การอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับพัฒนาการของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็ตาม การอ่านหนังสือสามารถเปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมองใหม่ ๆ และสร้างจินตนาการให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการทางการเรียนรู้ ทางความคิด และทางภาษาอีกด้วย

เราสามารถฝึกเจ้าตัวน้อยให้เป็นนักอ่านตัวยงได้ โดยไม่ต้องรอให้ลูกน้อยของเราโต หรือสามารถอ่านออก ถึงจะค่อยฝึกให้เขารักการอ่าน คุณแม่ และคุณพ่อ รวมทั้งคนในครอบครัว สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ลูกน้อยยังเป็นทารก!

เริ่มฝึกอ่านตั้งแต่วัยทารก

อาจจะสงสัยกันใช่ไหม ว่าจะฝึกการอ่านตั้งแต่วัยทารกได้ยังไงกัน ในช่วงวัยทารก ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะยังไม่สามารถอ่านออก แต่เขาสามารถได้ยินเสียงต่าง ๆ ได้ เราสามารถเริ่มปลูกฝังการอ่านให้กับลูกน้อย ได้ด้วยการเริ่มอ่านหนังสือให้ฟังก่อน การอ่านให้ลูกน้อยฟัง จะช่วยให้เขาได้ลองฝึกฟังโทนเสียงการพูดของเรา โดยสามารถเริ่มได้ ดังนี้

1. อ่านให้ฟังทุกวัน
เริ่มฝึกลูกน้อยด้วยการอ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน ลองหาเวลาว่าง ๆ อย่างช่วงเวลาระหว่างวัน หรือเวลาก่อนเข้านอนของลูกน้อย โดยการอ่านหนังสือให้ลูกวัยทารกฟังนั้น เน้นการอ่านออกเสียง ฟังชัด คุณแม่สามารถอ่านหนังสือประเภทไหนก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กเสมอไป เนื่องจากเนื้อหาของหนังสือไม่ได้สำคัญสำหรับวัยนี้มากนัก แต่สิ่งสำคัญคือเสียงของผู้อ่าน

แล้วทำไม “เสียง” ถึงเป็นสิ่งสำคัญ มีผลการศึกษาพบว่า จำนวนคลังคำศัพท์ของเด็กทารกที่ได้รับ และสามารถจดจำได้ในวัยนี้ จะส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการทางภาษา ความสามารถในการอ่าน และการเขียน ซึ่งการที่เด็กทารกจะสามารถจดจำคำศัพท์ต่าง ๆ ได้ จะมาจากการฟังเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ เสียงที่ส่งผลต่อการจดจำภาษาของเด็กทารก คือเสียงพูดคุยที่เราคุยกับลูกน้อยโดยตรง หากเป็นเสียงที่มาจากสื่อ หรือเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ โทรทัศน์ หนังสือเสียง ก็ไม่สามารถเทียบกับเสียงที่พูดคุยโดยตรงกับลูกน้อยได้ ดังนั้น การอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่วัยทารก นับว่าเป็นสิ่งที่ดี และยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษาให้กับเจ้าตัวน้อยของเราอีกด้วย

2. ลองให้สัมผัสหนังสือ
ระหว่างที่อ่านหนังสือ ลองโชว์หนังสือให้ลูกน้อยได้เห็นรูปร่าง ลักษณะของหนังสือ ให้เขาได้ลองสัมผัสหน้ากระดาษ ดมกลิ่นหนังสือ ว่าเจ้าหนังสือที่คุณแม่อ่านให้ฟังนี้ มันเป็นแบบไหน คุณแม่อาจจะลองหาหนังสือเด็กประเภทหนังสือกึ่งของเล่น ซึ่งเป็นหนังสือที่มีเสียง หรือบางเล่มอาจจะใช้ผ้าเป็นส่วนประกอบ มาให้ลูกน้อยได้ลองสัมผัสไปด้วยขณะอ่านหนังสือให้ฟังก็ได้เช่นกัน

3. เป็นผู้อ่านที่ดี และใส่ใจผู้ฟัง
ถึงแม้ว่าเด็กวัยทารกจะยังไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เราพูดก็ตาม แต่ระหว่างที่คุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกน้อยฟัง ควรอ่านเหมือนลูกตั้งใจฟังเราอยู่ ถึงแม้อาจจะดูว่าลูกน้อยของเราจะไม่ได้ตั้งใจฟังก็ตาม แต่เขากำลังซึมซับกับสิ่งที่เราอ่านให้ฟังอยู่นะ

นอกจากนี้ ลูกน้อยอาจจะเริ่มส่งเสียงโต้ตอบระหว่างการอ่าน แม้ว่าสิ่งที่โต้ตอบกลับมาจะดูไม่มีความหมายอะไร แต่ขอให้คุณแม่รู้ว่า นี่เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งของเด็กทารก และเมื่อคุณแม่อ่านหนังสือให้เขาฟังเป็นประจำ ลูกน้อยจะค่อย ๆ จดจำคำศัพท์ เสียง ภาษา และจะเริ่มจำการอ่านเป็นกิจวัตรประจำวันของเขา

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ต่อยอดการอ่านในวัยเตาะแตะ

เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นเข้าสู่วันเตาะแตะ หรือช่วงอายุ 1 – 3 ขวบ การอ่านจะเริ่มง่ายกับเขามากขึ้น เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ หัดพูด สามารถเข้าใจภาษา และเรื่องราวในหนังสือได้ดี หนังสือสำหรับเด็กวัยนี้ จะประกอบไปด้วยคำศัพท์ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนจนเกินไป อีกทั้งยังมีภาพประกอบที่มีสีสัน สร้างมิติให้เด็ก ๆ เห็นเรื่องราวต่าง ๆ ได้ ในช่วงวัยนี้ เราสามารถสร้างนักอ่านตัวน้อยด้วยวิธี ดังนี้

1. สร้างการอ่านให้เป็นส่วนหนึ่งในแต่ละวัน
นอกเหนือการอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนเข้านอนแล้ว เรายังสามารถอ่านหนังสือให้ลูกฟังระหว่างวันได้อีกด้วย ไม่จำเป็นจะต้องรอให้ถึงเวลาก่อนเข้านอน ลองเพิ่มเวลาอ่านหนังสือในช่วงเวลากลางวันให้เป็นอีกกิจกรรมในระหว่างวัน ข้อดีของการอ่านหนังสือในตอนกลางวันก็คือ เด็ก ๆ จะไม่ง่วงนอน หรือหลับไปก่อนเราจะอ่านหนังสือจบ

เด็ก ๆ ยังจะได้อรรถรสใหม่ ๆ ของการอ่านหนังสือตอนกลางวัน อย่างการมองเห็นภาพในหนังสือได้ชัดเจนกว่าช่วงเวลากลางคืน อีกทั้งคุณแม่ คุณพ่อ และคนในครอบครัวยังสามารถร่วมกิจกรรมอ่านหนังสือกับเด็ก ๆ ได้อีกด้วย

2. ค้นหาหนังสือเล่มโปรด
ในช่วงแรก เราอาจจะเลือกหาหนังสือสำหรับลูกด้วยตัวเอง จะเป็นเล่มโปรดตอนเด็กของคุณแม่ และคุณพ่อ หรือจะเป็นหนังสือขายดี หนังสือออกใหม่ จนไปถึงหนังสือที่ได้รับการแนะนำมา มองหาหนังสือเด็กที่เราคิดว่าน่าสนใจ และลูกน่าจะชอบ เลือกเนื้อเรื่องที่มีความหลายหลาก เพื่อให้เขาได้ลองอ่านอะไรใหม่ ๆ

ลองสังเกตช่วงเวลาที่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ว่าเขามีความชอบ หรือสนใจเล่มนั้น ๆ ไหม ก็จะช่วยให้เรารู้ความชอบของลูกน้อยไปในตัวด้วย เราอาจจะชวนเขาไปร้านหนังสือ หรือห้องสมุด เพื่อให้เขาได้ลองเลือกหนังสือด้วยตัวเอง และเปิดโอกาสให้เขาได้เลือกเล่มที่อยากจะอ่าน

หนังสือเด็กส่วนใหญ่มักจะมีภาพประกอบที่เป็นสี บางเล่มอาจจะมีภาพประกอบที่เป็นสีขาว – ดำ เนื้อเรื่องของหนังสือก็มีความหลากหลาย เช่น บางเรื่องมีตัวละครหลักเป็นเด็ก สัตว์ สิ่งของ รวมไปทั้งแก่นเรื่องก็แตกต่างกันไปอีกเช่นกัน เราอาจจะมองว่าหนังสือเด็กทุกเล่มมักจะมีเนื้อหาที่สอนเด็ก เป็นแบบอย่าง และให้แง่คิด แต่ในปัจจุบัน มีหนังสือเด็กหลายเล่ม ที่ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อในลักษณะที่ต้องสอนเด็กเพียงอย่างเดียว มีทั้งเป็นเรื่องเล่าทั่วไป มุกตลก ฯลฯ

ความหลากหลายของหนังสือเหล่านี้ จะช่วยเปิดโลกจินตนาการของลูกน้อย และดึงดูดความสนใจในการอ่านได้เป็นอย่างดี ลองให้ลูกได้ลองอ่านหนังสือหลาย ๆ แบบ เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ให้กับเขา

3. อ่านให้สนุก และได้อรรถรส
คุณแม่อย่าลืมที่จะใส่อารมณ์ร่วมไปกับการอ่านหนังสือ สร้างมิติการเล่าเรื่องให้สนุก และน่าสนใจ เช่น ทำเสียงเล็ก เสียงใหญ่ เสียงประกอบ เสียงเลียนแบบต่าง ๆ ให้มิติบนหน้ากระดาษปรากฎต่อหน้าลูกน้อย ซึ่งเราอาจจะสร้างสถานการณ์ขนาดย่อมในห้องนอน แสดงบทบาทตามเรื่องก็ได้

4. เป็นเรื่องปกติ หากลูกน้อยแทรกระหว่างการอ่านหนังสือ
บางครั้งเด็ก ๆ อาจจะมีคำถาม หรือสิ่งที่ต้องการจะพูดมากมายในระหว่างที่เราอ่านหนังสือให้เขาฟังอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ อย่าไปดุลูก เปลี่ยนเป็นการพูดว่า “ขอให้คุณแม่อ่านหน้านี้จบก่อนนะคะ” หรือหากลูกดูไม่สนใจที่จะฟังเรื่องเล่าจากเล่าแล้ว อาจจะใช้เป็นการชี้ภาพในหนังสือให้เขากลับมาสนใจ พร้อมเล่าเรื่องประกอบตามไปด้วย

5. เปิดโลกกว้างหนังสือ
อย่างที่เคยบอกไปว่า หนังสือมีความหลากหลาย โลกของการอ่านไม่ได้หยุดอยู่แค่หนังสือนิทาน หรือเรื่องเล่าแฟนตาซีอย่างเดียว วันหนึ่งลูกอาจจะมีคำถามถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ หรือเรื่องที่เราอาจจะหลีกเลี่ยงในการพูด เช่น ความตาย การสูญเสีย เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีหนังสือสำหรับเด็กจำนวนมาก ที่สามารถเล่าเรื่องเหล่านี้ได้

เปิดโลกให้ลูกน้อยได้รู้จักหนังสือประเภทอื่น ๆ เพื่อให้เขาได้ลองสัมผัสเรื่องราวใหม่ ๆ อย่ากลัว หรือกังวลที่จะให้ลูกได้ลองสิ่งใหม่

ปลูกต้นกล้านักอ่าน

หลังจากที่เราแนะนำการอ่านให้ลูกน้อยได้รู้จัก ตั้งแต่วัยทารก จนถึงวัยเตาะแตะ การอ่านจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัยที่สามารถอ่าน และเข้าใจภาษาได้ ค่อย ๆ ปล่อยให้เขาได้ดื่มด่ำกับตัวหนังสือ และเรื่องราวไปทีละนิด ไม่ควรไปบังคับ หรือเร่งให้เขาอ่านหนังสือ แต่ให้เขาได้ตัดสินใจเลือกที่จะอ่านหนังสือเอง ซึ่งการอ่านไม่ได้หมายความว่าจะต้องอ่านแต่หนังสืออย่างเดียว เขายังสามารถอ่านอะไรง่าย ๆ เช่น จดหมาย หนังสือพิมพ์ ใบปลิว ฯลฯ นอกจากนี้ เรายังสามารถช่วยลูกน้อยเป็นต้นกล้านักอ่านที่แข็งแรงได้อีกด้วย ดังนี้

1. คอยเป็นพจนานุกรม
สำหรับเด็กที่เริ่มอ่านออก หรือวัยอนุบาล การอ่านอาจจะยังคงเป็นเรื่องที่ยากบ้างในบางครั้ง เนื่องจากเด็กยังไม่มีคลังคำศัพท์ที่ในระดับผู้ใหญ่ การอ่านในช่วงเวลานี้ เด็ก ๆ มักจะอ่านออกเสียงเป็นส่วนใหญ่ และใช้นิ้วชี้ตัวหนังสือในขณะอ่านไปด้วย บางครั้งหากเขาอ่านคำไหนไม่ได้ ก็อาจจะมีคำถามกับคุณแม่หรือคนรอบข้าง ในส่วนนี้ คอยช่วยเขาสะกดไปเรื่อย ๆ และช่วยบอกความหมายของคำนั้น ๆ เพื่อให้เขาเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

2. ค่อย ๆ เปลี่ยนหนังสือ
เปลี่ยนหนังสือในที่นี้ คือการขยับไปอ่านหนังสือที่เหมาะตามช่วงอายุ หรือมีเนื้อหาที่มากขึ้น เช่น เมื่อก่อนอาจจะอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาในแต่ละหน้าเพียงสองบรรทัด เมื่อเด็ก ๆ เริ่มอ่านหนังสือได้ รู้คำศัพท์ได้มากขึ้น คุณแม่ค่อย ๆ แนะนำหนังสือ ที่มีเนื้อหามากขึ้นมาอีกระดับมากกว่าแต่ก่อน เปลี่ยนไปอ่านหนังสือที่ภาพประกอบเริ่มลดน้อยลง เพื่อให้เขาสามารถขยับไปอ่านหนังสือที่เหมาะกับช่วงอายุ และยังเป็นการเสริมสร้างทักษะในการอ่าน

ทั้งนี้ ก็ไม่ควรเร่ง หรือบังคับให้เขาเปลี่ยนไปอ่านหนังสือตามช่วยอายุทันทีทันใด เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีทักษะการอ่านช้า และเร็วที่แตกต่างกันออกไป ก่อนที่เราจะเริ่มเปลี่ยนหนังสือ ให้เราสังเกตความสามารถในการอ่านของลูกน้อย ว่าในช่วงเวลานั้นเป็นแบบไหน เพราะหากเราไปบังคับ เขาอาจจะมองการอ่านเป็นสิ่งที่กดดัน เคร่งเครียด และไม่น่าสนใจอีกต่อไป

เราค่อย ๆ แนะนำหนังสือ หรือชวนเขาออกไปร้านหนังสือ หรือห้องสมุดด้วยกัน เพื่อลองหาเล่มที่เขาสนใจ และเมื่อลูกสามารถอ่านหนังสือได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ตัวเลือกหนังสือของเขาก็จะเปลี่ยนไปตามความชอบของเขา

3. การอ่านหนังสือควรแตกต่างจากการอ่านหนังสือเรียน
สิ่งสำคัญในการสร้างนักอ่านตัวน้อย คือการทำให้เขาตกหลุมรักตัวหนังสือ และเรื่องราวในหน้ากระดาษ ซึ่งการอ่านหนังสือที่เป็นงานอดิเรกนั้น จะต้องไม่ใช่ความรู้สึกเดียวกับการอ่านหนังสือเรียน หรืออ่านหนังสือสอบ เราไม่ควรตั้งเป้าหมายว่าลูกควรจะต้องอ่านเท่านี้ หรือบังคับให้เขาเหมือนการอ่านหนังสือเรียน ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

เมื่อใดที่เขาใช้เวลาว่างระหว่างวันในการอ่านหนังสือที่เป็นงานอดิเรก ควรปล่อยให้เขาอ่านไปเรื่อย ๆ เหมือนเวลาที่เราปล่อยให้เขาได้เล่นกับเพื่อน การสร้างสภาพแวดล้อมแบบนี้จะทำให้เขามองการอ่านหนังสือนี้ เป็นสิ่งที่เขาทำแล้วมีความสุข สนุกไปกับการอ่าน

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเลี้ยงลูกให้เป็นนักอ่าน นั่นคือการที่คนในครอบครัวต้องเป็นตัวอย่าง เป็นนักอ่านเสียก่อน เมื่อครอบครัวสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยนักอ่าน ลูกน้อยจะซึมซับการเป็นนักอ่านผ่านตัวอย่างในครอบครัว

นอกจากนี้ ควรฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรเร่ง หรือกดดันจนเกินไป หนังสือนั้นเป็นเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ต้องใช้เวลาในการดื่มด่ำกับจินตนาการ และเรื่องราวในหน้ากระดาษ มากกว่าการสร้างจินตนาการ หนังสือยังสอนให้เราเข้าใจโลก เข้าใจความสวยงาม เข้าใจความเป็นมนุษย์ แม้กระทั่งเป็นเพื่อนคู่ใจ ดังนั้น การเลี้ยงลูกน้อยให้เป็นนักอ่าน นับว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเจ้าตัวเล็กอย่างแน่นอน

ติดตามเคล็ดลับในการเลี้ยงลูกอื่น ๆ อีกมาก เพียงร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันกับเรา “Enfa Smart Club” พร้อมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผ่าน Live Chat และรับสิทธิพิเศษอีกมาก สมัครสมาชิกได้ที่นี่ คลิก และดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน A+ Genius Baby ที่นี่

Reference:

          - How to Raise a Reader