เคยได้ยิน “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” กันไหมคะ ภาวะนี้เกิดได้กับคุณแม่ทุกคน โดยภาวะนี้เกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนในร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้เกิดอารมณ์ที่หลากหลาย เช่น เศร้า โกรธ ฉุนเฉียว รู้สึกไม่ผูกพันกับลูกน้อย รวมไปถึง การนอนไม่หลับ และความอยากอาหารลดลง เป็นต้น

ถึงแม้ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลังคลอดทุกคน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตระยะยาวได้

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีกี่กลุ่ม
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

         1. ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด เกิดจากคุณแม่ยังไม่สามารถปรับตัวหลังการคลอดได้ มักจะมีความกังวลเรื่องลูก ภาวะนี้จะมีอาการอยู่ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา

         2. โรคซึมเศร้าหลังคลอด ในกลุ่มนี้ คุณแม่จะมีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อย หงุดหงิด หรืออ่อนไหวได้ง่าย รู้สึกไม่ผูกพันกับลูกน้อย ในบางครั้งผุดภาพอยากทำร้ายลูก อยากทำร้ายตัวเอง ประเภทนี้ มีอาการตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป จนถึงหลายเดือน ไม่สามารถหายได้เอง ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

         3. โรคจิตหลังคลอด สำหรับกลุมนี้ มักจะเกิดในช่วงหลังการคลอด 1 – 4 วัน มีอาการฉุนเฉียว ร้องไห้ได้ง่าย คึกคัก คล้ายโรคไบโพลาร์ หูแว่ว ประสาทหลอน และในบางครั้งได้ยินเสียงสั่งให้ฆ่าลูก คุณแม่จะมีอาการหวาดกลัวมาก นอนไม่หลับ น้ำหนักลดลงกว่าปกติ โดยในกลุ่มนี้ ไม่สามารถหายได้เอง ต้องเข้ารับการรักษา และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง อันตรายต่อตัวคุณแม่ และลูกน้อย

สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ถึงแม้ภาวะซึมเศร้าหลังการคลอด จะเกิดได้กับคุณแม่ทุกคน โดยปัจจัยที่พบได้บ่อยคือ การที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังการคลอด ทำให้ร่างกายต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในร่างกาย

ทั้งนี้ ยังรวมไปถึง วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากการคลอดลูก ที่คุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้สอดคล้องในการเลี้ยงลูกน้อย ยิ่งในกลุ่มคุณแม่ที่เป็นคุณแม่มือใหม่ อาจจะยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน รวมถึงความวิตกกังวล หรือปัญหาชีวิต เช่น

         - ความเหนื่อยล้าจากการคลอดบุตร
         - การขาดการพักผ่อนที่เพียงพอในช่วงการเลี้ยงดูเด็กทารกแรกเกิด
         - การเปลี่ยนแปลงสถานะ หรือบทบาทมาเป็นคุณแม่เต็มตัว
         - รู้สึกไม่มั่นใจ หรือคิดว่าไม่สามารถเป็นแม่ที่ดีได้
         - ความเครียด หรือความกดดันในการเลี้ยงดูลูก รวมไปถึงความกังวลเกี่ยวกับการกลับไปทำงานหลังลาคลอด
         - ปัญหาทางการเงิน
         - การขาดการสนับสนุนการเลี้ยงดูจากบุคคลในครอบครัว
         - ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างภรรยา และสามี

และยังรวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถเป็นสาเหตุให้เป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ เช่น

         - มีภาวะซึมเศร้าระหว่างการตั้งครรภ์ หรือก่อนหน้ามาก่อน
         - เป็นโรคไบโพลาร์
         - เคยเผชิญสภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อน
         - บุคคลในครอบครัวมีประวัติการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคทางด้านสุขภาพจิต
         - ลูกของคุณมีปัญหาทางด้านสุขภาพ หรือเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
         - การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ผลกระทบจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ผลกระทบจากการเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ไม่ได้เพียงแต่กระทบแค่ตัวคุณแม่เท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลกระทบไปถึงคนรอบข้าง รวมถึงลูกน้อยได้อีกด้วย

         • ผลกระทบต่อคุณแม่ หากคุณแม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน อาจจะส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังในอนาคต
         • ผลกระทบต่อคุณพ่อ เนื่องจากคุณพ่อจะได้รับผลกระทบจากการรองรับอารมณ์ของคุณแม่ อาจจะทำให้เกิดความเครียดสั่งสม และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการรับมือกับความเครียด และอารมณ์ของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน
         • ผลกระทบต่อเด็ก หากเด็กอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดระยะยาว และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เด็กอาจจะมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาทางอารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น มีปัญหาในการนอนหลับ มีปัญหาในการกิน หรือการร้องไห้ที่มากเกินกว่าปกติ และยังรวมไปถึงพัฒนาการทางภาษาล่าช้า เป็นต้น

การป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
เมื่อคุณแม่พบว่ากำลังตั้งครรภ์ และมีประวัติเป็นภาวะซึมเศร้า หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อน ควรแจ้งให้แพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์ได้ทราบ เพื่อให้แพทย์ได้ประเมินอาการ และวางแผนรับมือล่วงหน้า นอกจากนี้ ในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรสังเกตตัวเอง ว่าเรามีอาการ หรือความเครียดอะไรหรือไม่

สิ่งสำคัญที่สุดคือ หากคุณแม่ไม่สามารถจัดการกับความรู้สึก หรืออารมณ์ได้ ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ หรือหลังการคลอด ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการบำบัด หรือรักษาต่อไป

 

References