ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

ทักษะการเคี้ยวอาหารถือว่าสำคัญกับการเจริญเติบโตของเด็กอย่างมาก ถ้าเด็กเคี้ยวอาหารไม่เป็นจะมีผลกับการเจริญเติบโตของพวกเขา เพราะหลังอายุ 1 ขวบ นมที่เคยเป็นอาหารหลักจะกลายเป็นอาหารเสริม อาหารหลักของเด็กจะเป็นอาหารทั่วไป ที่มีลักษณะแข็ง หลากหลาย และครบ 5 หมู่ ดังนั้นหากเด็กเคี้ยวอาหารไม่เป็นจึงถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

การเคี้ยวอาหารสำคัญอย่างไร

ทักษะการเคี้ยวอาหารนั้นสำคัญกับการเจริญเติบโตของเด็กอย่างมาก เพราะการเคี้ยวอาหารถือเป็นต้นทางของระบบการย่อยอาหาร และการนำสารอาหารไปใช้ อีกทั้งเป็นการฝึกการเคลื่อนไหวของขากรรไกร บริหารกล้ามเนื้อบริเวณกระพุ้งแก้ม กล้ามเนื้อคอ ฝึกการใช้ลิ้นในการตวัด และดุนอาหาร ฯลฯ นอกจากนั้น การเคี้ยวยังเป็นการกระตุ้นให้กรามและฟันมีการเจริญเติบโตอย่างสมวัย

ปกติเมื่ออายุประมาณ 7 เดือนขึ้นไป ลูกจะมีฟันขึ้น และเริ่มเคี้ยวอาหารได้แล้ว ถ้ามีการฝึกให้ลูกกินอาหารเสริมอื่นตามวัยนอกจากนม เขาก็จะสามารถพัฒนาทักษะนี้ไปได้มากขึ้นตามลำดับ จนเมื่ออายุครบ 1 ขวบขึ้นไป ก็สามารถรับประทานอาหารได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ปัญหาที่พบในเด็กหลายๆ คน คือลูกไม่ยอมกินข้าวเป็นเม็ดๆ ชอบกินแต่อาหารเหลว หรือเมื่อป้อนให้กินก็มักบ้วนทิ้ง หรืออมไว้ไม่ยอมเคี้ยว ไม่ยอมกลืน ปฏิเสธอาหารแข็ง อาหารเป็นชิ้น เด็กบางคนอายุขวบกว่าหรือ 2 ขวบแล้ว แต่ยังกินอาหารปั่นเหลวอยู่ นี่เป็นสัญญาณบอกว่าลูกกำลังมีปัญหาในเรื่องทักษะการเคี้ยวอาหาร ซึ่งเกิดจากการที่ไม่ได้รับการฝึกเรื่องการรับประทานอาหารตามวัยมาตั้งแต่แรก

นอกจากนี้ในช่วงหลัง 1 ขวบขึ้นไป เด็กเข้าสู่ช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ ลูกจะชอบเคลื่อนไหวมาก ไม่สนใจกินอาหาร อาหารในวัยนี้จึงควรเป็นอาหารแข็งที่อยู่ท้องได้นาน ซึ่งหมายความว่าเด็กต้องเคี้ยวอาหารที่แข็งและเหนียวได้มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว แต่เมื่อยังเคี้ยวไม่เป็นก็จะกระทบถึงสุขภาพร่างกายและการเรียนรู้ได้

หากลูกเคี้ยวอาหารไม่เป็น

ถ้าครบขวบแล้ว คุณแม่พบว่าลูกมีปัญหาเคี้ยวไม่เป็น สิ่งที่ต้องทำคือเริ่มต้นฝึกกันอย่างจริงจังค่ะ แม้จะเป็นเรื่องยากกว่าการฝึกในช่วงก่อนขวบปีแรกก็ตาม โดยค่อยๆ ให้ลูกกินอาหารที่แข็งขึ้น เพื่อให้ได้ฝึกเคี้ยวบ้าง และต้องฝึกด้วยท่าทีเชิญชวน บรรยากาศสนุกสนาน ไม่บังคับฝืนใจ คุณพ่อคุณแม่อาจทำให้ดูว่าการเคี้ยวเป็นอย่างไร บอกลูกว่าอาหารเอร็ดอร่อยขึ้นเพียงใดจากการที่ได้เคี้ยว หรือมีอาหารอร่อยอื่นๆ รออยู่อีกมากถ้าลูกเคี้ยวเป็น เป็นต้น ที่สำคัญคุณแม่ต้องใจแข็ง ค่อยๆ ปรับลดอาหารอ่อนลง เพิ่มอาหารแข็งขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

 
ปัญหาการเคี้ยวในเด็กเล็ก
 

ตารางการฝึกลูกเคี้ยวอาหาร

  • ช่วงเริ่มต้น : อาหารที่ข้นและหยาบ เช่น เนื้อสัตว์สับหยาบ ผสมผักต้มสุก

  • ระยะต่อมา : เนื้อสัตว์สับหยาบขึ้นกว่าระยะแรก รวมทั้งผักผลไม้สดโดยหั่นเป็นแท่งๆ เช่น แครอท แอปเปิ้ล แตงกวา ฯลฯ เพื่อให้หัดเคี้ยวมากขึ้น

  • ระยะกินอาหารผู้ใหญ่ : เมื่อลูกเคี้ยวอาหารได้ชำนาญขึ้น อาหารควรหยาบมากขึ้นโดยไม่ต้องสับ หากเป็นไปได้ควรกินอาหารลักษณะแบบผู้ใหญ่ได้แล้ว เพียงแต่รสชาติอ่อนแบบอาหารเด็ก

ฟันแข็งแรง เพื่อช่วยขบเคี้ยวอาหาร

นอกจากการฝึกเคี้ยวแล้ว ฟันที่แข็งแรงก็เป็นปัจจัยสำคัญของการเคี้ยวอาหารของเด็ก หากเด็กฟันผุหรือฟันไม่แข็งแรงก็เป็นอุปสรรคในการเคี้ยวอาหารได้

  • เด็กวัย 1 ปี จะมีฟันหน้า 6-8 ซี่ เด็กจึงกัดและเริ่มฉีกอาหารได้ แต่ฟันเคี้ยวคือฟันกรามยังไม่ขึ้น เด็กวัยนี้จึงยังใช้เหงือกในการบดอาหารและเคี้ยวอาหาร

  • พอย่างเข้าปีที่ 2 ลูกจะมีฟันกราม (แต่ยังเป็นฟันกรามของฟันน้ำนมอยู่) เด็กจึงสามารถเคี้ยวอาหารชิ้นโตและเหนียวขึ้นได้

  • เมื่อเด็กมีฟันกรามจำนวนหลายซี่ก็จะเคี้ยวและกลืนอาหารได้ อย่างไรก็ตาม การให้อาหารเด็กเล็กต้องระมัดระวัง ถ้าเด็กยังเคี้ยวและกลืนไม่เก่ง อาจจะสำลักได้ พ่อแม่จึงต้องเฝ้าดูลูกด้วย

  • เมื่อลูกอายุ 1 ขวบ คุณแม่ควรเริ่มให้ลูกรู้จักเคยชินกับการใช้แปรงสีฟันเริ่มจากให้ถืออมหรือกัดเล่นก่อน แล้วจึงเริ่มหัดแปรงฟันให้ การแปรงควรค่อยๆ แปรง เพราะเหงือกของลูกยังบอบบาง จึงบาดเจ็บได้ง่าย คุณแม่ต้องแน่ใจว่าได้แปรงฟันลึกเข้าไปถึงด้านในของฟัน และไปถึงด้านหลังของฟันกราม ควรแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เมื่อลูกอายุ 2 ขวบ ลูกเริ่มบ้วนปากเป็น คุณแม่จึงค่อยเริ่มแตะยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวแปรงทำความสะอาดฟันให้ลูก

 
การออกกำลังกายการเคี้ยวสำหรับเด็กวัยหัดเดิน
 

เมื่อคุณแม่ได้รู้ความสำคัญของการเคี้ยวอาหารต่อสุขภาพและพัฒนาการของลูกแล้ว ควรรีบฝึกลูกเคี้ยวอาหารนะคะ อย่าปล่อยไว้ เพราะหากปล่อยให้ปัญหาล่วงเลยไปนานจะยิ่งฝึกยากและยิ่งส่งผลเสียต่อการกินของลูกค่ะ

 

คุณแม่รู้ไหม สมองลูกน้อยพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์ถึง 3 ขวบปีแรก ผู้เชียวชาญพร้อมให้คำปรึกษาได้ที่นี่