ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
g6pd-deficiency

โรค G6PD คืออะไร เป็นแล้วอันตรายไหม รักษาหายหรือเปล่า

Enfa สรุปให้

  • โรค G6PD จีซิกพีดี หรือ G6PD Deficiency คือ โรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายมีภาวะขาดเอนไซม์ G6PD
  • เมื่อร่างกายขาดเอนไซม์ G6PD ก็จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก หากสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นใหม่ไม่ทัน ก็จะเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง
  • โรค G6PD แม้เป็นโรคทางพันธุกรรมที่รักษาไม่ได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ โดยการหลีกเลี่ยงอาหารและยาบางชนิด

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • โรค G6PD คืออะไร
     • สาเหตุและอาการของโรค G6PD
     • โรค G6PD แพ้อะไรบ้าง
     • โรค G6PD อันตรายไหม
     • ไขข้อข้องใจเรื่องภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD กับ Enfa Smart Club

โรค G6PD จีซิกพีดี เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน เด็กที่เกิดมาพร้อมกับโรคนี้จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลและป้องกันไม่ให้รับสารกระตุ้นภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก บทความนี้จาก Enfa จะชวนคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับโรค G6PD ให้มากขึ้นค่ะ 

โรค G6PD คืออะไร


โรค G6PD หรือ G6PD Deficiency คือ โรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง มีสาเหตุมาจากร่างกายมีภาวะขาดเอนไซม์ G6PD ซึ่งโรคนี้มักจะถ่ายทอดผ่านจากทางแม่ไปสู่ลูกชาย เพราะผู้หญิงมักจะเป็นพาหะ และผู้ชายมักจะเป็นโรค G6PD  

นี่จึงเป็นเป็นเหตุผลที่สำคัญว่าทำไมการตรวจสุขภาพก่อนการแต่งงานหรือวางแผนตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อทั้งคุณพ่อคุณแม่จะได้ทราบว่า ใครมีพาหะความเสี่ยงของโรคอะไรบ้าง แล้วโรคนั้นรักษาได้ไหม ลูกที่เกิดมาจะพ่วงด้วยความเสี่ยงที่เป็นอันตรายหรือเปล่า เพราะบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรมโดยไม่รู้ตัวค่ะ 

  • G6PD คือ อะไร ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ส่งผลอะไรต่อร่างกาย

เอนไซม์ G6PD  หรือ Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase จัดว่าเป็นเอนไซม์สำคัญที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดง

เมื่อร่างกายขาดเอนไซม์ G6PD  ก็จะมีผลทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ได้ทัน ก็จะนำไปสู่ภาวะโลหิตจางได้ค่ะ 

  • ทำไมบางคนจึงเรียกโรคจีซิกพีดี ว่าโรคแพ้ถั่วปากอ้า

จริง ๆ แล้วอาหารต้องห้ามของโรค G6PD นั้นมีหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อย ๆ ก็คือ คนที่เป็นโรค G6PD มักจะมารู้ตัวว่าเป็นโรคนี้หลังจากที่กินถั่วปากอ้าเข้าไป

ซึ่งในถั่วปากอ้านั้นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก โดยเฉพาะถั่วปากอ้าสด ๆ ยิ่งมีปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระสูง

หากกินเข้าไปปจะกระตุ้นทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกได้ ด้วยเหตุนี้เองจึงมักเรียกกันติดปากอย่างง่าย ๆ ว่า โรคแพ้ถั่วปากอ้า 

โรค G6PD เกิดจากอะไร


โรค G6PD เกิดจากร่างกายมีภาวะขาดเอนไซม์ G6PD ในเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งได้รับพาหะมาจากพ่อหรือแม่ และเมื่อกินอาหารหรือยาที่มีสารกระตุ้นต่อเซลล์เม็ดเลือดแดง ก็เสี่ยงที่จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกได้ 

โรค G6PD อาการ เป็นอย่างไร

โรค G6PD อาการโดยทั่วไปที่สามารถพบได้ มีดังนี้ 

  • ตัวเหลือง ตัวซีด 
  • ตาเหลือง 
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย 
  • ปวดศีรษะบ่อย 
  • ตับหรือม้ามโต 
  • ปัสาวะมีสีออกคล้ำเข้ม คล้ายกับสีของน้ำอัดลมหรือน้ำปลา 

โรค G6PD แพ้อะไรบ้าง


แล้วถ้าลูกเป็นโรคจีซิกพีดีห้ามกินอะไรบ้างล่ะ? 

สำหรับเด็กที่ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรค G6PD คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องระมัดระวังการกินอาหารและยาที่เสี่ยงจะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก ซึ่งอาหารและยาเหล่านั้นสามารถพบได้ในชีวิตประจำวันของเรา จึงจำเป็นที่จะต้องใส่ใจให้มากเป็นพิเศษค่ะ 

  • ผู้ป่วยโรค G6PD ห้ามกินอาหารต่อไปนี้ 

อาหารที่ผู้ป่วยโรค G6PD ควรจะต้องหลีกเลี่ยงให้ดี คือ 

  1. ถั่วปากอ้า 
  2. เชอร์รี 
  3. บลูเบอร์รี 
  4. โยเกิร์ตที่มีส่วนผสมของถั่ว 
  5. ไวน์แดง 

อาหารเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกได้ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ๆ 

  • ผู้ป่วยโรค G6PD ห้ามกินยา ต่อไปนี้

โรค G6PD แพ้ยาอะไรบ้าง?

ผู้ที่เป็นโรค G6PD จะต้องระมัดระวังยากลุ่ม NSAIDs บางชนิด เช่น ยาแอสไพริน และยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟา หรือไนโตรฟูแรนโทอิน เป็นต้น หรือยาต้านมาลาเรียบางชนิดอย่าง ควินิน หรือควินิดีน เป็นต้น ยาเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกได้ค่ะ 

นอกจากนี้ยังจำเป็นจะต้องหลีกเลี่ยงสารเคมีจำพวก การบูร ลูกเหม็น เมนทอล และสารหนู เพราะหากสูดดมหรือได้รับเข้าสู่ร่างกายมาก ๆ เข้า ก็จะเสี่ยงทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกได้ 

โรค G6PD อันตรายไหม


โรค G6PD ไม่ถึงกับเป็นโรคที่อันตรายจนต้องหวาดระแวงค่ะ การหลีกเลี่ยงสารกระตุ้นภูมิแพ้ที่จำเป็น สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกได้ 

นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว อาการของโรค G6PD ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในระดับรุนแรงแต่อย่างใดค่ะ

เด็กที่เป็นโรค G6PD สามารถที่จะเติบโตอย่างแข็งแรง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ และมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนกับคนอื่น ๆ ด้วย โดยที่โรค G6PD ไม่ได้เป็นตัวขัดขวางพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก

โรค G6PD มีโอกาสหายไหม

โรค G6PD เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม จึงไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่การดูแลหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายได้รับสารกระตุ้น สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงของภาวะเซลล์เม็ดเลือดแดงแตกได้ค่ะ 

เมื่อตรวจเจอโรค G6PD ในทารกแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่รับมือยังไงดี

เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าลูกเป็นโรค G6PD แน่นอนว่าโรคนี้รักษาให้หายขาดไม่ได้ 

แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไปค่ะ โรคนี้ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต หลังจากที่ทราบการวินิจฉัยแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการป้องกันไม่ให้ลูกได้รับสารกระตุ้นเช้าสู่ร่างกาย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก และลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางได้แล้วค่ะ 

ไขข้อข้องใจเรื่องภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD กับ Enfa Smart Club


ลูกเป็น G6PD ทามหาหิงค์ได้ไหม?

เด็กที่เป็นโรค G6PD สามารถใช้มหาหิงค์ได้ค่ะ แต่...ต้องดูให้ดีก่อนนะคะ ว่ามหาหิงค์รุ่นนั้นมีส่วนประกอบที่เป็นสารกระตุ้นต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือเปล่า 

ควรเลือกใช้มหาหิงค์ที่มีฉลากกำกับว่า G6PD สามารถใช้ได้ จึงจะปลอดภัยที่สุดค่ะ 

เด็ก G6PD กินนมแม่ได้ไหม?

เด็กที่เป็นโรค G6PD สามารถกินนมแม่ได้ตามปกติค่ะ

แต่...คุณแม่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารและยากลุ่มที่จะส่งผลต่ออาการของโรค G6PD เพราะอาหารและยาที่คุณแม่กินเข้าไปนั้น สามารถส่งผลทางน้ำนมไปยังทารกได้ค่ะ 

ลูกเป็น G6PD ทาวิคได้ไหม?

เด็กที่เป็นโรค G6PD สามารถทาวิคได้ค่ะ

แต่...อาจจะต้องคอยสังเกตอาการหลังจากการใช้งานด้วยว่า ลูกมีความผิดปกติหรือไม่ หากลูกมีปัสสาวะสีเข้มคล้ำ หรือเริ่มมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ควรหยุดใช้ และพาลูกไปพบแพทย์ทันที 

ผู้ป่วยโรค G6PD มีลูกได้ไหม?

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่ามีพาหะของโรค G6PD สามารถมีลูกได้ตามปกติค่ะ

เนื่องจากโรค G6PD แม้ว่าจะเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่...ไม่ใช่โรคที่อันตรายถึงแก่ชีวิตค่ะ เด็กที่เป็นโรค G6PD สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง สมบูรณ์ และสมวัย หากได้รับการป้องกันและหลีกเลี่ยงสารกระตุ้นจากอาหารและยาเป็นอย่างดี 



บทความแนะนำเกี่ยวกับอาการแพ้ในเด็ก

บทความที่แนะนำ

เด็กแพ้โปรตีนนมวัว
ตั้งชื่อลูกภาษาอังกฤษ
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner