ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

 

คุณแม่ให้นมลูกหรือแม่หลังคลอดส่วนใหญ่มักทุ่มเทเวลาให้กับการเลี้ยงลูก จนบางครั้งก็ลืมดูแลตัวเอง แต่พอจะดูแลตัวเองก็ไม่แน่ใจอีกว่าเรื่องไหนทำได้อย่างไร เรามีคำตอบให้กับเรื่องที่คุณแม่สงสัยค่ะ

นอนไม่พอแล้วจะดูแลตัวเองอย่างไร

คุณแม่มือใหม่มักมีปัญหานอนไม่พอ เมื่อนอนไม่พอการดูแลตัวเองก็อาจทำได้ยาก เรามาหาเวลาพักผ่อนนอนหลับกันค่ะ

  • ลูกนอนเรานอนด้วย เมื่อลูกนอนหลับ คุณแม่ก็ควรงีบหลับเพื่อพักผ่อนไปพร้อมกับลูกบ้าง เพราะถ้าหากปล่อยให้ลูกนอนนำไปก่อน แล้วคุณแม่เพิ่งมานอนละก็ คุณแม่จะพบว่าลูกตื่นในขณะที่คุณแม่กำลังจะหลับ แน่นอนว่าคุณแม่ก็ไม่ได้นอนพัก

  • พักผ่อนขณะให้นมลูก ตอนกลางคืน คุณแม่อาจจะให้นมลูกในท่านอนหรือท่าแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน ไม่ต้องอุ้มลูกขึ้นมา เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนไปพร้อมกัน หลังจากให้นมลูกเสร็จแล้ว ก็วางลูกลงนอนอย่างเบาๆ จากนั้นก็นอนไปพร้อมกับลูกได้เลย แต่อย่าเผลอหลับจนไปนอนทับลูกนะคะ

    สมัครสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับสิทธิ์! รถเข็นเด็กสุดพรีเมี่ยม ฟรี!
  • หาผู้ช่วย คุณแม่ควรหาคนช่วยเลี้ยงลูกเพื่อผ่อนงานคุณแม่บ้าง ซึ่งอาจเป็นสามีหรือคนในครอบครัวมาช่วยเลี้ยงสลับเวลาสัก 2-3 ชั่วโมง และควรหาคนมาช่วยทำงานบ้านด้วย เพื่อให้คุณแม่ได้นอนพักผ่อนบ้าง

  • ฝึกลูกให้หลับเป็นเวลา ช่วง 1-2 เดือนแรก คุณแม่อาจจะต้องอดหลับอดนอนกับการเลี้ยงลูกอยู่บ้าง เพราะลูกยังกินนอนไม่เป็นเวลา หลังจากนั้นการกินนอนของลูกจะเป็นระบบมากขึ้น คุณสามารถเริ่มฝึกลูกให้หลับเป็นเวลาได้ โดยสร้างตารางกิจวัตรประจำวันในช่วงเวลาเดิมๆ ของทุกวัน ไม่ว่าจะการนอน กินข้าว เล่น หรือการนอนหลับ โดยฝึกให้เป็นเวลาจนลูกเกิดความเคยชิน จะทำให้คุณแม่มีเวลามาดูแลตัวเองได้มากขึ้น

 

ให้นมลูกออกกำลังกายได้มั้ย

คุณแม่ให้นมสามารถออกกำลังกายได้ (สามารถลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรใช้วิธีอดอาหาร) โดยอาจเริ่มจากการออกกำลังกายแบบเบาๆ และช่วงสั้นๆ ก่อน อาจจะเป็นแอโรบิกหรือว่ายน้ำ 20 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความสามารถของคุณแม่

อย่างไรก็ตามพบว่า ขณะออกกำลังกายร่างกายจะมีการผลิตกรดเเลคติก (lactic acid) ในกระแสเลือดและในน้ำนม ปริมาณกรดเลคติกที่เพิ่มขึ้นนี้จะกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากแม่ออกกำลังกายแล้วประมาณ 30 นาที ปริมาณกรดเเลคติกที่เพิ่มขึ้นในน้ำนมนั้นไม่ได้เป็นอันตรายกับลูก แต่อาจเปลี่ยนแปลงรสชาติของน้ำนมแม่ได้ โดยกรดเเลคติกจะมีรสขมและเปรี้ยว  ทำให้ลูกอาจปฏิเสธการกินนมแม่ในมารดาหลังจากออกกำลังกายใหม่ๆ ได้ มีข้อแนะนำสำหรับแม่ที่ออกกำลังกายในระหว่างการให้นมลูก ดังนี้

  • หากแม่มีน้ำนมเต็มเต้า ควรให้ลูกดูด บีบหรือปั๊มนมเก็บก่อนการออกกำลังกาย ลูกจะกินนมได้ปกติเนื่องจากรสชาตินมไม่เปลี่ยนแปลง

  • หลังการออกกำลังกาย หากทำได้ให้เว้นระยะการให้นมลูกสัก 30 นาที เพื่อให้ระดับกรดแลคติกในน้ำนมลดลงสู่ระดับปกติ

  • หลังออกกำลังกายหากต้องให้นมลูก ให้เช็ดเหงื่อออกจากเต้านมด้วยสำลีชุบน้ำสะอาดแล้วจึงให้ลูกกินนม หากลูกปฏิเสธและมีสีหน้าที่บ่งบอกถึงรสชาติของน้ำนมที่เปรี้ยวหรือขม บีบน้ำนมในช่วงแรกออกประมาณ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา หรืออาจทิ้งระยะสักครู่ กอดลูกไว้แล้วให้ลูกกินนมอีกครั้ง หรืออาจนำนมแม่ที่บีบเก็บไว้ก่อนการออกกำลังกายมาให้ลูกกินก่อนก็ได้

  • คุณแม่ควรใส่ชุดชั้นในพยุงทรงเพื่อรองรับน้ำหนักเต้านมที่เพิ่มขึ้น และไม่กดทับการระบายของท่อน้ำนม เพื่อป้องกันปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน

ให้นมลูกอยู่ทำสีผมได้มั้ย

คุณแม่ให้นมมักสงสัยว่าจะสามารถทำผมได้ไหม น้ำยาย้อมผม น้ำยาฟอกสีผม และน้ำยาดัดผมจะส่งผลต่อการให้นมหรือไม่ คุณแม่สามารถทำได้ค่ะ เพราะสารเคมีในน้ำยาเหล่านี้จะซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อยมาก และตอนนี้ยังไม่มีการศึกษาใดที่แสดงถึงอันตรายจากการที่คุณแม่ทำสีผมขณะอยู่ในช่วงให้นมลูก

อย่างไรก็ตาม ขณะคุณแม่อุ้มลูก เล่นกับลูก หรือแม้แต่ขณะให้ลูกกินนม ลูกจะได้กลิ่นของน้ำยาทำสีผมหลังคุณแม่ทำสีผมใหม่ๆ ลูกอาจจะไม่ชอบกลิ่นนี้ ไม่อยากเข้าใกล้คุณแม่ และพาลให้ไม่ยอมดูดนมก็ได้ จึงต้องระมัดระวังเรื่องกลิ่นเหล่านี้ไว้สักนิดนะคะ

ให้นมลูกอยู่ฉีดโบท็อกซ์ได้มั้ย

โบท็อกซ์ไม่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์หรือให้นมลูกอยู่ ซึ่งโบท็อกซ์นั้นมีคุณสมบัติทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดคลายตัวชั่วคราว เป็นโปรตีนบริสุทธิ์ที่สกัดจากแบคทีเรียทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดนั้นเกิดการคลายตัว ส่งผลให้ริ้วรอยตื้นขึ้นโดยไม่มีผลต่อกล้ามเนื้อมัดอื่น สารชนิดนี้จะมีบางส่วนเข้ากระแสเลือดและเข้าไปสู่น้ำนม จึงไม่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์หรือให้นมลูกอยู่ ช่วงให้นมลูก คุณแม่จึงต้องสวยด้วยวิธีอื่นที่ไม่ส่งผลต่อลูกไปก่อนนะคะ

หน้าอกไม่เต่งตึงเหมือนเดิมทำอย่างไรดี

เต้านมไม่เต่งตึงดูหย่อนคล้อย เป็นเรื่องที่คุณแม่ให้นมลูกมักกังวล จริงๆ แล้วเต้านมหย่อนคล้อยเกิดจากแรงโน้มถ่วง เพราะเต้าหนักมากขึ้นจากการมีน้ำนมแม่อยู่ในเต้านม ไม่ใช่จากการที่ลูกดูดแต่อย่างใด คุณแม่ให้นมลูกสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ โดย...

  • ดูแลอาหาร หากเต้านมดูไม่เต่งตึงเหมือนเดิม ไม่ควรใช้วิธีลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร และเพิ่มหน้าอกด้วยการเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น ไข่แดง น้ำนมถั่วเหลือง และเลือกรับประทานที่ให้ไขมันดี เช่น ไขมันจากปลา อโวคาโด หรือน้ำมันมะกอก เป็นต้น

  • หมั่นบริหารหน้าอก หรือการออกกำลังกายในท่ากระชับหน้าอก เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอก และเส้นยึดเต้านมแข็งแรงขึ้น เช่น ท่าง่ายๆ ด้วยการประกบฝ่ามือทั้ง 2 ข้างเข้าหากันคล้ายกับท่าพนมมือ แต่เหยียดข้อศอกทั้ง 2 ข้างออกให้สุดเท่าที่จะทำได้ นับ 1-5 แล้วผ่อนคลาย ทำซ้ำสัก 5 ครั้ง หรือการว่ายน้ำโดยเฉพาะท่าผีเสื้อจะช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าอกแข็งแรง ช่วยกระชับกล้ามเนื้อหน้าอกได้

แม่ให้นมไม่ควรฉีดโบท๊อซ์เพราะจะกระทบต่อการให้นมลูก / หน้าอกหย่อนคล้อยสามารถดูแลให้เต่งตึงได้โยการบริหารกล้ามเนื้อหน้าอก

 
  • เลือกชุดชั้นในที่ทำให้หน้าอกยกกระชับ เพื่อช่วยปรับรูปหน้าอกให้ได้รูปทรงขึ้น เช่น ชุดชั้นในแบบสปอร์ต บรา เป็นต้น

ตอนนี้คุณแม่ให้นมคงได้คำตอบแล้วว่าเมื่อจะดูแลตัวเองนั้น เรื่องไหนทำได้เลย เรื่องไหนควรงดไว้ก่อนขณะให้นมลูกค่ะ

 

นมแม่ดีที่สุดต่อสมองเด็ก

เพราะมี MFGM เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในน้ำนม ช่วยให้เซลล์ไขมันคงรูปอยู่ได้ในน้ำนม MFGM ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีนต่างๆ และไขมันเชิงซ้อน ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองเด็ก และมีดีเอชเอ กรดไขมันที่ช่วยพัฒนาสมองเด็กนั่นเอง

นมแม่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด พบข้อมูล เคล็ดลับที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ได้ที่นี่