ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สิ่งที่แม่ตั้งครรภ์ต้องทำแต่ละสัปดาห์ : สัปดาห์ที่ 36-40

สัปดาห์ที่ 36 คำแนะนำ
* แตะหน้าท้องกระตุ้นการขยับตัวของลูก ช่วงนี้ลูกเริ่มดิ้นน้อยลง เพราะตัวใหญ่จนเต็มพื้นที่ภายในช่องท้องของคุณแม่ จึงไม่มีพื้นที่ว่างให้ดิ้นแรงๆ เหมือนก่อนหน้านี้ แต่คุณแม่ควรรู้สึกถึงการขยับตัวของเขา ถ้ารู้สึกว่าลูกไม่ขยับตัวนานนับสิบชั่วโมงแล้ว ให้ลองกระตุ้นลูกด้วยการแตะมือที่ท้องเบาๆ หรือดื่มน้ำเย็น ถ้ายังไม่รู้สึกว่าลูกขยับตัว ควรปรึกษาคุณหมอ
* เลือกเสื้อชั้นในสำหรับให้นมลูก คำแนะนำในการเลือกเสื้อชั้นในสำหรับให้นมลูกคือ ต้องใส่สบาย ไม่รัดแน่น ขนาดกระชับ เนื้อผ้านุ่ม สวมใส่สบายเก็บทรงได้หมด ระบายอากาศได้ดี สายเสื้อเส้นใหญ่ ปรับตะขอหลังได้หลายระดับ และที่เปิดด้านหน้าให้นมลูกด้วย
* จัดกระเป๋าเตรียมคลอด คุณแม่ควรจัดเตรียมกระเป๋าไว้ให้พร้อม โดยทำ Checklist สิ่งของจำเป็นที่ต้องนำไป ทั้งของใช้คุณแม่และของสำหรับลูกน้อย
* ดูแลความสะอาดเรียบร้อยภายในรถ เพื่อเตรียมรับลูกกลับบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรจัดเตรียมรถคันที่จะรับลูกน้อยแรกเกิดกลับบ้าน โดยเฉพาะในเรื่องความสะอาด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกน้อยที่ยังบอบบางอยู่

 

สัปดาห์ที่ 37 คำแนะนำ
* หาเวลาผ่อนคลาย ช่วงนี้คุณแม่อาจกังวลกับการคลอดที่กำลังจะมาถึง ให้หามุมที่นั่งสบายๆ จะเป็นในสวนหลังบ้านที่มีลม มีแดดอ่อนๆ หรือห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก จากนั้นก็ให้หลับตาพร้อมนับลมหายใจเข้า อกของตนเองช้าๆ ทำประมาณ 5-10 นาที ซึ่งลูกน้อยจะเกิดความสงบตามแม่ไปด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองของลูก
* พกพาสมุดฝากครรภ์ติดตัวเมื่อออกนอกบ้าน ช่วงใกล้คลอด เมื่อคุณแม่ออกนอกบ้าน ควรพกพาสมุดฝากครรภ์ ซึ่งบันทึกประวัติสุขภาพครรภ์ของคุณแม่ไปด้วย เพื่อว่าหากเกิดเจ็บท้องคลอดกะทันหัน สูติแพทย์ที่อยู่ใกล้ๆ จะได้ให้การช่วยเหลือคุณแม่ได้ถูกต้อง
* แช่เท้าในน้ำอุ่นกับน้ำเย็นสลับกัน การแช่เท้าในน้ำอุ่นกับน้ำเย็นสลับกันครั้งละ 30 วินาที จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยขยายเส้นเลือด จะลดอาการบวมที่เท้าได้ หลังจากแช่เท้าแล้ว ควรนั่งพักสัก 10 นาที ก่อนที่จะลุกไปทำกิจกรรมอื่นๆ
* ทบทวนสิ่งของที่เตรียมไว้หลังคลอด แม้จะจัดเตรียมข้าวของไว้แล้ว แต่ยังพอมีเวลาที่คุณแม่จะทบทวนข้าวของที่ตระเตรียมไว้ใช้หลังคลอดว่ามีสิ่งใดตกหล่นไปบ้าง และจัดหามาไว้ในช่วงที่ยังไม่วุ่นวายนัก

 

 

สัปดาห์ที่ 38 คำแนะนำ
* ฝึกหายใจเข้าและออกให้เป็นจังหวะ คุณแม่ควรใช้ช่วงนี้ฝึกการหายใจเข้าและออกให้เป็นจังหวะ โดยหายใจเข้าทางจมูกและหายใจออกทางปาก ขณะที่หายใจออกให้ปล่อยลมหายใจออกมาพร้อมกับเสียงเหมือนกับเสียงถอนหายใจด้วย เพราะการออกเสียงออกมาด้วยขณะที่หายใจออกนั้น จะช่วยลดความเจ็บปวดในขณะที่เจ็บท้องได้ ควรฝึกครั้งละ 5 ชุด
* พักผ่อนให้มาก ช่วงนี้ คุณแม่ควรลางานเพื่อเตรียมตัวคลอดได้แล้ว เพราะการคลอดจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คุณแม่ควรพักให้มากๆ เพราะหลังจากนี้คุณแม่จะเสียพลังงานและเรี่ยวแรงไปกับการคลอดและการดูแลลูกน้อยมาก
* สังเกตอาการบวมและอาการของตัวเอง ช่วงนี้คุณแม่ควรสังเกตตนเองว่ามีอาการบวมตามมือ ขา ข้อเท้า หน้า หรือใต้ตามากกว่าปกติหรือผิดสังเกตหรือไม่ รวมทั้งน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ ปวดหัว เห็นภาพซ้อน สูญเสียการมองเห็น มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ควรรีบพบคุณหมอทันที เพราะสัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายของภาวะครรภ์เป็นพิษ
* หาเวลาเงียบๆวันละ 30 นาที เพื่อผ่อนคลายตัวเอง คุณแม่ควรหาเวลาเงียบๆ สักวันละ 30 นาที เพื่อผ่อนคลาย จินตนาการ และสื่อสารพูดคุยกับลูกในท้อง การทำสมาธิเป็นวิธีง่ายๆที่จะช่วยให้ร่างกาย ความคิด และจิตใจประสานสัมพันธ์กัน คุณแม่ควรหาเวลาทำสมาธิให้ได้ทุกวัน เพื่อจิตใจจะได้ผ่อนคลายมากขึ้น

 

สัปดาห์ที่ 39 คำแนะนำ
* จับเวลาการรัดตัวของมดลูก มดลูกในระยะ 8-9 เดือนจะเริ่มมีการหดรัดตัวได้ด้วยตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด คุณแม่ลองจับเวลาการรัดตัวของมดลูก หากมีอาการเจ็บทุกๆ 5-10 นาที อย่างน้อย 1 ชั่วโมง และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็รีบไปโรงพยาบาลได้เลย เพราะนั่นหมายถึงอาการใกล้คลอดแล้วค่ะ
* ทบทวนเทคนิคต่างๆ ที่เรียนจากคอร์สเตรียมคลอด คุณแม่ควรทบทวนและฝึกเทคนิคต่าง ๆ ที่เรียนจากคอร์สเตรียมคลอด เช่น การหายใจระหว่างที่มีอาการมดลูกหดรัดตัวเป็นก้อนนูนแข็ง หรือระหว่างการเจ็บครรภ์เตือน การผ่อนคลาย และการทำสมาธิ
* พักผ่อนอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้ ยังเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องพักผ่อนให้มากที่สุด งานการใดที่ต้องทำคงต้องไหว้วานคนรอบตัว โดยเฉพาะคุณพ่อทำให้นะคะ
* จัดเตรียมเอกสารสำหรับไปคลอด นอกจากเตรียมข้าวของเครื่องใช้ของคุณแม่และลูกน้อยไว้แล้ว เพื่อความแน่ใจคุณแม่ลองสำรวจดูอีกครั้งว่าได้เตรียมเอกสารสำคัญสำหรับการแจ้งเกิดเหล่านี้ไว้แล้ว
* สำเนาบัตรประชาชนของคุณแม่และคุณพ่อ
* สำเนาทะเบียนสมรส ถ้าไม่มีคุณพ่อต้องกรอกแบบฟอร์มหนังสือยินยอมเพื่อบุตรจะได้ใช้นามสกุล
* สำเนาทะเบียนบ้านที่จะแจ้งทารกเข้า
* สำเนาทะเบียนบ้านของคุณแม่และคุณพ่อ
* บัตรฝากครรภ์และผลการตรวจเลือด

 

สัปดาห์ที่ 40 คำแนะนำ
* จับสัญญาณการเจ็บครรภ์จริง อาการเจ็บท้องจริงต่างจากการเจ็บเตือน นั่นคือการเจ็บท้องจริงนั้น การเจ็บจะคงอยู่นานตลอดชั่วโมง และเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ การบีบรัดตัวจะเกิดขึ้นทุกๆ 5-10 นาที ร่วมกับอาจมีน้ำเดิน มีมูกเลือด คุณแม่ต้องไปโรงพยาบาลเลยทันที
* เตรียมกระเป๋าและเอกสารใส่รถ คุณแม่ควรเตรียมเอกสารสำคัญไว้ให้พร้อม ส่วนของใช้ที่จำเป็นเตรียมให้ครบ จัดใส่ตะกร้า หรือกระเป๋าหิ้วใส่รถไว้ก่อนกำหนดสัก 2-3 วัน เพราะเมื่อถึงเวลานั้น คุณแม่อาจตื่นเต้นและอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น อาจจะลืมกันได้
* เช็ครถให้พร้อม ก่อนเดินทางไปคลอด ควรตรวจเช็คสภาพรถให้พร้อม ในรถควรจะมีการปูผ้ายางบนเบาะที่คุณแม่นั่งด้วย เพราะเวลาน้ำเดินจะมีมูกเลือกไหลออกมา จะได้ง่ายต่อการทำความสะอาดในภายหลัง
* ให้ลูกกินนมน้ำนมเหลือง หลังลูกคลอด เมื่อพยาบาลเอาลูกมาให้คุณแม่ได้สัมผัสโอบกอด ควรให้ลูกได้ดูดนมจากอกคุณแม่ทันที หัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลืองจะมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อสมอง ร่างกาย และภูมิคุ้มกันของลูกน้อยอย่างมาก เช่น DHA MFGM ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่ดีของลูกค่ะ

 

 

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

บทความที่แนะนำ

EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner
  • Register bar

Leaving page banner

 

Leaving page banner