ฉลาดเรียนรู้

ฝึกทักษะแก้ปัญหาให้ลูกด้วยนิทาน

       เราต่างทราบถึงคุณค่าของนิทานที่มีต่อเด็กๆ การอ่านนิทานและการฟังนิทานของเด็กวัยนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของความเพลิดเพลิน สร้างจินตนาการ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เท่านั้น แต่นิทานยังมีประโยชน์กว่านั้น เพราะนิทานช่วยให้เขาได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาอีกด้วย

การเล่านิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะการฟัง การพูด ภาษา สติปัญญา  ช่วยพัฒนาการของเด็กด้านอารมณ์แล้ว การเล่านิทานยังช่วยฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้กับเขาอีกด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ (และคุณครู) สามารถช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาของเด็กวัยอนุบาลได้ไม่ยาก นั่นคือ...

  • เลือกเนื้อเรื่องที่มีการกำหนดสถานการณ์ที่เป็นปัญหาหรือยุ่งยากให้กับตัวละคร เมื่อตัวละครไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ครูหรือพ่อแม่ควรตั้งคำถามให้เด็กที่ฟังความคิด หาทางแก้ปัญหา เพื่อช่วยตัวละครในนิทานดำเนินเนื้อเรื่องต่อให้จบ  เช่น มีชายหนุ่มคนหนึ่งพาวัวออกไปกินหญ้า วันหนึ่งมีเสื้อหลุดออกมา ทั้งคนทั้งวัวตกใจเสือวิ่งหนีไปคนลิทศละทาง ชายหนุ่มปีนขึ้นต้นไม้หนีเสือ  พอเวลาผ่านไป เสือก็หนีเข้าป่า ชายหนุ่มก็ลงมาจากต้นไม้ แต่ไม่พบวัวของตัวเอง ชายหนุ่มเดินดูไปรอบๆ ก็ไม่เจอวัว ได้แต่นั่งเศร้าเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี แล้วให้เด็กๆ ช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรดีนะ ถึงจะช่วยชายหนุ่มตามวัวให้กลับมาได้

  • เรื่องราวจะสนุกยิ่งขึ้นหากคนเล่าได้ทำความเข้าใจในเนื้อเรื่อง ตัวละคร ลีลาอารมณ์ เรียงลำดับเหตุการณ์ และฝึกการใช้น้ำเสียงที่มีหนักเบาตามความหมายของคำและข้อความ ทำเสียงสนทนาตามธรรมชาติ เช่น เสียงผู้ชาย (ห้าวใหญ่) เสียงผู้หญิง (นุ่ม แหลมเล็กน้อย)  เสียงเด็ก (แหลม สดใส) เสียงคนแก่ (อยู่ในลำคอ สั่นเครือ)  ฯลฯ

  • ตั้งคำถามกับลูก โดยคุณแม่สามารถนำเรื่องราวของนิทานที่อ่านให้ลูกฟังมาตั้งคำถามให้ลูกตอบได้ โดยอาจปรับเปลี่ยนเป็น คำถาม “ถ้า” หรือ “ทำไม...” เพื่อให้เขาได้ใช้สมองคิดค้นหาคำตอบ เช่น ถ้าลูกเป็นชายหนุ่มในเรื่องลูกจะทำอย่างไรเมื่อเจอเสือ เป็นต้น

       ค่อยๆ เล่า ค่อยๆ ถามและให้เวลาลูกคิดคำตอบจะเป็นการเริ่มต้นฝึกการแก้ปัญหาให้ลูกได้แต่เนิ่นๆ ค่ะ

ฉลาดเคลื่อนไหว

ฉลาดเคลื่อนไหวในสวน

       ในวันหยุดสุดสัปดาห์คุณแม่อาจชวนเพื่อนๆ ของลูกมาเล่นกันที่สวนสาธารณะ หาเกมให้เด็กๆ เล่นกันเป็นทีม ซึ่งวิ่งเปี้ยวก็เป็นอีกกีฬาภูมิปัญญาไทย เด็กชอบเล่นกันในทุกยุคทุกสมัย  วิธีการเล่นวิ่งเปี้ยวนั้น ต้องมีผู้เล่นตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป แบ่งเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆกัน แต่ละฝ่ายจะต้องจัดแถวประจำที่หลักของตน เมื่อเริ่มเล่นคนที่อยู่หัวแถวจะต้องวิ่งไปอ้อมหลักของฝ่ายตรงข้าม จากนั้นวกกลับมาส่งผ้าให้กับผู้เล่นฝ่ายตนถัดไปที่หลักเป็นผู้วิ่งคนต่อไป ผู้เล่นของแต่ละฝ่ายต้องพยายามวิ่งกวดให้ทันและใช้ผ้าไล่ตีฝ่ายตรงข้าม หากฝ่ายใดไล่ตีได้ทัน ถือว่าเป็นผู้ชนะ
       การเล่นวิ่งเปี้ยว ลูกจะได้ทั้งความสนุกสนาน และช่วยพัฒนาความแข็งแรง คล่องแคล่ว ว่องไวของร่างกาย ช่วยให้ลูกฝึกความสามัคคีในการเล่นเป็นหมู่คณะ รู้จักไหวพริบและมีน้ำใจเป็นนักกีฬา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  ทำให้สุขภาพแข็งแรง นับเป็นการเล่นที่ดีที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยได้อย่างรอบด้านค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

พัฒนาภาษาลูก...ด้วยการบอกอารมณ์ตัวเอง

       เราต่างก็ทราบดีว่า  พัฒนาการของเด็กทางด้านภาษานั้นจะพัฒนารุดหน้าไปได้ ก็มาจากการพูดคุย คนอกจากชวนคุยเรื่องต่างๆ ที่ได้พบได้เห็นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองชวนลูกเล่นเกมบอกอารมณ์  โดยบอกว่าคุณกำลังรู้สึกมีความสุข เพราะอะไร เช่น “แม่กำลังมีความสุข เพราะนึกถึงบรรยากาศชายทะเลที่เราไปด้วยกัน” จากนั้นถามเขาว่าเขากำลังรู้สึกอะไร  ให้เขาบอกอารมณ์ขณะนั้นของเขาเองออกมา
       เด็กวัยนี้เข้าใจอารมณ์ของตนเองว่าเป็นอย่างไร รู้ว่าตนเองมีอารมณ์เหล่านั้นเพราะอะไร เช่น “หนูกลัว เพราะในห้องมืด กลัวผีมาหา” และด้วยพัฒนาการของเด็กทางภาษาที่มากขึ้น จึงสามารถที่บอกอารมณ์ความรู้สึกของตนเองออกมาให้คนอื่นรับรู้ได้ เมื่อลูกบอกอารมณ์เขาออกมา เราก็อาจชวนเขาพูดคุยถึงสาเหตุที่มาที่ไปให้มากขึ้น เพื่อนเก็บรายละเอียด และเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกการพูดมากขึ้น
       นอกจากเป็นการช่วยพัฒนาภาษาลูกน้อยแล้ว ยังสามารถรู้สิ่งที่ลูกคิดหรือรู้สึกอยู่ด้วย เมื่อรับรู้อารมณ์ลูกคุณพ่อคุณแม่ก็หาทางแก้ไขต้นเหตุของอารมณ์ที่ไม่สมหวัง ขุ่นมัวนั้น เช่น หากลูกกลัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เด็กในวัยนี้จะเกิดความกลัว ไม่ว่ากลัวผี กลัวความมืด กลัวแมลงสาบ ฯล คุณพ่อคุณแม่จึงต้องใช้เวลาในสร้างภูมิคุ้มกันความกลัวด้วยการค่อยๆ อธิบายทีละเล็กละน้อย เช่น ลูกกลัวผี ก็บอกว่าไม่เป็นไร ผีจะไม่มาหาคนที่มันไม่รู้จัก แม้จะมืดเราก็อยู่ได้ค่ะ
       อีกทั้ง คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักวิธีจัดการกับปัญหาอารมณ์ของตัวเองอย่างมีเหตุผล เช่น หากลูกมีอารมณ์โกรธ ก็ฝึกหัดให้ควบคุมตัวเองเวลาโกรธ โมโห รู้จักการใช้คำพูดสื่อสารเพื่อบอกความต้องการให้คนอื่นรับรู้ แทนที่จะใช้วิธีการเอะอะโวยวาย ร้องกรี๊ด หรือการใช้คำพูดเพื่อการต่อว่า เป็นต้น  

ฉลาดด้านอารมณ์

สอนลูกให้สู้กลับ...สมควรหรือไม่?

       เมื่อถูกเพื่อนแกล้ง ลูกมักจะเอามาบอกให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แล้วก็จะได้รับคำแนะนำว่าให้บอกคุณครู เพื่อให้เป็นผู้จัดการให้ แต่ก็เชื่อว่ามีคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยค่ะ ที่เสนอให้ลูก ๆ "สู้" อย่าไปยอมให้เพื่อนแกล้งแต่เพียงฝ่ายเดียว รู้ไหมคะว่าสิ่งที่จะเกิดตามมาหลังจากสอนให้ลูกสู้นั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการก็เป็นได้ เพราะมันคือการปลูกฝังความรุนแรงชนิดหนึ่งลงในจิตใจของเด็กๆ เป็นการสอนให้ลูกใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาค่ะ
       คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรสอนให้ลูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง คือมีการโต้ตอบได้ แต่ต้องสอนลูกให้ค้นหาวิธีที่จะจัดการปัญหานั้นๆ อย่างถูกต้อง ด้วยการเอาเรื่องราวมาวิเคราะห์ถึงต้นตอ เช่น ถ้าเพื่อนรังแก หรือเพื่อนคนนี้ชอบเล่นแรง ควรจะสอนลูกว่า เราเลี่ยงที่จะไม่เล่นกับเพื่อนคนนี้ได้ไหม หรือไปหาผู้ที่สามารจัดการปัญหาให้ได้เช่นคุณครู จะทำให้เด็กรู้จักวิธีระงับอารมณ์และเรียนรู้ว่า การหาทางออกแบบนี้ไม่ใช่การยอมแพ้ หรือว่าแสดงความอ่อนแอ
       คุณพ่อคุณแม่บางคนเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องสู้บ้าง แต่จริงๆ แล้ว การหลีกเลี่ยงการทะเลาะกันนั้นน่าจะเป็นการดีกว่าค่ะ อาจบอกให้ลูกเลี่ยงไม่เล่นกับเพื่อนคนนั้น  และอาจสอนให้ลูกแสดงสีหน้า ท่าทาง โดยอาจหยุด ยืนมองหน้าเพื่อนคนนั้น และใช้เสียงดังตอบกลับไปว่า “ไม่ชอบ”  ก็จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่สามารถคุกคามได้ และการที่เด็กใช้เสียงดัง ก็จะทำให้คนรอบข้างหันมาสนใจ และอาจมีคุณครูเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้..การสู้กลับจึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีค่ะ