ด้วยความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางการแพทย์และการเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ทำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้แม่ยุคใหม่ มีความตื่นตัวในการเลี้ยงลูกมากขึ้น โดยตั้งใจเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” ซึ่งเป็น “อาหารที่ดีที่สุด” สำหรับลูกน้อย

องค์การอนามัยโลกแนะนำแม่ทุกคนควรให้นมแม่ตั้งแต่หลังคลอดเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยมีการเตรียมตัวอย่างดีตั้งแต่ตั้งครรภ์ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลากหลายครบ 5 หมู่ เตรียมร่างกายให้พร้อม เพื่อให้นมแม่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าของสารอาหารที่ลูกต้องการ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนมแม่กับพัฒนาการทางสมองของลูกน้อย รวมทั้งยังสร้างความรู้สึกผูกพันและปลอดภัยให้กับลูก โดยเฉพาะการค้นพบ MFGM สารอาหารสำคัญในนมแม่ และเรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่าเด็กที่กินนมแม่ส่วนใหญ่จะฉลาดและมีพัฒนาการดี เป็นเพราะอะไรนั้น เรามาร่วมไขความลับนี้ไปพร้อมกัน

ค้นพบ “MFGM” สารสำคัญในนมแม่

“นมแม่มีสารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตสำหรับลูกน้อยอย่างครบถ้วน ประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โปรตีนและไขมัน ที่ช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อเพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย นอกจากนั้นยังมีสารประกอบทางชีวภาพอื่นๆอีกกว่า 200 ชนิด รศ.ดร.นพ. ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า มีการค้นพบ MFGM หรือ Milk Fat Globule Membrane ในนมแม่ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการแพทย์ว่า เป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญจำนวนมาก โดยมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและสมอง ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เสริมสร้างความฉลาดทางสติปัญญา(IQ) ความฉลาดทางอารมณ์(EQ) ช่วยในการเจริญเติบโตทางร่างกาย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ช่วยให้ลูกฟื้นตัวเร็วหากเกิดการเจ็บป่วย เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง รวมถึงลดโอกาสการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเมื่อโตขึ้น เช่น โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภูมิแพ้ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ จึงแนะนำว่า ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด โดยไม่จำเป็นต้องให้ดื่มน้ำ หรืออาหารเสริมอื่นๆ หลัง 6 เดือนไปแล้วคุณแม่สามารถให้อาหารเสริมกับลูกน้อยควบคู่ไปกับนมแม่ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารได้ครบถ้วนมากขึ้น

คุณแม่อาจสงสัยว่า MFGM คืออะไร มีความแตกต่างจากสารอาหารอื่นมากน้อยแค่ไหน คุณหมอดิฐกานต์ก็มีคำอธิบายมาฝากกัน

“MFGM คือ เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันที่พบได้ในนมแม่ ผลิตจากต่อมน้ำนม ทำหน้าที่ช่วยห่อหุ้มอนุภาคไขมันในนม ให้คงรูปอยู่ได้ MFGM อุดมไปด้วยไขมันและโปรตีนชีวภาพมากกว่า 150 ชนิด เช่น Sphingomyelin (สฟิงโกไมอีลิน) ฟอสโฟลิปิด และ แกงกลิโอไซด์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างปลอกหุ้มเส้นใยประสาท (Myelin Sheath) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับส่งสัญญาณของประสาท และช่วยในการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง สมองก็จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาทางสมองและสติปัญญา นอกจากนี้ โปรตีนยังช่วยในการเจริญเติบโต และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยแข็งแรงพร้อมเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่”

เห็นได้ว่า โภชนาการที่ดีนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสมองของเด็ก โดยเฉพาะ สารอาหารที่สำคัญอย่าง MFGM ที่มีอยู่ในนมแม่

เสริมสร้างศักยภาพสมองเด็กยุคใหม่ ด้วย MFGM สารสำคัญในนมแม่

ผลการวิจัยชี้ MFGM สารอาหารในนมแม่เสริมสร้างภูมิต้านทาน

ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เจฟฟรีย์ เคลกฮอร์น มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยว่า “มีผลการวิจัย เกี่ยวกับ MFGM หลายงานวิจัยที่ระบุว่า MFGM มีบทบาทในการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ส่งเสริมการเชื่อมต่อเซลล์สมอง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในเด็กก่อนวัยเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่งถึง 6 ปี พบว่า เด็กที่ได้รับนมเสริม MFGM จะมีระยะเวลาในการเป็นไข้หรือเจ็บป่วย และใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่าเด็กที่กินนมที่ไม่มีส่วนผสมของ MFGM

ผลการศึกษาต่างๆ เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า MFGM สารอาหารในนมแม่ ซึ่งมีส่วนประกอบของสฟิงโกไมอีลิน ฟอสโฟลิปิด แกงกลิโอไซด์ และองค์ประกอบของโปรตีนอื่นๆในนมแม่ มีบทบาทโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมองของลูกน้อยด้วย นับเป็นการค้นพบผลลัพธ์ของการได้รับ MFGM ที่น่าสนใจจริงๆ

แต่จะดีแค่ไหนถ้าคุณแม่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการสมองของลูกน้อยได้ตั้งแต่แรกเกิด ด้วย MFGM จากน้ำนมของตนเอง และยังเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อย

ถึงตอนนี้ คุณแม่อาจมีคำถามเพิ่มขึ้นมาว่า จะเริ่มสนับสนุนการพัฒนาสมองของลูกน้อยได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำไมวงการแพทย์จึงให้ความสำคัญกับโภชนาการในการพัฒนาสมองของเด็กตั้งแต่ในช่วงแรกเกิด มีข้อมูลจากกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมได้ไขข้อสงสัยนี้ไว้แล้ว

“โภชนาการ” มีส่วนเสริมสร้าง พัฒนาการ “เหนือพันธุกรรม“

การพัฒนาของสมองกว่า 85% จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนถึง 3 ขวบ โดยสมองของคนเราจะมีการเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายเส้นใยประสาทนับล้านโครงข่าย เพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ การได้รับสารอาหารสำคัญที่มีอยู่ในนมแม่ เช่น MFGM DHA และ ARA ซึ่งจำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานของสมอง จอประสาทตา และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเชื่อมต่อเซลล์สมองของเด็กตั้งแต่แรกเกิด จะช่วยส่งเสริมศักยภาพสมองให้เกิดการพัฒนาทักษะต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วเมื่อเขาโตขึ้น

รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัย นวมินทราธิราช กล่าวว่า “เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่ พันธุกรรม โภชนาการ และการเลี้ยงดู ซึ่งในด้านพันธุกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ล่าสุดวงการแพทย์ให้ความสนใจกับทฤษฎีของ “กระบวนการเหนือพันธุกรรม’ (Epigenetic) ซึ่งอธิบายถึงโภชนาการและสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกทางพันธุกรรม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงลำดับของ DNA แต่สามารถเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนที่ได้รับจากพ่อแม่ทั้งด้านพัฒนาการและพฤติกรรมได้ เช่น พ่อแม่มีระดับสติปัญญาความฉลาดปานกลาง ในขณะที่ลูกมีสติปัญญาความฉลาดเหนือกว่าพ่อแม่ หรือการแสดงออกทางกายภาพ ที่ลูกมีส่วนสูง มากกว่าพ่อแม่มาก ทั้งที่ลักษณะของพ่อแม่ไม่ได้สูงมากนัก เป็นต้น”

การที่ลูกมีพัฒนาการหรือพฤติกรรมที่แตกต่างจากพ่อแม่นั้น นอกจากเป็นผลที่เกิดจากการเลี้ยงดูโดยตรงแล้ว ยังสามารถอธิบายได้ด้วยผลที่เกิดจากกระบวนการเหนือพันธุกรรม ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย คือ การได้รับโภชนาการที่ครบถ้วน และกระบวนการเลี้ยงดูที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอในแต่ละช่วงวัย โดยจะทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงการแสดงออกของยีนผ่านสารเคมีและฮอร์โมนสำคัญในร่างกาย โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงลำดับบนโครงสร้างของยีน ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงยีนด้วยการทำพันธุวิศวกรรม (genetic engineering)

คุณหมอพงษ์ศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “โภชนาการที่เหมาะสมจะทำให้เด็กได้รับสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการอย่างครบถ้วน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1) สารอาหารหลัก (Macronutrients) เป็นส่วนที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก เพื่อให้ พลังงานกับร่างกายและสมอง ซึ่งได้จากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน
2) สารอาหารรอง (Micronutrients) ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย ไม่ได้ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่เป็นสารอาหารที่จำเป็นและขาดไม่ได้ ช่วยให้กลไกการทำงานของร่างกายเป็นไปได้อย่างสมดุล ซึ่งจะได้จากวิตามินและเกลือแร่
3) สารประกอบชีวภาพ (Bioactive compounds) เป็นสารที่ได้รับจากอาหารและพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้ ร่างกายทำงานได้ดีและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น MFGM ที่พบในนมแม่และนมวัว มีส่วนช่วยในการสร้างเซลล์สมองและการเชื่อมต่อสื่อประสาท หรือทอรีน ซึ่งแม้จะไม่ถูกจัดเป็นกรดอะมิโนจำเป็น แต่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองของเด็กแรกเกิด ทอรีนช่วยในการมองเห็นป้องกันศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม ช่วยในการทำงานของเรตินาในการรับแสง นอกจากนี้ ยังเป็นตัวควบคุมน้ำในเซลล์ของสมอง และยังเชื่อกันว่า ทอรีนจะทำหน้าที่เป็นตัวนำกระแสประสาทในสมองอีกด้วย (ทอรีนเป็นสารอาหารไม่ใช่ bioactive compound)

3 ขวบปีแรก โอกาสทองของการเสริมสร้างพัฒนาการสมอง

เด็กแรกเกิดโดยทั่วไปจะมีเซลล์สมองกว่า 100,000 ล้านเซลล์ ซึ่งจะลดลงหากไม่ได้รับการเชื่อมต่อเซลล์สมอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโภชนาการและการเลี้ยงดู หากเด็กได้รับนมแม่ซึ่งเป็นโภชนาการที่ดีที่สุด ก็จะมีพัฒนาการที่เหมาะสม เพราะในนมแม่มีสารอาหาร ทั้ง 3 กลุ่มอยู่อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะ MFGM สารอาหารในนมแม่ ที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างการทำงานของสมองการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาท การสร้างเซลล์สมองและสร้างสารสื่อประสาท MFGM ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรับส่งสัญญาณประสาทให้เร็วขึ้น การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองที่มีประสิทธิภาพ เป็นรากฐานสำคัญในพัฒนาการทุกด้านรวมทั้งด้านสติปัญญา

ในช่วงขวบปีแรกนมยังคงเป็นอาหารหลักของลูกน้อย แต่หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ลูกควรได้เริ่มอาหารตามวัย เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารบางชนิดเพิ่มเติม เช่น ธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยให้ร่างกายเติบโตและมีความแข็งแรง เป็นปกติ วิตามินบี โดยเฉพาะ บี12 ที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและสมอง เป็นต้น แต่เมื่อลูกอายุ 1 ปีขึ้นไป ควรได้รับอาหารหลัก โดยนมจะเป็นอาหารเสริม เพราะลูกจะสามารถทานอาหารได้ครบ 3 มื้อเหมือนผู้ใหญ่ ในช่วงอายุนี้คุณแม่ควรเลือกอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่ เพื่อให้ลูกได้รับโภชนาการตามที่ร่างกายต้องการอย่างเหมาะสม และควรเสริมด้วยนมที่มี DHA และ MFGM รวมทั้งกรดไขมันจำเป็นอย่างโอเมก้า 3

อย่างไรก็ตาม ช่วง 1-3 ปีแรก สมองของเด็กจะมีการพัฒนาสูงสุด นอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับโภชนาการแล้ว การส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ด้วยการให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เพื่อเสริมสร้างทักษะและกระตุ้นการทำงานของสมองให้พัฒนาตัวเองมากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งได้รับการฝึกฝนทักษะต่างๆ ซ้ำๆ และบ่อยเท่าไร เซลล์สมองก็จะยิ่งได้รับการกระตุ้นการพัฒนาตัวเองและเชื่อมต่อมากขึ้นและเร็วขึ้นเท่านั้น ทำให้เด็กเฉลียวฉลาด ก้าวล้ำทางความคิดและอารมณ์ สามารถเรียนรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด” รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวสรุป

พ่อแม่ยุคใหม่ต่างทุ่มเทและมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกน้อยตั้งแต่วินาทีแรกที่รู้ว่าตั้งครรภ์ จนลูกลืมตาดูโลก ก็ปรารถนาให้ลูกเติบโตมีร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการทางสมองที่ดี เรียนรู้ไว อารมณ์ดี และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมภายใต้สภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ดี

พัฒนาการเหล่านี้สามารถสร้างได้ ด้วยการมอบ MFGM สารสำคัญที่ลูกต้องการจาก “นมแม่” ร่วมด้วยการเลี้ยงดูด้วยความรักความเข้าใจ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกน้อยก้าวล้ำทางความคิดและอารมณ์ เติบโตขึ้นอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต คุณแม่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ MFGM ได้ เพียงค้นหาคำว่า “MFGM”

 

ไขรหัสลับ MFGM สารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาแข็งแรง