ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วิธีปั๊มน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่

วิธีปั๊มน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่

ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

 

อยู่ที่ไหนก็ปั๊มได้! วิธีปั๊มนมสำหรับคุณแม่มือใหม่


ความกังวลอย่างหนึ่งของคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูก ก็คือรู้สึกว่าไม่สามารถออกจากบ้านได้นานๆ เพราะต้องทั้งให้ลูกดูดนมจากเต้า หรือเครื่องปั๊มนมทุกอย่างก็อยู่ที่บ้าน รู้สึกหวั่นใจกลัวน้ำนมจะหดหาย แต่ตอนนี้ชีวิตของคุณแม่จะง่ายขึ้นเยอะ เพราะมีตัวช่วยให้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ออกมาทำงาน หรือแว่บไปทำธุระบ้าง ลูกก็ยังมีน้ำนมกินได้ตามความต้องการมาฝากกันค่ะ

10 วิธีปั๊มนมสำหรับคุณแม่มือใหม่ ลองใช้ดูสิ


1. เลือกเครื่องปั๊มแบบพกพา

แม้จะมีเครื่องปั๊มนมไฟฟ้าพลังสูงที่ต้องเสียบปลั๊กไว้ที่บ้าน แต่ยังไงก็ตามอยากแนะนำให้คุณแม่ลงทุนซื้อเครื่องปั๊มที่พกพาไปไหนได้ง่ายๆด้วย ซึ่งมีทั้งแบบปั๊มมือและแบบชาร์จไฟ เตรียมพร้อมเครื่องปั๊มนมไว้ทุกวัน จะปั๊มนมที่ไหนก็ได้เลย

2. เลือกกระเป๋าที่เก็บทุกอย่างได้ครบ

กระเป๋าเก็บน้ำนมทุกวันนี้นอกจากดีไซน์จะน่ารัก ยังมีช่องเก็บกระเป๋าที่ใส่ได้ทั้งเครื่องปั๊ม ขวดนม ไอซ์แพคที่ออกแบบมาให้พอดี ไม่ต้องขนของเป็นสิบกระเป๋าอย่างทุกเช้า แถมยังได้เช็คลิสต์ว่าเราเอาของไปครบแล้วหรือยัง

3. ทำให้การปั๊มนมเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

นั่นคือคุณแม่ควรมีเสื้อชั้นในสำหรับให้นมหรือปั๊มนม เมื่อประกบขวดปั๊มแล้วแนบสนิทกับเต้านม ล็อกไว้ให้มั่น จากนั้นก็ทำกิจกรรมชิลๆ จะนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน ดูหนังอ่านหนังสือ ก็ไม่ต้องใช้มือประคองช่วย การปั๊มนมเลยไม่ใช่เรื่องที่ต้องสละเวลาอีกต่อไป แถมได้ใช้เวลาของตัวเองด้วยต่างหาก

4. หาช่วงเวลาที่ใช่ที่สุดสำหรับตัวเอง

คุณแม่หลายท่านอาจบอกว่าเวลาเช้าเป็นช่วงที่น้ำนมมาเยอะที่สุดและลูกยังหลับสบายอยู่ แต่คุณแม่บางคนบอกว่าช่วงเย็นมีคนในครอบครัวช่วยดูแลเจ้าตัวเล็ก คุณแม่เลยได้พักและนั่งปั๊มนมสบายๆ ได้ หรือคุณแม่บางคนบอกว่าช่วงหลังอาบน้ำอุ่นๆ ช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น คุณแม่สามารถเลือกช่วงที่ตัวเองรู้สึกสบาย ผ่อนคลายมากที่สุดได้เลยค่ะ

5. กำหนดเวลาที่จะปั๊มนมในแต่ละวัน

ถ้าคิดว่าจะปั๊มเมื่อว่างจากการทำงานจะทำให้ไม่ค่อยได้ปั๊มบ่อยเท่าที่ควร คุณแม่ที่ทำงานจะรู้ตารางชีวิตแต่ละวัน ให้ตั้งนาฬิกาไว้เลยว่าวันนี้ถึงที่ทำงาน 9 โมงจะปั๊มนมเลยแล้วเว้นทุก 2-3 ชั่วโมง ทำให้เป็นเวลาที่ร่างกายคุ้นเคยและผลิตน้ำนมออกมาอย่างเพียงพอ

6. ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้

ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร ทำดีที่สุดแค่ไหนก็แค่นั้น อย่าเพิ่งกดดันตัวเอง อาจจะเห็นว่าคุณแม่คนอื่นปั๊มนมต่อครั้งได้ 8 ออนซ์ แต่คุณแม่เองได้ 3-4 ออนซ์ ก็ไม่ต้องท้อ ปั๊มต่อไป อาจจะปั๊มให้บ่อยขึ้นจากเดิมเท่าที่ทำไหว หรือถ้าการปั๊มนมเหนื่อยมากก็ตั้งระยะเวลาให้ตัวเอง เช่น 3 เดือนแรกได้เท่านี้ ถ้าทำถึงแล้วก็ขยายไป 6 เดือนต่อไป เป็นต้น เมื่อทำได้แล้วจะรู้เลยว่าง่ายมาก

7. อย่าฝืนตัวเองมากเกินไป

การให้นมลูกและการปั๊มนมเป็นภารกิจของคนเป็นแม่ที่เหนื่อยมาก ดังนั้นอย่ากดดันตัวเอง ถ้าต้องติดประชุมแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ปล่อยใจสบายๆ เสร็จแล้วออกมาปั๊ม และปั๊มให้บ่อยๆ เรียกน้ำนมกลับคืนมาแบบไม่ต้องเครียดเกินไป

8. ออกมานั่งปั๊มนมนอกสถานที่

มีผ้าคลุมปั๊มนมแล้ว (ผืนเดียวกับผ้าคลุมให้นมนั่นแหละค่ะ) บางทีก็อาจจะหลบมุมนั่งในร้านกาแฟ สั่งขนมอร่อยๆ กินแล้วปั๊มนมไปด้วยอาจจะออกมาให้ไกลจากผู้คนเล็กน้อย จะได้ทั้งความสงบและคุณแม่จะได้ไม่ต้องกังวลว่าเสียงเครื่องปั๊มจะรบกวนคนอื่นด้วยค่ะ

9. ถ่ายรูปลูกในมือถือเอาไว้เยอะๆ

เผื่อว่าต้องออกมาข้างนอก วิธีสร้างน้ำนมให้มามากๆ คือความรู้สึกผูกพันและความรักที่มีต่อลูก จะทำให้ออกซิโทซินหลั่งแล้วไปกระตุ้นน้ำนมให้มีมากขึ้น ระหว่างปั๊มนมก็นั่งดูรูปลูกไป คิดว่าเราเป็นแม่ที่เก่งมากที่ตั้งใจทำสิ่งนี้ได้ อย่าลืมชมและเป็นกำลังใจให้ตัวเองด้วยนะคะ

แม่และลูกกำลังถ่ายเซลฟี่

 

10. เก็บน้ำนมที่ปั๊มได้ให้ดี

หากคุณแม่ต้องการเก็บนมที่ปั๊มได้ไว้ให้ลูกกินเมื่อกลับไปบ้าน ก็ควรนำกระติกเล็กๆ ใส่น้ำแข็งติดตัวไปด้วย นมที่คุณแม่ปั๊มได้ควรเก็บในภาชนะที่สะอาด เช่น ขวดใส่นม หรือถุงเก็บน้ำนม โดยการเก็บนมใส่ถุงเก็บน้ำนม คุณแม่ต้องไม่ลืมรีดอากาศออกก่อนปิดถุงทุกครั้ง จากนั้นให้ใส่กระติกน้ำแข็งไว้นะคะ แล้วรีบนำกลับไปแช่ตู้เย็นที่บ้านต่อ

วิธีปั๊มนมนอกบ้านที่นำมาแนะนำกันนี้ คงช่วยให้คุณแม่มือใหม่ไปทำธุระนอกบ้านได้สบายใจมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าเต้านมจะคัด น้ำนมจะลด ลูกจะไม่มีนมกิน ลองนำไปใช้กันดูนะคะ

 

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน


เพราะในน้ำนมเหลืองมี แลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย และนมแม่ยังมี MFGM เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในน้ำนม ช่วยให้เซลล์ไขมันคงรูปอยู่ได้ในน้ำนม MFGM ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีนต่างๆ และไขมันเชิงซ้อน ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองเด็ก และมีดีเอชเอ กรดไขมันที่ช่วยพัฒนาสมองเด็กนั่นเอง

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน

 

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

บทความที่แนะนำ

4 สารอาหารบำรุงสมองลูก ประโยชน์ของสารอาหารในนมแม่ที่ต้องรู้
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner