ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 5 ปี 3 เดือน

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 5 ปี 3 เดือน

ฉลาดเรียนรู้

ดนตรีเสริมสร้างพัฒนาการ 360ºอัจฉริยะรอบด้าน

       ดนตรีให้คุณค่ากับเด็กๆ หลากหลายด้าน รวมทั้งการเสริมสร้างทักษะการคิดและภาษาของลูกน้อย เพราเมื่อเด็กฟังดนตรีและร้องเพลง จะช่วยให้เด็กรู้จักฟังและแยกความแตกต่างของระดับเสียง สูง-ต่ำ ดัง-ค่อย หนัก-เบา แหลม-ทุ้ม รู้จักแยกอัตราจังหวะ ช้า-ปานกลาง-เร็ว  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการฟังและวิเคราะห์ลักษณะ แยกแยะระดับเสียงและคำพูดที่ประกอบไปด้วยเสียง หนัก-เบา และเสียงวรรณยุกต์ของภาษาไทย ทำให้การออกเสียงและความหมายต่างกัน ทำให้เด็กมีหูที่ละเอียด ซึ่งเป็นทักษะที่ดีของการเรียนภาษาและดนตรีในระดับที่โตขึ้น

       อีกทั้ง ดนตรีและการร้องเพลงจะช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาด้านต่างๆ อาทิ การเขียน การพูด การอ่านออกเสียงของเด็ก เพราะในขณะที่เด็กร้องเพลง เด็กจะต้องรู้จักควบคุมการหายใจ รู้จักควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูด รู้จักจังหวะของคำพูด รู้จักรูปประโยคที่ถูกต้อง เด็กจะชอบเล่นกับคำพูดที่เป็นบทคำคล้องจอง คำสัมผัสปรากฏในเพลงนั้น เนื่องจากเพลงทุกเพลงจะต้องมีเนื้อร้องที่สัมผัสกันตามลักษณะของการแต่ง  เช่น “แมงมุมลายตัวนั้น  ฉันเห็นมันซมซานเหลือทน”  คำว่า “นั้น” สัมผัสกับคำว่า “ฉัน/มัน”   ลักษณะของคำที่คล้องจองกันเช่นนี้ ทำให้เด็กสามารถจำเพลงได้ง่ายขึ้น และเรียนรู้ภาษาได้เร็วขึ้น
       เห็นมั้ยคะว่าดนตรีมีคุณค่าต่อการพัฒนาสมองสู่พัฒนาการ 360ºอัจฉริยะรอบด้านจริงๆ

 

ฉลาดเคลื่อนไหว

กระตุ้นลูกให้รักการเคลื่อนไหวร่างกาย

       เด็กยุคนี้มักใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่ไม่ได้เครื่องไหวร่างกายอย่างการนั่งๆ นอนๆ ดูโทรทัศน์ เล่นเกมต่างๆ   ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องส่งเสริมลูกให้ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายแทนกิจกรรมเหล่านั้น เพราะเด็กควรจะได้ออกกำลังกายที่จะช่วยทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง เช่น การเต้นรำ การกระโดด หรือการปีนป่ายเผาผลาญพลังงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งจะช่วยปรับปรุงความยืดหยุ่นของร่างกายให้ดีขึ้น
       จริงๆ แล้ว โดยธรรมชาติเด็กๆ จะชอบการวิ่งเล่นอยู่แล้ว เพียงแต่เขาอาจขาดคนนำเล่น ขาดแรงจูงใจ ในฐานะพ่อแม่ควรจะช่วยให้ลูกๆ ได้รับแรงกระตุ้นในการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ  ซึ่งทำได้ดังนี้

  • พยายามเป็นแบบอย่างที่ดีในการออกกำลังกายและออกกำลังกายไปพร้อมกัน อย่างเช่น การพาลูกไปสวนสาธารณะเพื่อเตะฟุตบอลกับคุณพ่อ

  • ชื่นชมเมื่อเขาออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ออกกำลังกายแล้วดูสิหน้าตาสดชื่นเชียว

  • จัดเตรียมอุปกรณ์การออกกำลังกายสำหรับลูก เช่น เชือกสำหรับกระโดด ห่วงยางฮูลาฮุบ ลูกฟุตบอล

  • ชวนลูกออกกำลังกายในรูปแบบที่น่าสนใจเป็นกรณีพิเศษบ้าง  เช่น กิจกรรมผจญภัยในสวนสาธารณะ หรือ การเล่นสเก็ตน้ำแข็ง เป็นต้น

       อย่าลืมจัดเวลาออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว เพื่อความกระฉับกระเฉงกันนะคะ

ฉลาดสื่อสาร

สื่อสารอย่างไรให้ลูกเปิดใจ

       คุณแม่เคยรู้สึกบ้างไหมคะว่า บางครั้งการพูดคุยสื่อสารหรือสอนสั่งลูกเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย   เพราะลูกไม่เปิดใจรับฟัง ลองทบทวนวิธีการที่คุณใช้อยู่กับวิธีการเหล่านี้ดูนะคะ
       วิธีการที่ใช้เป็นกุญแจที่จะช่วยทำให้ลูกเปิดใจและยอมเล่าความรู้สึกนึกคิดที่เขาเก็บอยู่ภายในใจกับพ่อแม่ได้  คือการใช้คำพูดบางคำหรือบางประโยคให้เหมาะที่จะใช้สื่อสารกับลูก ซึ่งจะช่วยให้ลูกแบ่งปันความรู้สึกของเขาให้คุณแม่รับรู้ได้ ลองใช้วิธีการเหล่านี้ เพื่อสร้างความใกล้ชิดและเสริมบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันระหว่างพ่อแม่และลูกน้อยค่ะ

  • เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี  ใช้เวลาในการฟังโดยไม่ขัดจังหวะหรือขัดคอลูก รอฟังให้จบเสียก่อนจึงค่อยตอบสนอง

  • แสดงออกให้ลูกรู้ว่าคุณกำลังฟังเขา มองหน้า สบตากับลูกเวลาที่ลูกพูด และนั่งให้อยู่ระดับเดียวกับเขา

  • หาจังหวะดีๆ เลือกเวลาที่จะคุยกับลูก ในขณะที่เขาผ่อนคลายและให้เวลากับคุณได้เต็มที่ โดยไม่มีอะไรมาดึงความสนใจของคุณด้วยเช่นกัน

  • ใส่ใจกับสีหน้า ท่าทางที่ลูกแสดงออก เรียนรู้ว่าลูกกำลังรู้สึกอย่างไรจากภาษากาย ท่าทางที่เขาแสดงออก สังเกตว่าลูกยิ้มหรือหน้านิ่ว ดูผ่อนคลายหรือตึงเครียด

  • เข้าใจให้กระจ่างชัด พยายามทำความเข้าใจคำพูดของลูก อาจทวนถามซ้ำเพื่อเพิ่มความเข้าใจหรือเพื่อช่วยยืนยันว่าคุณเข้าใจคำพูดของเขาได้ถูกต้องแล้ว

  • เลี่ยงการตัดสินลูก   อย่าด่วนแสดงความเห็นหรือถามคำถามที่เป็นการตัดสินพฤติกรรมของลูก แต่ช่วยให้เขาได้คิดหาคำตอบหรือหาทางออกด้วยตัวเขาเองจะเหมาะกว่า

       ถ้าคุณแม่ได้ลองใช้วิธีนี้กับลูกบ่อยๆ  การคุยกับลูกก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก และอย่าลืมว่าการมีท่าทีที่รับฟัง พร้อมจะตอบสนองด้วยความปรารถนาดี ไม่ว่ามีเรื่องดีหรือร้าย ลูกก็อยากเข้าไปหา ไปพูดคุยสื่อสารด้วยค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

ป้องกันปัญหาลูกใจร้อน

       ลูกวัยนี้ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาการควบคุมตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อต้องพบเจอกับความเครียดหรือความไม่ได้ดั่งใจ อาจทำให้ลูกแสดงอารมณ์โกรธหรือความใจร้อยออกไปได้ คนที่ช่วยให้ลูกตั้งรับอารมณ์ลักษณะนี้ได้ก็คือคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งทำได้ดังนี้

  • เมื่อลูกใจร้อนมา พ่อแม่ต้องรู้วิธีจัดการอารมณ์ของตนเองไม่ให้ใจร้อนกลับไปใส่ลูก       

  • ในครอบครัวควรมีเวลาดีๆ ร่วมกัน เพื่อแสดงความรักต่อกันอยู่เสมอ       

  • สร้างค่านิยมให้ลูกในเรื่องของการมีใจเย็น โทษของความใจร้อนหุนหันพลันแล่นผ่านการเล่น การเล่านิทาน และการเป็นแบบอย่างที่ดี

  • ลดสิ่งที่เด็กจะได้รับด้วยความพึงพอใจ หลังจากมีพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ถ้าผู้ใหญ่บางคนหัวเราะกับคำพูดของเด็ก หรือถ้าสุดท้ายความก้าวร้าวทำให้เขาได้ในสิ่งที่ต้องการ เด็กก็จะยังคงทำต่อไป

  • ช่วยให้ลูกสงบสติอารมณ์ เมื่ออารมณ์สงบลงแล้ว ควรเข้าไปคุยให้เข้าใจว่า เรารับรู้อารมณ์โกรธของเด็กและหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เราต้องการให้เขาทำอะไร เพื่อที่เด็กจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งไหนผิดและผลของมันคืออะไร และเขาควรปรับปรุงตัวเองอย่างไร

       หากทุกคนในครอบครัวได้ลองปรับวิธีจัดการกับความใจร้อนของลูกอย่างสม่ำเสมอ ลูกก็จะจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ในที่สุดค่ะ

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 5 ปี 3 เดือน
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner