบบหยอกล้อเด็กให้อาย   เพื่อหวังผลให้ลูกหยุดพฤติกรรมที่กำลังทำอยู่  หรือเพื่อความสนุกสนาน นอกจากจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกกลัวโดยไร้เหตุผลแล้ว ยังเป็นการขัดขวางความอยากรู้อยากเห็นลูกด้วยค่ะ