รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้ให้แนวทางในการเลี้ยงลูกแก่พ่อแม่เพื่อสอนให้ลูกมีหัวคิดและหัวใจที่ดี ดังนี้

8 แนวทางการเลี้ยงลูก เพื่อให้เด็กมี 4 ทักษะขั้นพื้นฐานที่แน่นหนา แต่ไม่กดดันลูก

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air
  • เชื่อมั่นในตัวลูก และเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

    ‘ทักษะ’ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Skills ซึ่งหมายถึง ความเชี่ยวชาญหรือความชำนาญ และจะเกิดสิ่งนี้ได้ก็ต่อเมื่อ เด็กๆ ทำด้วยตัวเอง ถึงจะสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ได้ ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดเองก่อน คิดแล้วลองให้เขาได้ลงมือทำด้วยตัวเอง เด็กจะเกิดการเรียนรู้ ต่อยอดอย่างไม่รู้จบ

  • ลดคำว่า ‘อย่า’ แล้วปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เหมาะสม

    คำนี้หากใช้บ่อยจะกลายเป็นการสกัดกั้นความคิด จิตนาการและพัฒนาการได้ เช่น อย่าตักแบบนี้สิลูก เดี๋ยวเลอะ ซึ่งจริงๆ แล้วปล่อยให้เลอะบ้างก็ได้ เพราะเขากำลังเรียนรู้ว่า แล้วจะต้องตักยังไงให้เอาเข้าปากได้ โดยที่ไม่หกส่วนคำว่า ‘อย่า’ ขอให้เป็นคำที่แสดงให้ลูกรู้ว่าสิ่งนั้นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น พร้อมเรียนรู้ที่จะไม่ทำ และหยุดด้วยตัวเองได้

  • เสริมแรงอย่างถูกที่ถูกเวลา

    การมอบรางวัลที่เหมาะสม เพื่อเสริมแรงให้เด็กๆ รู้ว่า พฤติกรรมใดหรือสิ่งใดทำแล้วพ่อแม่ชื่นชอบและต้องการ เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้ฝึกฝนและพยายามทำสิ่งนั้นให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ เช่น เสียงปรบมือพร้อมรอยยิ้มกว้างๆ จากแม่ เมื่อลูกตั้งไข่ได้เป็นครั้งแรก การมอบดาวให้ลูกสักดวงหลังจากที่ลูกสามารถถือเสื้อผ้าใช้แล้วไปใส่ในตะกร้าได้ เป็นต้น นี่คือ กระบวนการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสม

  • หมั่นตั้งคำถามปลายเปิด ถามว่า ‘ทำไม’ หรือ “อย่างไร” มากกว่า ‘อะไร’

    การให้ลูกได้คิดเอง วิเคราะห์เองเป็นสิ่งที่ดี โดยเริ่มจากคำถามว่า ‘ทำไม’ มากกว่า ‘อะไร’ เพราะคำว่าทำไม ช่วยให้ลูกรู้จักทบทวนหาเหตุผลผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์​ วางแผน และแก้ปัญหา ได้ดีกว่า คำถามปลายปิดว่า “อะไร” พ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาให้กับลูกได้ตั้งแต่เด็กยังพูดไม่เป็นภาษาผ่านการเล่านิทาน อ่านหนังสือ พูดคุยกัน เพื่อเรียนรู้พื้นฐานทางภาษาและยังสามารถสอดแทรกพื้นฐานของกระบวนการคิดผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ เมื่อถึงวันที่พูดได้แล้ว เด็กก็จะสามารถใช้ภาษาและคิดได้ซับซ้อนมากขึ้น และที่สำคัญอย่าลืมถามเหตุผล ซึ่งไม่ต้องคาดหวังคำตอบใดๆ และพร้อมที่จะตอบคำถามและไม่ตัดบทไปดื้อๆ

  • ฝึกให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง

    จากการตั้งคำถาม สู่การตัดสินใจ ลองให้เด็กได้เลือกเอง ด้วยการเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น รองเท้า แต่หากเด็กเลือกไม่เหมาะสม พ่อแม่ก็เพียงชวนให้ลูกฉุกคิดด้วยการถามกลับ โดยไม่รีบเลือกให้ เพราะนั่นคือ การให้ลูกทำตามใจพ่อแม่ แต่หากลูกเลือกเอง จะเป็นการฝึกให้ลูกเป็นคนที่มีความมั่นใจ และมีกระบวนการคิดที่ดีได้มากขึ้น

  • สร้างกฎเกณฑ์และกำหนดขอบเขตอย่างเหมาะสม

    พ่อแม่จะต้องพิจารณาว่าเรื่องไหนสมควรที่จะมีกฎเกณฑ์ เพราะบางเรื่องก็อิสระได้ ไม่มีอะไรผิดหรือถูก แต่ต้องอยู่ในขอบเขต หรือที่เรียกว่า external control เพื่อให้เด็กรู้ว่า การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนั้น จะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของสังคมที่ต้องปฏิบัติ และเมื่อพ่อแม่กำหนดขอบเขตให้กับลูก ลูกก็จะเรียนรู้ขอบเขตของตัวเอง รู้ว่าอะไรเหมาะสม รู้ว่าอะไรควรไม่ควร หรือที่เรียกว่า “internal control” ตามมา ถ้าไม่เคยสร้างขอบเขตให้ลูกเลย ก็มีโอกาสที่จะเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ไม่มีระเบียบวินัย และควบคุมตัวเองไม่ได้กับเรื่องราวที่จะเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นในอนาคต

  • ช่วยเหลือลูกน้อยที่สุด ให้เขาทำด้วยตนเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

    นั่นก็คือ ส่วนหนึ่งของการเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำเอง เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองตามวัย ต่อให้ทำไม่ได้ในครั้งแรก ครั้งสองหรือครั้งที่สาม ลูกจะเรียนรู้คำว่า อดทน ความมานะพยายาม มีสมาธิจดจ่อ เรียนรู้การทำงานที่ประสานกันระหว่างจิตใจ ความคิด ร่างกาย และอารมณ์ รวมถึงทักษะการสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือในเวลาคับขันได้อีกทาง

  • สอนวิชาแพ้ และมองเห็นความผิดหวัง

    ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ความผิดพลาดในเรื่องที่เหมาะสมตามวัยตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้มีเกราะป้องกันความไม่มั่นคงทางใจ พร้อมสอนให้รู้จักอารมณ์ของตัวเอง เช่น สิ่งนี้เรียกว่า ความสุข ลูกกำลังยิ้มเพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รัก  สิ่งนี้เรียกว่า ความโกรธ ลูกกำลังหน้าบึ้งเพราะไม่พอใจที่ถูกแย่งของ เป็นต้น เมื่อลูกรู้จักอารมณ์แล้ว เขาก็จะรู้จักตัวเอง เริ่มเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นได้ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่สังคมในวัยที่โตขึ้น

ที่สำคัญ ด้วยแนวทางเหล่านี้ของพ่อแม่ จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการรอบด้าน และ 4 ทักษะพื้นฐานจำเป็นให้กับลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งได้แก่ ทักษะทางด้านสติปัญญา (Cognition) ทักษะทางด้านการมีสมาธิจดจ่อ (Sustained attention) ทักษะการใช้ภาษาโต้ตอบที่มีความซับซ้อน (Sentence Complexity and Responsive – language) และทักษะการเคลื่อนไหว (Motoring Skill)

หากลูกสามารถพัฒนาทักษะพื้นฐานเหล่านี้ได้ดี การพัฒนาทักษะอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ดีตามมาค่ะ