เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • เช็กอาการภูมิแพ้ลูกน้อย
     • ภูมิแพ้ในเด็ก ผื่นต่าง ๆ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้างนะ?
     • ผื่นในเด็ก หรือผื่นขึ้นหน้าทารก
     • ลูกน้ำมูกไหล เป็นไข้หวัดหรือภูมิแพ้
     • ลูกแพ้ไรฝุ่น มีอาการแบบไหน
     • ลูกแพ้อาหาร


อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพของลูกน้อย ที่คุณแม่และครอบครัวไม่ควรมองข้าม ในปัจจุบันเด็กไทยมีความเสี่ยงในการเป็นภูมิแพ้ที่สูงมากถึง 40% อาการที่พบบ่อย ได้แก่ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล นอนกรน หรือผื่นขึ้นตามตัว ขยี้ตาบ่อย ๆ ชอบเอามือขยี้จมูก ลูกมักจะมีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ

คุณพ่อคุณแม่อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะอาการเหล่านี้มักเป็นอาการของภูมิแพ้ ที่ลูก ๆ ควรจะได้รับการดูแลรักษา แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกเป็นภูมิแพ้หรือไม่ ไปทำความรู้จักกับโรคภูมิแพ้กัน

อาการภูมิแพ้ที่พบบ่อย
 

ลูกน้อยจะมีอาการแสดงทางร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ เฉพาะบุคคล ซึ่งมักพบอาการทาง 3 ระบบ ดังนี้

          1. อาการทางผิวหนัง: ผื่นผิวผนังอักเสบ (Eczema) หรือผื่นลมพิษ (Urticaria) โดยจะมีผื่นแดงขึ้นที่บริเวณใบหน้า หน้าผาก หรือศีรษะ และค่อย ๆ ลามไปยังแขน และลำตัว เด็กบางคนจะมีอาการคันตามใบหน้า ดวงตา หรือริมฝีปาก ปากบวม มีผื่นแดง ผิวแห้ง

          2. อาการในระบบทางเดินหายใจ: หายใจลำบาก หอบหืด จาม ไอ น้ำมูกไหล คันในคอหรือจมูก

          3. อาการในระบบทางเดินอาหาร: อาเจียน แหวะนม ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน รวมถึงถ่ายเป็นมูกเลือด สำหรับอาการแพ้อาหาร (Food allergy) แพ้นมวัว (Cow Milk allergy) หรือไข้ละอองฟาง (Hay fever) ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการภูมิแพ้ และอาจพบอาการที่แสดงในหลายระบบดังกล่าวได้เช่นกัน

แล้วคุณแม่คุณพ่อมักพบอาการแพ้แบบไหนในเด็กบ้าง มาลองดูกันค่ะ

Line

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในทารก


ผื่นในเด็ก หรือผื่นขึ้นหน้าทารก ปัญหาที่สร้างความกังวลใจของพ่อแม่อันดับต้น ๆ เพราะผิวหนังของลูกน้อยบอบบาง โครงสร้างผิวยังไม่แข็งแรงดี ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย หากลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัวหรือลูกเป็นผื่นที่มีอาการคันและเด็กเกา อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับอาการเหล่านี้ พร้อมวิธีการดูแล และป้องกันแต่เนิ่น ๆ กันค่ะ

สรุปปัจจัยที่ทำให้เกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในทารก

          1. กรรมพันธุ์ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจเลี่ยงได้ หากคุณพ่อ คุณแม่ หรือพี่น้อง มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภูมิแพ้สูงขึ้น

          2. สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อนหรือเย็น แพ้ไรฝุ่น ซากแมลงสาบ ฝุนละออง ควัน หรือละอองเกสร เป็นต้น

          3ยาและสารเคมี เช่น ยาบางกลุ่ม สบู่ ยาสระผม โลชั่นที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม

          4สัมผัสเสียดสีกับผ้า ผ้าอ้อม หรือความอับชื้น

          5. อาหารบางประเภท ที่พบว่าเด็กแพ้บ่อย เช่น ไข่ ถั่ว ทำให้เกิดอาการผื่น

          6. นมวัว โดยเฉพาะในทารก เพราะนมเป็นอาหารชนิดเดียวที่ทานได้ หากพบว่าลูกมีอาการแพ้หลังทานนมวัว แสดงว่าลูกมีความเสี่ยงแพ้นมวัว

ลักษณะของผื่นในเด็กแบบไหนบ้างที่พบบ่อย


          1. ผื่นแพ้นมวัว: เป็นอาการแพ้ชนดหนึ่งในกลุ่มแพ้อาหาร พบได้บ่อยสุดในเด็กเล็ก เกิดจากร่างกายเข้าใจโปรตีนนมวัวเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาอาการแพ้ ผ่านกลไกทางภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ในหลายระบบของร่างกาย ทั้งนี้ระยะเวลาในการเกิดอาการอาจเกิดรวดเร็วภายในไม่กี่นาทีหลังทานนมวัวหรือเกิดช้าในเวลาเป็นเดือนก็ได้เช่นเดียวกัน

สัญญาณลูกแพ้นมวัว

แบบทดสอบ

7 สัญญาณอาการแพ้นมวัว ที่คุณแม่สังเกตได้

  1. มีผื่น แดง คัน หรือริมฝีปาก ใบหน้า ผื่นรอบริมฝีมากและรอบดวงตาบวม
  2. ร้องงอแงผิดปกติหลังกินนม หงุดหงิด เมื่อถึงเวลาให้นม และเริ่มมีน้ำหนักตัวลดลง
  3. อาเจียนหรือแหวะนม
  4. ท้องเสีย ปวดท้อง ไม่สบายท้อง หรือท้องผูก
  5. ถ่ายเป็นมูกเลือด
  6. น้ำมูกไหลเรื้อรัง คัดจมูก
  7. หอบหืด หายใจมีเสียงวี้ด
     

          2. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Baby Eczema): มีลักษณะเป็นผื่นหรือตุ่มแดง หรือ ตุ่มน้ำใส หากแตกเป็นน้ำเหลืองแล้วกลายเป็นสะเก็ดแข็ง หากมีอาการนานผื่นจะหนาแข็ง เป็นขุยได้ ในทารกมักพบผื่นบริเวณใบหน้า และตำแหน่งที่เสียดสี มีเหงื่อ เช่น ข้อพับ ซอกคอ มักมีอาการคันมาก

          3. ผื่นลมพิษ (Urticaria): มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นแดง บวมนูนขึ้นชัดเจน ผื่นจะเป็นๆหายๆ มีอาการคัน หากเกาจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดผื่นลามมากขึ้น

          4. ผื่นแพ้กลากน้ำนม: มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี มีสีขาวหรืออ่อนกว่าสีผิวหนังปกติ มีอาการคัน ผิวลอก มีขุยบาง ๆ พบบ่อยบริเวณใบหน้า ลำคอ พบได้ตั้งแต่แรกเกิด

          5. ผื่นแพ้ผ้าอ้อม (Diaper dermatitis): มีลักษณะเป็นผื่นแดง ปื้นแดง บริเวณที่สัมผัสกับผ้าอ้อมเช่น ต้นขาด้านใน แก้มก้น หรืออวัยวะเพศ หากอักเสบมากขึ้นอาจมีแผลถลอก

          6. คราบไขมันหนังศีรษะ: มีลักษณะเป็นคราบไขมันคล้ายรังแคบริเวณหนังศีรษะ บางรายมีสะเก็ดขาวเหลือง อาจลามไปที่ใบหน้า ซอกคอ หรือรักแร้ พบได้ตั้งแต่แรกเกิด มักมีสาเหตุจากต่อมไขมันทำงานผิดปกติ มีการอักเสบ

ทารกเป็นผื่นคุณพ่อคุณแม่จะดูแลยังไงดี


คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลทารกที่มีอาการผื่นขึ้นใบหน้าได้ ดังนี้

          • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ทั้งจากสิ่งแวดล้อม อาหาร ฯลฯ

          • ใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่อ่อนโยน ปลอดภัยสำหรับเด็ก ปราศจากส่วนประกอบสารสกัดจากธรรมชาติที่มาจากอาหาร เช่น นม ข้าวโอ๊ต แป้งสาลี เป็นต้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการแพ้

          • ไม่อาบน้ำบ่อยหรือใช้น้ำร้อนเกินไป

          • จัดห้องสำหรับทารกให้มีอาการถ่ายเท หลีกเลี่ยงที่ร้อนจัด

          • ไม่สวมเสื้อผ้าหลายชั้น ที่ทำให้รัดแน่น ร้อนเกินไป

          • เปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อเปียกชื้น หรือทันทีที่เด็กถ่ายปัสสาวะ/อุจจาระ

