ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ข้อห้ามคนท้อง 1 3 เดือน

10 ข้อห้ามคนท้อง 1 – 3 เดือน ที่คุณแม่ต้องระวัง!

Enfa สรุปให้

  • ข้อห้ามคนท้อง 1 - 3 เดือน มีบางเรื่องที่คุณแม่จะต้องงดละเว้น เพื่อให้สุขภาพร่างกายของคุณแม่และสุขภาพครรภ์ไม่มีภาวะอันตรายเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม กิจกรรมหรือกิจวัตรหลาย ๆ อย่าง ก็ยังคงสามารถทำได้ตามปกติ
  • คนท้อง 1 – 3 เดือนแรก ควรหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงปะทะ หรือสามารถก่อให้เกิดการล้มได้ นอกจากนี้ การเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุกที่มีแรงสั่นสะเทือน ก็เป็นสิ่งที่ควรงดในช่วงตั้งครรภ์เช่นกัน
  • อาหารที่คนท้อง 1 – 3 เดือนแรกควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ แอลกอฮอล์ กาแฟ เนื้อสัตว์ดิบหรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีน้ำตาลเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • 10 ข้อห้ามคนท้อง 1 - 3 เดือนแรก
     • คนท้องอ่อนห้ามกินอะไร
     • คนท้องอ่อนห้ามกินผลไม้อะไร
     • คนท้องห้ามทําอะไรบ้าง
     • อาการแบบคนท้องแแบไหนควรไปพบแพทย์

ตั้งท้องแล้ว แต่สงสัยกันไหมว่าข้อห้ามคนท้อง 1 - 3 เดือน มีอะไรบ้างนะ? โดยการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก หรือในช่วง 1 – 3 เดือนแรกนั้น เป็นช่วงเวลาที่แห่งการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคุณแม่ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้พร้อมกับการตั้งครรภ์ 

การดูแลสุขภาพครรภ์จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากการได้รับโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพครรภ์แล้ว ยังมีเรื่องที่คนท้องไตรมาสแรกควรระวังอีกด้วย

10 ข้อห้ามคนท้อง 1 – 3 เดือน ที่คุณแม่ตั้งครรรภ์ไตรมาสแรกควรระวัง


สำหรับคุณแม่ท้องไตรมาสแรก กิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ที่เคยทำในทุกวันนั้น ยังสามารถทำได้ตามปกติ แต่ก็มีบางกิจกรรม รวมทั้งข้อห้ามคนท้อง 1 - 3 เดือนแรก ที่คุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนหรือหยุดกิจกรรมเหล่านั้นไปในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในท้อง

1. งดการดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบกับตัวอ่อนในครรภ์ รวมทั้งอาจจะทำให้เด็กที่เกิดมีปัญหาสุขภาพหรือที่รู้จักกันในชื่อ กลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ (Fetal Alcohol Syndrome) โดยเด็กที่มีปัญหาสุขภาพนี้ จะมีความผิดปกติบนใบหน้า ไอคิวต่ำ มีปัญหาทางด้านความจำหรือเป็นโรคสติปัญญาบกพร่อง รวมไปถึงมีความบกพร่องในการเรียนรู้และสื่อสาร เป็นต้น

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรงดและหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งอาหารอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ตลอดช่วงการตั้งครรภ์ทั้ง 9 เดือน จนไปถึงในช่วงเวลาที่ต้องให้นมลูก

2. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

นอกจากแอลกอฮอล์ที่สามารถส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ได้แล้ว เครื่องดื่มจำพวกคาเฟอีนก็เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรงดดื่มในช่วงตั้งครรภ์เช่นกัน เพราะอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพของทารก เช่น มีความผิดปกติโดยกำเนิด คลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย เป็นต้น

คาเฟอีนไม่ได้มีเพียงในกาแฟเท่านั้น แต่ยังพบในอาหารและเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ เช่น น้ำอัดลม ไอศครีม ช็อกโกแลต ชา รวมทั้งยาบางชนิด

3. งดการสูบบุหรี่

คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรสูบบุหรี่และควรหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง การสูบบุหรี่หรือสัมผัสกับควันบุหรี่ในช่วงตั้งครรภ์จะส่งผลให้เด็กในครรภ์มีความเสี่ยงและมีปัญหาสุขภาพ เช่น การคลอดก่อนกำหนด โรคไหลตายในทารก ทารกมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ทารกมีปัญหาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น

4. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีอุณหภูมิสูง

การทำกิจกรรมที่มีอุณหภูมิสูง เช่น การแช่อ่างน้ำร้อน อบซาวน่า โยคะร้อน การอาบแดด การออกกำลังกายหนัก รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายให้สูงขึ้นได้ คนท้อง 1 – 3 เดือน ควรงดการทำกิจกรรมเหล่านี้ออกไปก่อน เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ อาจจะทำให้ร่างกายของคนท้องมีภาวะอันตรายจากความร้อน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสุขภาพครรภ์ของคนท้อง

5. งดการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายที่มีการปะทะ หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงในการล้ม

ตลอดช่วงการท้องทั้งในไตรมาสแรกจนไปถึงไตรมาสที่ 3 คุณแม่ท้องควรงดการเล่นกีฬาและกิจกรรมที่มีการปะทะ หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะล้ม เช่น ฟุตบอล ชกมวย สเก็ต สกี ปีนเขา เป็นต้น โดยกิจกรรมหรือกีฬาประเภทนี้ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุและไปกระทบกระเทือนทารกในครรภ์ได้

6. หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดถาดอุจจาระของสัตว์เลี้ยง

คนท้องควรหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดถาดอุจจาระของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคทอกโซพลาสโมซิส หรือโรคขี้แมว โดยเป็นโรคติดเชื้อจากปรสิตอย่าง ท็อกโซพลาสมา กอนดี (Toxoplasma gondii) พบได้ในมูลของสัตว์ เนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งหากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นโรคนี้ ควรเข้ารับการรักษาโดยด่วน เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้อที่รุนแรงได้

7. หลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก

การยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากในช่วงตั้งครรภ์ อาจจะก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพครรภ์ของคุณแม่ เช่น กล้ามเนื้อตึง ไส้เลื่อน การคลอดก่อนกำหนด 

8. งดการเสพสารเสพติด

การเสพสารเสพติด ไม่เพียงแต่จะผิดกฏหมายแล้ว ยังเป็นอันตรายกับร่างของคุณแม่และทารกในครรภ์อีกด้วย การเสพสารเสพติดในช่วงตั้งครรภ์จะส่งผลให้ทารกแรกเกิดมีภาวะติดยาแต่กำเนิด (Neonatal Abstinence Syndrome - NAS) พบได้ในแม่ที่ใช้ยาเสพติด เช่น เฮโรอีน เมธาโดน และยาแก้ปวดในขณะตั้งครรภ์

เด็กที่มีภาวะติดยาแต่กำเนิด จะมีอาการร้องไห้มากผิดปกติ เป็นไข้ หงุดหงิดได้ง่าย หายใจเร็วหรือหยุดหายใจ มีปัญหาในการนอน ช็อค ตัวสั่น อาเจียน เหงื่อออก กินนมได้น้อย รวมไปถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

9. งดการใช้ยารักษาโรคบางชนิด

คุณแม่ท้องควรงดการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เนื่องจากยาอาจจะไปส่งผลกระกับทารกในครรภ์ได้ หากคุณแม่มีการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ควรปรึกษากับแพทย์ที่ฝากครรภ์เพื่อประเมินความเสี่ยงว่าควรงดใช้ยา หรือสามารถใช้ต่อไปได้

ตัวอย่างยารักษาโรคที่คุณแม่ท้องไม่ควรรับประทาน:

         • กลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) 
         • ยาสมุนไพร
         • กลุ่มยารักษาความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน หรือกลุ่มยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor)
         • ยาลดไข้บางชนิด
         • ยารักษาสิวบางชนิด

10. หลีกเลี่ยงการเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก

การเล่นเครื่องในส่วนสนุกที่มีลักษณะเหวี่ยง หมุน หรือเคลื่อนที่เร็ว เช่น รถไฟเหาะ เครื่องเหวี่ยงหมุนชนิดต่าง ๆ เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนของเครื่องเล่นอาจจะทำให้เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งเป็นสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด และอาจจะทำให้อาการแพ้ท้องของคุณแม่แย่ลงอีกด้วย

คนท้องอ่อนห้ามกินอะไรบ้าง


การเสริมสร้างสุขภาพครรภ์ที่ดีด้วยโภชนาการที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน มีร่างกายที่แข็งแรง แต่ก็ยังมีอาหารบางประเภทที่คนท้องอ่อนห้ามกิน ดังนี้

         • นมและผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ได้ผ่านการทำพลาสเจอร์ไรส์หรือทำให้สุก: อาหารประเภทนี้อาจจะปนเปื้อนแบคทีเรียลิสเทอเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) เมื่อคุณแม่รับประทานเข้าไปก็อาจจะทำให้เป็นโรคลิสเทริโอซิส ซึ่งเป็นอันตรายกับคุณแม่และทารกในครรภ์

         • เนื้อดิบ หรือที่ผ่านการปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ: หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์มีลักษณะดิบ หรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เนื่องจากอาจจะทำให้เป็นโรคติดเชื้อจากปรสิตอย่าง ท็อกโซพลาสมา กอนดี (Toxoplasma gondii) ซึ่งเป็นอันตรายกับแม่ตั้งครรภ์

         • ไข่ดิบ: การรับประทานไข่ดิบ หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของไข่ดิบ อาจจะทำให้คุณแม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา ซึ่งไม่ทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ แต่จะทำให้คุณแม่มีอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานไข่ที่ปรุงสุก เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับแบคทีเรียซาลโมเนลลาที่อาจจะปนเปื้อนมาในไข่

         • คาเฟอีน: คุณแม่ตั้งครรภ์ยังคงสามารถดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนได้ แต่ควรดื่มคาเฟอีนไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน (ประมาณ แก้วละ 6 ออนซ์ 2 แก้ว) การรับคาเฟอีนในปริมาณที่มากจะสร้างความเสี่ยงกับสุขภาพของทารก เช่น มีความผิดปกติโดยกำเนิด คลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย

         • แอลกอฮอล์: ในช่วงตั้งครรภ์ไม่ว่าจะอยู่ในไตรมาสหรือช่วงอายุครรภ์ในก็ตาม ไม่ควรรับดื่มหรือรับประทานแอลกอฮอล์

         • ชาสมุนไพร: ชาที่ทำจากสมุนไพร ผลไม้แห้ง ดอกไม้แห้ง เครื่องเทศ และไม่ได้มีส่วนประกอบของคาเฟอีน คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถดื่มได้ แต่ไม่ควรดื่มเกิน 4 แก้วต่อวัน นอกจากนี้ ไม่ควรดื่มชาสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของพืชบางชนิด เช่น เม็ดยี่หร่า ลูกซัด ชะเอม ใบไธม์ กัญชาเทศ เป็นต้น เพราะอาจจะเป็นอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์

คนท้องอ่อนห้ามกินผลไม้อะไร


คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถรับประทานผลไม้ได้ทุกชนิด ไม่มีข้อห้ามในการรับประทานผลไม้ทุกชนิด แต่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีน้ำตาลในปริมาณที่สูง ควรเลือกรับประทานผลไม้ที่สด สะอาด และควรทำการล้างผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานในทุก ๆ ครั้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งแปลกปลอมที่อาจะติดมากับผลไม้

คนท้องห้ามทําอะไรบ้าง กิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 1 – 3 เดือนควรหลีกเลี่ยง


ถึงแม้กิจกรรมที่คนท้องทำในแต่ละวัน จะสามารถทำกิจกรรมเหล่านั้นได้ตามปกติเหมือนเดิม แต่ก็ยังมีสิ่งที่คนท้องห้ามทำในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ หรือผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์

         • หลีกเลี่ยงการแช่อางน้ำร้อน การอบซาวน่า เนื่องจากจะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์

         • หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดถาดอุจจาระของสัตว์เลี้ยง เพราะอาจจะเสี่ยงติดเชื้อปรสิตจากอุจจาระของสัตว์เลี้ยงได้

         • งดกิจกรรมหรือกีฬาที่มีการปะทะ หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงในการล้ม แรงปะทะจากกิจกรรมหรือกีฬาบางชนิดอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

         • หลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก การยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากในช่วงตั้งครรภ์ อาจก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพครรภ์ของคุณแม่

         • หลีกเลี่ยงการเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนของเครื่องเล่นอาจจะทำให้เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ 1 – 3 เดือนแรกมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์


นอกจากจะหลีกเลี่ยงกิจกรรมและอาหารบางประเภทที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพครรภ์แล้ว ในระยะเวลา 1 – 3 เดือนแรก คุณแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

         • มีเลือดออกทางช่องคลอด
         • คลื่นไส้และอาเจียนมากกว่าปกติ
         • มีไข้สูง
         • ตกขาวร่วมกับมีอาการคัน
         • แสบหรือเจ็บในขณะปัสสาวะ
         • ขาหรือน่องมีอาการปวด หรือมีอาการบวม
         • ปวดหัวรุนแรง
         • โรคประจำตัวมีอาการกำเริบและรุนแรง

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ 1 – 3 เดือนแรกมีอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไป



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

บทความที่แนะนำ

first-trimester-of-pregnancy
second-trimester-of-pregnancy
third-trimester-of-pregnancy
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner