Enfa สรุปให้:

  • การทำ GIFT (Gamete intrafallopian transfer) คือ กระบวนการทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ หรือใช้เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยากของคู่สมรส

  • โดยวิธีการทำกิ๊ฟนั้น จะนำเอาไข่และอสุจิที่สมบูรณ์มาผสมกัน และฉีดกลับเข้าไปในท่อนำไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันตามธรรมชาติ

  • ในอดีตการทำกิ๊ฟถือว่าเป็นวิธีแก้ไขภาวะมีบุตรยากที่ได้รับความนิยมสูงมาก แต่ปัจจุบันแทบไม่เหลือสถานพยาบาลที่ยังให้บริการทำกิ๊ฟแล้ว เพราะมีวิธีแก้ไขแบบอื่นที่เห็นผลได้มากกว่าการทำกิ๊ฟ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ทำกิ๊ฟคือะไร
     • ทำกิ๊ฟราคาเท่าไหร่
     • ทำกิ๊ฟได้ลูกแฝดจริงหรือไม่
     • ขั้นตอนในการทำกิ๊ฟ
     • ข้อดีและข้อเสียในการทำกิ๊ฟ
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการทำกิ๊ฟกับ Enfa Smart Club

อีกหนึ่งวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากซึ่งในอดีตถือว่าได้รับความนิยมสูงมาก แต่ในปัจจุบันเทคนิคนี้แทบไม่เหลืออยู่แล้ว เพราะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์อื่น ๆ ที่ก้าวหน้าและเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากกว่าเข้ามาแทนที่

ใช่ค่ะ เรากำลังพูดถึงการทำกิ๊ฟ ที่ครั้งหนึ่งถือว่าเป็นทางเลือกหลักของคู่รักที่มีบุตรยากและต้องการมีบุตร แต่การทำกิ๊ฟเป็นอย่างไร เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากน้อยแค่ไหน Enfa มีข้อมูลที่น่าสนใจมากฝากค่ะ

ทำกิ๊ฟคืออะไร


การทำ GIFT (Gamete intrafallopian transfer) คือ กระบวนการทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ หรือใช้เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยากของคู่สมรส โดยวิธีการทำกิ๊ฟนั้น จะนำเอาไข่และอสุจิที่สมบูรณ์มาผสมกัน และฉีดกลับเข้าไปในท่อนำไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันตามธรรมชาติ

ซึ่งวิธีการฉีดกลับเข้าไปในท่อนำไข่นั้น จะต้องทำการผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง จากนั้นใช้การส่องกล้องเพื่อหาตำแหน่งที่กึ่งกลางของท่อนำไข่และฉีดไข่กับอสุจิที่ผสมแล้วเข้าไป จากนั้นก็รอให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ และมีการฝังตัวอ่อน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ การทำกิ๊ฟถือว่าได้รับความนิยมน้อยลงไปมากแล้วค่ะ เนื่องจากมีวิธีใหม่ ๆ ที่เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากกว่า

ทำกิ๊ฟราคาเท่าไหร่


เนื่องจากการทำกิ๊ฟนั้นมีเรื่องของการผ่าตัด การดมยาสลบ และการค้างคืนที่โรงพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้การทำกิ๊ฟราคาค่อนข้างที่จะสูงค่ะ โดยอาจมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาทขึ้นไปค่ะ ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่งเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้แทบไม่มีการทำกิ๊ฟแล้วค่ะ จึงอาจเป็นเรื่องยากมากกว่าที่จะหาสถานพยาบาลที่ยังมีการทำกิ๊ฟให้บริการอยู่

ทำกิ๊ฟลูกแฝด ทำได้จริงหรือไม่


การทำกิ๊ฟ ไม่ใช่การทำลูกแฝดโดยตรงค่ะ เพียงแต่กระบวนการทำกิ๊ฟ มีโอกาสที่จะเกิดลูกแฝดได้ค่ะ เพราะในการทำกิ๊ฟแต่ละครั้งอาจมีอสุจิที่แข็งแรงมากกว่าหนึ่งตัว และแพทย์อาจผสมอสุจิเข้าไปมากกว่าหนึ่งตัว

ดังนั้น จึงอาจมีอสุจิที่ปฏิสนธิกับไข่มากกว่าหนึ่งตัว จึงมีแนวโน้มที่จะมีท้องแฝดได้ แต่...นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าในทุก ๆ การทำกิ๊ฟจะได้ลูกแฝดนะคะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ขั้นตอนในการทำ GIFT


วิธีทำกิ๊ฟลูก หรือขั้นตอนในการทำกิ๊ฟเพื่อให้ได้ลูกนั้น มีดังนี้

        1. การตรวจร่างกายเพื่อดูว่าฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่ที่สมบูรณ์ พร้อมสำหรับการตกไข่ตามปกติหรือไม่ หากทุกอย่างเป็นไปตามปกติ แพทย์ก็จะกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ โดยอาจกระตุ้นด้วยการใช้ฮอร์โมน

        2. เมื่อไข่ตกแล้ว แพทย์จะทำการดูดเอาไข่นั้นออกมาจากรังไข่ จากนั้นจะทำการเก็บอสุจิจากผู้ชายมาด้วย

        3. เมื่อได้ไข่และอสุจิมาแล้ว แพทย์จะคัดเลือกไข่และอสุจิที่สมบูรณ์ จากนั้นนำมาผสมกันและฉีดกลับเข้าไปที่ท่อนำไข่ผ่านทางช่องท้อง ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องมีการดมยาสลบ และทำการผ่าตัดที่ช่องท้องเล็กน้อย เพื่อส่องกล้องและฉีดไข่กับอสุจิกลับเข้าไป และรอให้มีการปฏิสนธิตามธรรมชาติเกิดขึ้น

การทำกิ๊ฟข้อดี ข้อเสีย


การทำกิ๊ฟนั้นมีข้อดีหลัก ๆ เลยก็คือ ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์สำหรับผู้ที่ที่มีภาวะมีบุตรยาก แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเทียบโอกาสและความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์แล้ว จึงกลายมาเป็นข้อเสียที่ว่า

  • โอกาสในการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการทำกิ๊ฟนั้น ถือว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำเด็กหลอดแก้ว
  • การทำกิ๊ฟต้องมีการผ่าตัด ขณะที่การทำเด็กหลอดแก้วไม่จำเป็นต้องใช้การผ่าตัด
  • การทำกิ๊ฟไม่สามารถที่จะทำการวินิจฉัยได้ว่าขณะนี้ไข่กับอสุจิมีการปฏิสนธิกันหรือยัง
  • มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก
     

ไขข้อข้องใจเรื่องการทำ GIFT กับ Enfa Smart Club


 ทำกิ๊ฟเลือกเพศได้ไหม?

ในกระบวนการทำกิ๊ฟนั้น อาจสามารถเลือกเพศได้จริงค่ะ เนื่องจากในขั้นตอนการคัดเลือกไข่และอสุจินั้น สามารถที่จะทราบโครงสร้างของโครโมโซมได้ จึงสามารถรู้ได้ตั้งแต่ก่อนที่จะฉีดไข่กับอสุจิกลับเข้าไปยังท่อนำไข่ ว่าทารกมีโอกาสที่จะเป็นเพศอะไรบ้าง

เพียงแต่การเลือกเพศด้วยวิธีทำกิ๊ฟนี้ ถือว่าผิดหลักมนุษยธรรม และผิดกฎหมายในหลายประเทศ เนื่องจากมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลือกปฏิบัติค่ะ

 การทำ GIFT ZIFT ICSI IVF มีความแตกต่างอย่างไร?

กระบวนการทำ GIFT ZIFT ICSI IVF นั้น ถือว่ามีความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจน ดังนี้ค่ะ

        • การทำ GIFT คือการนำไข่และอสุจิมาผสมกันนอกร่างกาย แล้วฉีดกลับเข้าไปยังท่อนำไข่ และรอให้มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นต่อไป

        • การทำ ZIFT คือนำทั้งไข่และอสุจิมาผสมกันภายนอกร่างกาย และรอให้มีการปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อนในระยะ Zygote จากนั้นจึงฉีดกลับเข้าไปที่ท่อนำไข่

        • การทำ ICSI คือการนำอสุจิกับไข่ที่สมบูรณ์มาเก็บไว้ในภาชนะ จากนั้นก็จะดูดเอาอสุจิตัวที่สมบูรณ์ที่สุดฉีดฝังลงในไข่โดยตรงเลย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิสนธิได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้ไข่กับอสุจิปฏิสนธิกันเอง เมื่อเกิดการปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อนแล้วจึงฉีดตัวอ่อนนี้กลับเข้าไปยังโพรงมดลูก

        • การทำ IVF คือการนำอสุจิกับไข่ที่สมบูรณ์มาเก็บไว้ในภาชนะ จากนั้นนำมาผสมกันและรอให้เกิดการปฏิสนธิจนเป็นตัวอ่อน แล้วจึงฉีดตัวอ่อนนี้กลับเข้าไปยังโพรงมดลูก

 ทำกิ๊ฟเพศเดียวกันได้หรือไม่?

การทำกิ๊ฟ ไม่มีสามี การทำกิ๊ฟของคู่สมรสเพศเดียวกัน การทำกิ๊ฟหญิงหญิง หรือการทำกิ๊ฟชายชายนั้น ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกระบวนการเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือภาวะการเจริญพันธุ์นั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ทะเบียนสมรสเป็นเอกสารร่วมด้วย

ดังนั้น หากคู่สมรสเป็นคนไทยทั้งคู่ สิ่งนี้จึงยังไม่สามารถทำได้ ณ ตอนนี้ค่ะ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการรองรับการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกัน

แต่ถ้าหากคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ และมีการจดทะเบียนสมรสกันตามสัญชาติของคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติ และกฎหมายของประเทศคู่สมรสอนุญาตให้สามารถทำได้ ก็สามารถที่จะทำกิ๊ฟได้ค่ะ

 ทำกิ๊ฟเจ็บไหม?

จริง ๆ แล้วขั้นตอนในการทำกิ๊ฟนั้นไม่เจ็บค่ะ เพราะแพทย์จะมีการดมยาสลบ ดังนั้น ระหว่างกระบวนการฉีดไข่และอสุจิกลับเข้าไปยังท่อนำไข่ ผู้เข้ารับการรักษาจึงไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด

แต่ถ้าเป็นกระบวนการฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการตกไข่ ก็อาจจะรู้สึกเจ็บบ้างเล็กน้อยค่ะ ส่วนช่วงที่มีการเจาะไข่ออกมานั้น ก็จะมีการฉีดยาชาเพื่อระงับความเจ็บปวด ดังนั้น จึงอาจเจ็บแค่ตอนฉีดยาชา แต่ไม่รู้สึกเจ็บในกระบวนการเจาะไข่ค่ะ ส่วนกระบวนการดูดไข่ออกมา ก็จะมีการดมยาสลบ จึงไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บใด ๆ ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่เตรียมตัวตั้งครรภ์