ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เจ็บหัวนม-หัวนมแตก

เจ็บหัวนม หัวนมแตก รวมเทคนิคแก้ปัญหาคุณแม่ให้นมลูก

อาการเจ็บหัวนม อาการหัวนมแตก คืออาการที่พบเจอได้ทั่วไปสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ให้นมลูก โดยจะมีลักษณะของผิวบริเวณรอบหัวนมที่แห้งแตก ทำให้คุณแม่มือใหม่มีอาการเจ็บปวดจากการให้นมลูกน้อย ทั้งนี้คุณแม่ควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีรับมือกับปัญหา เจ็บหัวนม หัวนมแตก ที่เกิดขึ้น

สาเหตุของการ เจ็บหัวนม หัวนมแตก

  • การเลี้ยงลูกให้ดูดนมในท่าที่ไม่ถูกต้อง ลูกอ้าปากไม่กว้างพอ จึงอมแค่หัวนมแต่ไม่ลึกไปถึงลานนม ส่งผลให้ดูดแล้วไม่ได้น้ำนม ลูกจึงใช้เหงือกซึ่งข้างใต้นั้นคือฟันหันมาเคี้ยวหัวนมแทน ท่าการให้นมที่ถูกต้องนั้นมีหลายท่าด้วยกัน โดยคุณแม่สามารถไปศึกษาได้เพิ่มเติม โดยการคลิกที่นี่ หรือบางครั้งคุณแม่อาจจะถอนหัวนมออกจากปากลูกไม่ถูกวิธี ทำให้เป็นแผลได้
  • ลูกมีพังผืดใต้ลิ้น หรือภาวะลิ้นติดของทารก ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของลิ้นถูกจำกัดด้วยเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างลิ้นและพื้นล่างของปาก เมื่อทารกดูดนมแม่ก็จะทำให้ไม่สามารถขยับลิ้นให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมได้ จนทำให้คุณแม่มีแผลแตกที่หัวนม
  • คุณแม่ทำความสะอาดผิวบริเวณหัวนมมากเกินไป บางครั้งคุณแม่กังวลเรื่องความสะอาดมากเกินไป แล้วใช้แอลกอฮอล์หรือสบู่ถูล้างหัวนมบ่อย ๆ จนผิวแห้งแตกเป็นแผล ก็เป็นสาเหตุทำให้หัวนมเจ็บแตกได้เช่นกัน
  • การใส่อุปกรณ์ปั๊มนมไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะหากคุณแม่เร่งความเร็วในการปั๊มนมมากเกินไปก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด อาการหัวนมแตก ได้

 

เทคนิคแก้ปัญหา เจ็บหัวนม หัวนมแตก

  1. ถ้าลานนมตึงหรือแข็ง ให้บีบน้ำนมออกหรือนวดลานนมให้นิ่ม ก่อนให้ลูกดูดนม
  2. เปลี่ยนท่าอุ้มหรือเปลี่ยนตำแหน่งลูกไม่ให้ดูดทับรอยแผลที่แตกเดิม
  3. ให้ลูกดูดนมแม่ในท่าที่ถูกต้อง ควรจำไว้ว่า จมูก แก้ม และคางของลูกควรสัมผัสกับเต้านม ริมฝีปากทั้งด้านบนและด้านล่างของลูกควรแบะออกเหมือนปากปลา
  4. ถ้าเต้านมของคุณแม่มือใหม่คัด ให้บีบน้ำนมออกมานิดหนึ่งก่อนเพื่อให้เต้านมนิ่มขึ้น จะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดูดของลูก
  5. เริ่มให้ลูกดูดนมจากข้างที่เจ็บน้อยที่สุดก่อน ถ้าทั้งสองข้างเจ็บเหมือนกัน ให้เอาผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบและนวดเต้านมเบา ๆ เพื่อให้น้ำนมเริ่มไหลออกมา
  6. ถ้าจำเป็นให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้นทุก 1-2 ชั่วโมง ควรลดเวลาที่ดูดให้สั้นลงเหลือประมาณ 10-15 นาที หรือจนกว่าเต้านมจะนิ่ม
  7. อุ้มลูกให้กระชับกับหน้าอกเพื่อไม่ให้เขาดึงหัวนม และอย่าลืมปลดแรงดูดของลูกออกก่อนที่จะเอาหัวนมออกจากปากลูก
  8. ไม่ต้องล้างหัวนมก่อนให้ลูกดูดนม ทุกครั้งควรล้างเมื่อจำเป็นตามความเหมาะสม เพราะการล้างด้วยน้ำเปล่า บ่อย ๆ จะทำให้ผิวแห้ง แต่คุณแม่อย่าลืมทำความสะอาดหัวนมเมื่อมีเหงื่อออก หรือสกปรกก่อนให้ลูกดูดนะคะ
  9. หลังจากให้นมลูกทุกครั้ง บีบน้ำนม ทาบนลานนมและหัวนมทั้งสองข้าง แล้วผึ่งลมให้แห้ง แต่ถ้าอยากให้ผิวชุ่มชื่น คุณแม่อาจจะใช้ลาโนลิน (ไขมันชนิดหนึ่ง) โดยทาเล็กน้อยก็พอเพียงแล้ว

ถ้าคุณแม่มีอาการ เจ็บหัวนม หัวนมแตก เป็นอย่างมาก ให้ลูกงดดูดนมแม่สัก 1-2 วัน และบีบน้ำนมทาแผล ปล่อยให้แห้ง และอาจรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล เพื่อลดอาการปวดได้ ระหว่างงด ให้บีบน้ำนมออกทุก 2-3 ชั่วโมง และป้อนนมด้วยถ้วย หรือช้อนไปก่อน ที่สำคัญคุณแม่ไม่ควรให้ลูกดูดจากขวดนม เพราะจะทำให้เด็กเกิดความสับสนและติดการดูดจุกนมได้ ถ้าแก้ไขแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงอย่างหัวนมแตกจนมีเลือดไหล ควรปรึกษาแพทย์ผดุงครรภ์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง

การดูแลตัวเองของคุณแม่ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กับการดูแลลูกน้อย นอกจากปัญหาเรื่องหัวนมแตกแล้ว เรายังมีบทความและเคล็ดลับดี ๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่ พร้อมสาระน่ารู้ดี ๆ จากเอนฟา คลิกเลย Enfa A + Smart Club

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

เจ็บหัวนม-หัวนมแตก
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner