ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
twin-pregnancy

ท้องแฝด เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์แฝดเสี่ยงอันตรายจริงหรือ?

 

Key Highlight

  • การตั้งท้องลูกแฝด ถือเป็นความเสี่ยงหนึ่งของการตั้งครรภ์ เพราะการอุ้มท้องลูกมากกว่า 1 คน ในท้องเดียวกันนั้น อาจนำไปสู่ความผิดปกติของการตั้งครรภ์หลายประการ ตั้งแต่การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น โดยท้องแฝดสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ แฝดแท้ และ แฝดเทียม

  • แฝดแท้ เกิดจากการที่ตัวอ่อนซึ่งผ่านการปฏิสนธิและฝังตัวที่มดลูกแล้ว แต่จู่ ๆ ก็มีการแบ่งตัวอ่อนขึ้นมาอีก 1 ตัว โดยตัวอ่อนทั้งสองตัว อาจจะมีรกและถุงน้ำคร่ำเป็นของตัวเอง หรือใช้รกและถุงน้ำคร่ำร่วมกันก็ได้ ซึ่งแฝดแท้จะมีรูปร่างหน้าตาและลักษณะที่คล้ายกันมาก และมักจะเป็นเพศเดียวกัน เช่น แฝดชาย-ชาย หรือ แฝดหญิง-หญิง

  • แฝดเทียม เกิดจากการที่มีไข่ตกมากกว่า 1 ใบ และไข่แต่ละใบนั้นก็ได้รับการปฏิสนธิและฝังตัวอ่อนในมดลูกพร้อม ๆ กัน ตัวอ่อนทั้งสองตัวมีรกและถุงน้ำคร่ำเป็นของตัวเอง โดยแฝดเทียมอาจจะมีลักษณะเหมือนหรือไม่เหมือนกันเลยก็ได้ อาจจะเป็นแฝดชาย-ชาย แฝดหญิง-หญิง หรือแฝดชาย-หญิง ก็ได้เช่นกัน


What's up here?

     • การตั้งครรภ์แฝด
     • อาการท้องแฝด เป็นอย่างไร?
     • พัฒนาการของครรภ์แฝดในแต่ละเดือน
     • ตารางน้ำหนักทารกแฝดในครรภ์
     • อาหารบำรุงคนท้องแฝด
     • ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์แฝด
     • การคลอดลูกแฝดต่างจากการคลอดปกติหรือไม่
     • ข้อควรรู้เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์แฝดกับ Enfa Smart Club

การตั้งท้องลูกแฝด ถือเป็นความเสี่ยงหนึ่งของการตั้งครรภ์ เพราะการอุ้มท้องลูกมากกว่า 1 คน ในท้องเดียวกันนั้นอาจนำไปสู่ความผิดปกติของการตั้งครรภ์หลายประการ ตั้งแต่การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น บทความนี้จาก Enfa จะพามาหาคำตอบกันว่า การท้องลูกแฝด อันตรายจริงไหม แล้วถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด ควรจะดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก  

ท้องลูกแฝด คืออะไร? เข้าใจกระบวนการตั้งครรภ์แฝด


การตั้งท้องลูกแฝด เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ดังนี้ 

  • การตั้งครรภ์ตอนอายุมาก เมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนในร่างกายก็จะมีการเปลี่ยนแปลงและผันผวน ซึ่งอาจนำไปสู่การตกไข่มากกว่า 1 ใบ ทำให้มีโอกาสที่จะต้องท้องแฝดได้ 

  • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการตั้งท้องลูกแฝดมาก่อน ผู้ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีลูกแฝด หรือเกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นแฝด อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดการตั้งครรภ์แฝดได้ 

  • คุณแม่มีน้ำหนักตัวมาก คนที่น้ำหนักตัวมากมีโอกาสจะมีครรภ์แฝด เพราะมีไขมันส่วนเกินในร่างกายสูง ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น จนไปกระตุ้นรังไข่ให้ตกไข่มากกว่า 1 ใบในช่วงไข่ตก

  • มีประวัติรักษาภาวะเจริญพันธุ์หรือภาวะการมีบุตรยาก การกินยารักษาภาวะมีบุตรยากบางชนิด อาจไปจนไปกระตุ้นรังไข่ให้ตกไข่มากกว่า 1 ใบในช่วงที่มีการตกไข่ 

  • รักษาภาวะมีบุตรยากโดยการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์อาจใส่ตัวอ่อนเข้าไปมากกว่า 1 ตัว เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ และมีแนวโน้มที่จะเกิดครรภ์แฝดได้ 

  • รักษาภาวะการมีบุตรยากโดยการทำ IUI (Intra Uterine Insemination) โดยกระบวนการในการทำ IUI นั้น แพทย์จะเลือกเอาเฉพาะอสุจิที่แข็งแรง แล้วฉีดเข้าไปที่โพรงมดลูก โดยก่อนการฉีดแพทย์จะใช้ยากระตุ้น ทำให้ได้ไข่มากกว่า 1 ใบ และแพทย์อาจฉีดอสุจิที่แข็งแรงเข้าไปหลายตัว เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ และมีแนวโน้มที่จะเกิดครรภ์แฝดได้ 

โดยการตั้งครรภ์แฝดนั้น ก็จะแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ 

  • แฝดแท้ เกิดจากการที่ตัวอ่อนจากไข่ 1 ใบ และอสุจิ 1 ตัว แต่จู่ ๆ ก็มีการแบ่งตัวอ่อนขึ้นมาอีก 1 ตัว แล้วฝังตัวที่โพรงมดลูก โดยตัวอ่อนทั้งสองตัว อาจจะมีรกและถุงน้ำคร่ำเป็นของตัวเอง หรือใช้รกและถุงน้ำคร่ำร่วมกันก็ได้ ซึ่งแฝดแท้จะมีรูปร่างหน้าตาและลักษณะที่คล้ายกันมาก และจะเป็นเพศเดียวกัน เช่น แฝดชาย-ชาย หรือ แฝดหญิง-หญิง 

  • แฝดเทียม เกิดจากการที่มีไข่ตกมากกว่า 1 ใบ และไข่แต่ละใบนั้นก็ได้รับการปฏิสนธิจากอสุจิคนละตัว และฝังตัวอ่อนในมดลูกพร้อม ๆ กัน ตัวอ่อนทั้งสองตัวมีรกและถุงน้ำคร่ำเป็นของตัวเอง โดยแฝดเทียมอาจจะมีลักษณะเหมือนหรือไม่เหมือนกันเลยก็ได้ อาจจะเป็นแฝดชาย-ชาย แฝดหญิง-หญิง หรือแฝดชาย-หญิง ก็ได้เช่นกัน 

ถุงตั้งครรภ์แฝด คืออะไร?

ถุงตั้งครรภ์ หรือถุงการตั้งครรภ์ คือ ถุงโพรงขนาดใหญ่ที่ภายในมีของเหลวที่เรียกว่า "น้ำคร่ำ" และมีตัวอ่อนหรือทารกเจริญเติบโตอยู่ภายในนั้น โดยหากมีการอัลตร้าซาวด์แล้วพบถุงตั้งครรภ์ ก็เป็นสัญญาณว่ามีการตั้งครรภ์ ซึ่งถุงตั้งครรภ์นั้นจะสามารถอัลตร้าซาวด์พบได้เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 5-6 สัปดาห์เป็นต้นไป เพียงแต่ในระยะแรก ๆ นั้นอาจจะเห็นถุงตั้งครรภ์ไม่ชัดนัก 

แฝดแท้มีถุงตั้งครรภ์กี่ถุง

โดยทั่วไปแล้วคุณแม่ก็จะมีถุงตั้งครรภ์แค่ใบเดียว แต่ในกรณีที่ตั้งท้องแฝด ก็อาจจะพบถุงตั้งครรภ์ใบเดียวหรือสองใบก็ได้ เพราะตัวอ่อนทั้งสองตัวอาจจะมีรกและถุงน้ำคร่ำเป็นของตัวเองทำให้มีถุงตั้งครรภ์ 2 ถุง หรืออาจพบว่ามีถุงตั้งครรภ์แค่ใบเดียว เพราะทารกแฝดใช้รกและถุงน้ำคร่ำร่วมกันก็ได้เช่นกัน 

ว่าด้วยการอัลตร้าซาวด์ลูกแฝด: ท้องแฝดอัลตร้าซาวนด์เจอตอนไหน?

โดยมากแล้วการตั้งครรภ์แฝดนั้น คุณแม่จะพบหรือรู้ตัวก็ต่อเมื่อมีการอัลตร้าซาวด์เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่ามีตัวอ่อนสองตัวอยู่ภายในท้อง ซึ่งโดยมากแล้วการอัลตร้าซาวด์ท้องแฝด หรืออัลตร้าซาวด์แล้วเจอว่ามีท้องแฝด ก็จะทำกันเมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 6- 10 สัปดาห์ขึ้นไป

อาการท้องแฝด เป็นอย่างไร? คุณแม่จะทราบได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์แฝด?


แม้ว่าการยืนยันว่ามีครรภ์แฝดจะเห็นชัดเจนผ่านการอัลตร้าซาวด์ แต่ก็มีอาการบางอย่างที่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกได้ว่าน่าจะมีการตั้งครรภ์แฝดเกิดขึ้น 

โดยอาการท้องแฝดตามธรรมชาติ และอาการหลังใส่ตัวอ่อนแล้วท้องแฝดในกรณีที่รักษาภาวะมีบุตรยาก ในะระยะแรกของการตั้งครรภ์ที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้ 

  • แพ้ท้องหนักและนาน อาการแพ้ท้องนั้นเป็นอาการโดยทั่วไปที่สามารถพบได้ แต่อาการแพ้ท้องก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับแม่ท้องทุกคน ในส่วนของแม่ที่ตั้งท้องแฝดนั้น มีแนวโน้มที่จะมีอาการแพ้ท้องอย่างหนัก และแพ้ท้องนานกว่าปกติ เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ตัวอ่อนสองตัว ทำให้ร่างกายมีฮอร์โมน hGH  (human chorionic gonadotropin) สูง ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าว เป็นฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้ได้ตลอดเวลา อาการคลื่นไส้ - อาเจียนนาน เกิดนานกว่า 14 สัปดาห์ อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่กำลังอุ้มท้องแฝด 

  • มีอาการอ่อนเพลียอย่างหนัก ช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงและผันผวน ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้ง่าย โดยเฉพาะคุณแม่ที่อุ้มท้องแฝด อาจรู้สึกว่าเหนื่อยหรือเพลียมากกว่าคนท้องโดยทั่วไป 

  • หัวใจทารกเต้นสองตำแหน่งต่างกัน การเต้นของหัวใจของทารก สามารถได้ยินเร็วที่สุดเมื่อมีอายุครรภ์ 8-10 สัปดาห์ โดยสามารถตรวจฟังได้จากเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจของทารกในครรภ์ ซึ่งถ้าหากสูติแพทย์และนรีแพทย์ตรวจพบว่ามีหัวใจเต้นสองตำแหน่ง ก็จะแนะนำให้คุณแม่ทำการอัลตร้าซาวด์ เพราะอาจเป็นไปได้ว่ากำลังตั้งท้องแฝด 

  • ลูกดิ้นเร็ว โดยทั่วไปแล้วคุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นเมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 18 สัปดาห์ขึ้นไป หรือในช่วงไตรมาสสอง แต่คุณแม่ที่ตั้งท้องแฝดก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของไตรมาสสอง 

  • น้ำหนักขึ้นเร็ว โดยทั่วไปแล้วคุณแม่จะเริ่มมีน้ำหนักขึ้นเมื่อตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่สอง เนื่องจากทารกมีขนาดตัวที่ขยายใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่ตั้งท้องแฝด อาจรู้สึกว่าน้ำหนักขึ้นเร็วตั้งแต่ไตรมาสแรก แต่การที่น้ำหนักขึ้นเร็วนี้อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์อย่างเดียว หากคุณแม่รู้สึกว่าน้ำหนักตัวขึ้นเร็วจนผิดปกติในช่วงไตรมาสแรก ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 

เข้าใจพัฒนาการของครรภ์แฝดในแต่ละเดือน


โดยทั่วไปแล้วพัฒนาการของครรภ์แฝด จะมีลำดับไล่เรียงกันไป ดังนี้ 

ไตรมาสแรก

ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีอาการคนท้องในระยะแรก เช่น ประจำเดือนขาด คัดเต้านม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน และคุณแม่หลาย ๆ คนอาจมีอาการแพ้ท้องในช่วงนี้ คุณแม่ที่ตั้งท้องแฝดอาจมีอาการแพ้ท้องหนักมากกว่าปกติ 

  • ท้องแฝด 1 เดือน ในช่วง  2-3 สัปดาห์แรก คุณแม่อาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังตั้งครรภ์ แต่เป็นช่วงที่ตัวอ่อนเริ่มมีกระบวนการในการแยกตัว กรณีเป็นแฝดแท้ ส่วนในกรณีที่เป็นแฝดเทียม ก็จะมีตัวอ่อนสองตัวฝังตัวในมดลูกและเริ่มการเจริญเติบโต เริ่มมีการสร้างรก  

  • ท้องแฝด 2 เดือน ทารกแฝดเริ่มสร้างสมอง ท่อประสาท ไขสันหลัง แขนขาขนาดเล็กเริ่มสร้างขึ้น เริ่มพัฒนาเนื้อเยื่อสร้างหัวใจ  

  • ท้องแฝด 3 เดือน ทารกแฝดเริ่มพัฒนานิ้วมือ นิ้วเท้า เล็บ และใบหน้าเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เริ่มมีการสร้างดวงตา เปลือกตา จมูก ริมฝีปาก 

ไตรมาสสอง

ช่วงไตรมาสสองนี้อาการแพ้ท้องเริ่มลดลง และขนาดท้องเริ่มขยายใหญ่ขึ้น 

  • ท้องแฝด 4 เดือน แขนขาของทารกแฝดเริ่มเคลื่อนไหว กระดูกเริ่มแข็งตัว ดวงตาเริ่มเคลื่อนไหวได้แม้จะยังหลับตาอยู่ และเริ่มผลิตสารเคลือบผิวเพื่อป้องกันผิวหนังจากน้ำคร่ำ 

  • ท้องแฝด 5 เดือน อวัยวะของทารกแฝดเริ่มชัดขึ้น ทารกเริ่มมีการดูดนิ้ว เริ่มมีการเคลื่อนไหว เริ่มได้ยินเสียงจากภายนอก และเส้นผมเริ่มยาวขึ้น 

  • ท้องแฝด 6 เดือน ทารกแฝดเริ่มมีลายมือและลายเท้า เริ่มสามารถตอบสนองต่อเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน เริ่มสร้างปอดและถุงลม เพื่อใช้สำหรับการหายใจ 

ไตรมาสสาม

เข้าไตรมาสสามแล้ว คุณแม่เสี่ยงที่จะมีการคลอดในไตรมาสสามได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการตั้งครรภ์แฝดยิ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าการตั้งครรภ์ปกติ โดยมีแนวโน้มที่จะคลอดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 35 - 37

  • ท้องแฝด 7 เดือน ทารกเริ่มมีการสร้างเลือดและสูบฉีดเลือดมากขึ้น ร่างกายขยายใหญ่ขึ้น สามารถเปิดและปิดตา เริ่มรับรู้ถึงแสงได้ และสมองเริ่มพัฒนามากขึ้นในช่วงนี้ มากไปกว่านั้น ยังเป็นช่วงที่พัฒนาการสำคัญต่าง ๆ ของทารกสิ้นสุดลงด้วย เช่น สมอง หัวใจ ปอด กล่าวคือทารกมีร่างกายที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และพร้อมคลอด 

  • ท้องแฝด 8 เดือน ปอดของทารกพัฒนาเต็มที่พร้อมแล้วที่จะออกไปหายใจนอกมดลูก ทารกแฝดเริ่มมีน้ำหนักตัวมากขึ้นเพราะเริ่มสร้างชั้นไขมันในร่างกาย และมีแนวโน้มที่จะเกิดการคลอดในช่วงนี้สูงมาก 

  • ท้องแฝด 9 เดือน โดยมากแล้วทารกแฝดมักคลอดก่อนจะถึงเดือนที่ 9 แต่ถ้ายังอุ้มท้องมาจนถึง 9 เดือนตามปกติ ก็เป็นช่วงที่พัฒนาการสำคัญต่าง ๆ ของทารกได้เดินทางมาจนถึงช่วงสุดท้าย และพร้อมจะคลอดแล้ว 

เช็กน้ำหนักลูกแฝดตามตารางน้ำหนักทารกแฝดในครรภ์


ในช่วง 1-10 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ยังเป็นเรื่องยากที่จะมีการคำนวณน้ำหนักของทารกในครรภ์ เนื่องจากตัวอ่อนยังมีขนาดเล็กเกินกว่าจะวัดได้แม่นยำ แต่เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 11 เป็นต้นไป ทารกแฝดแต่ละคนก็เริ่มจะมีพัฒนาการเรื่องของน้ำหนัก ดังนี้ 

  • อายุครรภ์ 11 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 7 กรัม
  • อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 14 กรัม
  • อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 23 กรัม
  • อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 43 กรัม
  • อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 70 กรัม
  • อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 100 กรัม
  • อายุครรภ์ 17 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 140 กรัม
  • อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 190 กรัม
  • อายุครรภ์ 19 สัปดาห์  หนักคนละประมาณ 240 กรัม
  • อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 300 กรัม
  • อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 360 กรัม
  • อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 430 กรัม
  • อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 500 กรัม
  • อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 600 กรัม
  • อายุครรภ์ 25 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 660 กรัม
  • อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 760 กรัม
  • อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 875 กรัม
  • อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 1 กิโลกรัม (1,000 กรัม)
  • อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 1.2 กิโลกรัม (1,200 กรัม)
  • อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 1.3 กิโลกรัม (1,300 กรัม)
  • อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 1.5 กิโลกรัม (1,500 กรัม)
  • อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 1.7 กิโลกรัม (1,700 กรัม)
  • อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 1.9 กิโลกรัม (1,900 กรัม)
  • อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 2.1 กิโลกรัม (2,000 กรัม)
  • อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 2.4 กิโลกรัม (2,400 กรัม)
  • อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 2.6 กิโลกรัม (2,600 กรัม)
  • อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 2.9 กิโลกรัม (2,900 กรัม)
  • อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 3.1 กิโลกรัม (3,100 กรัม)
  • อายุครรภ์ 39 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 3.3 กิโลกรัม (3,300 กรัม)
  • อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ หนักคนละประมาณ 3.5 กิโลกรัม (3,500 กรัม)

ขนาดท้องแฝดและน้ำหนักตัวของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์แฝดควรเป็นอย่างไร?

โดยปกติคุณแม่จะต้องมีการเพิ่มน้ำหนักตัวในแต่ละไตรมาสให้สอดคล้องกับค่าดัชนีมวลกายของตนเองอยู่แล้ว  ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักตัวให้สอดคล้องกับอายุครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นการเตรียมพร้อมผลิตน้ำนม และช่วยให้ทารกมีสุขภาพสมบูรณ์ พร้อมต่อการคลอด 

โดยคุณแม่สามารถคำนวณค่าดัชนีมวลกายได้ง่าย ๆ คือ 

ค่าดัชนีมวลกาย BMI = น้ำหนักตัว[กิโลกรัม]  

                                     ส่วนสูง[เมตร] ยกกำลังสอง 

ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่หนัก 60 กิโลกรัม สูง 175 เซนติเมตร  

ก็จะได้เป็น 60 กิโลกรัม / 1.75 เมตร x 1.75 เมตร = 19.5 ก็จะได้ค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.5-24.9 มีน้ำหนักตามเกณฑ์ปกติ 

หรือเพื่อความสะดวก คุณแม่สามารถทดลองใช้โปรแกรมคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย BMI เพื่อหาค่า BMI ของตนเองได้ 

เมื่อได้ค่า BMI มาเรียบร้อยแล้ว คุณแม่ก็สามารถนำมาเทียบกับตารางด้านล่าง เพื่อดูว่าค่าBMI ของตนเองนั้น มากหรือน้อยกว่าเกณฑ์ 

จากนั้นนำมาเทียบกับตารางน้ำหนักคนท้องของแม่ตั้งครรภ์แฝด ดังนี้ 

น้ำหนักคนท้อง กรณีตั้งท้องลูกแฝดสอง

อาหารบำรุงคนท้องแฝด และวิธีบำรุงครรภ์แฝดที่คุณแม่ควรรู้


คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรจะต้องใส่ใจกับโภชนาการในแต่ละมื้อเป็นพิเศษ เพื่อให้สุขภาพของแม่และทารกในครรภ์แข็งแรงไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ที่ตั้งท้องแฝดยิ่งต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้นไปอีก เพื่อให้อาหารและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทารกแฝดในครรภ์อย่างเพียงพอ 

โดยคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดสามารถดูแลและบำรุงครรภ์แฝดได้ง่าย ๆ ดังนี้ 

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดทุกชนิด พฤติกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่แล้ว ยังส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ด้วย 

  • จำกัดคาเฟอีน ชา กาแฟ เครื่องดื่มโปรดของคุณแม่ ควรจะดื่มให้น้อยลง หรือไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน นอกจากชาและกาแฟแล้ว โกโก้ และช็อกโกแลตก็มีคาเฟอีนด้วยเช่นกัน คุณแม่ควรกินแต่น้อย 

  • เลือกอาหารที่มีโปรตีนสูง เพราะโปรตีนจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโตของแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดควรจะต้องได้รับโปรตีน 100 กรัมต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อแม่และทารกแฝด 

  • เลือกอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เพราะธาตุเหล็กจะช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและป้องกันโรคโลหิตจาง ซึ่งแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กสูงกว่าปกติ แม่ที่ตั้งครรภ์แฝดควรจะต้องได้รับธาตุเหล็ก 30 มิลลิกรัมกรัมต่อวันในช่วงไตรมาสแรก 60 - 100 มิลลิกรัมต่อวัน ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 เพื่อให้เพียงพอต่อแม่และทารกแฝด 

  • เมนูอาหารคนท้องแฝด เมนูอาหารสำหรับคนท้องแฝด ควรจะมีความหลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ นำมาปรุงเป็นเมนูต่าง ๆ ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ควรจะกินให้หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่จำเจ ช่วยให้สุขภาพของแม่แข็งแรง และทารกแฝดได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ 

  • นม นมมีทั้งแคลเซียมและโปรตีน ดีต่อการสร้างมวลกระดูกของแม่และทารกแฝด การดื่มนมเป็นประจำก็จะช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารทั้งโปรตีนและแคลเซียมอย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถเลือกดื่มได้ทั้งนมวัว นมถั่วเหลือง และนมจากพืชอื่น ๆ 

  • นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ในกรณีที่คุณแม่มีอาการแพ้ทั้งนมวัวและนมจากธัญพืชต่าง ๆ นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์อาจจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะไม่มีสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อแม่ตั้งครรภ์ คือ DHA และโฟเลตสูง โดยเฉพาะโฟเลต จัดเป็นสารอาหารสำคัญที่แม่ต้องได้รับอย่างเพียงพอ เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง มากไปกว่านั้น ในช่วงไตรมาสแรกคุณแม่ควรจะได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยในการสร้างหลอดประสาท และสมองที่สมบูรณ์ของทารก และทารกที่ได้รับโฟเลตอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ มีแนวโน้มของพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดีขึ้นด้วย 

ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์แฝดที่คุณแม่ควรระวัง


การตั้งครรภ์แฝด ถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าการตั้งครรภ์ปกติ โดยคุณแม่ที่อุ้มท้องแฝด อาจพบกับความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ต่าง ๆ เช่น  

  • เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด 

  • เสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์ 

  • เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ 

  • เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ 

  • เสี่ยงต่อโรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝด (Twin to twin transfusion syndrome :TTTs) 

  • เสี่ยงต่อการแท้ง 

หากมีอาการแบบนี้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดควรไปพบแพทย์

การตั้งครรภ์แฝด ถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดจำเป็นจะต้องไปพบแพทย์มากกว่าแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกคนเดียว และแพทย์จะทำการอัลตร้าซาวด์ รวมถึงอาจมีการตรวจอื่น ๆ ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ 

ดังนั้น หากมีอาการใดที่รู้สึกว่าน่าจะผิดปกติ ไม่ควรปล่อยไว้หรือคิดว่าคงเป็นเรื่องปกติ แต่ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะการตั้งครรภ์แฝดนั้นถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีแต่ความเสี่ยงในทุกย่างก้าว สัญญาณบางอย่างที่คิดว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติได้  

การคลอดลูกแฝดต่างจากการคลอดปกติหรือไม่? เข้าใจความเสี่ยงในการคลอดลูกแฝด


การคลอดลูกแฝดกับการคลอดลูกคนเดียวนั้นไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน มีทั้งการคลอดธรรมชาติและการผ่าคลอดตามปกติ เพียงแต่ในระหว่างการคลอดนั้นอาจมีความแตกต่างกัน เช่น ลูกคนแรกอาจจะคลอดทางช่องคลอดได้ปกติ แต่ลูกแฝดคนน้องอาจจะต้องผ่าคลอดฉุกเฉิน  

  • ครรภ์แฝดคลอดกี่สัปดาห์ตามทฤษฎี

โดยทั่วไปแล้วทารกแฝดจะมีโอกาสสูงมากที่จะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งทารกแฝดนั้นพร้อมต่อการคลอดได้ทุกเมื่อในไตรมาสที่สาม อาจมีการคลอดได้ทุกเมื่อตั้งแต่สัปดาห์ที่ 35 ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 40 

  • เด็กแฝดคลอดก่อนกำหนดทุกคนไหม? เพราะอะไรเด็กแฝดจึงมักคลอดก่อนกำหนด?

ไม่ใช่ครรภ์แฝดทุกครรภ์ที่จะคลอดก่อนกำหนด แต่โดยมากแล้วมักจะมีโอกาสสูงที่จะมีการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งครรภ์แฝดโดยส่วนมากมักจะคลอดในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37  

  • วิธีการคลอดลูกแฝดมีอะไรบ้าง? ท้องแฝดคลอดธรรมชาติได้ไหม?

ทารกแฝดนั้นสามารถคลอดได้ทั้งแบบธรรมชาติ และผ่าคลอด แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ท่าของทารกในครรภ์ทั้ง 2 คน หากเป็นท่าศีรษะทั้งคู่ สามารถคลอดทางช่องคลอดปกติได้ หรือในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์มากกว่า 37 สัปดาห์ และถึงเวลาคลอดแล้ว แต่ทารกแฝดมีขนาดตัวใหญ่คุณแม่อาจจะคลอดธรรมชาติได้แค่คนเดียว แต่อีกคนต้องทำการผ่าคลอด

นอกจากนี้ ในกรณีที่ทารกคนแรกไม่ได้อยู่ในท่าศีรษะ คุณแม่อาจจะได้รับคำแนะนำให้ผ่าคลอด หรือหากทารกมีขนาดตัวต่างกันมาก ก็อาจจะได้รับคำแนะนำให้ผ่าคลอดเช่นกัน ทั้งนี้ ในกรณีที่การคลอดก่อนกำหนดและมีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ ก็อาจจะสามารถคลอดตามธรรมชาติได้ง่ายกว่า

ครรภ์แฝดน้ำ และครรภ์แฝดเลือดคืออะไร?

การตั้งครรภ์แฝด อาจเกิดกรณีสำคัญดังต่อไปนี้ 

  • ครรภ์แฝดน้ำ คือ กรณีที่มีน้ำคร่ำมาก จนกระทั่งทำให้คุณแม่มีขนาดครรภ์ที่ใหญ่เกินกว่าอายุครรภ์จริง ซึ่งโดยมากมักไม่ใช่อาการที่อันตราย แต่ในกรณีที่อันตรายคืออาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ ดังนั้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่ามีครรภ์แฝดน้ำ แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำการดูดเอาน้ำคร่ำออก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น คลอดก่อนกำหนด

  • ครรภ์แฝดเลือด คือ กรณีที่มีเลือดออกทางช่องคลอดมากก่อนที่จะมีการคลอดลูกแฝด ซึ่งภาวะนี้ถือเป็นภาวะความผิดปกติที่ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์ในทันที 

ข้อควรรู้เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด


กรณีที่ตั้งครรภ์แฝด คุณแม่มีข้อควรรู้มากมายที่จะต้องรับทราบ ดังนี้ 

  • การตั้งครรภ์แฝด เป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง คุณแม่อาจจะพบเจอกับอาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ได้ง่าย เช่น การแท้ง ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงต่อการผ่าคลอด เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น 

  • การตั้งครรภ์แฝดมีแนวโน้มสูงที่จะต้องทำการผ่าคลอด เนื่องจากมีจำนวนทารกมากกว่า 1 คน คุณแม่อาจไม่สามารถเบ่งทารกแฝดออกมาทางช่องคลอดทั้ง 2 คนได้ 

  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดจะต้องไปฝากครรภ์ และไปพบแพทย์ถี่กว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกคนเดียว และไม่ควรขาดนัด เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจเช็กสุขภาพครรภ์อย่างสม่ำเสมอ 

  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด จำเป็นจะต้องควบคุมและดูแลน้ำหนักให้สอดคล้องกับค่าดัชนีมวลกายของตัวเอง และต้องเพิ่มน้ำหนักตัวให้มากขึ้นในทุกไตรมาส 

  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อาจต้องกินอาหารให้มากกว่าปกติ เพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับอาหารและสารอาหารที่เพียงพอ เพราะถ้าหากทารกในครรภ์คนใดคนหนึ่งได้รับอาหารไม่เพียงพอ อาจเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดแคลนสารอาหารของทารกในครรภ์ได้ 

  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด จำเป็นจะต้องได้รับกรดโฟลิกและธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ซึ่งกรดโฟลิกเพิ่มเติมและธาตุเหล็กเสริมจะช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งภาวะโลหิตจางนี้มักพบได้บ่อยในแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด 

  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด มีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดสูงมาก โดยตั้งแต่สัปดาห์ที่ 35 ไปจนถึง สัปดาห์ที่ 40 ทารกแฝดสามารถคลอดออกมาได้ทุกเมื่อ 

ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์แฝดกับ Enfa Smart Club


1. ท้องแฝดคลอดเองได้ไหม

ท้องแฝดสามารถคลอดเองได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ทารกอยู่ในท่าศีรษะทั้ง 2 คน โดยมากแล้วมักจะต้องคลอดโดยการผ่าคลอด หรืออาจจะคลอดลูกคนแรกด้วยวิธีธรรมชาติ แต่ลูกอีกคนอาจจะต้องทำการผ่าคลอด 

2. ท้องแฝดนอนตะแคงได้มั้ย?

ท้องแฝดสามารถนอนตะแคงได้ แต่ควรมีหมอนสำหรับรองรับแรงกระแทกเวลาพลิกตัวหรือขยับตัว 

3. ท้องแฝด ไข่ฝ่อ 1 ใบ จะส่งผลกระทบต่อไข่ที่ยังมีชีวิตหรือไม่?

ในกรณีที่ไข่ฝ่อไปก่อน 1 ใบ อาจไม่ส่งผลต่อตัวอ่อนอีกตัวที่เหลือ แต่ถ้าทารกในครรภ์เสียชีวิตไปก่อน 1 คน อาจจำเป็นจะต้องมีการผ่าคลอดฉุกเฉินก่อนกำหนด เพื่อช่วยเหลือชีวิตทารกที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับอายุครรภ์อีกด้วย

4. ท้องแฝดควรนอนท่าไหน

คุณแม่ควรนอนในท่าที่รู้สึกสบายที่สุด โดยอาจจะเป็นการนอนตะแคง แต่เพื่อให้การนอนหลับสบายมากขึ้น คุณแม่ควรมีหมอนรองรับร่างกาย เพื่อรองรับแรงกระแทกในการขยับหรือพลิกตัว 

5. โอกาสที่ลูกจะเป็นแฝดติดกัน มีมากน้อยแค่ไหน? และตรวจเจอได้ตั้งแต่อายุครรภ์เท่าไหร่?

การตั้งครรภ์แฝดตัวติดกันนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งโดยมากแล้วจะสามารถพบได้เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป เพียงแต่ในช่วงแรกอาจจะเห็นแค่เพียงถุงตั้งครรภ์ลาง ๆ แต่เมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 6-10 สัปดาห์ขึ้นไปก็จะสามารถเห็นได้ชัดเจนแล้วว่ามีการตั้งครรภ์แฝดหรือไม่ 

6. ท้องแฝด แม่ต้องกินอาหารมากกว่าท้องปกติไหม?

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดอาจจะต้องกินอาหารมากกว่าปกติ เพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับอาหารและสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต หากคุณแม่กินน้อย ก็เสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะมีภาวะขาดสารอาหาร 



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

เทคนิคนับอายุครรภ์/ด้วยตนเองแบบง่ายๆ
how-to-conceive-twins
baby-movements-during-pregnancy
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner