สำหรับว่าที่คุณแม่ นอกจากทราบผลว่าตั้งครรภ์ก็เป็นเรื่องที่ดีใจแล้ว แต่เมื่อทราบอีกว่าตัวเองกำลังจะมีลูกฝาแฝด! ก็อาจจะดีใจยิ่งกว่า แต่เดี๋ยวนะ มีฝาแฝด ก็เท่ากับว่ามีลูกถึงสองคน แพ็คคู่มาพร้อมกัน โอ้ … งานนี้งานใหญ่แล้ว แต่ก็อย่าพึ่งเป็นกังวลไปค่ะคุณแม่ เชื่อว่าคุณแม่จะสามารถรับมือกับลูกน้อยฝาแฝดได้ค่ะ

ฝาแฝดมีกี่ประเภท
โดยปกติแล้ว ฝาแฝดสามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

          1. แฝดแท้ (Identical Twins) เกิดจากการปฏิสนธิของสเปิร์ม และไข่เพียงใบเดียว โดยตัวอ่อนแยกออกเป็นสองส่วน และอยู่ในถุงน้ำคล่ำเดียวกัน แฝดแท้มักมีหน้าตา และลักษณะที่เหมือนกันทุกอย่าง
          2. แฝดเทียม (Fraternal Twins) เกิดจากการปฏิสนธิของไข่ 2 ใบ และสเปิร์ม 2 ตัว ตัวอ่อนจะแยกกันเติบโตในรกของตัวเอง ไม่อยู่ในถุงน้ำคล่ำเดียวกัน ลักษณะ หรือใบหน้า จะไม่เหมือนกับแฝดแท้แบบ 100% บางครั้งแฝดเทียมอาจจะเป็นคนเพศก็ได้ 

มีสิ่งไหน ที่คุณแม่ต้องรับมือสำหรับลูกฝาแฝดบ้าง
เรื่องแรกที่โผล่เข้ามา อาจจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย แน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูอาจจะต้องเพิ่มเป็นอีกเท่าตัว ตรงนี้คุณแม่ และคุณพ่อ รวมทั้งครอบครัว อาจจะช่วยกันวางแผนล่วงหน้า เพื่อตั้งรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น อาจจะลองคำนวณคร่าว ๆ ในระยะก่อนคลอด ว่ามีอะไรบ้างที่ต้องเราต้องการ มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ อะไรยังไง ตั้งเป็นงบประมาณขนาดย่อมไว้ค่ะ 

อาจจะคำนวณทุก ๆ สามเดือนล่วงหน้าก็ได้ค่ะ ค่อย ๆ วางแผนไปทีละเรื่อง ทีละจุดค่ะ เพื่อไม่ให้เป็นกังวลมากเกินไป หรือจะทดลองทำบัญชีสรุปก็ได้เช่นกันค่ะ นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว เรื่องสุขภาพก็สำคัญ การตั้งครรภ์ลูกแฝด อาจจะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เนื่องจากการตั้งครรภ์ลูกฝาแฝด มีโอกาสที่คุณแม่จะคลอดก่อนกำหนด เมื่อเทียบกับคุณแม่ตั้งครรภ์ลูกคนเดียว

ดังนั้น ควรปรึกษากับแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสุขภาพ อาการต่าง ๆ ร่วมด้วย รวมทั้งการรับมือสุขภาพของเด็ก ๆ หลังคลอด มีตรงไหนที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษหรือไม่ ตรงนี้คุณแม่สามารถพูดคุยได้กับแพทย์ที่ฝากครรภ์ได้ค่ะ

รับมือกับการเลี้ยงลูกฝาแฝด
สิ่งที่คุณแม่จะต้องให้ความสำคัญสำหรับการเลี้ยงลูกฝาแฝดอันดับต้น ๆ เป็นเรื่องสุขภาพของเจ้าตัวเล็กทั้งสอง แม้ลูกน้อยจะเกิดมาพร้อมกัน แต่อาจจะมีสุขภาพ และความต้องการที่แตกต่างกันไป คุณแม่ควรแยกลักษณะให้ชัดเจนว่าคนไหนเป็นคนไหน เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ สังเกตอาการ พัฒนาการ หรือความต้องการต่าง ๆ 

ยิ่งในกรณีที่ลูกฝาแฝดของเราเป็นแฝดแท้ (Identical Twins) อาจจะแยกลักษณะ ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยในการจดจำ และสังเกตได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ คุณแม่ และคุณพ่ออาจจะต้องแบ่งเวรกันดูแลลูกน้อยทั้งสอง ในแต่ละส่วน เช่น ใครป้อนนมในช่วงเวลาไหน ใครจะอาบน้ำ ใครจะเปลี่ยนผ้าอ้อม เป็นต้น เพื่อเป็นการลดภาระงานที่อาจจะมีมากเกินไป เมื่อต้องเลี้ยงดูลูกฝาแฝด และยังสามารถช่วยลดความเครียด จากการเลี้ยงดูลูก ๆ ได้อีกด้วย

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ถึงจะเป็นฝาแฝด แต่เราก็แตกต่างนะ!
ถึงแม้ใคร ๆ จะบอกว่าเป็นฝาแฝดก็ต้องเหมือนกันทั้งคู่สิ จริงอยู่ที่ลักษณะ หน้าตาจะเหมือนกัน แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า เด็กทั้งสองเป็นคนละคนกัน และอาจจะมีนิสัย อารมณ์ หรือความชอบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละคน แม้ว่าทั้งคู่จะได้รับการเลี้ยงดูมาเหมือนกันก็ตาม

เมื่อยิ่งโตขึ้น ฝาแฝดแต่ละคน อาจจะเริ่มมองสถานะของตัวเอง และคู่ฝาแฝดใหม่ว่า จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่ใช่ฝาแฝด แต่เป็นพี่ และน้องเหมือนบ้านอื่น ๆ ที่คอยช่วยเหลือกันและกัน มากกว่าการมองว่าตัวเองเหมือนกันทั้งคู่

ไม่ใช่ฝาแฝดทุกคู่จะมีความสัมพันธ์แบบพี่น้อง บางครั้งอาจจะเกิดการแข่งขันระหว่างกัน หรือในบางครั้ง ฝาแฝดอีกคนอาจจะรับบทเป็นผู้นำ และอีกคนเป็นผู้ตาม ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทั้งการเลี้ยงดูในครอบครัว อุปนิสัยส่วนบุคคล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างฝาแฝดส่วนใหญ่ จะมีความผูกพันเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาได้ใช้เวลาด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นคุณแม่ยังไม่ต้องเป็นกังวลไป ว่าความสัมพันธ์ระหว่างฝาแฝดจะเข้ากันไม่ได้ ทั้งนี้คุณแม่ควรให้การสนับสนุนฝาแฝดอย่างเท่าเทียมกัน และเมื่อมีปัญหาระหว่างกัน ควรค่อย ๆ ปรับความเข้าใจทั้งฝ่ายให้ตรงกัน ไม่ควรทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกด้อยค่ากว่าอีกฝ่าย

พัฒนาการของฝาแฝด
คุณแม่อาจจะเข้าใจว่า ลูกฝาแฝดของเราคงจะมีพัฒนาการเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เลย พัฒนาการของฝาแฝดจะมีความแตกต่างไปอีกแบบ ในแง่ของการเจริญเติบโตอาจจะเป็นไปตามปกติทั่วไป มีบ้างที่ฝาแฝดอีกคนจะมีอาจจะการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าอีกคน

แต่ในด้านของพัฒนาการด้านอื่น ๆ อย่างการสื่อสาร คุณแม่อาจจะพบว่า ฝาแฝดอาจจะพูดคุยสื่อสารด้วยกันเองได้ดี และเข้าใจมากกว่าการพูดคุยกับคนอื่น ๆ ในครอบครัว หรือในฝาแฝดบางคู่ จะแยกหน้าที่กัน เช่นอีกคนจะมีทักษะการสื่อสารที่ดีกว่า และอีกคนจะมีทักษะด้านการเคลื่อนไหวที่ดีกว่าอีกคน

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากธรรมชาติของฝาแฝด จะใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาเรียนรู้ที่จะอ่านท่าทาง หรือสีหน้าของกันและกัน ทำให้รู้ความต้องการต่าง ๆ ของแต่ละฝ่าย ในบางครั้งฝาแฝดอาจจะพัฒนาภาษาที่ใช้กันเอง เข้าใจกันเองก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการที่เป็นรูปแบบเฉพาะของฝาแฝดนี้ เป็นเรื่องปกติ แต่อาจจะสร้างกรอบให้ฝาแฝดเข้าใจว่า โลกของเขามีแค่นี้ และเขาอยู่ด้วยกันสองคนได้ โดยไม่ต้องการคนอื่น ดังนั้นคุณแม่ควรกระตุ้นลูกฝาแฝด โดยการแยกเขาทั้งสองออกเป็นครั้งคราว เพื่อได้เปิดโอกาสให้เขารู้จักเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ รวมทั้งฝึกให้เขารับมือกับการใช้ชีวิตคนเดียว เมื่อไม่มีฝาแฝดอีกคน

ควรแยกฝาแฝดออกจากกันหรือไม่?
แน่นอนว่า ฝาแฝดมักไม่ชอบการแยกออกจากกันอยู่แล้ว จากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว คุณแม่ต้องฝึกให้เขาได้ทดลองใช้ชีวิตด้วยตัวเอง และควรเริ่มฝึกตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เขาสามารถปรับตัวได้ อาจจะเริ่มลองแยกทั้งคู่ออกจากกันเป็นครั้งคราว หากทั้งคู่มีอาการต่อต้าน ลองเปลี่ยนเป็นให้เขาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่แยกกันเล่นกับอีกคนในครอบครัว หรือเมื่อออกนอกบ้าน ลองแบ่งให้อีกคนไปกับคุณพ่อ และอีกคนไปกับคุณแม่ ก็ได้เช่นกันค่ะ

การแยกฝาแฝดออกจากกันจะช่วยให้เขาสามารถใช้ชีวิตกับคนอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ยิ่งเมื่อเข้าโรงเรียนแล้ว เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่เด็ก ๆ จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนคนอื่น ๆ และคุณครู และสามารถเข้าร่วมกลุ่มสังคมได้ โดยไม่รู้สึกแปลกแยก และรู้สึกปลอดภัย เมื่อไม่ได้อยู่ร่วมกับฝาแฝดอีกคน

ถึงแม้ว่าการเลี้ยงดูลูกฝาแฝดจะเป็นงานใหญ่ แต่ถ้าหากเราวางแผน และเตรียมตัวล่วงหน้า ก็จะช่วยให้คุณแม่ และคุณพ่อ ไม่ต้องหัวหมุน และตั้งรับกับเจ้าตัวน้อยทั้งสองได้ทันค่ะ

หากคุณแม่ และคุณพ่อมีข้อมีข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ และพัฒนาการลูกน้อย สามารถ Live Chat กับผู้เชี่ยวชาญ เพียงสมัครสมาชิกกับ Enfa Smart Club ได้ที่นี่

References