“ลูกอาเจียน” บอกอะไร?

       เคยไหมคะที่ลูกวิ่งเล่นสนุกอยู่ดีๆ ลูกก็เกิดอาเจียนขึ้นมา ทำเอาคุณแม่ตกอกตกใจไปตามๆ กัน แท้จริงแล้วการอาเจียนของเด็กเป็นอาการแสดงว่าลูกไม่สบายและนำไปสู่โรคหลายโรค และแสดงออกได้ในหลายลักษณะ ที่สำคัญอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติในร่างกาย ทั้งที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง แต่ทุกครั้งที่ลูกอาเจียน หากคุณแม่สังเกตและพอแยกลักษณะอาการได้ก็จะช่วยประเมินอาการและดูแลลูกได้ถูกวิธี

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

       ถ้าเราสังเกตการอาเจียนของลูกดีๆ บางครั้งจะเห็นได้มีว่าลักษณะแตกต่างกันตามสาเหตุของการอาเจียนของเด็ก ถ้าเป็นเด็กโต มักเกิดจากอาหารเป็นพิษ กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหารหรือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ ภาวะไมเกรน หรือปัญหาทางจิต เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับลักษณะอาเจียนของลูกและขึ้นอยู่กับหลายๆ สาเหตุ เช่น

 

  • ลูกอาเจียนมีน้ำดีปน

    โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ อาเจียนมีสีเขียว เป็นภาวะลำไส้อุดตัน โดยเฉพาะถ้ามีอาการท้องอืด ไม่ถ่ายอุจจาระร่วมด้วย ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที

  • ลูกอาเจียนเป็นเลือด

    พบได้ในภาวะที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งถ้ามีเลือดออกมาในปริมาณมากอาจทำให้เด็กช็อกได้ แต่ถ้าออกมาน้อยๆ บ่อยๆ เด็กอาจซีดได้ ต้องพาไปพบแพทย์ แต่บางครั้งอาจเป็นเลือดออกที่ตำแหน่งอื่นๆ ก็ได้ เช่น มีเลือดกำเดาไหลมากๆ แล้วเด็กกลืนลงคอไป เมื่อเด็กอาเจียนก็อาจเห็นว่ามีเลือดปนออกมา

  • ลูกอาเจียนและมีอาการอื่นร่วมด้วย

    อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น อาเจียนแล้วมีไข้สูง ปวดหัวมาก หรือมีอาการชัก แสดงว่าอาจมีภาวะติดเชื้อในสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง หรือถ้ามีอาการอุจจาระร่วงร่วมด้วยแสดงว่ามีการติดเชื้อในลำไส้ หากมีอาการท้องอืดไม่ถ่ายอุจจาระเลยก็ให้นึกถึงลำไส้อุดตัน ถ้าเด็กอาเจียนแล้วปวดท้องมากก็อาจเป็นเรื่องของกระเพาะอาหารอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ ตับอักเสบ หรือท่อน้ำดีอักเสบ

  • ลูกอาเจียนมากและบ่อยครั้ง

    หากลูกอาเจียนบ่อย ถือเป็นภาวะที่รุนแรง เพราะลูกจะกินอาหารไม่ได้ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและขาดอาหารได้ กรณีนี้ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์

       สำหรับวิธีการดูแลเมื่อเด็กอาเจียนนั้น หากเด็กอาเจียนแบบไม่รุนแรง อาเจียนไม่มากครั้ง เด็กยังดูไม่อ่อนเพลียมาก เช่น อาเจียนจากคออักเสบ หูอักเสบ เราควรให้เด็กกินอาหารทีละน้อยๆ และบ่อยๆ อาจจะใช้วิธีค่อยๆ ป้อนให้ครั้งละน้อย เพราะหากปล่อยให้เด็กกินเต็มที่ในปริมาณมากและกินเร็ว ก็จะยิ่งทำให้อาเจียน ฉะนั้นเด็กที่มีอาการอาเจียนจะต้องให้กินทีละน้อยและบ่อยๆ ห้ามให้ทีละมากๆ