เด็กอายุหนึ่งขวบขึ้นไปหรือวัยเตาะแตะนั้น ควรได้รับการฝึกให้นอนหลับยาวโดยไม่ตื่นขึ้นมาดูดนมกลางดึกอีก เพราะการกินนมตอนกลางคืนนั้นส่งผลเสียกับตัวลูกมากกว่าผลดี ดังนั้นบ้านไหนลูกวัยเตาะแตะที่ยังเลิกนมมื้อดึกไม่ได้ คุณแม่ต้องฝึกให้ลูกเลิกนมมื้อนี้อย่างจริงจังได้แล้วนะคะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ผลกระทบเมื่อวัยเตาะแตะไม่เลิกนมมื้อดึก

  • เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ

    เด็กวัยเตาะแตะมีฟันขึ้นหลายซี่แล้ว หากเขากินนมมื้อดึกและหลับไปพร้อมกับขวดคาปาก คราบนมตกที่ค้างในปากนี้จะถูกแบคทีเรียในปากย่อยจนเกิดสารที่ทำให้ฟันผุกร่อนได้ง่าย ดังนั้นเมื่อแปรงฟันทำความสะอาดก่อนนอนแล้วไม่ควรให้เขากินนมอีก เพื่อป้องกันปัญหาฟันผุ

  • ทำให้ได้รับนมเกิน

    ลูกวัยเตาะแตะกินข้าวเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ ส่วนนมที่เป็นอาหารเสริมควรให้กินโดยเฉลี่ย 24 ออนซ์ต่อวัน โดยแบ่งให้กิน 3-4 ครั้ง เมื่อลูกได้กินนมมื้อก่อนนอน (ประมาณ 30 นาทีก่อนเข้านอน) แล้วแปรงฟันหรือเช็ดปากให้สะอาดก่อนเข้านอน การตื่นกลางดึกแล้วกินนมอีกมื้อเพื่อทำให้หลับต่อได้ นอกจากเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาฟันผุแล้ว ลูกยังได้รับนมมากเกินไปอาจนำไปสู่เป็นโรคอ้วน หรือการกินข้าวมื้อเช้าได้น้อย ดังนั้น หากลูกกินข้าวและนมในปริมาณที่เหมาะสมแล้วในช่วงระหว่างวัน การที่ลูกตื่นตอนกลางคืนแล้วเรียกหานมก็ไม่ได้แสดงว่าเขาหิว แต่เป็นเพราะเคยชินกับการดูดนมเพื่อกล่อมตัวเองให้หลับ และไม่เคยถูกฝึกให้หลับด้วยตัวเองนั่นเอง

  • นอนไม่เต็มที่

    การที่ลูกต้องตื่นมากินนมกลางคืน จะทำให้เขาไม่ได้นอนหลับยาวตลอดทั้งคืน ซึ่งส่งผลต่อการหลั่งของฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตหรือ Growth Hormone ที่จะหลั่งได้ดีเมื่อเด็กนอนหลับสนิทได้ยาว นอกจากลูกแล้ว คุณแม่เองก็ไม่ได้นอนหลับยาวเช่นกันค่ะ

เคล็ดลับเลิกนมมื้อดึกลูกวัยเตาะแตะ

  • บอกลูกตรงๆ

    แม้ลูกจะยังเล็ก แต่คุณแม่ก็สามารถบอกลูกว่าทำไมถึงไม่ให้กินนมมื้อดึก เช่น ลูกจ๋าเราจะไม่กินนมกันหลังจากแปรงฟันแล้วนะคะ คุณหมอบอกว่าเดี๋ยวฟันลูกจะผุ แล้วถ้าฟันผุลูกจะเจ็บมากเลย ยิ้มก็ไม่สวย แม่ไม่อยากให้ลูกฟันผุ ดังนั้นเราจะไม่กินนมตอนกลางคืนกันนะคะ ตอนนี้คือกลางคืน คือเวลาที่เรานอน เราจะไม่กินนม แต่ถ้าสว่างกลางวันเมื่อไหร่เราจะกินนมได้ ลูกต้องกินนมก่อนนอนให้อิ่มนะคะ เพราะเราจะกินนมกันอีกครั้งตอนเช้าที่มีแสงสว่างนะคะ ฯลฯ แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ ลูกก็ยังร้องไห้ คุณแม่ต้องใจแข็งฝึกกันต่อไปค่ะ

  • ให้ดูดน้ำเปล่าแทน

    เด็กบางคนเพียงต้องการดูดเพื่อกล่อมตัวเองให้หลับไม่ได้เกิดจากความหิว คุณแม่อาจลองให้ดูดน้ำเปล่าหรือจุกหลอกแทน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ หากลูกไม่ยอมดูดน้ำเปล่า คุณแม่อาจลองใช้วิธีชงนมให้เจือจางลงเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่านมไม่อร่อยเหมือนเดิมแล้ว

 
งดนมมื้อดึกสำหรับทารก
 
  • ใจแข็งกับเสียงร้องของลูก

    เรื่องนี้ต้องอาศัยความใจแข็งของคุณแม่ค่ะ เพราะเมื่อได้ยินเสียงลูกร้องไห้ คุณแม่มักใจอ่อน คืนแรกของการฝึกเลิกนมมื้อดึกนั้น เด็กส่วนใหญ่จะร้องนาน บางคนอาจร้องนาน 1 – 2 ชั่วโมงจนเหนื่อยแล้วหลับไปเอง แต่จะลดลงเรื่อยๆ และไม่ตื่นอีกภายใน 1-2 สัปดาห์ คุณแม่อาจอุ้ม ตบก้นเบาๆ หรือร้องเพลงกล่อมได้ แต่ไม่ต้องให้นมเลย

คุณแม่ที่มีประสบการณ์คนหนึ่งเล่าว่า คืนแรกที่เธอฝึกลูกวัยเกือบ 2 ขวบเลิกนมมื้อดึก เธอบอกลูกว่า “นมหมดแล้วนะคะ กลางคืนไม่มีนมให้กินแล้ว ตื่นมากินตอนเช้านะลูก กินน้ำมั้ย” ปรากฏว่าลูกของเธอร้องไห้ ไม่ยอมฟังอะไร ไม่ยอมกินน้ำ เธอได้แต่กอดลูกไว้แล้วบอกแบบเดิม “นมหมดแล้วนะ ไม่มีแล้ว ตื่นมากินตอนเช้านะ แม่รักลูกนะ” จนสุดท้าย ลูกก็ร้องจนหลับไปเอง เธอก็กอดเขาไว้กับอก ตบก้น ลูบหลังปลอบลูก คืนแรกใช้เวลาไปประมาณ 25 นาทีกว่าลูกจะสงบ

คืนที่สอง ลูกก็ร้องไห้เหมือนเดิม แต่เมื่อลูกเห็นว่าไม่ได้แล้วจริงๆ ประมาณ20 นาที ก็ยอมดูดน้ำเปล่า อาจจะหิวน้ำเพราะร้องไห้หมดแรง พอกินน้ำเสร็จ ก็ขอดูดจุกหลอก ดูดไปประมาณ 10 นาทีก็หลับ เธอก็และเอาจุกหลอกออก เพราะลูกไม่ควรนอนหลับโดยมีจุกหลอกคาปาก

คืนที่สาม  ลูกก็ตื่นมาร้องไห้ขอกินนมเหมือนเดิม แม่ก็ยังพูดเหมือนเดิม แต่คืนนี้ลูกร้องไห้ไม่นาน ดูดน้ำ ดูดจุกหลอกเพียง 5 นาทีก็หลับต่อ

คืนที่สี่  ลูกเธอตื่นมาไม่ร้องแล้ว เพียงแต่ควานมือหาแม่ให้ปลอบ ดูดน้ำเปล่าแล้วก็หลับต่อเองโดยไม่ดูดจุกหลอกเลย...คุณแม่ท่านนี้ทำสำเร็จได้ภายใน 4 คืนเท่านั้นเอง

 
วิธีหยุดให้นมลูกวัยเตาะแตะตอนกลางคืน
 

ดังนั้นจะเห็นว่า หลักสำคัญของการเลิกนมมื้อดึกวัยเตาะแตะ คือ ความสม่ำเสมอและความเข้มแข็ง อดทนของคุณแม่ เวลาที่เห็นลูกร้องไห้กลางดึก คุณแม่หลายคนก็ใจอ่อนยอมตามเงื่อนไขของลูก คุณแม่ต้องใจแข็งพอ ถึงจะเลิกนมมื้อนี้ได้เป็นผลสำเร็จ

 

คุณแม่รู้ไหม สมองลูกน้อยพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์ถึง 3 ขวบปีแรก ผู้เชียวชาญพร้อมให้คำปรึกษาได้ที่นี่