เรียกได้ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่หน้าร้อนกันอย่างเต็มตัว ช่วงนี้ของปีอากาศทั้งร้อน ทั้งอบอ้าว ทำให้เราอาจจะรู้สึกไม่สบายตัว หรือเกิดโรคต่าง ๆ จากอากาศที่ร้อนแบบนี้ได้ ยิ่งสำหรับเด็ก ๆ แล้ว ก็เป็นอีกเรื่องที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวัง และเตรียมรับมือกับโรคประจำฤดูนี้

แล้วฤดูร้อนนี้ มีอะไรต้องกังวลบ้าง

สำหรับหน้าร้อนในประเทศไทย จะเริ่มประมาณปลายเดือนมีนาคม ยาวจนไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม ถึงแม้หน้าร้อนอาจจะดูไม่น่าเป็นกังวลเรื่องโรคต่าง ๆ มากกว่าหน้าฝน แต่ในฤดูนี้ จะมีอากาศที่ร้อน และแห้งแล้ง ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค คุณแม่จะเห็นได้ว่า ฤดูนี้อาหารอาจจะบูดเสียง่าย แถมอากาศร้อนอาจจะทำให้ลูกน้อยเกิดอาการระคายเคืองผิวก็เป็นได้

ฤดูร้อนแบบนี้ จะมีโรคอะไรที่เหล่าคุณแม่จะต้องเตรียมรับมือกันบ้าง วันนี้เอนฟารวบรวมโรคหน้าร้อนในเด็ก ที่คุณแม่ต้องเตรียมตัวรับมือมาแบ่งปันกันค่ะ

1. โรคอาหารเป็นพิษ
เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตในหน้าร้อนกันเลย อย่างที่เราบอกไปแล้วว่า อากาศร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค อาหารการกินในช่วงนี้ จะมีโอกาสเสีย หรือปนเปื้อนได้ง่าย สิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องเตรียมตัวรับมือ คือหมั่นล้างมือลูกน้อยให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง อาหารควรปรุงสุกเสมอ ไม่ควรรับประทานอาหารที่เหลือเก็บไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน

อาการ และวิธีการดูแลรักษาสำหรับโรคอาหารเป็นพิษ
มีอาการปวดท้องแบบปวดเกร็งในท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว หากมีอาการรุนแรงอาจจะถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้ต่ำ ๆ ในการรักษาเบื้องต้น หากลูกน้อยมีอาการโรคอาหารเป็นพิษ ควรให้ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำที่หายไป งดการดื่มนมออกไปก่อน จนกว่าลูกจะหยุดถ่ายเหลว หากอาการไม่ทุเลาลง คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์

2. โรคไข้หวัดใหญ่
สำหรับไข้หวัดแล้ว เป็นโรคสามัญที่เกิดขึ้นได้ในทุกฤดู แม้แต่ในหน้าร้อนก็เช่นกัน ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) สามารติดต่อระหว่างคนสู่คน ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อไวรัส ยิ่งหากเป็นในเด็กกลุ่มต่ำกว่า 5 ปี จะมีอาการที่รุนแรงกว่ากลุ่มทั่วไป ทั้งนี้ คุณแม่ควรหมั่นล้างมือให้ลูกน้อยบ่อย ๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือแออัด

อาการ และวิธีการดูแลรักษาสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่
จะมีอาการไข้สูง 39 – 40 องศาเซลเซียส ปวดหัว และปวดเมื่อยตามตัว ปวดเบ้าตา ไอมีเสมหะ มักไม่ค่อยมีน้ำมูก ในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจจะเกิดภาวะปอดอักเสบแทรกซ้อน ไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ สำหรับการดูแลรักษา หากอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาตามอาการได้ เช่น การใช้ยาลดไข้ เช็ดตัว แต่หากไม่ดีขึ้น หรือมีอาการที่รุนแรงควรได้รับยาต้านไวรัส และรับการรักษาจากแพทย์ นอกจากนี้ คุณแม่สามารถพาลูกน้อยเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

3. โรคลมแดด
สภาพอากาศในหน้าร้อน ที่มีอุณหภูมิสูงนั้น อาจจะทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสภาพอากาศได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการที่เรียกว่า โรคลมแดด โรคนี้เกิดจากการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ทำให้กลไกการระบายและควบคุมความร้อนล้มเหลว ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนได้ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงในการให้ลูกออกไปเล่น หรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน หมั่นจิบน้ำบ่อย ๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่แน่น หรือหนาเกินไป และระบายความร้อนได้ดี อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก

อาการ และวิธีการดูแลรักษาสำหรับโรคลมแดด
อาการของโรคลมแดด มีอาการตัวร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อ ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็ว และแรง มีอาการทางสมอง เช่น เห็นภาพหลอน สับสน หงุดหงิด ชัก หรือหมดสติ ควรรีบนำลูกน้อยเข้าร่มทันที การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำได้ด้วยการนอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างสูงขึ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้น้อยชิ้น อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับ หรือประคบน้ำแข็งเพิ่ม เพื่อระบายความร้อนออกจากตัว หากลูกน้อยยังมีสติอยู่ ให้จิบน้ำบ่อย ๆ และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

4. โรคผดร้อน
สำหรับหน้าร้อนแล้ว โรคนี้เป็นอีกโรคยอดฮิต ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ หลายคน โรคนี้เกิดขึ้นจากปริมาณเหงื่อออกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ต่อมใต้เหงื่ออุดตัน ไม่สามารถระเหยออกได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการรั่วของเหงื่อสะสมอยู่ในชั้นผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มน้ำจนกลายเป็นผดร้อนนั่นเอง

อาการ และวิธีการดูแลรักษาสำหรับโรคผดร้อน
อาการของโรคผดร้อน มีอาการคันและตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย สามารถพบได้ทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ใต้ร่มผ้า ตามแขน ขา หรือข้อพับต่าง ๆ อาจจะมีอาการคันพ่วงด้วย อาการผดร้อนจะหายไปเอง เมื่อผิวหนังมีอุณภูมิที่เย็นลง หลีกเลี่ยงการเกา การใช้สิ่งที่ระคายเคืองกับผิวหนัง เช่น ครีม หรือเจลอาบน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำหอม เป็นต้น

สามารถทำให้ผิวเย็นลงได้ด้วยการสวมเสื้อผ้าที่ไม่แน่นหนา และระบายอากาศได้ง่าย การอาบน้ำเย็น และหมั่นดื่มน้ำ ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน หรือหากจะใช้ยาช่วยลดอาการ สามารถใช้คาลาไมน์บรรเทาอาการผดได้ แต่คุณแม่ควรสังเกตเพิ่มเติมว่า ผดที่ขึ้นนี้ ไม่ใช่อาการแพ้ของการแพ้โปรตีนในนม หรือแพ้แลคโตส

5. ภัยสุขภาพอื่น ๆ
นอกจากโรคที่ยกมาแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่คุณแม่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับโรคในหน้าร้อน นั่นคือเรื่องของภัยสุขภาพ ที่อาจจะส่งผลกระทบกับสุขภาพได้ ตัวอย่างภัยของสุขภาพ ได้แก่

           - ภัยสุขภาพจากหมอกควัน สำหรับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องไฟป่า หรือหมอกและควัน อาจจะประสบปัญหากับสภาพอากาศที่มีการปนเปื้อนด้วยฝุ่นละออง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจของลูกน้อย นอกจากนี้ปัญหาหมอกควัน ยังทำให้วิสัยทัศน์การมองเห็นในการขับขี่ลดลง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
           - ภัยสุขภาพจากการจมน้ำ ในหน้าร้อน หลาย ๆ บ้านอาจจะอยากคลายร้อนด้วยการเล่นน้ำ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงเล่นน้ำของลูก ๆ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแหล่งน้ำที่ลงเล่นมีความปลอดภัย มีอุปกรณ์ชูชีพพร้อมในการลงเล่นน้ำ เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และการสูญเสียชีวิตทางน้ำ

ถึงร้อนนี้จะร้อนแรงขนาดไหน แต่เพื่อลูกสุขภาพที่ดีของลูกน้อย คุณแม่ก็สามารถรับมือได้ มาร่วมเป็นหนึ่งในครอบครัว Enfa Smart Club พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ และอ่านบทความดี ๆ สำหรับลูกน้อยได้ที่นี่

References