ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เบบี้คริสตัล

เบบี้คริสตัล ของเล่นสีสันสดใสที่อันตรายถึงชีวิต

Enfa สรุปให้

  • เบบี้คริสตัล หรือ Water Beads คือวัตถุทรงกลมเนื้อเจลใส มีองค์ประกอบเป็นสารโพลิเมอร์ดูดซับยิ่งยวด ทำให้มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำที่ดีมาก เด็กๆ จึงมักนำไปเล่นด้วยการใช้เบบี้คริสตัลดูดซับน้ำปริมาณมากจนแตกตัวออกเป็นหลายๆ ลูก เรียกว่าการออกลูก
  • เบบี้คริสตัลถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานในด้านการเกษตร เช่น เป็นดินวิทยาศาสตร์ที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับพืช แต่ในบางประเทศก็มีการอนุญาตให้ทำการตลาดในฐานะของเล่นเด็กได้ สำหรับในประเทศไทย มีการออกคำสั่งห้ามจำหน่ายเบบี้คริสตัลมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 โดยมีโทษการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนจำหน่าย ผู้ผลิต และผู้ที่นำเข้าเพื่อจำหน่ายไว้อย่างชัดเจน
  • สาเหตุที่มีการสั่งห้ามจำหน่ายในประเทศไทย เพราะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเล็งเห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เพราะเบบี้คริสตัลอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหากเข้าสู่ร่างกายเด็กผ่านการกลืน โดยอาจทำให้เกิดลำไส้อุดตันในเด็กได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • เบบี้คริสตัลคืออะไร
     • เบบี้คริสตัลทำมาจากอะไร
     • เบบี้คริสตัลใช้ทำอะไร
     • เบบี้คริสตัลโตสุดได้แค่ไหน
     • เบบี้คริสตัลซื้อที่ไหน
     • เบบี้คริสตัลอันตรายไหม
     • เบบี้ย่อยสลายได้ไหม

เบบี้คริสตัล เคยโด่งดังเป็นกระแสพูดถึงในกลุ่มคุณพ่อคุณแม่อยู่ระยะหนึ่งในฐานะของเล่นสุดอันตราย จริงๆ แล้ว เบบี้คริสตัลคืออะไรกันแน่ ทำไมถึงกลายเป็นของเล่นเด็ก แล้วทำไมของเล่นที่ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีพิษมีภัยถึงได้โดนสั่งห้ามขาย และอาจส่งผลร้ายถึงขั้นเสียชีวิต วันนี้ Enfa Smart Club หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ

เบบี้คริสตัล คืออะไร ทำไมเด็กๆ ถึงชอบเล่น


หลายคนน่าจะเคยเห็นเบบี้คริสตัล (Crystal Babies) ผ่านตามาก่อน เบบี้คริสตัลคือวัตถุทรงกลมสีสันสวยงามคล้ายลูกแก้ว ขนาดเล็กพอๆ กับเม็ดสาคู มีลักษณะนิ่มคล้ายเนื้อเจลหรือเนื้อวุ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความโปร่งใส สีสวยแปลกตา มีชื่อเรียกหลากหลายตามลักษณะภายนอกและคุณสมบัติ เช่น “น้ำตานางเงือก” “ไข่ไดโนเสาร์” หรือ “ตัวดูดน้ำ” ชื่อภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกกันทั่วโลกคือ “Water Beads” หรือ “Water Gems” ส่วนชื่อ “Orbeez” หรือ “ออบิส” ที่คนไทยเรียกนั้น เป็นชื่อแบรนด์เบบี้คริสตัลที่วางจำหน่ายในต่างประเทศ

สาเหตุที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวดูดน้ำและ Water Beads นั้น มาจากคุณสมบัติในการดูดซับน้ำของเบบี้คริสตัล ซึ่งเมื่อดูดซับน้ำเข้าไปแล้วจะสามารถขยายขนาดได้ จากขนาดเดิมที่เท่ากับเม็ดสาคู อาจจะโตจนขนาดเท่าลูกปิงปอง และสามารถแตกตัวออกมาเป็นลูกกลมขนาดเล็กๆ ได้อีกหลายลูก เด็กๆ มักจะเรียกคุณสมบัติแบบนี้ว่า “การออกลูก” และมักซื้อไปแช่น้ำเล่นที่บ้านเพื่อแข่งกันทำให้เบบี้คริสตัลแตกตัวออกมาเยอะๆ ซึ่งการนำเบบี้คริสตัลไปแช่น้ำจนแตกตัวนี้คือ “การเลี้ยง” เบบี้คริสตัลให้ออกลูก

ด้วยสีสันสวยงาม มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำจนขยายได้หลายเท่า และยังสามารถแตกตัวเพิ่มจำนวนได้ แถมยังหาซื้อได้ในราคาไม่แพง จึงทำให้เบบี้คริสตัลเป็นของเล่นโปรดของเด็กๆ ได้ไม่ยาก

เบบี้คริสตัลทำมาจากอะไร


เบบี้คริสตัลประกอบด้วยสาร 2 ชนิดคือ สารโพลีอะคริลาไมด์ (Polyacrylamide) และสารไวนิลอะซีเตด-เอทิลีนโคโพลิเมอร์ (Vinylacetate-ethylene Copolymer) ซึ่งสารโพลีอะคริลาไมด์ เป็นโพลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำไว้ในโมเลกุลได้จำนวนมาก สามารถดูดซับน้ำได้ถึง 800 เท่า 

เบบี้คริสตัลใช้ทําอะไร 


ในช่วงแรกๆ เบบี้คริสตัลถูกวางขายในฐานะผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตรกรรม เช่น ใช้เป็นดินวิทยาศาสตร์ ใช้เก็บรักษาความชุ่มชื้นให้ต้นไม้ดอกไม้ ปัจจุบันได้มีการนำไปใช้ในการผลิตผ้าอ้อมสำเร็จรูปและผ้าอนามัย เพราะคุณสมบัติที่สามารถดูดซับของเหลวได้ดี และในบางประเทศ เบบี้คริสตัลถูกทำการตลาดในฐานะของเล่นเด็ก แต่หลายๆ ประเทศในโลกมีการห้ามจำหน่ายของเล่นชนิดนี้ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

เบบี้คริสตัลโตสุดได้แค่ไหน


เบบี้คริสตัลสามารถขยายขนาดได้จนเกือบเท่าลูกปิงปอง ทั้งนี้ เคยมีการทดลองโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปี 2552 โดยการนำเบบี้คริสตัลไปแช่ในน้ำย่อยเทียมที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของมนุษย์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วพบว่าเบบี้คริสตัลมีการขยายตัวถึง 26 เท่า ไม่มีการย่อยสลาย และใช้มือบีบไม่แตก หากกลืนเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดความผิดปกติในระบบการย่อยและระบบขับถ่ายได้

เบบี้คริสตัลซื้อที่ไหน


ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฉบับที่ 9/2527 ได้มีการประกาศห้ามขายสินค้าที่เรียกกัน “ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ” หรือ “ตัวดูดน้ำ” เป็นการถาวร โดยเล็งเห็นว่าของเล่นนี้ไม่น่าไว้วางใจในความปลอดภัย อาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นและไม่ใช่ของเล่นที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่เด็ก

ผู้ที่ฝ่าฝืนจำหน่ายเบบี้คริสตัล ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 36 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่ผลิตเพื่อขายหรือนำเข้ามาขายในประเทศไทย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท

เบบี้คริสตัลอันตรายไหม และคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้ยังไงว่าลูกกลืนเข้าไปแล้ว


แม้คุณพ่อคุณแม่จะคอยสอนลูกว่าเบบี้คริสตัลกินไม่ได้ แต่ธรรมชาติของเด็กเล็กนั้นง่ายมากเลยค่ะที่จะหยิบวัตถุบางอย่างเข้าปาก โดยเฉพาะเมื่อผู้ใหญ่ไม่สามารถดูแลอย่างใกล้ชิดได้ตลอดเวลา การสอนลูกให้ระวังจึงไม่เพียงพอที่จะป้องกันอันตรายให้ลูกได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือห้ามไม่ให้ลูกเล่นของเล่นชนิดนี้ค่ะ 

อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นหากปล่อยให้เด็กเล่นเบบี้คริสตัล

  • สำลัก เบบี้คริสตัลมีขนาดเล็กและกลืนง่าย และเมื่อกลืนลงไปแล้วติดคอก็อาจทำให้ลูกสำลักได้ อาการสำลักของเด็กอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และต้องมีผู้ใหญ่เข้าไปช่วยปฐมพยาบาลทันที 
  • ลำไส้อุดตัน เมื่อลูกกลืนเบบี้คริสตัลจนเข้าสู่กระบวนการย่อยแล้ว เบบี้คริสตัลอาจขยายตัวจนลำไส้เกิดการอุดตันได้ ซึ่งจะนำไปสู่อาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ขาดน้ำ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในหลายๆ เคสมักจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อนำเบบี้คริสตัลออกมาจากลำไส้ของเด็ก
  • ขาดอากาศหายใจ เบบี้คริสตัลอาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจของเด็กได้เมื่อถูกสูดเข้าไป โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ไม่สามารถบอกผู้ใหญ่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกกลืนเบบี้คริสตัลเข้าไปหรือเปล่า ให้คอยจับตาดูอาการต่อไปนี้ค่ะ

  • ลูกไม่ยอมกินข้าว
  • ลูกแสดงอาการเซื่องซึมผิดปกติ
  • ลูกมีน้ำลายไหล
  • ลูกอาเจียน
  • ลูกหายใจเสียงหวีด
  • ลูกอาจจะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่ารู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ที่คอหรือหน้าอก
  • ลูกปวดท้อง
  • ลูกท้องผูก ไม่ขับถ่ายนานกว่าปกติ
  • ลูกมีอาการท้องบวมโต และปวดท้องมาก

หากมั่นใจว่าลูกกลืนเบบี้คริสตัลเข้าไปแล้ว ให้รีบพาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที 

เบบี้คริสตัลย่อยสลายได้ไหม หากพบเบบี้คริสตัลในบ้าน จะกำจัดอย่างไรให้ปลอดภัย


แม้จะมีการห้ามจำหน่าย แต่เบบี้คริสตัลก็ถูกนำกลับมาขายอย่างผิดกฎหมายอยู่เรื่อยๆ และของเล่นแบบนี้มักแพร่ไปในแวดวงเด็กๆ วัยอนุบาล - ประถมฯ อย่างรวดเร็ว หากคุณพ่อคุณแม่พบเบบี้คริสตัลอยู่ในบ้าน Enfa ขอแนะนำวิธีการกำจัดเบบี้คริสตัลแบบรับผิดชอบต่อสังคม ดังนี้ค่ะ

  • เบบี้คริสตัลสามารถย่อยสลายได้โดยใช้เวลาตั้งแต่ 3-24 เดือนโดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม หากเก็บไว้ในที่แห้งและได้รับแสงแดดโดยตรง กระบวนการย่อยสลายก็จะยิ่งเร็วขึ้นอีก
  • วิธีทำลายเบบี้คริสตัลที่ดีที่สุด คือใช้ประโยชน์ตามจุดประสงค์ที่มันถูกสร้างขึ้นมาค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่มีพื้นที่สวนอยู่ในบ้าน อาจจะขุดดินลึกๆ แล้วนำเบบี้คริสตัลที่ดูดซึมน้ำและปุ๋ยไว้แล้วผสมลงไปในดินแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ เมื่อเวลาผ่านไปเบบี้คริสตัลก็จะย่อยสลายไปเองค่ะ แต่ควรขุดลึกไว้มากพอที่สัตว์เลี้ยงหรือลูกๆ จะไม่ไปคุ้ยมาเล่นได้นะคะ 
  • หากเก็บไว้ในบ้านแล้วไม่สบายใจ เอาไปผึ่งแดดให้เบบี้คริสตัลกลับสู่ขนาดเดิม จากนั้นห่อให้มิดชิด ทิ้งลงถังขยะได้เลยค่ะ  ห้ามทิ้งลงชักโครกเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ส้วมตันได้
  • สำหรับบ้านไหนที่ต้องการเก็บเบบี้คริสตัลไว้ใช้ดูแลดอกไม้ต้นไม้ ควรเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด และห่างจากมือเด็ก ควรคำนึงอยู่เสมอว่าเบบี้คริสตัลเป็นของอันตราย หากทำหลุดมือ โอกาสที่จะกลิ้งหายไปอยู่สักซอกมุมหนึ่งในบ้าน แล้วถูกเด็กซนๆ สักคนมาพบเข้าแล้วหยิบเข้าปากนั้นไม่ได้ยากเกินกว่าจะเกิดขึ้นจริงเลยค่ะ

หากทิ้งเบบี้คริสตัลโดยไม่ศึกษาก่อน มีโอกาสสูงมากที่วัตถุชนิดนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำลำธารหรือทะเล และสัตว์น้ำอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารของเค้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตของพวกเค้าอย่างมากเช่นกันค่ะ
 

อ้างอิง

เบบี้คริสตัล
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner