สำหรับแม่ตั้งครรภ์ ครั้งแรกที่ได้ยินและได้เห็นหัวใจน้อยๆ ของลูกเต้นในตัวคุณแม่ ทำเอาคุณแม่ปลื้มปีติและหัวใจคุณแม่ก็เต้นด้วยความตื่นเต้นใช่มั้ยคะ

ตั้งแต่อายุตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์เป็นต้นไป คุณแม่สามารถอัลตราซาวด์ได้แล้ว แต่จะยังเห็นลูกไม่เป็นรูปร่างเท่าไหร่ การอัลตราซาวด์ช่วงนี้คุณหมอจะวัดชั้นความหนาที่คอประกอบกับการตรวจเลือดว่าลูกมีความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรมหรือไม่

สิ่งที่เห็นแล้วทำให้หัวใจของคนเป็นแม่พองโต คือหัวใจน้อยๆ ที่เต้นอยู่ในตัวคุณแม่นั่นเอง ครั้งแรกที่ได้ยินและเห็นหัวใจของลูกน้อยๆ เต้น หัวใจของแม่ก็เต้นตามใช่มั้ยคะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

อัลตร้าซาวด์ บ่อยๆ ได้มั้ย?

อัลตร้าซาวด์เป็นการส่งคลื่นเสียงไปบนร่างกายเพื่อดูเนื้อเยื่อหรืออวัยวะภายใน และวิธีนี้ก็เป็นการดูพัฒนาการทารกในท้องได้ดี คุณหมอสามารถเห็นว่าอวัยวะของลูกเจริญไปตามอายุ รวมทั้งดูได้ว่าลูกมีภาวะผิดปกติใดเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น อาการปากแหว่ง เพดานโหว่ หรือใบหน้าผิดปกติ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่า การอัลตร้าซาวด์หลายครั้งส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก และช่วงเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมาคุณหมอก็ใช้วิธีอัลตร้าซาวด์ได้แบบที่เด็กทุกคนก็ยังปลอดภัย ไม่มีผลเสียใดๆ แต่คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญต่างแนะนำว่าคุณแม่ควรทำอัลตร้าซาวด์เท่าที่จำเป็นจะดีที่สุด โดยดูตามความเหมาะสมที่คุณหมอจะแจ้งไว้ว่าช่วงไหนจะดูอะไรบ้าง

มาดูกันค่ะว่าการอัลตร้าซาวด์ในแต่ละไตรมาสสามารถดูอะไรได้บ้าง

อัลตร้าซาวด์ไตรมาสแรกตรวจดูอะไรได้บ้าง

  • ดูอายุครรภ์

    สำหรับคุณแม่ที่รอบเดือนมาไม่ปกติ หรือจำรอบเดือนไม่ได้ การตรวจวัดอายุครรภ์ที่ได้จาการคำนวณจากอัลตร้าซาวด์ในไตรมาสแรกจะถือว่ามีความแม่นยำสูงสุด

  • ดูตำแหน่งและลักษณะของถุงการตั้งครรภ์

    เพื่อวินิจฉัยการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์ไข่ปลาอุก หรือท้องลม เป็นต้น

  • ดูตัวเด็ก การเต้นของหัวใจ ความเสี่ยงดาวน์ซินโดรม

    การอัลตร้าซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 8 สัปดาห์เป็นต้นไป จะสามารถดูตัวทารกและวัดอัตราการเต้นของหัวใจทารกได้ และคุณหมอจะวัดชั้นความหนาที่คอประกอบกับการตรวจเลือดว่าลูกมีความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรมหรือไม่

  • ดูจำนวนทารก

    การวินิจฉัยจำนวนเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากตั้งครรภ์ท้องแฝด คุณหมอและคุณแม่จะจำเป็นต้องวางแผนดูแลครรภ์เป็นพิเศษกว่าท้องทารกคนเดียว

  • ดูโครงสร้างอื่นๆ ของคุณแม่

    ได้แก่ มดลูกและรังไข่ ว่ามีความผิดปกติ เช่น เป็นเนื้องอกอะไรหรือไม่

อัลตร้าซาวด์ไตรมาส 2 ตรวจดูอะไรบ้าง

  • วัดขนาดและอายุครรภ์ของทารก

    ช่วงนี้สามารถวัดขนาดเส้นรอบศีรษะ แขน ขา ลำตัว ว่าทารกเจริญเติบโตเหมาะสมกับอายุครรภ์หรือไม่

