ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คุณแม่ต้องรู้ ทำไมลูกแหวะนม

เชื่อแน่ว่า “ลูกแหวะนม” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน แต่คุณแม่มือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การเลี้ยงลูกมาก่อน มักจะกังวลกันมากว่าลูกเป็นอะไร อาการนี้ผิดปกติหรือไม่ จะมีวิธีลดการแหวะนมของลูกได้หรือไม่ คำถามเหล่านี้มีคำตอบให้คุณแม่ ที่สำคัญการรู้สาเหตุจะทำให้การแก้ไขทำได้ตรงจุดค่ะ

ทำไมลูกแหวะนม

อาการแหวะนมสามารถพบได้บ่อยกับลูกตั้งแต่แรกเกิด ที่พอหลังจากดูดนมแม่อิ่มแล้วก็จะแหวะเอานมออกมาเล็กน้อย เพราะอาการแหวะนมอาจเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารยังทำงานได้ไม่ดี รูดปิดไม่สนิท ประกอบกับนมเป็นของเหลวทำให้ไหลย้อนออกมาได้ง่าย ในทารกแรกเกิด โดยเฉพาะใน 4 เดือนแรก จะมีโอกาสแหวะนมได้สูง เพราะทารกกินนมในปริมาณมาก ในขณะที่ความจุของกระเพาะยังน้อย และกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารยังทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะหากอยู่ในท่านอนหงาย ก็จะยิ่งทำให้เกิดการแหวะนมได้ หากนมที่ออกมานั้นไม่ได้มีอะไรเจือปนออกมาด้วย เช่น สีเหลืองของน้ำดีหรือเลือดปนมาด้วยกับนม และลูกยังอารมณ์ดี ร่าเริง กินนมได้ตามปกติ ก็ถือว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

อาการแหวะนมดูจะเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดที่ระบบการย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์ กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เป็นลิ้นอยู่ระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารอาจยังปิดไม่สนิท หากคุณแม่ป้อนนมลูกจนอิ่มมากเกินไป ก็อาจทำให้น้ำนมที่อยู่ในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นมาจนลูกต้องแหวะนม อาการแหวะนมถึงแม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็ยังทำให้คุณแม่กังวลกันอยู่ไม่น้อย

ทารกแพ้นมทำให้เกิดอาการแหวะนมหรือเปล่า

 

อาการแหวะนมแบบไหนผิดปกติ

อย่างที่บอกว่าอาการแหวะนมส่วนใหญ่เป็นอาการปกติที่พบได้ในเด็กเล็ก สำหรับอาการแหวะนมที่ผิดปกติ ก็คือ อาการแหวะนมที่มีอาการมากจนลูกน้ำหนักไม่ขึ้น ลูกร้องไห้บ่อย ร้องกวนงอแง ไม่กินนมทั้งที่หิว ไอหรือสะอึกขณะดูดนม แหวะสีเหลืองมีน้ำดีหรือเลือดปน มีภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ สำลัก หายใจหอบ อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกรดไหลย้อน (Gerd) คุณแม่ควรนำลูกไปพบคุณหมอ

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกแหวะนม?

  • จับลูกไล่ลมหลังมื้อนม วิธีที่จะช่วยลูกไม่ให้แหวะนม แนะนำให้จับลูกเรอทุกครั้งหลังกินนมอิ่ม เพื่อไล่ลมออกจากกระเพาะ โดยให้คุณแม่อุ้มลูกในท่าที่ลูกตัวตั้งขึ้นสัก 20-30 นาที ซึ่งอาจเป็นการจับตั้งในท่านั่งหรืออุ้มพาดบ่าก็ได้เช่นกัน จะทำให้ลมซึ่งอยู่สูงกว่านมในท้องออกมา เวลาที่ลูกเรออาจมีเสียงเบาหรืออาจไม่มีเสียงออกมาเลยก็ได้

  • ไม่ปล่อยให้ลูกหิวนมมาก เพราะความหิวของลูกจะทำให้รีบดูดนม และดูดมากกว่าปกติ หากลูกกินนมที่มากเกินไปจากที่กระเพาะอาหารจะรับได้ ก็จะทำให้แหวะนมออกมา จึงแนะนำคุณแม่ควรให้นมลูกตรงตามเวลา

  • ไม่ให้นมขณะลูกร้องไห้ หากลูกร้องไห้ขณะจะให้นม ควรปลอบลูกให้หยุดร้องไห้ก่อน เพราะหากให้ลูกดูดนมทั้งยังร้องไห้ จะทำให้ลูกดูดเอาลมเข้าไปในท้องด้วย

  • จัดท่าให้นมที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะให้ลูกดูดนมแม่ หรือให้ลูกดูดจากขวด ควรจัดท่าให้นมลูกในท่าที่ลูกสบาย ด้วยการยกศีรษะลูกขณะกินนมให้สูงตรงขึ้นเล็กน้อย จะช่วยให้ลูกดูดนมได้ดี

  • ไม่ให้นมในปริมาณที่มากเกินไป การให้นมในปริมาณที่มากเกินที่กระเพาะจะรับได้ ก็จะทำให้แหวะนมออกมา จึงควรสังเกตว่าการที่ลูกร้องไห้อาจไม่ได้เป็นเพราะหิวนมเสมอไป

ปัญหาการแหวะนมที่เกิดขึ้นกับลูกนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปเองตามธรรมชาติ เมื่อลูกอายุประมาณ 3 – 4 เดือน หรือในเด็กบางรายอาจยังมีอาการแหวะนมไปจนอายุ 10-12 เดือน แล้วอาการถึงค่อยดีขึ้น ซึ่งระบบย่อยอาหารของเด็กจะเริ่มแข็งแรงมากขึ้น ไปตามช่วงวัยของเด็กค่ะ แต่หากลูกยังมีอาการแหวะอยู่ แสดงว่าระบบการย่อยของเขายังไม่สมบูรณ์พอ คุณแม่ลองปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกนมสูตรย่อยง่ายหรือสูตรอื่นๆ ที่เหมาะสมกับลูกน้อย

คุณสมบัติเฉพาะของนมสูตรย่อยง่าย

  • มีโปรตีนผ่านการย่อยบางส่วน โปรตีนมีขนาดเล็ก ทำให้ร่างกายดูดซึมได้ดี ย่อยง่าย ไม่มีนมเหลือค้างในกระเพาะ นมจึงไม่ไหลย้อนออกมา

  • มีปริมาณน้ำตาลแลคโตสต่ำกว่านมสูตรปกติ ทำให้ไม่มีน้ำตาลเหลือเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ต้นเหตุของการเกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารของเด็ก

แม้อาการแหวะนมสามารถเกิดขึ้นกับเด็กได้ทุกคน แต่จะดีกว่าไหม หากคุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกแหวะนมออกมาด้วยวิธีต่างๆ ที่แนะนำมา รวมทั้งการให้ลูกได้กินนมที่เหมาะสมกับระบบการย่อยของเขา ช่วยให้ไม่มีปัญหาแหวะนมมากวนใจแม่และลูก และผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ลูกมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่สมวัยนั่นเอง

 

ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner