ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 5 ปี 6 เดือน

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 5 ปี 6 เดือน

ฉลาดเรียนรู้

สอนลูกฉลาดเรียนรู้จำนวน

       ทักษะพื้นฐานที่สำคัญเพื่อการเรียนรู้อีกเรื่องหนึ่ง คือ จำนวนหรือตัวเลข   พื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของจำนวนหรือตัวเลขมีความสำคัญอย่างยิ่ง

       ลูกวัยนี้ท่องจำ 1-10 หรือ 1-50 ได้ แต่ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอย่างไร เด็กควรเรียนรู้หลักการของจำนวน 1-10 หรือ 20 ได้อย่างแม่นยำก่อนที่จะหัดบวกลบเลขจากโจทย์  ในชีวิตประจำวันเขาควรถูกสอนให้เข้าใจจำนวนจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ขนม 2 ชิ้น คืออย่างไร นก 3 ตัวคืออย่างไร  จำนวน 5 แตกต่างจากจำนวน 6 อย่างไร  การเพิ่มหรือการลดจำนวนสอนได้จากภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  เช่น "ได้เพิ่มมาอีก"  "บินหายไป"  “ลดลง” เป็นต้น เมื่อเด็กมีความเข้าใจพื้นฐานสิ่งเหล่านี้ได้ถูกต้องแม่นยำแล้วการเชื่อมโยง ไปสู่ความหมายของสัญลักษณ์และการเรียนรู้คณิตศาสตร์ขั้นถัดไปจะเกิดได้อย่างต่อเนื่องถูกต้อง 

 

ฉลาดเคลื่อนไหว

เล่นเกมหาสมบัติ...พัฒนาการเคลื่อนไหว

       การมีกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้นแล้ว  ยังมีส่วนช่วยให้พัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะกิจกรรมที่สามารถทำได้ในบ้านทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย ซึ่งอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจและเล่นกันได้ทุกคนคือ เกมหาสมบัติในสวน
       เริ่มต้นด้วยการที่คุณแม่พาลูกเข้าไปเดินเล่นในสวน แล้วมองหาสิ่งของต่างๆ ที่ต้องการให้ลูกหา จากนั้นก็เขียนชื่อสิ่งของ โดยเขียนคำง่ายๆ เช่น ใบไม้ แล้ววาดรูปประกอบลงไปด้วย เพื่อให้ลูกเห็นว่ารูปร่างหน้าตาเป็นยังไง หรือจะเขียนว่าก้อนหิน 2 ก้อน แล้วก็วาดรูปประกอบทุกครั้ง จากนั้นก็ส่งกระดาษที่เขียนให้ลูกทีละแผ่น บอกว่าเป็นลายแทงการหาสมบัติ แล้วให้ลูกช่วยหาสมบัติให้ครบทุกแผ่น พร้อมกับหากล่องหรือตะกร้าให้ลูกเอาไว้ใส่สิ่งของที่หาได้
       เมื่อลูกเริ่มต้นหาสิ่งของ คุณแม่ต้องคอยดูอยู่ใกล้ๆ อย่าให้พ้นสายตาเด็ดขาดค่ะ และคอยบอกไม่ให้เดินเข้าไปในที่เสี่ยงอันตรายอย่างพุ่มไม้ หรือบริเวณสระน้ำ เมื่อลูกหาสมบัติได้ครบแล้ว คุณแม่อาจสลับด้วยการให้ลูกเขียนหรือวาดสมบัติที่ต้องการให้คุณแม่หาบ้าง การสลับกันเล่นแบบนี้ จะทำให้ลูกรู้สึกสนุกมากยิ่งขึ้นค่ะ  แต่ถ้าเห็นว่าลูกหาของไม่เจอหรือหาของมาผิด ก็ไม่เป็นไรค่ะ ปล่อยให้เขาค้นหาสมบัติต่อไป ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดมากนัก จากนั้นค่อยสอบถามลูกว่าสมบัติที่ลูกเก็บมาคืออะไร
       การเล่นเกมหาสมบัตินี้ เป็นการส่งเสริมการฝึกทักษะในเรื่องการเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย ภาษา การอ่าน และการเขียนของเด็ก  เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จากภายในบ้านให้ลูกได้ออกมาสูดอากาศข้างนอกบ้าง ลองดูนะคะเพื่อพัฒนาการ360° อัจฉริยะรอบด้านของลูกค่ะ

