ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
การกระตุ้น พัฒนาการลูกน้อย เดือนที่ 35

การกระตุ้น พัฒนาการลูกน้อย เดือนที่ 35

ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้  

สมองลูกเรียนรู้ดี เมื่อออกกำลังกาย

     ทุกครั้งที่ลูกได้ออกกำลังกาย วิ่งเล่น หรือเล่นเครื่องในสนามเด็กเล่น ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟีน (สารแห่งความสุข) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้สมองจดจำได้ดี เซลล์ประสาทในสมองแข็งแรงขึ้น การออกกำลังกายจึงเท่ากับออกกำลังสมอง ซึ่งช่วยเพิ่มเนื้อเยื่อสมอง และเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์ประสาท

      การออกกำลังกายกายไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังสร้างภาวะสมดุลให้แก่ระบบไหลเวียนของโลหิต และเป็นการส่งออกซิเจนไปสู่สมอง ทำให้สมองหลายส่วนทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นการที่เด็กๆ ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเขา  จากการวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมองด้วยระบบคอมพิวเตอร์ พบว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายส่งผลต่อการทำงานของสมอง เมื่อไหร่ที่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเคลื่อนไหว สมองบริเวณที่ควบคุมร่างกายส่วนนั้นๆ ก็จะทำงานด้วย

     ยิ่งกว่านั้น เด็กที่เคลื่อนไหว ชอบออกกำลังกายนั้น เขาได้ใช้ประสาทสัมผัสด้านต่างๆ ซึ่งยิ่งเด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสด้านต่างๆ มากเท่าใด ใยประสาทซึ่งอยู่รอบๆ เซลล์ประสาท ก็จะเจริญเติบโตมากเท่านั้น  และยังเป็นการกระตุ้นให้สมองหลายส่วนเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลอันหลากหลายเข้าด้วยกัน  เด็กที่อยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น มักจะใช้ประสาทสัมผัสเรียนรู้สิ่งรอบข้างอย่างเต็มที่ ทำให้เซลล์สมองส่งข้อมูลติดต่อซึ่งกันและกันและเซลล์ประสาทเชื่อมต่อกันได้อย่างมีพลัง  คุณแม่จึงควรให้ลูกได้วิ่งเล่นออกกำลังกาย ปีนป่ายเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นบ่อยๆ เพื่อพัฒนาสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขาด้วยค่ะ

ด้านร่างกายละการเคลื่อนไหว

ขยับแข้งขาลูกวัยซน เพิ่มทักษะการเคลื่อนไหว

     กิจกรรมที่เหมาะสมกับลูกน้อยวัยนี้ คือกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ลูกได้เคลื่อนไหวบ่อยๆ เพื่อฝึกฝนกล้ามเนื้อต่างๆ ให้คล่องแคล่ว ซึ่งกิจกรรมที่ช่วยเสริมทักษะการเคลื่อนไหวนี้มีมากมายหลากหลายทีเดียว เช่น

  • ขยับแข้งขา   โดยให้ลูกเคลื่อนไหวตัวช้าๆ หมุนแขนเป็นวงกลม เหวี่ยงแขนไปทางซ้ายไปทางขวา ก้มลงจับนิ้วเท้า กระโดด ก้มโค้งตัวลง วิ่งเหยาะๆ เป็นต้น
  • ร้องเล่นเต้นสนุก  เลือกเพลงง่ายที่สามารถทำท่าทางประกอบได้ไม่ยากมาร้องเล่นกับลูก เช่น เพลง Head shoulder knee & toe, แมงมุมลาย หรือจะเป็นเพลงฮิตติดหู ที่มีจังหวะชวนให้อยากขยับแข้งขา
  • เกมสนุกสุดหรรษา เช่น เก้าอี้ดนตรี (เกมนี้ต้องหาสมาชิกมาเล่นกันเยอะๆ), วิ่งซิกแซก โดยคุณพ่อคุณแม่วิ่งเป็นตัวอย่างให้ลูกดูก่อน จากนั้นก็มาแข่งกันว่าใครจะวิ่งถึงเส้นชัยก่อนกัน ซึ่งการแข่งนี้จะช่วยให้ลูกสนุกมากขึ้น  หรือแม้แต่เกมวิ่งเปี้ยว ที่เราเคยคุ้น ก็สามารถนำมาเล่นกับลูกได้เช่นกัน

เหล่านี้เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ช่วยให้ลูกได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวให้แคล่วคล่องว่องไว ไปพร้อมๆ กับพัฒนาทักษะการคิด ความจำ การฟัง ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ และเรียนรู้กฎกติกาง่ายๆ ด้วย

ด้านภาษาและการสื่อสาร

รู้จักลูกน้อย จากท่าทางการสื่อสาร

     แม้ว่าในวัยนี้จะเป็นวัยช่างพูดแล้ว แต่ลูกก็ยังใช้ภาษาพูดไม่เก่ง อาจจะยังต้องใช้ภาษาท่าทางในการสื่อสารกับคนรอบข้างด้วย ซึ่งหากคนรอบข้างไม่เข้าใจก็จะทำให้ลูกรูสึกหงุดหงิด และอาละวาดได้ จึงขอแนะนำภาษาท่าทางที่ลูกแสดงออกมาให้รู้ ซึ่งหากสังเกตดีๆ คุณแม่จะเห็นว่า ลูกน้อยใช้ภาษาท่าทางแทบจะตลอดเวลาเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น...

     • การแสดงออกทางสีหน้า เช่น ยิ้มเมื่อดีใจ หรือขมวดคิ้วนิ่วหน้าเมื่อไม่พอใจ

     • การเคลื่อนไหวลูกตา เช่น ทำตาโตเมื่อตื่นเต้น หรือคอยหลบสายตาเมื่อรู้สึกกลัว กังวล ไม่มั่นใจ

     • จังหวะการหายใจ  หากลูกรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ จังหวะการหายใจของเขาจะช้าและยาว แต่ถ้าโมโหไม่พอใจเขาจะหายใจสั้นๆ ถี่ๆ

     • อารมณ์ส่วนตัว ลูกมักจะมานัวเนียใกล้ๆ เราในยามที่เขาต้องการความมั่นใจ และมักจะถอยห่างเมื่อรู้สึกรำคาญ ไม่พอใจ เง้างอน

     • การใช้มือและแขน ลูกจะเอามือกอดอกเมื่อเขารู้สึกไม่เห็นด้วยกับเรา แต่ถ้าลูกรู้สึกสบายๆ เขาก็จะปล่อยมือตามสบาย

     ดังนั้น หากคุณแม่แปลภาษาท่าทางของลูกได้อย่างถูกต้อง ก็จะสนองตอบต่อความต้องการ อารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของลูกได้อย่างตรงความต้องการของเขา ซึ่งจะทำให้ลูกอาละวาดน้อยลงได้ค่ะ

ด้านอารมณ์และสังคม             

สัตว์เลี้ยง...ช่วยหนูจิตใจอ่อนโยน

      การเลี้ยงสัตว์ นอกจากจะทำให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ถึงการแบ่งปันและความรับผิดชอบแล้ว ยังช่วยลูกในเรื่องของอารมณ์และมีพฤติกรรมที่อ่อนโยนได้ด้วย

  •  ต้องบอกให้ลูกรู้ว่าสัตว์เลี้ยงชนิดนั้นๆ ชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือสอนให้สังเกตทีท่าว่า ช่วงเวลาไหนควรเล่น และเวลาไหนไม่ควรเล่น  เพื่อที่ลูกจะได้เข้าใจ และไม่เข้าไปยุ่ง หรือแหย่สัตว์เลี้ยง อย่างผิดวิธี เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อตัวเขาได้

  • สอนให้ลูกแสดงความรักสัตว์   อาจจะมอบหมายหน้าที่ให้ลูกได้มีส่วนร่วมการในเลี้ยงสัตว์ เช่น การให้อาหาร การดูแลเอาใจใส่  โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และสอนให้ลูกเห็นก่อน 

  • ชักชวนลูกให้ดูสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับสัตว์ให้เขาฟัง โดยเฉพาะหนังสือที่มีภาพสัตว์จริงๆ พร้อมทั้งคอยให้คำแนะนำลูก

  • อนุญาตให้ลูกมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเองได้ โดยคุณแม่ควรส่งเสริมความรับผิดชอบในการเป็นเจ้าของ ด้วยการพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนและทำหมันค่ะ

     แม้ว่าการมีสัตว์เลี้ยงในบ้านจะช่วยทำให้ลูกเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน   แต่ก่อนที่จะซื้อสัตว์เลี้ยงให้ลูก ต้องดูว่าเหมาะสมกับลูกหรือไม่  ถ้าลูกยังเล็กควรให้เลี้ยงสัตว์ที่เอาตัวรอดได้สูง เช่น สุนัข แมว  แต่ถ้าเป็นสัตว์ที่บอบบาง อย่าง  ลูกกระต่ายน้อย ลูกหนูน้อย   ฯลฯ อาจยังไม่เหมาะที่จะเลี้ยง เพราะลูกอาจจะยังไม่รู้วิธีดูแล และสัตว์อาจเป็นอันตรายได้ค่ะ

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

บทความที่แนะนำ

ทำอย่างไรให้น้ำนม มีเพียงพอ
โภชนาการลูกน้อย เดือนที่ 35
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Brain Campaign banner

  • Register bar

Leaving page banner

 

Leaving page banner