Enfa สรุปให้

  • อาการคัดเต้านมในคุณแม่ให้นมบุตรเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ สาเหตุเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ให้นมลูกผิดท่า ลูกดูดนมผิดวิธี การเปลี่ยนเวลาให้นม หัวนมเป็นแผล จนไปถึงเต้านมมีความผิดปกติ

  • อาการคัดเต้านมสามารถนำไปสู่ภาวะท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบได้ การป้องกันอาการคัดเต้านมตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้คุณแม่ไม่ต้องเผชิญกับความไม่สบายตัวเมื่อมีอาการคัดเต้านม อีกทั้งยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตันหรืออักเสบได้

  • วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมเบื้องต้น สามารถเริ่มได้จากการจัดท่าให้นมให้ถูกเพื่อให้ลูกน้อยสามารถดูดนมได้อย่างถูกวิธี ร่วมกับการนวดเต้านม และให้นมลูกตามตารางอย่างสม่ำเสมอ หรือหากไม่สามารถให้นมได้ในช่วงที่ต้องกลับไปทำงาน ก็สามารถปั๊มนมทดแทนได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • คัดเต้านมเกิดจากอะไร
     • วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านม
     • คัดเต้านมจะเลิกเจ็บเต้ากี่วัน

สาเหตุอะไรบ้าง ที่ทำให้คุณแม่คัดเต้านม


อาการคัดเต้านมเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายสร้างน้ำนมมากขึ้น ทำให้เต้านมแม่ใหญ่ขึ้น หนักขึ้น และบวม อาการคือเต้านมจะแข็งขึ้นและมีอาการปวด บวม ร้อน เต้านมมีสีแดงขึ้น บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ และอาจทำให้สับสนกับโรคอักเสบติดเชื้อที่เต้านมได้ อาการคัดเต้านมอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ต่อไปนี้ค่ะ

  • คุณแม่มือใหม่อุ้มให้นมลูกผิดท่า ส่วนลูกก็ดูดนมผิดวิธี
  • คุณแม่อาจพยายามจำกัดเวลาให้นม และอาจให้นมไม่บ่อยเท่าที่ควร
  • การให้นมหรืออาหารเสริมอื่นๆ แก่ลูก โดยผ่านขวดนม ซึ่งเท่ากับลดความถี่ที่ลูกจะได้ดูดนมจากเต้าคุณแม่
  • การให้ลูกดูดจุกหลอกบ่อยเกินไป
  • การที่แม่ต้องเปลี่ยนเวลาให้นมเพื่อเตรียมกลับไปทำงาน
  • ตัวลูกมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดูดนม เช่น นอนหลับตลอดคืน
  • เด็กบางคนมีแรงดูดน้อย ทำให้ไม่สามารถดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แม่มีความเครียด อ่อนเพลีย หรือมีภาวะโลหิตจาง
  • เต้านมสร้างน้ำนมมากเกินไป แต่ไม่สมดุลกับการระบายน้ำนมออกโดยการให้ลูกดูด
  • หัวนมเป็นแผล
  • ความผิดปกติของเต้านม 

โดยอาการคัดเต้านมอาจนำไปสู่ภาวะท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบได้ ดังนั้นควรพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเสียแต่เนิ่น ๆ หากป้องกันและแก้ไขได้ถูกวิธี อาการจะหายไปภายใน 1 - 2 วัน

9 วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านม


หากคุณแม่มีอาการคัดเต้านม มาลองใช้ 9 วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมง่าย ๆ ดังนี้

  1. หัวใจสำคัญคือต้องเริ่มต้นที่การให้ลูกดูดอย่างถูกวิธีและการอุ้มให้นมลูกอย่างถูกท่า
  2. ให้ลูกดูดบ่อยๆ และนานเท่าที่ลูกต้องการ ในช่วงแรก คุณแม่ควรพยายามปลุกลูกให้ดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมง การให้ลูกดูดนมจากเต้าช่วยให้นมไหลได้ดี และช่วยระบายนมออกจากเต้า ทำให้เต้านมไม่เต็มจนคัด
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมเสริมการให้นม หรือใช้จุกหลอกบ่อยเกินไป
  4. ก่อนให้ลูกดูดนม พยายามบีบนมด้วยมือหรือปั๊มนมออกก่อนเล็กน้อยเพื่อให้เต้านม ลานนม และหัวนมนิ่มลง หรือนวดเต้านมให้นุ่มและร้อนขึ้น
  5. ความเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี คุณแม่บางคนใช้ใบกะหล่ำปลีช่วยบรรเทาอาการเต้าคัด โดยนำกะหล่ำที่แช่เย็นหรือที่อุณหภูมิห้องมาตัดให้เป็นช่องสำหรับหัวนม และวางลงบนเต้านม โดยสวมไว้ในเสื้อชั้นใน คอยเปลี่ยนเป็นใบใหม่เมื่อใบเก่าเหี่ยวลง
  6. เมื่อต้องกลับไปทำงาน พยายามปั๊มนมในเวลาเดียวกับที่ลูกเคยดูดนมที่บ้าน
  7. พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบหมู่ และดื่มน้ำให้มากพอ นี่เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ปรารถนาความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกคน
  8. สวมเสื้อชั้นในที่พอดี ไม่รัดเกินไป
  9. หากมีอาการเต้านมคัดเกิน 2 วัน หลังจากพยายามรักษาด้วยตัวเองแล้ว ให้ปรึกษาคุณหมอ พยาบาล หรือที่ปรึกษาด้านนมแม่ตามโรงพยาบาลหรือคลินิกนมแม่ใกล้บ้าน
     

คัดเต้านมแล้วจะเลิกเต้าเจ็บกี่วัน


คุณแม่ที่มีอาการคัดเต้านม อาจจะมีข้อสงสัยว่าจะเลิกเต้าเจ็บกี่วันกันอย่างแน่นอน อันที่จริงแล้ว ไม่มีช่วงเวลาที่ตายตัวค่ะ ขึ้นอยู่กับร่างกายของคุณแม่แต่ละคน ซึ่งหากคุณแม่ไม่ได้ใช้วิธีบรรเทาอาการคัดเต้าใด ๆ เลย ก็อาจจะใช้เวลาประมาณ 7 – 10 วัน ก่อนที่อาการจะหายไป

ในกรณีที่คุณแม่ ใช้วิธีบรรเทาอาการคัดเต้าเพื่อบรรเทาอาการร่วมด้วย ระยะเวลาก็จะลดลงค่ะ อาการคัดเต้านมของคุณแม่ก็อาจจะหายไปภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากอาการดูทีท่าไม่น่าจะดีขึ้น คุณแม่สามารถไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและรักษาอาการต่อไปได้

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน


แลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย, MFGM เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในน้ำนม ช่วยให้เซลล์ไขมันคงรูปอยู่ได้ในน้ำนม MFGM ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีนต่างๆ และไขมันเชิงซ้อน ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองเด็ก และมีดีเอชเอ กรดไขมันที่ช่วยพัฒนาสมองเด็กนั่นเอง

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่