ฉลาดเรียนรู้

ฉลาดเรียนรู้ด้วยเกมการศึกษา

       การเล่นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชีวิตของลูกน้อย การเล่นมีหลากหลายวิธี และการเล่นเกมก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ได้  ซึ่งเกมในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงเกมคอมพิวเตอร์ แต่เกมในที่นี้หมายถึงเกมการศึกษา หรือเกมอย่างเกมเศรษฐี เหล่านี้จะเป็นการเสริมการพัฒนาการของเด็ก ทั้งในเรื่องความคิด ทักษะการคิดเลข สอนให้ลูกเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่เล่นเกม มีความอดทนและรอคอย

       ส่วนเกมที่เป็นบทบาทสมมติ เช่น การเล่นขายของ การเล่นเป็นพ่อแม่ลูก ก็เป็นการเสริมสร้างจินตนาการให้กับเด็ก คุณพ่อคุณแม่จะพบความคิดของเด็กที่มีต่อครอบครัว หรือปัญหาต่างๆ ในใจของเด็กจากการเล่นเกมสมมตินี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นเกมนี้กับลูก เพื่อที่จะสอดแทรกบทเรียนจากชีวิตจริงลงไปให้ลูกเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ได้ เช่น การเล่นพ่อแม่ลูก คุณแม่ก็สามารถที่จะสอดแทรกหน้าที่ของคุณพ่อ หน้าที่ของคุณแม่ และหน้าที่ของคุณลูกที่ควรจะทำ เพื่อให้ครอบครัวมีความสุขได้ หรือการเล่นขายของ คุณแม่ก็สามารถสอนให้ลูกเรียนรู้จักการทำงาน ความขยัน และรู้จักค่าของเงินที่ได้มาจากการทำงานได้ด้วย
       อย่าลืมชวนลูกเล่นเกมเพื่อพัฒนาความฉลาดเรียนรู้ของลูกกันค่ะ    

 

ฉลาดเคลื่อนไหว

เคล็ดลับชวนลูกออกกำลัง เคลื่อนไหวร่างกาย

       คุณแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงอยากให้ลูกได้ออกกำลังกาย แต่เจ้าตัวเล็กมักจะปฏิเสธ ไม่ว่าจะด้วยความขี้เกียจหรือกลัวเหนื่อยก็ตาม ถ้าอย่างนั้นคุณแม่คงต้องหาเคล็ดลับชวนให้ลูกอยากออกกำลังกายกันค่ะ 

  • เห็นข้อดีร่วมกัน - คุณแม่อาจจูงใจลูกด้วยนิทาน การเล่าเรื่องดีๆ ของการออกกำลังกายให้ลูกฟัง แล้วชวนลูกๆ พร้อมสมาชิกในบ้านคนอื่นๆ มาออกกำลังกาย

  • เตรียมตัว  – โดยอาจให้คุณพ่อดูพื้นที่ สถานที่ว่าทำเลที่บ้านหรือสวนสาธารณะใกล้บ้านดีกว่า ส่วนคุณแม่มีหน้าที่จัดเตรียมเสบียง เมนูอาหารเพิ่มพลัง อย่างกระติกน้ำดื่ม ผ้าเช็ดหน้า หรืออุปกรณ์ เช่น ลูกบอล ไม้แบดมินตัน ฯลฯ อย่าลืมชวนลูกให้มีส่วนร่วมช่วยเตรียมด้วยนะคะ

  • ถูกวิธีและปลอดภัย  - ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว สะบัดข้อมือ วิ่งเหยาะๆ ประมาณ 5-10 นาที เพื่ออบอุ่นร่างกาย ยืดกล้ามเนื้อให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย เตรียมเสื้อผ้าสำหรับการออกกำลังกายให้เหมาะสม  

  • เลือกกิจกรรมออกกำลังกาย  - ควรเลือกกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนาน สามารถทำร่วมกันได้ระหว่างลูกๆ และคุณพ่อคุณแม่ เช่น เต้นแอโรบิก หรือกิจกรรมเข้าจังหวะ หากไม่มีเวลามากนัก ก็อาจใช้กิจวัตรประจำวัน งานในบ้านก็เป็นการออกกำลังกายได้  เช่น ให้ลูก รดน้ำต้นไม้ ช่วยกันซักผ้า (ด้วยมือ) ก็เป็นการออกกำลังที่ได้ทั้งงานและขยับแข้งขา เคลื่อนไหวร่างกายค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ฉลาดสื่อสาร

เทคนิคการคุยกับลูกวัยอนุบาล

       การพูดคุยกับลูกเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการพูดคุยจะพัฒนาความอบอุ่นและความสัมพันธ์ให้เชื่อมต่อกัน ช่วยให้ครอบครัวตระหนักถึงคุณค่าของในสมาชิกในครอบครัว ส่งเสริมให้เชื่อใจกัน สนับสนุนกันและกัน วิธีการชวนลูกสื่อสารก็ไม่ยาก เพียงแค่หาเวลาเพื่อพูดคุยกัน สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดถึงความคิดของเขา เพื่อคุณจะได้สังเกตด้วยว่าลูกกำลังรู้สึกอะไรอยู่

  • เวลาที่คุยกับลูก ไม่ควรยืนกดดันและรอให้ลูกพูด แต่ให้ย่อตัวและเขยิบไปข้างๆ ลูก เพื่อความสูงจะได้ไล่เลี่ยกัน หรือถ้านั่งอยู่ใกล้ๆ กัน คุณแม่สามารถจับเขามานั่งบนตัก หรือโน้มตัวเข้าไปหาเพื่อตั้งใจฟังเขาได้

  • อย่าเพิ่งขัดหรือแก้ไขคำที่ลูกพูด แม้ว่าลูกจะใช้คำศัพท์ผิดก็ให้ฟังก่อน และค่อยๆ เรียบเรียงเป็นคำที่ถูกต้องทวนในภายหลังเมื่อลูกพูดจบแล้ว

  • แม้ว่าคุณแม่ทำธุระอะไรอยู่และลูกต้องการจะคุย อย่าละเลยหรือบอกให้เขาออกไปก่อน แต่ให้ลูกรออยู่ตรงนั้นสักครู่รอคุณแม่ทำธุระเสร็จ เพราะหากให้ลูกไปเลย  เพราะอาจจะทำให้ลูกขาดความมั่นใจจนไม่อยากพูดอยากเล่า หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้คุณแม่หันมาสนใจเขามากขึ้น

  • ชวนลูกคุยเรื่องอารมณ์ของตนเอง โดยลองคุยกับเขาว่าตอนนี้ลูกกำลังรู้สึกอะไรอยู่ อย่างเช่น โกรธ วิตกกังวล เสียใจ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ตัวเองและสามารถอธิบายให้คนอื่นฟังได้ว่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่

  • ควรใช้คำและประโยคที่ไม่ซับซ้อนคุยกับลูก เพื่อให้ลูกเข้าใจง่ายไม่ตีความผิด

  • บางครั้งการพูดของลูกมักจะบอกว่าเขากำลังต้องการขอความช่วยเหลืออยู่ ให้คุณพ่อคุณแม่ร่วมรับฟังปัญหาและบอกถึงทางออกของปัญหานั้นด้วยกัน เพื่อลูกจะได้มั่นใจว่าเขายังสามารถไว้ใจและอุ่นใจได้เสมอ

       การพูดคุยกับลูกในวัยนี้ไม่เพียงสร้างความเข้าใจระหว่างพ่อแม่ลูกเท่านั้น การสื่อสารที่แนบแน่นนี้จะช่วยให้ลูกกล้าที่จะพูดคุยกับพ่อแม่เมื่อเขาโตขึ้น ช่วยลดปัญหาต่างๆ ของลูกลงได้ค่ะ

ฉลาดด้านอารมณ์

สอนลูกรับมือกับเพื่อนชอบแกล้ง

       การโดนเพื่อนแกล้ง หรือเห็นเพื่อนโดนแกล้ง เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กในวัยนี้ แต่บางครั้งเด็กไม่รู้จะแก้ปัญหานี้อย่างไร  คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยให้ลูกเรียนรู้ทักษะการลุกขึ้นมาปกป้องตนเองและเพื่อนๆ ที่อ่อนแอกว่า
       การลุกขึ้นปกป้องคนที่อ่อนแอกว่าต้องใช้ความมั่นใจและมีคุณธรรมไปพร้อมๆ กัน และไม่ใช่เพียงการปฏิเสธไม่ร่วมผสมโรงกับคนที่แกล้ง แต่ต้องลุกขึ้นปกป้องคนที่ถูกรังแกด้วย  และเมื่อลูกโดนแกล้งหรือเห็นใครแกล้งใคร ให้ลูกบอกผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่หรือคุณครู ซึ่งถ้าผู้ใหญ่คนที่ลูกมาบอกเป็นคุณแม่ ก็ควรสอนให้ลูกได้เรียนรู้การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เข้าใจความรู้สึกเจ็บปวดของคนที่ถูกรังแก และความสามารถในการแก้ไขสถานการณ์
       คุณแม่อาจใช้วิธีการพูดถึงความรู้สึกกับลูก เช่น “ดีแล้วที่ลูกมาบอกแม่ เพราะลูกเองก็คงไม่ชอบเวลามีใครมาทำลูกแรงๆ ใช่ไหม” คำพูดลักษณะนี้จะทำให้ลูกเข้าใจเรื่องของความรู้สึกได้มากขึ้น และจะทำให้เขาไม่อยากทำให้คนอื่นเจ็บปวด  อีกด้านหนึ่ง ถ้าคุณแม่พูดถึงเด็กที่รังแกคนอื่น ก็ต้องใช้การกระทำนั้นๆ ให้เป็นประโยชน์ในการสอนลูก เช่น “ลูกจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคนอื่นทำแบบนี้กับลูกบ้าง” เพื่อให้ลูกค่อยๆ คุ้นเคยกับการเข้าใจความรู้สึกคนอื่น
       การฝึกอย่างนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยลูกพัฒนาความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ดี ซึ่งวิธีการและคำพูดต่างๆ ที่ยกมานั้นย่อมแตกต่างกันไปในเพื่อนแต่ละกลุ่มของลูก แต่ความสำคัญก็คือ ยิ่งลูกได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากขึ้นเท่าไร ลูกจะยิ่งมีหนทางรับมือกับสถานการณ์ครั้งต่อๆ ไปดีมากขึ้นเท่านั้นค่ะ