  • วินิจฉัยความพิการแต่กำเนิด

    เช่น ภาวะอวัยวะผิดรูปจากสาเหตุต่างๆ ภาวะผิดปกติจากโรคทางพันธุกรรม อาการปากแหว่ง เพดานโหว่ หรือใบหน้าผิดปกติ ฯลฯ

  • ดูเพศทารก

    พอเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 อวัยวะเพศจะเจริญเติบโตจนเห็นชัดเจนแล้ว หากลูกอยู่ในท่าที่เหมาะสม คุณหมอก็จะสามารถบอกเพศของทารกให้คุณพ่อคุณแม่ทราบเพศของลูกได้

  • ตรวจดูโครงสร้างอวัยวะ

    การตรวจอัลตร้าซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 20-22 สัปดาห์อย่างละเอียด จะสามารถหาความผิดปกติทางโครงสร้างของอวัยวะหลักๆ เช่น ศีรษะ กระดูกสันหลัง แขน ขา หัวใจได้

อัลตราซาวด์ไตรมาส 3 ตรวจดูอะไรบ้าง

  • ดูการเจริญเติบโตของทารก

    การตรวจอัลตร้าซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ สามารถตรวจดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ โดยปกติภาวะทารกเติบโตช้าจะสามารถตรวจพบได้ในไตรมาสที่ 3

  • ตรวจการเจริญเติบโตของกระดูก

    เช่น การเกิดภาวะคนแคระ กระดูกบางผิดปกติ แขน-ขาสั้น มือหรือเท้าอยู่ในท่าผิดปกติ (โรคเท้าปุก) จะสังเกตความผิดปกติได้ชัดที่สุดในไตรมาสที่ 3 นี้

  • ตรวจดูตำแหน่งรกและปริมาณน้ำคร่ำ

    การตรวจอัลตราซาวด์ในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ในแม่ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนด คุณหมอจะทำการตรวจดูตำแหน่งรกและปริมาณน้ำคร่ำ และวัดความยาวของปากมดลูกในช่วงอายุครรภ์นี้ผ่านเครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อกำหนดเวลาคลอด ป้องกันการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด

อยู่ในพุงของแม่ หนูทำอะไรอยู่นะ

เมื่อแม่ได้เห็นลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง ผ่านการอัลตราซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์คุณหมอจะตรวจสอบเพื่อดูความสมบูรณ์ของพัฒนาการด้านร่างกาย น้ำหนักและความยาว ตลอดจนลักษณะภายนอกต่างๆ ช่วยยืนยันเพศลูก ผลพวงที่ได้คือ จะเห็นอิริยาบถของลูกตอนอยู่ในท้อง ทั้งขยับแขนขา อ้าปาก สะอึก ถีบพุงแม่ ให้ได้ชื่นใจก่อนพบกันจริง

ดิ้นแบบนี้ แม่วางใจ

  • คุณแม่สามารถเริ่มนับลูกดิ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28 เป็นต้นไป

  • เตะ ต่อย ถีบ กระทุ้ง หมุนตัว ดัน โก่งตัว 1 ครั้งหรือหลายๆ ครั้งติดกัน เท่ากับ 1 การดิ้น ส่วนการสะอึกจะไม่นับ

  • ทุก 2 ชั่วโมง ลูกควรดิ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งวิธีนับการดิ้นนับได้ 2 แบบ

    • แบบแรก

      ควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้ง ใน 12 ชั่วโมง ถ้าน้อยกว่า 10 ครั้ง ถือว่าผิดปกติ ต้องพบแพทย์

    • แบบที่สอง

      นับหลังการกินข้าว 3 มื้อ ในแต่ละมื้อจะนับหลังจากการกินข้าวแล้ว 1 ชั่วโมง ต้องนับได้ 4 ครั้งขึ้นไป จึงจะถือว่าปกติ หากไม่ถึง 4 ครั้ง ให้นับต่อไปอีกจนครบ 4 - 6 ชั่วโมง ถ้าในแต่ละวันดิ้นน้อยกว่า 12 ครั้ง ต้องรีบพบแพทย์

วิธีกระตุ้นลูกขี้เซา ไม่ยอมดิ้น

  • ให้ลองขยับเปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนอิริยาบถ

  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน

  • นวดหรือลูบท้องเบาๆ

  • ใช้ไฟฉายส่องที่หน้าท้อง

  • เปิดเพลงหรือฮัมเพลงเบาๆ

เมื่อได้เห็นและได้ยินเสียงหัวใจลูก ได้รู้สึกถึงการดิ้นของลูก มีความสุขสุดๆ ไปเลยใช่มั้ยคะ

 

ตรวจสอบข้อมูลโดย : รศ.ดร.นพ. ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล