เมื่อทุกอย่างเต็มไปด้วยความรวดเร็ว และดูจะเร่งเร้าให้ผู้คนใจร้อน ขาดความอดทนในการรอคอยมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับโลกพัฒนามากขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างได้มาอย่างง่ายดาย ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องการอดทน รอคอย

อดทน รอคอย พื้นฐานสำคัญของอารมณ์

เด็กๆ เองยังอยู่ในวัยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ยังชินกับการที่อยากได้อะไรต้องได้ทันที แต่หากไม่ได้รับการปลูกฝังให้รู้จักอดทน รู้จักรอคอย ยับยั้งตัวเองได้  ก็เสี่ยงที่จะมีปัญหาเย็นไม่เป็น รอไม่ได้ มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เรายิ่งต้องให้ความสำคัญและใส่ใจในการฝึกฝนลูกให้อดทนให้ได้ รอคอยให้เป็น 

ทำไมการอดทน รอคอย จึงสำคัญต่อเด็กยุคหน้า ?

เพราะโลกยุคหน้า ความฉลาดทางวิชาการอาจไม่ใช่สิ่งชี้วัดความสำเร็จอีกต่อไป เนื่องจากทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ไม่ต่างกัน สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เท่ากัน  แต่คนที่รู้จักอดทน  รอคอย ยับยั้งชั่งใจได้ เผชิญความยากลำบากได้ รู้จักเวลาที่สมควรต่างหากที่จะประสบความสำเร็จ

อดทน รอคอย พื้นฐานสำคัญของอารมณ์

มีผลการวิจัยที่เรียกว่า The Marshmallow Test  ของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ซึ่งได้ทดสอบกับเด็กกว่า 600 คน ที่มีอายุระหว่าง 4-6 ขวบ โดยทิ้งให้พวกเขาอยู่กับขนมมาร์ชเมลโล่เพียงลำพัง และเด็กๆ สามารถหยิบขนมกินได้ถ้าต้องการ แต่หากสามารถอดทนรอนักวิจัยได้ 15 นาที  พวกเขาจะได้รับขนมเพิ่มขึ้น ผลการวิจัยระบุออกมาว่าเด็กที่อดทนได้เมื่อโตขึ้น จะปรับตัวและเข้าสังคมได้ดีกว่า และยิ่งกว่านั้นการที่เด็กสามารถควบคุมตัวเองและอดทนรอได้ทำให้พวกเขามีทักษะทางอารมณ์ที่ดีกว่า คนที่อดทนรอคอยได้ มีแนวโน้มจะเป็นคนตรงต่อเวลา มีเหตุผล รักษาคำพูด ไม่เอาแต่ใจ ที่สำคัญสามารถทำงานได้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่กำหนด และประสบความสำเร็จในชีวิต  

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องหันมาเสริมสร้างทักษะความอดทนและรู้จักรอคอยให้ลูกเป็นตัวอย่างให้ลูก คนที่เด็กสามารถเรียนรู้ความอดทนรอคอยได้ดีที่สุด คือ พ่อแม่ โดยดูจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น  เวลาต้องรอคิวนานๆ คุณพ่อคุณแม่ทำตัวอย่างไร ยืนรออย่างอดทนหรือหงุดหงิด บ่น เครียด  หรือเวลาขับรถ ขับอย่างไร ปาดซ้ายขวาเพื่อให้ได้ไปก่อน เวลารถติด บ่น ทำท่าทางโมโห เครียด ตะคอก หรือหงุดหงิดไหม เวลาลูกทำให้โมโห คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองเขาอย่างไร ดุ ตะคอก โมโหใส่ทันที หรือมีท่าทีสงบ คุยกับลูกด้วยเหตุผล ฯลฯ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อทักษะนี้ของลูก เพราะลูกจะซึมซับและเลียนแบบได้ 

อดทน รอคอย พื้นฐานสำคัญของอารมณ์
 

กิจกรรมสำหรับ ลูกน้อยวัย 1-3 ขวบ

รายละเอียด

ฝึกรอคอยจากชีวิตประจำวัน

เมื่อลูกต้องการสิ่งใด ไม่ตอบสนองลูกในทันที เพื่อให้ลูกได้รู้จักการรอคอย และไม่ถูกตามใจมากจนเกินไป บอกให้เขารู้ว่าเมื่อรอแล้วอีกไม่นานก็จะได้ โดยบอกจุดสิ้นสุดของการรอคอยให้ชัดเจน เช่น "ถ้าอยากเล่นตุ๊กตา ลูกต้องกินข้าวให้เสร็จก่อน" . หรือหากลูกอยากให้คุณแม่ใส่ถ่านของเล่นให้ ขณะที่คุณวุ่นกับการทำอาหารอยู่ บอกเขาว่า “แม่ยังทำให้ตอนนี้ไม่ได้ รอแม่ทำอาหารเสร็จก่อนนะจ๊ะ” เพื่อทำให้การอดทนรอคอยของเขามีจุดสิ้นสุด ไม่ใช่การรอแบบไม่มีจุดหมาย การบอกลูกว่า "เดี๋ยวก่อน" หรือ "รอแป๊บนึง" เด็กจะไม่เข้าใจว่าต้องรอถึงเมื่อใด การที่ต้องรอจะค่อยๆ ปลูกฝังว่าเขาไม่จำเป็นต้องได้อะไรในทันทีทุกครั้ง 

ฝึกลูกช่วยเหลือตัวเอง

การฝึกลูกให้ช่วยตัวเองในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขาตามวัยที่เขาทำได้ เช่น อาบน้ำเอง ตักกินข้าวเอง ใส่เสื้อเอง เก็บของเล่นเอง ล้างมือเอง ฯลฯ  และขยับกิจกรรมให้ยากขึ้นตามวัย จะช่วยให้ลูกรู้จักความอดทน รับมือกับความยากลำบากได้  เมื่อเขาทำได้ คุณแม่ก็ชมเขา หากเขายังทำไม่เสร็จหรือไม่เรียบร้อย คุณแม่ก็กำกับให้ทำให้เสร็จ หรือช่วยเหลือบ้างเล็กๆ น้อยๆ เมื่อรู้สึกว่ากิจกรรมนั้นยากเกินไปสำหรับลูก      

เล่นบทบาทสมมุติเรื่องรอคอย

เด็กๆ ชอบเล่นบทบาทสมมุติ คุณแม่ใช้โอกาสนี้สอนลูกเล่นบทบาทสมมุติเรื่องการรอคอย เช่น การเข้าคิวพบหมอ การเข้าคิวจ่ายเงินแม่ค้า ฯลฯ

ฝึกเข้าคิวในชีวิตจริง

การเข้าแถวรอคิว นอกจากจะเป็นเรื่องพื้นฐานของการเข้าสังคมแล้ว ยังเป็นวิธีที่ดีที่จะฝึกลูกเรื่องการอดทนรอคอย และเราสามารถฝึกลูกได้ตั้งแต่เล็กๆ โดยพ่อแม่ต้องทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง เช่น การรอคิวเข้าห้องน้ำ รอคิวจ่ายเงิน หรือรอคิวซื้ออาหาร ถึงแม้ว่าลูกจะเบื่อ หรืออยากจะเข้าร้านเร็วๆ ก็ต้องสอนให้เขารอคิว โดยชี้ให้เด็กเห็นว่าทุกคนต่างก็ต้องรอเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งในระหว่างรออาจชวนลูกพูดคุย หรือหากิจกรรมทำแก้เบื่อก่อน ที่สำคัญพ่อแม่ไม่ควรเห็นว่าลูกเป็นเด็กแล้วขอแซงคิวคนอื่นๆ เพราะจะทำให้ลูกเคยชินกับการได้รับอภิสิทธิ์ และเขาจะสามารถหาเหตุผลมาทำผิดกฎ ผิดระเบียบได้เสมอๆ  

ทำกิจกรรมระหว่างรอ 

การชวนลูกทำกิจกรรมระหว่างรอ เช่น การต่อบล็อกไม้ ต่อจิ๊กซอว์ อ่านหนังสือ ฯลฯ เป็นการฝึกความอดทนรอคอยได้ดี เพราะลูกจะมุ่งความสนใจไปที่กิจกรรมเหล่านี้แทนการพะวงกับการรอคอย

ปลูกต้นไม้ฝึกความอดทนรอคอย

การปลูกต้นไม้จะช่วยฝึกความอดทนให้ลูกได้ เพราะเขาต้องรอเพื่อดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น อาจเริ่มสิ่งง่ายๆ อย่างการเพาะถั่วงอก

ออกกฎแตะมือขออนุญาต

คุณพ่อคุณแม่สามารถออกกฎกติกาขึ้นมาในครอบครัว เพื่อฝึกการรอคอยให้ลูกได้ เช่น เมื่อลูกต้องการอะไรบางอย่าง ขณะที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำงานหรือพูดคุยกับคนอื่นอยู่ ให้ลูกแตะมือหรือแขนพ่อแม่ หากพ่อแม่แตะกลับหมายถึงว่าเขาสามารถพูดบอกสิ่งที่ต้องการได้ แต่หากพ่อแม่ไม่แสดงท่าทีตอบรับ แสดงว่าเขาต้องรอให้พ่อแม่เสร็จธุระก่อน   

เล่นกับเพื่อน

การเล่นกับเพื่อนจะช่วยให้ลูกได้ฝึกการรอคอย เช่น  เมื่อลูกต้องการของเล่น ก็ต้องรอให้เพื่อนเล่นเสร็จก่อน เป็นการเรียนรู้เรื่องความอดทน รอคอย รวมทั้งการแบ่งปันของเล่นให้กับเพื่อน  

เล่นหยอดรูปทรง

การหยอดรูปทรงต่างๆ ลงตามบล็อก จะช่วยฝึกการอดทนให้ลูกได้ เพราะเป็นการเล่นที่มีความยากสำหรับเด็กที่จะต้องเลือกก้อนรูปทรงและเลือกช่องสำหรับหยอดให้ตรงกัน และต้องหันด้านและมุมของก้อนรูปทรงให้ตรงพอดีกับช่องจึงจะหยอดลงไปได้ จึงอาจจะสร้างความหงุดหงิดผิดหวังให้เด็กที่ไม่สามารถหยอดก้อนรูปทรงใส่ลงไปในกล่องได้สำเร็จ และเขาอาจจะไม่อดทนพอที่จะเล่นต่อ 

คุณแม่สามารถสาธิตการเล่นให้ลูกดูทีละขั้นทีละตอน หรือลองหยิบรูปทรงสามเหลี่ยมหยอดลงในช่องสี่เหลี่ยมแล้วพูดว่า เอ...ทำไมหยอดไม่ลงนะ  ลองเปลี่ยนอันใหม่ดูสิ...อ๋อ! ต้องใช้บล็อกสี่เหลี่ยมนั่นเอง” เขาก็จะเรียนรู้ว่าต้องหยิบก้อนรูปทรงใดไปหยอดลงในช่องที่มีรูปทรงตรงกัน

เล่นเกมรอก่อนนะ

ควรพาลูกออกไปพบปะคนผู้คน ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ บ้าง เพื่อให้ลูกเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น รู้จักแบ่งปันของเล่น การรอคอย และรู้จักระเบียบ กฎกติกาของสังคม เช่น การเล่นเครื่องเล่นในสวนสาธารณะที่ลูกต้องรอคนอื่นเล่นตามคิว ยับยั้งตัวเองที่จะคอยได้ เป็นต้น  

พาลูกทำกิจกรรมนอกบ้าน 

งานศิลปะอย่างการวาดภาพ ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ปั้นแป้งโดว์ ฯลฯ เป็นกิจกรรมที่ทำให้ลูกได้ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้มาก เพราะเขาสามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างอิสระตามจินตนาการ (ให้หัดวาด หรือปั้นเองตามที่ลูกคิด ไม่ควรให้ทำตามแบบที่มี)

เล่นสนุกกับงานบ้าน

ชวนลูกทำงานบ้านผ่านการเล่น เช่น ใช้ไม้ถูพื้นเป็นของเล่นที่ลูกใช้ทำความสะอาดพื้นบ้าน ขณะลูกถูพื้นก็อาจร้องเพลงสนุกๆ ไปด้วย ลูกก็จะสนุกกับการเล่นถูพื้น คุณแม่สามารถใช้หลักการเล่นนี้กับงานบ้านอื่นๆ เช่น ให้ลูกใส่ถุงมือผ้า เช็ดถูทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของบ้าน เด็กๆ ที่ได้ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านตั้งแต่เล็กๆ เมื่อเติบโตขึ้นจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ง่าย รู้จักเข้ากับสังคม เข้าใจผู้อื่นได้ดี เป็นคนมีน้ำใจและจิตใจดี เพราะได้อดทนเรียนรู้ความลำบากผ่านการทำงานบ้านมาก่อน