ฉลาดสื่อสาร

ฝึกทักษะฟัง-พูด-อ่าน-เขียนด้วยนิทาน

       การที่คุณแม่เลือกหนังสือนิทานที่ลูกสนใจสักเล่ม แล้วจัดเวลาสำหรับการอ่านออกเสียงให้ลูกฟังเป็นประจำ นอกจากลูกจะมีความสุขและรู้สึกดีต่อการอ่านแล้ว เขายังจะได้เรียนรู้และฝึกทักษะการสื่อสารอีกด้วย โดยก่อนที่จะอ่านเนื้อเรื่อง คุณแม่ควรแนะนำให้ลูกรู้จักชื่อเรื่อง ผู้แต่ง ผู้แปล ผู้วาดภาพประกอบ และควรชี้นิ้วตามไปด้วยเวลาอ่าน หรืออาจจะตั้งคำถามให้ลูกคิด หรือลองให้ลูกเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า
       หลังจากเล่านิทานจบแล้ว คุณแม่ลองให้ลูกได้ทบทวนเนื้อเรื่อง ด้วยการเล่านิทานกลับมาให้คุณแม่ฟังบ้าง อาจจะมีทั้งถูกและผิด ก็ไม่ควรขัดแต่ควรให้เขาเล่าจนจบ เขาจะได้นำสิ่งที่ฟังจากคุณแม่มาทบทวนความทรงจำแล้วใช้พัฒนาทักษะการพูดของเขา 
       จากนั้นลองชวนให้ลูกเขียน โดยคุณแม่ต้องเป็นผู้เริ่มเขียนก่อน ให้ลูกบอกสิ่งที่ต้องการเขียนเป็นข้อความสั้นๆ เกี่ยวกับนิทานที่ลูกได้ฟัง ลูกจะได้เห็นวิธีการเปลี่ยนความคิดมาเป็นข้อความ เห็นลีลามือที่ถูกต้องสวยงาม กิจกรรมนี้จะทำให้ลูกเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเขียน รู้จักตัดสินใจแสดงความคิดเป็นตัวอักษร หลังจากนั้นคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เขียนบ้าง อาจจะเป็นชื่อนิทาน ชื่อตัวละครจากนิทาน หรือความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อนิทานนั้น หากลูกยังเขียนไม่ได้ คุณแม่อาจช่วยเขียนให้ดู แล้วให้เขาฝึกเขียนตาม

       จากนิทานเพียงหนึ่งเล่ม คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกฝึกทักษะด้านการสื่อสารได้ครบทั้ง 4 ด้าน คือฟัง พูดอ่านและเขียน  รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าลืมอ่านนิทานให้ลูกฟังกันนะคะ

ฉลาดด้านอารมณ์

เคล็ดลับเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูก

       ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) เป็นพื้นฐานสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างให้ลูกน้อย  เพื่อให้เขาสามารถเติบโตและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข   การเสริมสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจต่อตัวเองให้ลูกทำได้ไม่ยาก เพียงคุณพ่อคุณแม่เข้าใจในลำดับพัฒนาการของเด็ก และเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำมันอย่างเหมาะสม เช่น

  • ฝึกความรับผิดชอบ & ช่วยเหลือตนเอง   คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขา โดยเฉพาะกิจวัตรประจำวันง่าย ๆ เช่น ตื่นนอนเป็นเวลา แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าวเองแล้ว ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง หรือกฎที่วางไว้  เช่น กินข้าวให้เสร็จ เก็บจานไว้ในที่ของมันก่อนแล้วจึงออกไปเล่น เก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จทุกครั้ง เป็นต้น

  • ให้ลูกได้ตัดสินใจเองบ้าง แรกๆ คุณแม่อาจเสนอทางเลือกให้ลูกพร้อมกับเหตุผล เช่น จะใส่กางเกงหรือกระโปรงดี  ใส่เสื้อสีฟ้าหรือสีเหลืองดี เพื่อให้ลูกได้ฝึกการตัดสินใจ

  • ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นบ้าง  ชวนลูกพูดคุยถึงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ และฟังเมื่อเขาพูด เพื่อลูกจะได้รู้สึกถึงการยอมรับจากพ่อแม่

  • ให้กำลังใจ เมื่อลูกต้องเผชิญกับความล้มเหลว  กำลังใจคือสิ่งสำคัญในยามที่รู้สึกท้อแท้ หรือทำอะไรล้มเหลว ยิ่งเด็กๆ ด้วยแล้ว เขาต้องการคำปลอบขวัญ ปลาอบใจ พอๆ กับคำชื่นชมยามที่เขาทำอะไรๆ ได้สำเร็จ 

  • หาจุดเด่นในตัวลูกแล้วเสริมให้ถูกทาง ยิ่งเราได้อยู่ใกล้ชิดลูกมากเท่าไร เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากเท่าใด ก็จะทำให้เราเห็นจุดเด่นในตัวลูกได้ง่ายขึ้นว่า เขามีศักยภาพด้านใด แล้วส่งเสริมได้ถูกทาง

       เหล่านี้เป็นแนวทางในการเสริมสร้างความมั่นใจให้ลูก ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อความฉลาดด้านอารมณ์ของลูกค่ะ

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

การกระตุ้นพัฒนาการ วัย 5 ปี 6 เดือน
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner