ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
คนท้องกับโควิด-19

ไขข้อสงสัยคุณแม่ตั้งครรภ์ กับเรื่อง “โควิด-19”

“โควิด-19” ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบันนี้ อาจจะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์หลาย ๆ คน มีข้อสงสัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัคซีน การป้องกัน หรือถ้าหากติดโควิด-19 จะเป็นอันตรายกับลูกในท้องหรือไม่?

หลากหลายข้อสงสัยมากมาย วันนี้เอนฟาเลยรวบรวมคำตอบมาไขข้อสงสัยของคุณแม่กัน เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัว และรับมือได้ถูกต้องในตลอดช่วงการแพร่ระบาดนี้

โควิด-19 กับคุณแม่ตั้งครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์ติดโควิด-19 จะมีความรุนแรงไหม?

หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์พบว่า ตัวเองป่วยเป็นโควิด-19 ความรุนแรงโดยรวมแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงแรงต่ำ แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน อายุมาก เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ในกลุ่มนี้ ล้วนมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง จากภาวะแทรกซ้อน

คุณแม่ตั้งครรภ์ติดโควิด-19 จะแสดงอาการป่วยหรือไม่?

เราอาจจะทราบกันว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มักจะมีอาการไข้ ไอแห้ง สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่น และรับรส เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่ มากกว่า 2 ใน 3 ของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มักจะไม่แสดงอาการออกมา

โควิด-19 มีผลทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือไม่?

จากผลการศึกษาพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโควิด-19 มีอัตราการคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโควิด-19 โดยผลการศึกษาในสหราชอาณาจักร สำรวจคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วย และสงสัยว่าเป็นโควิด-19 ประมาณ 4,000 คน พบว่ามีคุณแม่ที่ป่วย หรือสงสัยว่าเป็นโควิด-19 ประมาณ 12% คลอดก่อนกำหนด 37 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับสถิติคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วไป ที่คลอดก่อนกำหนดในปี ค.ศ. 2020 มีเพียง 7.5%

ในส่วนของสหรัฐอเมริกา พบว่าจำนวนการคลอดก่อนกำหนดของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโควิด-19 มีถึง 15.7% เทียบกับสถิติที่คาดการณ์ไว้ของคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วไปเพียง 10% สรุปได้ว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโควิด-19 มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ป่วย

โควิด-19 สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสจากแม่สู่ลูกได้หรือไม่?

การถ่ายทอดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากแม่สู่ลูกสามารถเกิดขึ้นได้ แต่มีโอกาสน้อย ประมาณ 2 – 5% โดยในขณะตั้งครรภ์การถ่ายทอดเชื้ออาจจะเกิดขึ้นในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากจะเกิดภาวะไวรัสในกระแสเลือด และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้ไวรัสสามารถเข้าไปถึงทารกในครรภ์ได้

ในกรณีหลังการคลอด ทารกสามารถติดเชื้อได้จากคุณแม่ หรือผู้มีอาการป่วยโควิด-19 และยังรวมถึงของที่ปนเปื้อนเชื้ออื่น ๆ

คุณแม่เป็นโควิด-19 สามารถให้นมลูกได้ไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า โควิด-19 สามารถติดต่อผ่านทางสายรก หรือทางน้ำนมได้ ดังนั้นคุณแม่ที่ติดโควิด-19 สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ แต่อาจจะเปลี่ยนให้คุณพ่อ หรือคนในครอบครัวป้อนนมแทน

ยกเว้นในกรณีที่คุณแม่เข้ารับการรักษาโควิด-19 และได้รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และดารุนาเวียร์ (Darunavir) ควรหลีกเลี่ยงการให้นมลูก หากได้รับยาต้านไวรัสชนิดอื่น ๆ ยังสามารถให้นมบุตรได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำร่วมด้วย

คุณแม่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่?

สำหรับการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ สามารถรับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เนื่องจากพบว่าในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดไวรัสโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ เลือดแข็งตัวผิดปกติ ทารกคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น ดังนั้น การรับวัคซีนในคุณแม่ตั้งครรภ์จึงเป็นประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดจากผลข้างเคียงของวัคซีน

นอกจากนี้ คุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร สามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ และไม่ได้มีข้อห้ามฉีดสำหรับคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร อีกทั้งส่วนประกอบในวัคซีน จะมีโอกาสที่ผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้น้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับการรับวัคซีนโควิด-19 ในคุณแม่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ดังนี้

     1. คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ โดยช่วงเวลาที่ควรฉีดวัคซีน ควรอยู่หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เป็นต้นไป ยกเว้นในกรณีที่มีข้อห้าม เช่น มีอาการรุนแรงจากการฉีดครั้งแรก

     2. แนะนำการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโอกาสในการติดติดเชื้อได้สูง ได้แก่
               - กลุ่มผู้ตั้งครรภ์ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้สูง: บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง
               - กลุ่มผู้ตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรค จะรุนแรงหากติดเชื้อ: คนอ้วน รวมทั้งคนที่มีโรคประจำตัวอย่าง เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ เป็นต้น

     3. คุณแม่ที่ให้นมบุตรสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ทุกประเภท และหลังการรับรับวัคซีนสามารถให้นมลูกต่อได้เลย โดยไม่ต้องงดนมแม่ หรือปั๊มนมทิ้ง

     4. ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ยกเว้นมีความจำเป็น ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

     5. ผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในการป้องกันไวรัสโควิด-19

          • สวมใส่หน้ากากเมื่อจะต้องเดินทางออกนอกบ้าน หรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ
          • เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1 – 2 เมตร หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด
          • ล้างมือบ่อย ๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา และปาก เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส
          • ทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสบ่อย เช่น โต๊ะกินข้าว โต๊ะทำงาน ก่อนจะใช้พื้นที่นั้น
          • ควรไปพบแพทย์ หรือฝากครรภ์ตามปกติ

หากคุณแม่มีข้อสงสัย หรือกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สามารถขอรับคำปรึกษากับแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือตลอดช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อัปเดตข้อมูลเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564

Reference:

          - Pregnant and Recently Pregnant People. https://bit.ly/2STLtv8
          - Pregnancy and COVID: what the data say. https://go.nature.com/35GXebi
          - โควิด-19 กับหญิงตั้งครรภ์ และข้อมูลที่คุณแม่ต้องศึกษา. https://bit.ly/3iYwuek
          - แม่ตั้งครรภ์ติด COVID-19 ส่งผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่?. https://bit.ly/3xEk0fK
          - ประกาศราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ 06/2564 เรื่อง การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร. https://bit.ly/3wJZieB
          - ข้อควรรู้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในสถานการณ์โรคโควิด 19. https://bit.ly/2SP7R96

บทความที่แนะนำ

7 ขั้นตอน! สอนลูกน้อยล้างมือ ให้ห่างไกลจากไวรัส
ไวรัสรอบตัว! แต่จำเป็นต้องไปข้างนอก คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องทำยังไง?
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner