ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

 

คุณแม่ที่ให้นมแม่ได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับน้ำนมแม่จะพบกับคำว่าน้ำนมส่วนหน้าหรือ foremilk มีลักษณะเป็นน้ำ แคลอรี่ต่ำเรียกอีกอย่างว่าน้ำนมใส และน้ำนมส่วนหลังหรือ hindmilk มีไขมันและแคลอรี่สูง เรียกอีกอย่างว่าน้ำนมข้น คุณแม่หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าแล้วต้องให้นมลูกแบบไหน นานเท่าไหร่ ลูกถึงจะได้น้ำนมครบทั้งสองส่วน เอนฟามีคำตอบมาให้ค่ะ

น้ำนมแม่ดีที่สุดในทุกหยด ทุกส่วน


คุณแม่บางคนเมื่อเห็นว่าน้ำนมส่วนหน้าดูเป็นน้ำนมใสๆ ก็สงสัยว่าลูกจะได้รับคุณค่าสารอาหารเท่ากับน้ำนมส่วนหลังที่ดูข้นกว่าหรือเปล่า เพื่อไม่ให้รู้สึกนอยด์กันไปใหญ่ ต้องเข้าใจก่อนว่า น้ำนมแม่ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนก็ดีเสมอ เพราะกลไกการผลิตน้ำนม ปริมาณของไขมันจะค่อยๆ เปลี่ยนไปตามระยะเวลาการให้นมลูก ลองนึกถึงน้ำนมที่ผลิตอยู่ในถุงน้ำนม จะมีไขมันที่เกาะติดอยู่ที่ผนังถุงน้ำนม ระหว่างที่ให้นมในตอนแรกไขมันจะยังเกาะตัวกัน แต่หลังจากน้ำนมไหลออกไปแล้ว ไขมันที่เกาะอยู่จะค่อยๆ ไหลออกมาตามท่อน้ำนมทำให้ดูเป็นสีขาว ยิ่งเวลาที่ให้น้ำนมแต่ละข้างนานขึ้น ไขมันก็จะเข้มข้นมากขึ้น และไม่เกี่ยวกับว่าลูกดูดน้ำนมส่วนหน้าหรือน้ำนมส่วนหลังไป แล้วจะให้ผลในเรื่องสุขภาพต่างกัน แค่เป็นน้ำนมแม่ก็เยี่ยมที่สุดแล้ว แต่การดูดหรือปั๊มให้เกลี้ยงเต้าจะมีผลดีกับการผลิตน้ำนมที่มากขึ้นไปด้วย

ดังนั้นความแตกต่างกันคือ...

  • น้ำนมแม่ส่วนหน้า

    : น้ำนมแม่ส่วนหน้าเวลาปั๊มออกมาแล้วเห็นเป็นน้ำ มีปริมาณไขมันต่ำกว่า แต่ก็มีน้ำตาลแลคโตสที่ช่วยพัฒนาสมองและระบบประสาทส่วนกลาง เป็นส่วนที่ทารกต้องการในการใช้เป็นพลังงานถึง 40% แลคโตสยังช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและธาตุเหล็กด้วย

  • น้ำนมแม่ส่วนหลัง

    : น้ำนมแม่ส่วนหลังเป็นน้ำนมช่วงสุดท้ายก่อนที่เต้านมจะเริ่มผลิตน้ำนมใหม่ ถึงจะมีปริมาณไม่มาก แต่ก็มีไขมันมากกว่า และยังมีสารอาหารอื่นๆ ทั้งหมดที่พบได้ในนมแม่ด้วย เช่น โปรตีน MFGM เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในนมแม่กรดไขมัน     ดีเอชเอ เป็นต้น

ถ้าลูกได้รับน้ำนมส่วนหน้า (น้ำนมใส) มากกว่าน้ำนมส่วนหลัง (น้ำนมข้น)


อย่างไรก็ตาม ก็พบว่าในบางกรณี เด็กกินนมแม่แล้วถ่ายทันที ถ่ายบ่อย นั่นเป็นเพราะนมแม่ย่อยง่าย ทำให้ลูกขับถ่ายได้ดี แต่บางกรณีอาจเกิดจากการที่คุณแม่ให้ลูกกินนมไม่เกลี้ยงเต้า เปลี่ยนข้างให้ลูกดูดเร็ว ทำให้ลูกกินน้ำนมแม่ส่วนหน้าที่มีน้ำและน้ำตาลแลคโตสเข้าไปมาก ลำไส้ย่อยและดูดซึมไม่ทัน ทำให้นมผ่านไปลำไส้ใหญ่ค่อนข้างเร็ว จึงมีน้ำตาลแลคโตสจากนมแม่ลงไปในลำไส้ใหญ่ในปริมาณมาก แลคโตสจึงไปดึงน้ำเข้ามาในลำไส้ใหญ่ ทำให้ลูกถ่ายออกมาบ่อย และอาจเหลวเป็นน้ำ

ทางแก้ไขสำหรับกรณีนี้คือ ให้ลูกดูดแต่ละข้างนานขึ้นจนเกลี้ยงเต้าแล้วค่อยย้ายข้าง เพื่อให้ได้นมครบทั้งสองส่วน หากลูกยังถ่ายเหลวอยู่ คุณแม่อาจปั๊มนมส่วนหน้าหรือน้ำนมใสออกสัก 5-10 นาที หรือบีบนมส่วนหน้าออกสักนิดก่อนให้ลูกดูด เพื่อให้ได้กินน้ำนมส่วนหลังซึ่งข้นกว่าเพราะมีไขมันมากกว่า ลำไส้ใช้เวลาย่อยและดูดซึมนานกว่า อีกทั้งยังเพิ่มกากให้อุจจาระ ร่างกายลูกจะใช้เวลาย่อยและดูดซึมนานขึ้น อุจจาระมีกากมากขึ้น จะช่วยให้ลูกถ่ายเป็นปกติและถ่ายห่างขึ้นได้ค่ะ

เบบี๋ต้องได้รับน้ำนมที่เพียงพอ


สำหรับทารกแรกเกิดนั้นคุณแม่ควรให้ลูกได้รับ "น้ำนมเหลือง" ในช่วง 1-3 วันแรกหลังหลอด เพราะมี แลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย

ในการเพิ่มน้ำหนักของลูก คุณแม่ต้องให้ลูกได้กินนมเพียงพอกับการเจริญเติบโตของเขา ถ้าคุณแม่ปั๊มนมแม่ออกมาใส่ขวดก็ให้ลูกกินอยู่ที่ประมาณ 27 ออนซ์ต่อวัน คุณแม่ควรให้ลูกดูดให้นานพอหรือปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า การไม่ปล่อยให้นมค้างอยู่ในเต้านานเกินไป จะทำให้น้ำนมส่วนหลังขยับมาเป็นส่วนหน้ามากขึ้น  ข้อดีคือน้ำนมส่วนหน้าจะข้นมากขึ้น เมื่อลูกดูดจะทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวเพิ่มได้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนอกจากลูกจะได้สารอาหารในนมครบแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการสร้างน้ำนมใหม่ด้วย 

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน

ยังไงอย่าลืมจำไว้นะคะว่า...

เต้านมของคุณแม่ผลิตน้ำนมตามความต้องการ ยิ่งดูดเยอะ ดูดเร็ว แสดงถึงว่าร่างกายต้องการน้ำนมเยอะ เต้านมก็ยิ่งผลิตน้ำนมออกมามาก คุณแม่จึงไม่ต้องกลัวว่าน้ำนมจะแห้งหรือน้อยลง

“ยิ่งมีน้ำนมค้างเต้า การผลิตจะช้าลง ถ้าให้เต้าเกลี้ยงน้ำนมเป็นประจำ การผลิตน้ำนมก็ยิ่งเพิ่มขึ้นๆ”

ดังนั้น คุณแม่จึงควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ตามที่ลูกต้องการ ไม่ต้องจำกัดเวลาหรือจำกัดมื้อ และควรให้ลูกดูดจนเกลี้ยงเต้าข้างหนึ่งก่อน จากนั้นให้ดูดอีกข้าง แต่ถ้าลูกอิ่มก่อนนมจะเกลี้ยงเต้า คุณแม่สามารถหยิบที่ปั๊มนมมาปั๊มให้น้ำนมเกลี้ยงทั้งสองเต้าได้เลย โดยไม่ต้องสนใจว่าจะมีน้ำนมออกมามากน้อยแค่ไหน แล้วจะทำให้ลูกของเราได้รับทั้งส่วนน้ำนมใสและน้ำนมข้นค่ะ

 

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน


ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้ดื่มนมแม่ทั้งน้ำนมส่วนหน้าและส่วนหลังให้ครบถ้วน และคุณแม่ควรพยายามให้นมลูกเป็นลำดับแรกมากกว่านมผงสำหรับเด็ก เพราะน้ำนมแม่มี MFGM เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในน้ำนม ช่วยให้เซลล์ไขมันคงรูปอยู่ได้ในน้ำนม MFGM ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีนต่างๆ และไขมันเชิงซ้อน ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองเด็ก และมีดีเอชเอ กรดไขมันที่ช่วยพัฒนาสมองเด็กนั่นเอง นอกจากนี้ ควรให้ทารกได้รับน้ำนมแม่ในระยะแรก หรือน้ำนมเหลือง ซึ่งมี แลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย

นมแม่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด พบข้อมูล เคล็ดลับที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ได้ที่นี่