ตอนนี้ลูกรู้ชื่อของตัวเองแล้ว เวลาคุณแม่เรียกหา ลูกจะขานรับและรีบเข้ามากอดรัดอย่างร่าเริง แล้วไม่ว่าทำกิจกรรมอะไร ลูกก็จะขอมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือเต็มที่ เพราะต้องการเป็นที่รักและได้รับการยอมรับนั่นเอง...มาดูพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกน้อยเดือนนี้กันค่ะ 

พัฒนาการด้านสติปัญญาและการเรียนรู้เดือนที่ 22 (1 ขวบ 10 เดือน)

  • เล่นของเล่นไม่กี่อย่างซ้ำๆ กันทุกวัน และเล่นพลิกแพลงตามจินตนาการได้เรื่อยๆ

  • ลูกคิดอย่างไร คับข้องใจ ดีใจ เสียใจ อึดอัดใจ ก็แสดงออกมาผ่านการเล่นทั้งหมด  

  •  วัยนี้พร้อมจะเข้าใจเรื่องเวลาและปริมาณได้ ถ้าคุณแม่ค่อยๆ สอนด้วยการบอกลำดับก่อนหลังหรือพูดเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เช่น ถ้าลูกร้องขอกินขนม  คุณแม่อาจพูดว่า “ลูกต้องกินข้าวก่อน ถึงจะกินขนมได้” หรือ “กินลูกอมได้เม็ดเดียวนะ กินสองเม็ดไม่ได้”

  • มีส่วนร่วมในการแต่งตัวมากขึ้น ถอดเสื้อผ้าตัวเองได้หมดทุกชิ้นแล้ว เด็กหลายคนใส่รองเท้าได้แต่ยังแก้เชือกรองเท้าเองไม่เป็น

  • สนใจหนังสือที่มีรูปและเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เช่น คน สัตว์ สิ่งของและสถานที่ต่างๆ มักเปิดหาภาพที่เคยผ่านตามาก่อน สำรวจดูรายละเอียดแต่ละภาพและจินตนาการไปเรื่อยๆ พอวันหนึ่งที่ลูกสั่งสมประสบการณ์ไว้มากพอ ลูกจะรู้และเข้าใจว่าหนังสือแต่ละเล่มนั้นบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ กันไป  

  • วัยนี้ลูกวอกแวกง่าย และตั้งใจทำอะไรได้ไม่นานนัก ทางที่ดีคือ ถ้าลูกไม่อยากทำสิ่งนั้นแล้ว  คุณแม่ไม่ต้องบังคับ แต่ใช้ท่าทีสนุกสนานดึงดูดใจให้ลูกมีสมาธิต่อกิจกรรมเดิมต่อ  

พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวเดือนที่ 22 (1 ขวบ 10 เดือน) 

  • ลูกเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่เดือนนี้จะกระตือรือร้นและมั่นใจกว่าเดิมมาก

  • เปลี่ยนจากท่านั่งมาลุกขึ้นยืนได้รวดเร็ว

  • เวลาเดินๆ อยู่ก็จะวิ่งไปทันที แต่ยังชะลอฝีเท้าไม่เป็น  

  • การทรงตัวดีขึ้น สามารถเตะลูกบอลลูกใหญ่ได้โดยไม่ล้ม

  • กล้ามเนื้อและการควบคุมการทำงานบริเวณข้อมือของลูกยังพัฒนาไม่เต็มที่ จะสังเกตว่าลูก หมุนปุ่มวิทยุ ปิดเปิดทีวี พลิกหนังสือทีละ 2-3 หน้าได้ แต่ยังหมุนฝาเกลียวไม่ถนัดนัก

  • เมื่อลูกจับดินสอขีดๆ เขียนๆ ตอนนี้คุณแม่พอจะมองออกได้ชัดเจนแล้วว่าลูกถนัดใช้มือข้างไหนมากกว่า

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารเดือนที่ 22 (1 ขวบ 10 เดือน)

  • เด็กวัยนี้จะเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นเมื่อได้ยินคำนั้นซ้ำๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น กินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว นอน ฯลฯ หรือเมื่อพาลูกพบเห็นสิ่งต่างๆ ก็ชี้ชวนให้ลูกรู้จัก พอกลับมาบ้านก็หารูปมาให้ลูกดู แล้วถามเพื่อทดสอบความจำ

  • ลูกพยายามสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตนออกมาเป็นคำพูดมากกว่าการกระทำ สังเกตได้ว่า ถ้าลูกต่อภาพต่อไม่ได้ก็จะไม่ตะโกนโวยวายเหมือนก่อนแล้ว แต่จะพูดว่า “ยาก” หรือ “ใหญ่” เกินไปแทน หรือ เมื่ออยากให้เปลี่ยนกางเกงให้ แทนที่จะร้องไห้ ลูกจะพูดว่า “เปลี่ยน” หรือ “เปียกแล้ว” คุณแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับคำบอกลักษณะและความรู้สึกต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น เจ็บ หนัก เบา เหนื่อย เบื่อ เกลียด ฯลฯ ลูกจะได้ไม่ต้องเก็บกดไว้แล้วร้องกรี๊ดๆ นั่นเอง

พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมเดือนที่ 22 (1 ขวบ 10 เดือน) 

  • ลูกชายจะสนใจเรียนรู้สิ่งรอบกายมากและอยู่ห่างจากแม่ได้บ้าง ต่างกับลูกสาววัยนี้ที่ติดแม่ เรียกร้องต้องการสูง ถ้าไม่ได้อย่างใจก็โกรธ เวลาทำอะไรไม่ได้จะขอให้แม่ช่วยโดยไม่พยายามทำเอง ช่วงนี้ลูกสาวดื้อมาก และเอาแต่ปฏิเสธท่าเดียว

  • ลูกกำลังอยากรู้ว่าตนเองสามารถควบคุมอะไรหรือใครได้บ้าง จึงฝึกใช้คำสั่งดูบ้าง เช่น  เมื่อคุณแม่กำลังร้องเพลง ลูกจะตะโกนว่า “หยุดร้อง” เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงไม่ควรจริงจังและเข้าใจผิดว่าลูกก้าวร้าว   

  • ลูกต้องการให้พ่อแม่ชมเชย เห็นด้วย และยอมรับในความพยายามของตน ลูกจะพูดว่า “ดูนี่ๆ” เพื่อเรียกร้องความสนใจ คุณแม่ควรใช้โอกาสนี้สอนลูกว่าสิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำ แต่ต้องไม่เข้าไปจัดการกับลูกมากเกินไป ไม่อย่างนั้นลูกจะขาดความมั่นใจได้

  • วัยนี้มีอารมณ์อิจฉารุนแรง ลูกจะอารมณ์เสีย หงุดหงิดเมื่อคุณแม่พาน้องใหม่เข้าบ้าน อาจแสดงพฤติกรรมถดถอย เช่น ชอบเอาชนะ ร้องไห้เก่ง ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ติดแม่มาก บางครั้งก็พูดแบบเด็กเล็กๆ

      ไม่ว่าลูกจะมีพัฒนาการแต่ละด้านเป็นแบบใด  คุณแม่ควรยอมรับในความเป็นตัวตนของลูก เพื่อให้ลูกมั่นใจในศักยภาพของตน แล้วจากนั้นการกระตุ้นส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีค่ะ