เลือกอ่านตามหัวข้อ

   • ความเป็นมา
   • นโยบายทางการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ของ Reckitt
   • วิธีปฏิบัติทางการตลาด "อาหารทดแทนนมแม่"

หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่


ด้วยตระหนักว่า การเลี้ยงทารกที่ไม่เหมาะสม (Inappropriate Feeding Practice) เป็นสาเหตุของภาวะทุพโภชนาการ เจ็บป่วย และเสียชีวิตในเด็ก และหนึ่งในสาเหตุนั้น มาจากการทำการตลาดที่ไม่เหมาะสมของอาหารทดแทนนมแม่

ในปี พ.ศ. 2524 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) จึงได้รับรองหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes – WHO Code ) ซึ่งได้แนะนำแนวปฏิบัติในการควบคุมการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ให้กับประเทศสมาชิก พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องนำหลักเกณฑ์นี้ไปบังคับใช้

ความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน


Reckitt มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนภาครัฐในการพัฒนา และบังคับใช้หลักเกณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการทำงานร่วมกันกับสมาคมธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม ทั้งระดับประเทศและสากล เพื่อคงความสามารถในการส่งมอบนวัตกรรมและทางเลือกเพื่อสุขภาวะที่ดีแก่ผู้บริโภค

Reckitt มุ่งมั่นที่จะพัฒนาความรู้ด้านโภชนาการ ลงทุนในการวิจัยและพัฒนา เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย และมีสารอาหารที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางโภชนาการของทารกได้

Reckitt ตระหนักว่าบุคลากรด้านสาธารณสุข (Healthcare Professionals - HCPs) มีบทบาทสำคัญและต้องเป็นอิสระในการให้คำแนะนำแก่แม่ ในการเลี้ยงทารกอย่างเหมาะสม และเป็นไปตามหลักวิชาการ Reckitt ให้ความมั่นใจว่า การติดต่อกับบุคลากรด้านสาธารณสุขจะเป็นไปเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นจริง อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการ และเป็นกลาง โดยปราศจากการเสนอค่าตอบแทนหรือสิ่งจูงใจอื่นใด

ความสำคัญและการปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่


Reckitt ตระหนักว่า แม้ภาครัฐจะบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์สากล (WHO Code) อยู่แล้วก็ตาม แต่ Reckitt ยังคงมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการ และเฝ้าระวังกิจกรรมด้านการตลาดของบริษัท ให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของ WHO Code ด้วยเช่นกัน

Reckitt มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตาม WHO Code และคำแนะนำต่าง ๆ ตามมติของสมัชชาอนามัยโลก ตามที่ภาครัฐของแต่ละประเทศได้นำไปปฏิบัติ นอกจากนี้ บริษัทได้นำนโยบายและระเบียบวิธีทางการตลาดของบริษัท (BMS Policy) มาบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์สำหรับทารกแรกเกิดถึง 12 เดือน ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่า (Higher-Risk Countries) อีกด้วย

Reckitt มุ่งหมายที่จะสนับสนุนและปกป้องสุขภาวะที่ดีของแม่และทารก ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมลูก บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับตั้งครรภ์ของพนักงาน (Reckitt Global Maternity Policy) ไว้ ดังต่อไปนี้

     • ลาคลอดโดยได้รับค่าจ้าง 16 สัปดาห์ และลาต่อได้โดยไม่ได้รับค่าจ้างอีก 36 สัปดาห์

     • จัดโปรแกรม “Stay in Touch” และ Webinar สำหรับแม่ตั้งครรภ์ เพื่อให้อยู่ในสถานการณ์ที่บริษัทสามารถติดต่อสื่อสาร และให้คำแนะนำช่วยเหลือได้

     • จัดเตรียมพื้นที่ในสถานที่ทำงานอย่างเป็นสัดส่วนสำหรับการให้นมลูก (Lactation Room)

     • เปิดโอกาสให้พนักงานตั้งครรภ์เข้าร่วมการอบรมภายนอกบริษัท เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งก่อนและหลังคลอด

     • ให้สิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องแก่พนักงาน ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงลาคลอด

     • ประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทำงาน

Reckitt รับหลักเกณฑ์ทั้ง 11 ข้อ (Article 1 – 11) ของ WHO Code มากำหนดเป็นนโยบายทางการตลาดของบริษัท และได้เพิ่มเติมข้อความเข้าไปในบางข้อ เพื่อให้ครอบคลุมบริบทของแต่ละประเทศที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่ ได้แก่

ข้อ 2 “ขอบเขตและนโยบาย” ระบุเพิ่มเติมว่าในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่า (Higher-Risk Countries) Reckitt จะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีความเข้มงวดกว่าเสมอ และได้ระบุเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่าตาม FTSE4Good BMS Marketing Criteria ไว้ดังนี้

  1. มีอัตราการเสียชีวิตของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี กว่าสูง 1 % หรือ
  2. มีอัตราทุพโภชนาการชนิดเฉียบพลันและรุนแรงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีสูงกว่า 2 %

และผลิตภัณฑ์ที่เป็น “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ภายใต้นโยบายนี้ คือ

  1. อาหารสูตรสำหรับทารก (Infant Formula)
  2. อาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก (Follow-on Formula)
  3. ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการคลอดบุตร (Delivery Product)
  4. อาหารเสริมและเครื่องดื่มสำหรับทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน (Complementary Foods and Beverages for Infants under six months)

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดผลิตภัณฑ์ที่ไม่จัดเป็น “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” (Excluded Product) ภายใต้นโยบายนี้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับทารกที่มีภาวะทางการแพทย์ และต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ได้แก่

  1. อาหารทางการแพทย์  (Food for Special Medical Purposes – FSMP)
  2. สารอาหารเสริมนมแม่ (Human Milk Fortifiers)
  3. อาหารสูตรสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด (Formulas for Prematurely Born Infants)
  4. อาหารที่มีโปรตีนย่อยแล้ว สูตรสำหรับทารกที่แพ้โปรตีนนม (Hypoallergenic Protein Hydrolysate Formulas)

ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่า Reckitt ประเทศไทย จึงต้องปฏิบัติและดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท ตัวอย่างเช่น การให้ตัวอย่าง “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” แก่บุคลากรด้านสาธารณสุขเพื่อการประเมินผลของผลิตภัณฑ์ (Product for Professional Evaluation – PPE) เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ตาม Article 7.4 ของ WHO Code และ Reckitt BMS Policy แต่ พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 มาตรา 18  กำหนดห้ามไม่ให้ให้ตัวอย่าง “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” และมาตรา 23 ห้ามไม่ให้บริจาค “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” แก่บุคลากรด้านสาธารณสุขและสถานบริการสาธารณสุข ฉะนั้น Reckitt ประเทศไทยจึงไม่สามารถให้ตัวอย่าง หรือบริจาค “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ได้ อันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายไทยซึ่งเข้มงวดกว่า เป็นต้น

ข้อกำหนดเพิ่มอีก 3 ข้อ ภายใต้ Reckitt’s BMS Policy นอกเหนือไปจาก WHO Code


ข้อ 12 กิจกรรมสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข (Events for Healthcare Professionals)

Reckitt อาจจัดหรือสนับสนุนการจัดประชุมทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และวิชาการด้านการเลี้ยงดูทารกและโภชนาการ  หรือเป็นการอบรมเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ Reckitt แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

เช่น การจัดกิจกรรมหรือให้การสนับสนุนกิจกรรมต้องสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายและค่าเดินทางของผู้ติดตาม อัตราค่าตอบแทนวิทยากรต้องสอดคล้องกับอัตราเฉลี่ยของพื้นที่นั้น ๆ การรับรอง (Hospitality) ต้องเป็นไปตามความเหมาะสม และไม่อนุญาตให้จัดการรับรองที่ไม่มีกิจกรรมทางวิชาการรวมอยู่ด้วย

ข้อ 13 การสนับสนุนทุนวิจัย (Research Grant)

Reckitt อาจสนับสนุนเงินทุนวิจัยเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ การรักษาผู้ป่วย หรือเพื่อการศึกษาสำหรับสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” โดยการให้ทุนนี้ ต้องไม่กระทำเพื่อตอบแทนหรือจูงใจให้บุคลากรด้านสาธารณสุขแนะนำให้เกิดการใช้ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” และต้องสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อกำหนดด้านวิชาชีพ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติของสมาคมธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ การให้ทุนดังกล่าวต้องให้กับสถาบัน องค์กร หรือสมาคมวิชาชีพเท่านั้น

ข้อ 14 การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Aid)

Reckitt อาจบริจาค “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือภัยพิบัติได้ แต่ต้องเป็นการบริจาคตามคำร้องขอจากภาครัฐหรือหน่วยงานอิสระ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเท่านั้น โดยจัดส่งผลิตภัณฑ์บริจาคไปยังหน่วยงานที่ร้องขอโดยตรง

นอกจากนี้ Reckitt อาจบริจาคหรือขาย “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าหรือหน่วยงานสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ตามที่ร้องขอได้ แต่ทั้งนี้ ต้องมีคำแนะนำในการเตรียมและใช้ผลิตภัณฑ์อย่างปลอดภัย และแสดงข้อความบนฉลากให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่านั้น

วิธีการปฏิบัติทางการตลาด “อาหารทดแทนนมแม่” นี้ ใช้เป็นแนวทางการทำงานให้กับพนักงานของ Reckitt ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ทั้งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงและที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมถึงคู่ค้าของ Reckitt (Authorized Third Parties) หลักปฏิบัตินี้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับนโยบายทางการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ของ Reckitt - BMS Policy ทั้ง 14 ข้อ หรือหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ - WHO Code หรือกฎระเบียบอื่นที่เข้มงวดกว่า

Reckitt ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการเฝ้าระวังการทำการตลาดของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ของบริษัท และมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่า ทุก ๆ กิจกรรมทางการตลาดสอดคล้องกับ Reckitt’s BMS Policy ซึ่งพนักงานทุกคนมีความเข้าใจในนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการกิจกรรมทางการตลาดของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” เป็นไปตามนโยบายที่วางไว้ มีความโปร่งใส มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง Reckitt ได้กำหนดให้มีวิธีการปฏิบัติทางการตลาด “อาหารทดแทนนมแม่” เพื่อเป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังของผู้บริหารภายในบริษัท ไว้ดังต่อไปนี้

1. นโยบายที่เหมาะสมและระเบียบวิธีการปฏิบัติ (Appropriate Policies and Procedures)


Reckitt ให้ความมั่นใจว่า จะมีการทบทวนระเบียบปฏิบัติและหลักเกณฑ์ที่บังคับใช้ภายในบริษัทให้เป็นปัจจุบันเสมอ ในทุก ๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของประเทศ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ที่สอดคล้องกับ WHO Code หรือ Reckitt’s BMS Policy

ในเอกสารสัญญากับคู่ค้าที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ภายใต้ชื่อ Reckitt หรือภายใต้การดูแลของ Reckitt จะต้องมีการระบุข้อตกลงที่จะดำเนินกิจการภายใต้กฎหมายของประเทศ และระเบียบต่างๆที่สอดคล้องกับ WHO Code และ Reckitt’s BMS Policy

2. การฝึกอบรมและการสื่อสาร (Training and Communication)


พนักงาน Reckitt ทุกคนที่ทำงานในฝ่ายการตลาด (Marketing) กฎระเบียบผลิตภัณฑ์ (Regulatory) การกำกับดูแล (Compliance) และการจัดการทั่วไป (General Management) ของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” รวมทั้ง ผู้จำหน่าย (Authorized Distributor Agent) ที่เกี่ยวข้องกับการตลาดของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ภายใต้การดูแลของ Reckitt ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ต้องเข้ารับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์และหลักการของ WHO Code ความสำคัญในการส่งเสริม และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กฎหมายและกฎระเบียบในประเทศ และ Reckitt’s BMS Policy ทั้งนี้ จะต้องจัดทำบันทึกการเข้าอบรมไว้เพื่อการตรวจสอบด้วย

3. ความรับผิดชอบ (Responsibilities)


ภายในองค์กร Reckitt มีการวางกระบวนการ บทบาท หน้าที่รับผิดชอบของพนักงาน และกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องไว้ทุกระดับ ผู้บริหารสูงสุด (Chief Executive Officer – CEO) ต้องรับผิดชอบในการกำกับดูแลความสอดคล้องของกิจกรรมการตลาดของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” กับ Reckitt’s BMS Policy

ผู้บริหารสูงสุดต้องกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล (Steering Committee) เพื่อบริหารจัดการงานในแต่ละวัน การดำเนินงาน การสื่อสาร และการเฝ้าระวัง ให้สอดคล้องและเป็นไปตาม Reckitt’s BMS Policy

Reckitt ตระหนักว่ากฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติมีความจำเพาะในแต่ละประเทศ จึงมอบหมายให้ผู้จัดการทั่วไป (General Manager) ของแต่ละประเทศเป็นผู้ดำเนินการตาม Reckitt’s BMS Policy เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินกิจกรรมการตลาดสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว

4. การเฝ้าระวังและการรายงาน (Monitoring and Reporting)


การเฝ้าระวัง (Monitoring)

Reckitt มีการดำเนินการดังต่อไปนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานทางการตลาดของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” เป็นไปตามนโยบายของบริษัท

     1. พนักงานที่เกี่ยวข้องกับ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ต้องลงนามใน ‘Statement of Compliance: with local laws and regulations implementing the WHO Code and the BMS Policy’ และในสัญญาทางธุรกิจกับคู่ค้า Reckitt จะขอให้คู่ค้ารับรองว่าได้ปฏิบัติตามนโยบายของบริษัทในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

     2. จัดให้มีการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมที่หน้างานโดยหน่วยงานตรวจสอบภายใน (Internal Audit)

     3. จัดให้มีช่องทางในการสื่อสารให้กับพนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง (Independent Speak Up Hotline)

     4. จัดให้มีการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมที่หน้างาน ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเป็นประจำทุกปี โดยหน่วยงานภายนอกที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล (Internationally-recognized and Independent Third-party Organizations)

     5. จัดให้มีระบบการจัดการกับข้อร้องเรียนของการดำเนินกิจกรรมการตลาดของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท

การรายงาน (Reporting)

ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง จะต้องจัดทำรายงานต่อไปนี้ เสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแล (BMS Steering Committee)  

     1. กรณีที่มีการดำเนินกิจกรรมที่ไม่สอดคล้อง (Non-compliance)

     2. สรุปรวม ‘Certifications of Compliance’

     3. รายงานความก้าวหน้า และผลจากการเฝ้าระวังและการตรวจสอบภายใน

     4. รายงานความก้าวหน้า และผลจากการตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก

     5. ขอเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในข้อ 1, 2, 3 และ 4

และต้องรวบรวมรายงานในข้อ 1- 4 จัดทำเป็นรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการบริหารของบริษัท

นอกจากนี้ Reckitt ยังต้องเผยแพร่รายงานเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับ WHO Code และ Reckitt’s BMS Policy ต่อสาธารณชน ดังต่อไปนี้

     1. เป้าหมายและจุดยืนของบริษัทที่จะดำเนินธุรกิจอาหารทดแทนนมแม่ภายใต้ WHO Code

     2. ให้ความมั่นใจต่อสาธารณชนว่า สมาคมธุรกิจการค้าหรืออุตสาหกรรม มีการดำเนินงานที่มีมาตรฐานสูง พร้อมทั้งเปิดเผยรายชื่อบริษัทสมาชิกเพื่อความโปร่งใส

     3. รายงานประจำปีที่รวบรวมกรณีที่ไม่สอดคล้องและการดำเนินการแก้ไข

     4. รายงานผลการตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอกเกี่ยวกับความสอดคล้องกับ WHO Code และการดำเนินการแก้ไข

5. การแก้ไขปรับปรุง (Corrective Actions)


Reckitt จะจัดให้มีการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกรณีที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท หรือกฎหมายระดับประเทศ ซึ่งได้รับมาจากช่องทางต่อไปนี้

     1. การเฝ้าระวังและตรวจสอบภายใน (Monitoring and Internal Audit)

     2. การตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก (External Audit)

     3. ช่องทางสื่อสารภายใน (Individual Speak Up (Hotline))

     4. รายงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความไม่สอดคล้อง