          • ให้ทารกดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อรักษาความชุ่มชื้น เพราะยิ่งผิวแห้งมาก ปัญหาผิวหนังอาจแย่ลงได้

          • ใช้ยาบรรเทาอาการตามแพทย์สั่ง

ครีมทาผดผื่นที่หน้าทารก เลือกยังไงดี


ครีมที่เหมาะสำหรับทาเพื่อบรรเทาอาการผดผื่นที่ใบหน้าของทารก ควรเป็นครีมที่ช่วยเพิ่มและรักษาความชุ่มชื้น ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำหอม หรือสารที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังอันบอบบางของเด็ก และควรหลีกเลี่ยงครีมที่มีส่วนประกอบสารสกัดจากธรรมชาติที่มาจากอาหาร เช่น นม ข้าวโอ๊ต แป้งสาลี เป็นต้น ซึ่งอาจจะกระตุ้นอาการแพ้ หรือดีที่สุด ควรเลือกครีมทาที่ได้รับการแนะนำหรืออนุญาตจากแพทย์เท่านั้น เพื่อให้ทารกปลอดภัยจากอันตรายของส่วนผสมบางอย่างที่ไม่เป็นมิตรต่อผิวที่บอบบางของทารก

ผื่นที่หน้าทารก หายเองได้ไหม


โดยทั่วไปผื่นบนหน้าทารก จะหายเองได้ภายใน 2-3 วัน โดยไม่ต้องรับการรักษาเฉพาะทางใด ๆ แต่ผดผื่นบางอย่างอาจต้องใช้เวลานานราว ๆ 2-6 สัปดาห์ถึงจะหายดีค่ะหรือถ้าผดผื่นบนหน้าทารกไม่ดีขึ้นเลย หรือลุกลามขึ้นกว่าเดิม ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาค่ะ

ยาทาผดผื่นทารก ซื้อที่ไหน?


ยาทาเพื่อรักษาอาการผดผื่นบนใบหน้าทารก สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปที่มีเภสัชกรแนะนำ หรือดีที่สุดควรซื้อยาที่สั่งจ่ายโดยตรงจากแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาผิดวิธีอาจก่อนให้เกิดอันตรายเช่นกัน

ทารกผื่นขึ้น อีกหนึ่งสัญญาณบ่งบอกอาการภูมิแพ้ในเด็ก


ผื่นบนตัวหรือใบหน้าทารก เป็นอาการที่บ่งบอกปัญหาสุขภาพได้หลายอย่างและหนึ่งในนั้น คือ ภูมิแพ้ ซึ่งเด็กบางคนอาจจะเป็นภูมิแพ้มาตั้งแต่เกิด ด้วยผลของกรรมพันธุ์มาจากพ่อ แม่ หรือพี่ มากไปกว่านั้น ทารกยังอาจมีอาการภูมิแพ้ต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ฝุ่นละออง น้ำ หรืออาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง หรือถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

ซึ่งหากทารกเป็นผดผื่นที่มีสาเหตุมาจากอาการภูมิแพ้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาทารกไปตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ เพื่อที่หลังจากนี้จะได้ระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ช่วยป้องกันไม่ให้ทารกมีอาการแพ้ที่รุนแรง

ทารกมีผื่นที่หน้า ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากภูมิแพ้ หรือแพ้นมวัว ถึงเวลาปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ


หากคุณแม่พบว่าลูกมีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้หรือแพ้นมวัว ควรป้องกันและดูแลอย่างไร?

1. ให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะนมแม่ดีที่สุด

2. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการแพ้ เช่น ฝุ่น มลภาวะ ไรฝุ่น ซากแมลงสาบ อาหารที่ลูกแพ้ และหากลูกแพ้นมวัวก็ต้องงดนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวทั้งแม่และลูกนะคะ

3. หากให้นมแม่แม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำ* “โปรตีนผ่านการย่อยอย่างละเอียด” มีคุณสมบัติเป็น HYPOALLERGENIC ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และอาจเสริมด้วยโพรไบโอติก แลคโตบาซิลัส จีจี (LGG) ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็ง หยุดอาการแพ้นมวัว ลดผื่นผิวหนัง และป้องกันการเกิดภูมิแพ้อื่นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เพื่อการยืนยันว่าเด็กมีอาการภูมิแพ้อาหาร หรือแพ้โปรตีนในนมวัวจริง ๆ คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรับแนวทางการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

*อ้างอิงจากแนวทางการรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัวของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

โทรปรึกษาฟรี

ลูกน้ำมูกไหล ลูกกำลังเป็นไข้หวัดหรือภูมิแพ้?


อาการหายใจเสียงดัง คัดจมูก น้ำมูกไหล บางครั้งก็จามติดกันบ่อย ๆ อาจเป็นอาการไข้หวัด หรือภูมิแพ้ โดยปกติไข้หวัดมักเกิดในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เด็กจะมีอาการไอมีเสมหะ เจ็บคอ เสียงแหบ รวมถึงมีไข้ต่ำ ๆ และปวดศีรษะร่วมด้วย

ไข้หวัดมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักมีอาการไม่เกิน 2-5 วัน ก็หายค่ะ แต่ถ้าลูกเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือที่เรามักเรียกกันว่า “แพ้อากาศ” จะมีอาการเช่น น้ำมูกไหล คันจมูก จาม มีอาการคล้ายหวัด แต่เป็นเรื้อรัง และไม่มีไข้ร่วม ซึ่งหากคุณแม่คุณพ่อจะแยกความแตกต่างไข้หวัดกับแพ้อากาศได้อย่างไร มาดูกันค่ะ

ไข้หวัดธรรมดา

          • มีอาการจาม คัดจมูก มีน้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ ๆ และปวดศีรษะร่วมด้วย
          • มีอาการไอ เจ็บคอ
          • อาการเป็นทั้งวัน และอาจมีอาการมากตอนกลางคืน
          • มีอาการไม่เกิน 1 - 2 สัปดาห์

แพ้อากาศ

          • คันจมูก จาม คัดจมูก มีน้ำมูกใสไหล แต่ไม่มีไข้
          • ไอเรื้อรัง มักมีเสมหะในช่วงเช้า หรือกลางคืน
          • อาการเป็น ๆ หาย ๆ มักเป็นช่วงเช้า หรือ กลางคืน ที่เป็นช่วงอากาศเย็น
          • มีอาการคล้ายหวัดเรื้อรัง กินระยะเวลานาน บางครั้งนาน 4 สัปดาห์ขึ้นไป
          • อาจมีอาการระบบอื่นร่วม เช่น อาการคันตา น้ำตาไหล ตาแดง ตาบวม คันในเพดานปาก หู และผื่นคันที่ผิวหนัง
          • บางรายพบอาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น ผิวแห้ง คัน เป็นผื่น ผิวหนังอักเสบ ร่วมด้วย
          • อ่อนเพลีย ง่วงซึม รู้สึกไม่สบายตัว หรือหงุดหงิดง่าย เพราะนอนไม่เพียงพอ

การดูแลเด็กที่มีอาการแพ้อากาศ

          1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ อย่างเคร่งครัด

          2. ให้ลูกรับประทานยาแก้แพ้หรือพ่นยาตามคำแนะนำของแพทย์

          3. ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อล้างจมูกเมื่อลูกมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล

          4. หากหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ไม่ได้ หรือการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล โรคแพ้อากาศสามารถรักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ได้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการรักษาด้วยวิธีนี้ต่อไปค่ะ

ภูมิแพ้ป้องกันได้เพื่ออนาคตที่ไม่แพ้

วิธีลดความเสี่ยงการเกิดอาการแพ้อากาศ


อาการแพ้อากาศ คืออาการภูมิแพ้อย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเด็กเริ่มเป็นแล้วอาจเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับอาการแพ้อื่นๆ ตามมา เช่น หอบหืด แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถปกป้องลูกได้แต่เนิ่นๆ เพื่อลดการเกิดภูมิแพ้ที่มากขึ้นในอนาคต ดังนี้ค่ะ

1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการแพ้ หรือสารก่อภูมิแพ้

หากพบว่าลูกแพ้อะไร ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ สารก่อภูมิแพ้พบได้บ่วยในบ้าน เช่น ตุ๊กตาขนที่อาจมีไรฝุ่น ฝุ่นในบ้านสัตว์เลี้ยง หรือสารกระตุ้นอื่น อย่าง ควันบุหรี่ ควันธูป น้ำหอม สเปรย์ ควรทำความสะอาดบ้านโดยเฉพาะห้องนอนของลูกเป็นประจำทุกวัน จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ของลูกได้

2. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน

คุณพ่อคุณแม่ ควรเช็กสภาพอากาศก่อนพาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงมลภาวะ ฝุ่นละอองโดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ควันพิษ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกเกิดอาการแพ้

3. การรับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์

หากทารกน้อยของคุณแม่ยังทานนมแม่อยู่ ก็ควรทานนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนแรก พร้อมกับหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังที่กล่าวไป แต่ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์อาจแนะนำ* โปรตีนที่ย่อยอย่างละเอียด ที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก ดูดซึมได้ดี และโพรไบโอติกส์แลคโตบาซิลลัส รามโนซัส จีจี (หรือ LGG) มีคุณสมบัติ Hypoallergenic ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานที่แข็งแรงให้ลูกน้อย จึงช่วยลดอาการจากภูมิแพ้ต่างๆ เช่น รักษาอาการการแพ้โปรตีนนมวัว ลดผื่นผิวหนังภายใน 1 สัปดาห์ ลดอาการร้องงอแงภายใน 48 ชั่วโมง ลูกน้อยสามารถกลับมาทานนมวัวได้หลังการใช้ 1 ปี ลดการเกิดภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ ที่อาจตามมาในอนาคตด้วยค่ะ

ลูกแพ้ไรฝุ่น


ภาวะแพ้ไรฝุ่น จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่มักพบในเด็กเล็ก โดยมีสิ่งกระตุ้นได้แก่ “ไรฝุ่น” ที่อยู่ในบ้านของเรา ไรฝุ่นมักพบได้ทั่วไปในบ้านที่มีฝุ่นเยอะ ๆ มีอากาศอบอุ่นและชื้น มักพบบนเครื่องนอน ไม่ว่าจะเป็น ฟูก ผ้าปูเตียง หมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตา เพราะไรฝุ่นกินเศษผิวหนังคนและสัตว์เป็นอาหาร ถึงแม้ไรฝุ่นจะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันก็สร้างปัญหาด้านสุขภาพได้ไม่น้อยเลย อาการแพ้ไรฝุ่นพบได้หลายอาการ เช่น

          • จาม

          • น้ำมูกไหล คัดจมูก หรือคันจมูก

          • มีเสมหะ ไอ ระคายเคืองในลำคอ

          • คันตา น้ำตาไหล หรือตาแดง

          • คันที่ผิวหนัง

          • ใต้ดวงตาบวมช้ำ (มักพบอาการในช่วงที่สัมผัสไรฝุ่น เด็กที่มีอาการเหล่านี้ มักจะขยี้ตาหรือจมูกบ่อย ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดความระคายเคือง)

ถ้าแพ้ไรฝุ่นแล้วต้องทำอย่างไร?


เมื่อคุณแม่พาลูกไปพบแพทย์ขณะที่มีอาการแพ้ แพทย์อาจจะพิจารณาให้ยาบรรเทาอาการแพ้และแนะนำให้หลีกเลี่ยงไรฝุ่น ดังนี้

          • ทำความสะอาดเครื่องนอน เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน ทุก 1-2 สัปดาห์ด้วยการซักด้วยน้ำร้อน หรือใช้เครื่องอบผ้าหลังซักด้วยอุณหภูมิ 55-60 องศาเป็นเวลา 30 นาที

          • ใช้ผ้าปูที่นอนและปอกหมอนแบบทอแน่นกันไรใช้เครื่องนอนที่ทำจากใยสังเคราะห์ หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าที่ทำจากขนสัตว์ ซึ่งไรฝุ่นจะเกาะง่าย

          • จัดบ้านให้เป็นระเบียบ มีเครื่องใช้เท่าที่จำเป็น และทำความสะอาดห้อง โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถูทุกวันจะช่วยลดจำนวนไรฝุ่นได้มาก ไม่ควรทำความสะอาดโดยการกวาดอย่างเดียวหรือใช้ผ้าแห้งเพราะอาจทำให้ไรฝุ่นฟุ้งขึ้นมาได้

          • ระบายอากาศในห้องนอนเพื่อลดความชื้น เช่น เปิดหน้าต่าง

          • ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงไว้ในห้องนอน

หลังจากปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้นแนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

โทรปรึกษาฟรี

ลูกแพ้อาหาร


ลูกลูกแพ้อาหารหรือภูมิแพ้อาหารคือหนึ่งในโรคภูมิแพ้เด็กที่พบได้ในทารกและเด็กเล็ก ภูมิแพ้อาหารมักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก อาจจะเริ่มพบในช่วงอายุ 4 - 6 เดือน ที่ทารกได้เริ่มกินอาหารตามวัย เกิดจากการที่ลูกรับประทานอาหารเข้าไป แล้วก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อร่างกายบางกรณีพบว่าทารกแพ้อาหารจากที่แม่กิน เพราะเด็กได้รับสารอาหารที่แพ้ผ่านนมแม่ก็ได้

โดยอาการแพ้อาจไม่ขึ้นกับปริมาณอาหารที่กิน การทานน้อยก็ทำให้แพ้ได้เช่นกัน อาหารที่มักพบว่าเป็นสาเหตุในการแพ้ได้แก่ นมวัว ถั่วต่าง ๆ ไข่ อาหารทะเล แป้งสาลี ปลาบางชนิด เป็นต้น วิธีสังเกตอาการแสดงลูกแพ้อาหาร เกิดขี้นได้หลายระบบขึ้นกับแต่ละคน เช่น

          ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปากบวม ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือดในรายที่แพ้รุนแรง

          • ระบบผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ผื่นแดงตามใบหน้า ลำตัวหรือหนังตา ริมฝีปาก คัน

          • ระบบทางเดินหายใจ เช่น จามหรือไอบ่อยขึ้น น้ำลายไหล หายใจครืดคราด นอนกรน

          • หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ หลอดลมบวมและตีบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ควรต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุการแพ้อาหาร


การแพ้อาหาร เกิดขึ้นจากการที่เด็กทานอาหารบางอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิแพ้เข้าไป แล้วระบบภูมิต้านทานเกิดปฏิกิริยาไวต่ออาหารชนิดนั้น ๆ ปฏิกิริยานี้มักพบในเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 2 ปี เป็นผลจากระบบทางเดินอาหาร ระบบภูมิต้านทานยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เมื่อสัมผัสหรือกินอาหารเข้าไป ร่างกายจะเข้าใจว่าอาหารที่ทานเข้าไปเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงเกิดปฏิกิริยาหลั่งสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกายที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ตามมาค่ะ ​

ประวัติภูมิแพ้ของพ่อ แม่ หรือพี่น้อง ก็สามารถช่วยบ่งชี้ในระดับหนึ่งได้ว่าทารกมีความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ การแพ้อาหารมากน้อยเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น หากพ่อ หรือ/และ แม่แพ้อาหารชนิดนึง ลูกก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะแพ้อาหารนั้น ๆ การรู้ประวัติครอบครัวตั้งแต่เนิ่น จะช่วยให้คุณแม่คุณพ่อตระหนักและหาทางรักษาและป้องกันภูมิแพ้อย่างเหมาะสม​

คุณแม่จะสังเกตอาการแพ้ของลูกหลังทานอาหารไปนานแค่ไหน?

          • อาการแพ้เฉียบพลัน อาจแสดงออกได้ทันที หรือภายใน 2 - 6 ชั่วโมงหลังทาน

          • อาการแพ้แสดงล่าช้าหรือสะสม ซึ่งจะพบอาการหลังทานอาหาร 12 - 24 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น

ข้อแนะนำคุณแม่ต้องคอยสังเกตอะไรเมื่อให้ลูกทานอาหาร

          • ให้ลูกเริ่มลองทานอาหารในปริมาณไม่มากก่อน เพื่อดูว่าลูกทานแล้วไม่แพ้ ครั้งต่อไปจึงให้ทานได้มากขึ้น

หากพบว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ หรือแพ้อาหาร คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเช็กให้ชัวร์ โดยการรีบไปพบแพทย์ แจ้งให้แพทย์ทราบว่าลูกทานอะไรไปบ้าง และทานไปนานแค่ไหนก่อนจะเกิดอาการ อาการเกิดครั้งแรก หรือเคยเกิดก่อนหน้านี้ ​เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าลูกแพ้อะไร ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารนั้นๆ ให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

แบบทดสอบความเสี่ยงการเป็นภูมิแพ้