ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
รู้จักกับ “พ.ร.บ. นม” (Milk Code)

รู้จักกับ “พ.ร.บ. นม” (Milk Code)

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

   • ความเป็นมาของ พ.ร.บ. นม
   • หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่
   • สาระสำคัญ พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560

ความเป็นมาของ พ.ร.บ. นม

ในปี พ.ศ. 2524 สมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly – WHA) ครั้งที่ 32 ได้มีมติรับรองหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes – WHO Code)

หลักเกณฑ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กได้รับอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณค่าอย่างเพียงพอ สอดคล้องกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามวัย โดยปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเพื่อให้มั่นใจว่า หากจำเป็นต้องได้รับอาหารทดแทนนมแม่ (Breast Milk Substitute – BMS) การได้รับนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เพียงพอ ผ่านการตลาดและช่องทางจำหน่ายที่เหมาะสม

โดยได้กำหนดกิจกรรมและแนวปฏิบัติของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ อันได้แก่ แม่และสาธารณชน บุคลากรด้านสาธารณสุข หน่วยบริการสาธารณสุข ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย การแสดงฉลาก รวมถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์

Milk Code Timeline

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์โลกด้านอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (Global Strategy for Infant and Young Child Feeding) แนะนำให้ทารกได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน  (Exclusive Breast Feeding)  จากนั้นจึงให้ดื่มนมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น

ประเทศไทย โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นอกจากได้ให้การรับรองหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังให้การรับรองมติของสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 63 ในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้แต่ละประเทศ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การควบคุมการส่งเสริมการตลาดให้เป็นกฎหมายตามความจำเป็นอีกด้วย

ฉะนั้นเพื่อเป็นการปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และเป็นไปตามหลักเกณฑ์สากลดังที่กล่าวมาข้างต้น กรมอนามัยจึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (พ.ร.บ. นม หรือ Milk Code) ซึ่งมีข้อกำหนดต่างๆ สอดรับกับ WHO Code เสนอต่อสภานิติบัญญัติ ในปี พ.ศ. 2559 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา

หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่

WHO Code มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงดูด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และส่งเสริมให้ได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมอาหารตามวัยที่เหมาะสมเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือนานกว่านั้น

โดยกำหนดหลักเกณฑ์สากล ขอบเขต และแนวปฏิบัติของทุกภาคส่วนไว้ 11 ข้อ ได้แก่ วัตถุประสงค์ ขอบเขต นิยาม การให้ข้อมูลและความรู้ แม่และสาธารณชน ระบบบริการสาธารณสุข บุคลากรด้านสาธารณสุข บุคลากรของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย การแสดงฉลาก คุณภาพผลิตภัณฑ์ การดำเนินการและการเฝ้าระวัง

สาระสำคัญของแนวปฏิบัติในขอบเขตของ WHO Code สามารถสรุปได้ ดังนี้

1. ขอบเขตของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” 

ได้แก่ อาหารสูตรสำหรับทารก (Infant Formula) ผลิตภัณฑ์นมอื่น ๆ อาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงอาหารเสริมที่ต้องใช้ขวดดูด และที่ทำการตลาด หรือทำให้เข้าใจว่า ใช้แทนนมแม่ทั้งหมด หรือบางส่วน ขวดและจุกนม

2. บริษัทผู้ผลิตและผู้จําหน่าย

     1) ห้ามโฆษณาและทําการตลาดสินค้าในทุกรูปแบบ
     2) ห้ามพนักงานขายติดต่อกับหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว
     3) ห้ามบริจาค “ผลิตภัณฑ์ควบคุม”

3. สถานบริการสาธารณสุข

     1) ห้ามส่งเสริมธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็ก
     2) ไม่ติดต่อสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัท ไม่รับสิ่งของที่มีเครื่องหมายการค้าของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม" ยกเว้นการแสดงเครื่องหมาย หรือตราสัญลักษณ์ของบริษัท

4. บุคลากรด้านสาธารณสุข

     1) ข้อมูลสินค้าของบริษัทที่ให้แก่ แพทย์ พยาบาล และนักโภชนาการ ต้องเป็นข้อมูลทางวิชาการ
     2) ไม่รับตัวอย่าง “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” นอกจากเป็นการรับเพื่อการวิจัยและเพื่อการศึกษาประเมินผลของผลิตภัณฑ์ (Product for Professional Evaluation – PPE)
     3) ไม่รับของขวัญ หรือการสนับสนุนด้านการเงิน จากบริษัทผู้ผลิตและผู้จําหน่าย “ผลิตภัณฑ์ควบคุม”
     4) การรับการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ ต้องกระทําโดยเปิดเผย และไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ

พ.ร.บ. ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการควบคุมกิจกรรมส่งเสริมการขายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก แต่ไม่ควบคุมการซื้อขาย และมาตรการควบคุมต่าง ๆ ของอาหารกลุ่มนี้ กำหนดเพิ่มเติมจากมาตรการที่มีอยู่แล้วใน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

นิยามของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม”


โดยผลิตภัณฑ์ที่อยู่พื้นที่สีเทาในแผนภูมิข้างล่างนี้คือ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม”

1) อาหารสำหรับทารก (อายุ 0 – 12 เดือน) หมายความว่า นมหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้

     - ที่มีส่วนประกอบของสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ ที่จะใช้เลี้ยงเด็กทารกตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร ได้แก่ นมดัดแปลงสำหรับทารก อาหารสำหรับทารก (Infant Formula - สูตร 1) รวมถึงอาหารสำหรับทารกที่มีภาวะทางการแพทย์ทุกประเภท หรือ

     - ที่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าใช้เลี้ยงทารกได้ ได้แก่ นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก อาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก (Follow-up Formula - สูตร 2)

ผลิตภัณฑ์ควบคุม

2) อาหารสำหรับเด็กเล็ก (อายุ 1 – 3 ปี) หมายความว่า นม หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้

     - ที่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าใช้ในการเลี้ยงเด็กเล็ก; และ
     - เฉพาะตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ในปัจจุบัน ยังไม่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า อาหารประเภทใดเป็นอาหารสำหรับเด็กเล็ก จึงถือได้ว่าในขณะนี้ ยังไม่มี “อาหารสำหรับเด็กเล็ก” ภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้

3) อาหารเสริมสำหรับทารก หมายความว่า อาหารที่ใช้สำหรับทารกซึ่งมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อ

     - เสริมคุณค่าทางโภชนาการ และ
     - สร้างความคุ้นเคยในการบริโภคอาหารให้แก่ทารก

มาตรการในการควบคุมการส่งเสริมการตลาด


พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดมาตรการควบคุมการส่งเสริมการตลาดของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ของผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ 2 รูปแบบ ได้แก่

     1. มาตรการห้ามปฏิบัติ มีทั้งข้อห้ามโดยเด็ดขาด และการห้ามที่ไม่เด็ดขาดในมาตรการการส่งเสริมการตลาด เช่น ห้ามโฆษณา ห้ามให้ของขวัญแรงจูงใจแก่บุคลากรสาธารณสุข ยกเว้นการให้ตามประเพณี หรือธรรมจรรยา

     2. มาตรการให้ปฏิบัติ กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือ ผู้จำหน่ายต้องปฏิบัติ เช่น ต้องดำเนินการทำให้ฉลากของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” แตกต่างกันอย่างชัดเจน มองเห็นหรือแยกแยะได้ง่าย การให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ที่ต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการฯ

1. มาตรการห้ามปฏิบัติ

1.1 มาตรการห้ามปฏิบัติต่อแม่และสาธารณชน

      1.1.1 การโฆษณา

      ห้าม ผู้ใด โฆษณา “อาหารสำหรับทารก”
      ห้าม ผู้ใด โฆษณา “อาหารเสริมสำหรับทารก”
      และ ห้าม ผู้ใด โฆษณา “อาหารสำหรับเด็กเล็ก” โดยใช้ข้อความเกี่ยวกับทารก หรือเด็กเล็กในสื่อโฆษณาที่มีลักษณะเชื่อมโยง หรือทำให้เข้าใจได้ว่าเป็น “อาหารสำหรับทารก” หรือเหมาะสมสำหรับใช้เลี้ยงทารก (มาตรา 14 และ 25 ของ พ.ร.บ. ซึ่งมีเพียงสองมาตรานี้เท่านั้นที่การฝ่าฝืนมีโทษจำคุก)

      1.1.2 ในการส่งเสริมการตลาดของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย (หรือตัวแทน) ดำเนินการดังต่อไปนี้ (มาตรา 18)

      (1) แจก หรือให้คูปอง หรือสิทธิที่จะได้รับส่วนลด ขายพ่วง แลกเปลี่ยน หรือให้ของรางวัล ของขวัญ หรือสิ่งอื่นใด

      (2) แจก “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” หรือตัวอย่าง (Sample) ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

      (3) ให้ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” สิ่งของ หรือสิ่งอื่นใดแก่หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกหรือเด็กเล็ก หรือบุคคลในครอบครัวที่มีทารกหรือเด็กเล็ก

      (4) ติดต่อหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกหรือเด็กเล็ก หรือบุคคลในครอบครัวที่มีทารกหรือเด็กเล็ก ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือแนะนำให้ใช้ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” หรือเพื่อสื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม”

      1.1.3 ในการจัดทําหรือเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับสุขภาพแม่และเด็ก ของผู้ผลิต ผู้นําเข้า หรือผู้จําหน่าย (หรือตัวแทน) ต้องไม่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ใช้ หรือสื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม (มาตรา 24)

1.2 มาตรการห้ามปฏิบัติสำหรับ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย (หรือตัวแทน) – ต่อสถานบริการสาธารณสุขและบุคลากรด้านสาธารณสุข

      1.2.1 ให้ หรือเสนอว่าจะให้ของขวัญ เงิน สิ่งจูงใจ หรือประโยชน์อื่นใด แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข เว้นแต่การให้ตามประเพณีหรือธรรมจรรยา (มาตรา 20, 29)

      1.2.2 บริจาค “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ให้แก่หน่วยบริการสาธารณสุข หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข ยกเว้น “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ที่มีวัตถุประสงค์พิเศษสำหรับผู้ป่วยทารก หรือเด็กเล็ก (มาตรา 23)

      1.2.3 จัดหรือให้การสนับสนุน ในการจัดการประชุม อบรม หรือสัมมนาด้านวิชาการเกี่ยวกับ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” แก่หน่วยบริการและบุคลากรด้านสาธารณสุข หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกหรือเด็กเล็ก เว้นแต่เป็นการสนับสนุนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่มีการเรียนการสอน ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแม่และเด็ก (มาตรา 21, 29)

      1.2.4 สาธิตหรือให้การสนับสนุนในการสาธิตการใช้ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ในหน่วยบริการสาธารณสุขหรือสถานที่อื่นใด เพื่อประโยชน์ทางการค้า (มาตรา 22, 29)

      1.2.5 มอบหรือให้สิ่งของ อุปกรณ์ หรือของใช้แก่หน่วยบริการสาธารณสุขโดยมีชื่อ ตรา หรือสัญลักษณ์ที่สื่อหรือเชื่อมโยงถึง “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” (มาตรา 19)

2. มาตรการให้ปฏิบัติสำหรับผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย (หรือตัวแทน)

      2.1 ต้องดำเนินการให้ฉลากของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” แตกต่างจากกันและกัน และแตกต่างจากฉลากของอาหารอื่นอย่างชัดเจน และสามารถมองเห็นหรือแยกแยะได้โดยง่าย (มาตรา 15, 26)

      2.2 ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ต้องมีข้อความเช่นเดียวกับที่ปรากฏบนฉลากของ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร โดยไม่ปรากฏข้อความที่เป็นการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพ และกรณีที่ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” เป็นอาหารสำหรับทารก ต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้ (มาตรา 16)

            1) ข้อมูลค่าใช้จ่ายและปริมาณในการใช้อาหารสำหรับทารกในภาพรวม
            2) ข้อควรระวังจากการเตรียมหรือการใช้อาหารสำหรับทารก

      2.3 ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ผลิตภัณฑ์ควบคุม” แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข ต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ (มาตรา 17)

ประกาศกระทรวงฯ ที่ออกภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้


1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข รายละเอียดการจัดทำข้อมูล และช่องทางในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารก พ.ศ. ๒๕๖๑

2) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ประกอบการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก หรืออาหารเสริมสำหรับทารก แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๖๑

3) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้ตามประเพณีหรือธรรมจรรยาแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๖๑

4) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสนับสนุนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแม่และเด็ก ในการจัดประชุม อบรม หรือสัมมนาด้านวิชาการเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก หรืออาหารเสริมสำหรับทารก พ.ศ. ๒๕๖๑

5) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการบริจาคอาหารสำหรับทารกหรืออาหารสำหรับเด็กเล็ก ที่มีวัตถุประสงค์พิเศษและการบริจาคในกรณีจำเป็นแก่หน่วยบริการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๖๑

6) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การทำลายหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด เกี่ยวกับเอกสาร สื่อโฆษณา หรือสิ่งอื่นใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึดหรืออายัด พ.ศ. ๒๕๖๑

รู้จักกับ “พ.ร.บ. นม” (Milk Code)
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner