อาหารเป็นพิษในเด็กเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้วัยนี้ค่ะ บางครั้งแม้ว่าเด็กจะกินอาหารเหมือนที่ผู้ใหญ่กิน แต่เด็กเท่านั้นที่เป็น ส่วนผู้ใหญ่กลับไม่มีอาการ นั่นเพราะภูมิต้านทานเด็กยังไม่แข็งแรงเหมือนผู้ใหญ่

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

อาหารเป็นพิษในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร

เรื่องนี้มีคำอธิบายง่ายๆ นั่นคือเด็กอาจกินอาหารที่มีพิษของเชื้อโรคเข้าไป เช่น พิษของเชื้อ Staphylococcus aureus , E.coli, Clostridium botulism, Bacillus cereus โดยมากมักเป็นผักผลไม้สดๆ ที่ล้างไม่สะอาด รวมทั้งเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนไปด้วยพิษของเชื้อโรค อาหารทะเลโดยเฉพาะหอยแมลงภู่ น้ำผลไม้สด นมสดที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ถั่วงอก อาหารกระป๋องที่หมดอายุ เป็นต้น เมื่อกินอาหารที่มีพิษของเชื้อเหล่านี้เข้าไปแล้ว ระยะฟักตัวจะเร็ว ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษในเด็ก ซึ่งจะแสดงให้เห็นจากการที่ลูกอาเจียน ไม่สบาย คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง ลักษณะถ่ายเหลวเป็นน้ำ แต่ไม่มีไข้ (ถ้ามีไข้ขึ้นสูง และถ่ายจนมีมูกปนเลือดร่วมด้วยแล้ว เรียกว่าเป็น “ลำไส้อักเสบ” จากการติดเชื้อในอาหารที่กินเข้าไป)

ลักษณะอาการอาหารเป็นพิษในเด็ก 

อาการอาหารเป็นพิษในเด็ก เป็นเร็วและหายเร็ว พอร่างกายขับพิษออกมาไม่ว่าจะเป็นการถ่าย หรืออาเจียน หลังจากนั้นอาการจะหายเป็นปลิดทิ้งได้ ซึ่งอาการท้องเสีย หรืออาเจียนจากอาหารเป็นพิษจะเป็นเพียง 1-2 วัน เท่านั้น สำหรับการดูแลเด็กที่มีอาการอาหารเป็นพิษก็ไม่ยุ่งยากค่ะ โดยคุณแม่ปฏิบัติได้ดังนี้                             

  • ให้ลูกกินยาแก้อาเจียนและดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป ไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ ระหว่างนี้ควรสังเกตว่าลูกมีอาการขาดน้ำหรือไม่ อาการของการขาดน้ำได้แก่ ปากแห้ง กระบอกตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ชีพจรเต้นเร็วและปัสสาวะน้อยลง ถ้าลูกไม่มีการขาดน้ำคุณแม่อาจดูแลลูกที่บ้านเองได้ แต่ถ้าลูกมีอาการบ่งบอกว่าขาดน้ำควรรีบพาลูกไปพบแพทย์

  • ถ้าอาการลูกเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ คุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ต่อไป และพยายามให้ลูกดื่มนมทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ เพื่อไม่ให้อาเจียน และควรให้กินอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม งดอาหารแข็งๆ ที่ย่อยยากไปก่อน

  • ที่ควรระมัดระวังมากๆ คืออย่าให้ลูกกินยาระงับการขับถ่าย หรือยาแก้ท้องเสีย เพราะจะยิ่งทำให้พิษอยู่ในร่างกายนานขึ้น และอาการต่างๆ จะหายช้าลง