ช่วง 3 ขวบปีแรกเป็นช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการเด็ก เพราะเป็นช่วงวัยที่สมองมีการพัฒนาสูงสุด การเรียนรู้จดจำ และทักษะชีวิตจำเป็นที่จะต้องติดตัวเด็กคนหนึ่งไปจนโต ต้องส่งเสริมอย่างตรงจุดตั้งแต่ช่วงวัย 0-3 ปี โดยเฉพาะทักษะการคิดเป็น คิดดี ทำดี สามารถพึ่งพาตัวเองเป็น และเอาตัวรอดในสังคมได้อย่างมีความสุข

สิ่งสำคัญคือการเข้าใจพัฒนาการตามวัยและพื้นอารมณ์ที่ติดตัวลูกมาตั้งแต่แรกเกิด เมื่อพ่อแม่เข้าใจและปรับวิธีการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมในทุกด้าน ทั้งอาหารที่ครบถ้วนโภชนาการ กระตุ้นพัฒนาการตามวัย ให้ความรักและผูกพัน ให้ลูกรู้สึกว่า ‘แม่มีอยู่จริง’ ก็เท่ากับได้สร้างฐานที่แข็งแกร่งให้ลูก แม้ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงใดในอนาคตลูกเราก็สามารถอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์

ลูกน้อยวัย 0-3 เดือน : พัฒนาการครั้งแรกในชีวิตลูก

พัฒนาการลูกน้อยวัย 0-3 เดือน เป็นไปอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นนักสังเกต หมั่นเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของเจ้าจิ๋วอย่างใกล้ชิด เพื่อรู้วิธีส่งเสริมพัฒนาการที่ตรงจุดที่สุด

Checklist พัฒนาการครั้งแรกของลูก

วัย 0-1 เดือน

ร่างกายและทักษะด้านการเคลื่อนไหว

  • มือกำไว้แน่น เวลาตกใจจะแบมือออก พอครบ 1 เดือนจะค่อยๆ คลายกำปั้นออก

  • ดูดทุกอย่างที่มาแตะปาก เป็นปฏิกิริยาทางร่างกายที่จำเป็นสำหรับการดูดนม

  • พอครบ 1 เดือนเริ่มหันคอได้เอง และจะมองตามสิ่งของที่เคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้า

อารมณ์และสังคม

  • มองจ้องได้หนึ่งอึดใจ

  • ส่งเสียงครั้งแรก เด็กเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ นี่คือจุดเริ่มต้นการเรียนรู้คำพูด

  • สนใจมองหน้าแม่ หรือบุคคลอื่นที่อยู่ใกล้

วัย 2-3 เดือน

ร่างกายและทักษะด้านการเคลื่อนไหว

  • ชันคอได้ 45 -90 องศา ในท่านอนคว่ำ

  • ความเข้าใจครั้งแรกของลูก ลูกจะยกมือมาเคลื่อนไหวในระดับสายตา และชอบจ้องมือของตัวเอง เกิดการเรียนรู้แล้วว่า ‘นี่มือของฉัน’

อารมณ์และสังคม

  • ยิ้มแรกของลูก ลูกจะแสดงสีหน้าได้มากขึ้น สามารถยิ้มโต้ตอบยามพ่อแม่พูดคุยด้วย

  • หันมองตามเสียงที่ได้ยิน

  • สนใจสิ่งของที่มีสีสัน

กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กแรกเกิด ถึง 3 เดือน

  • สีสันชวนให้คว้าจับและมองตาม หาโมบายหรือของเล่นที่มีสีสันสดใสให้ลูกมอง กระตุ้นให้ลูกเอื้อมมือคว้าจับ พัฒนากล้ามเนื้อมือและแขน รวมทั้งพัฒนาด้านการมองเห็น

  • ของเล่นชิ้นแรกของลูก ของเล่นประเภทกรุ๊งกริ๊ง ส่งเสริมการมองหาและพัฒนาการของกล้ามเนื้อแขนในการไขว่คว้า

ลูกน้อยวัย 4-6 เดือน

พัฒนาการครั้งแรกที่เติบโตไปอีกขั้น

ช่วงวัยนี้ลูกน้อยมีพัฒนาการเคลื่อนไหวมากขึ้น ทำให้พ่อแม่ตื่นเต้นกับพัฒนาการครั้งแรกของลูกได้ทุกวัน เปล่งเสียงเป็นพยางค์และเล่นเสียงสูงต่ำให้พ่อแม่ได้ชื่นใจ เริ่มจดจำชื่อตนเองได้ ที่สำคัญเป็นวัยที่เริ่มกินอาหารตามวัยคำแรก หากกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้สอดคล้องกับวัย พัฒนาการยิ่งเติบโตสมวัย

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

Checklist พัฒนาการครั้งแรกของลูก

วัย 4-6 เดือน

ร่างกายและทักษะด้านการเคลื่อนไหว

  • คอแข็งแล้ว หยิบจับเป็น ระบบประสาททั้งห้าเริ่มพัฒนา

  • ขยายขอบเขตการมองเห็นได้กว้างขึ้นและมองตามของที่เคลื่อนไหวรอบตัวได้ไกลขึ้น

  • พลิกตัวได้ครั้งแรก เมื่อราว 4 เดือน ซึ่งสัมพันธ์ไปกับการเคลื่อนไหวที่ลูกเพิ่งได้ออกผจญภัย หลังจากนอนนิ่งๆ มานาน

  • เด็ก 6 เดือนบางคนสามารถเริ่มนั่งโดยพ่อแม่ช่วยพยุงได้

อารมณ์และสังคม

  • สำรวจโลกกว้างครั้งแรก เพราะเด็กวัยนี้จะอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น เห็นได้ชัดเมื่อลูกจับเท้าตัวเองขึ้นมา แต่ยังไม่รู้ว่า นี่เท้าของตัวเอง

  • แสดงสีหน้าตามพ่อแม่ได้หลากหลายมากขึ้น

  • สนุกกับการเปล่งเสียงของตัวเอง

  • เด็กวัย 6 เดือนจะรับรู้ได้ว่าพ่อแม่ คือ คนพิเศษ และอาจจะกลัวคนแปลกหน้า

  • รู้ชื่อตัวเอง

กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กอายุ 4 – 6 เดือน

  • เล่นคนเดียวได้เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะเวลาที่ลูกกำลังเพลิดเพลินไปกับยางกัดชิ้นโปรด เวลานี้นี่เองที่ลูกได้เรียนรู้เรื่องการมีสมาธิจดจ่อ เฝ้ามองตัวเอง และเป็นเวลาเดียวกันกับที่คุณแม่สามารถรีบทำงานบ้านได้

  • นั่งตักอ่านนิทาน เปิดให้ลูกดูรูปภาพสีสันขนาดใหญ่ ให้เขาค่อยๆ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่อยู่ในหนังสือ เพื่อฝึกการใช้สายตา และเรียนรู้การเชื่อมโยงของเรื่องราวผ่านเสียงของแม่และภาพในหนังสือนิทาน

  • จัดบรรยากาศบ้านให้เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะเวลาที่ลูกเริ่มคลาน

  • คุยกับลูกเล็กผ่านกิจวัตรประจำวัน ด้วยน้ำเสียงและคำพูดที่ดึงดูดความสนใจของเขา เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ ฝึกเคลื่อนไหวร่างกาย และจดจำการออกเสียง คำศัพท์ที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูกให้แนบสนิทมากยิ่งขึ้น

6 เดือนลูกรับอาหารเสริม มื้อแรกของลูก เตรียมพร้อมอย่างไร

  • ฝึกลูกดื่มน้ำหรืออาหารอุณหภูมิปกติ

  • เมนูมื้อแรกเริ่มต้นด้วยข้าวบดละเอียดเติมผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย

  • ไม่ควรปรุงรส และค่อยๆ ให้ปริมาณเล็กน้อย 1-2 ช้อนโต๊ะในมื้อแรก

  • เริ่มฝึกให้ลูกนั่งร่วมโต๊ะกินข้าวกับคุณพ่อคุณแม่ เปิดโอกาสให้ลูกหยิบจับคว้าอาหารกินเอง

 

ตรวจสอบข้อมูลโดย : รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช