ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
raising-socially-intelligent-child

SQ คืออะไร ต้องสอนลูกอย่างไรให้มีครบทั้ง IQ EQ และ SQ

Enfa สรุปให้

  • SQ (Social Quotient) คือ ความฉลาดทางสังคม หรือทักษะในการปรับตัวที่จะอยู่ในสังคมที่แตกต่างและหลากหลาย สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้คนที่อยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี
  • เด็กที่มีความฉลาดทางสังคม จะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร รู้ว่าต้องพูดอะไร พูดเมื่อไหร่ พูดตอนไหน และพูดอย่างไรถึงจะเหมาะสม
  • ทักษะความฉลาดทางสังคม สามารถฝึกฝนได้ตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อปลูกฝังให้ลูกเรียนรู้ในความแตกต่างของสังคม รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเรียนรู้ที่จะรับฟังผู้อื่นอย่างเข้าใจ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • SQ คืออะไร แบบไหนที่เรียกว่า “ความฉลาดทางสังคม”
     • SQ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
     • เด็กที่มี SQ ดี จะมีลักษณะอย่างไร
     • เข้าใจการพัฒนาความฉลาดทางสังคมของเด็กแต่ละช่วงวัย
     • ลูกขาดทักษะการเข้าสังคม ควรทำอย่างไรดี
     • ลูกไม่มีเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยเหลือยังไงดี
     • ไขข้อข้องใจเรื่องความฉลาดทางสังคม กับ Enfa Smart Club

เด็กชอบที่จะเล่นสนุกกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ชอบที่จะได้สนทนา มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน แต่...ก็มีเด็กอีกหลายคนที่มักจะมีความสุขเวลาที่เล่นคนเดียว ชอบที่จะเล่นคเดียวมากกว่าออกไปสนุกสนานกับผู้อื่น ซึ่งอาจเกิดจากความพึงพอใจและความชอบของตัวเด็กเอง หรืออาจมีสาเหตุมาจากการขาดทักษะทางสังคม

SQ คืออะไร แบบไหนที่เรียกว่า “ความฉลาดทางสังคม”


SQ (Social Quotient) คือ ความฉลาดทางสังคม หรือก็คือทักษะในการปรับตัวที่จะอยู่ในสังคมที่แตกต่างและหลากหลาย สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้คนที่อยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี เคารพในความแตกต่างของผู้อื่น รับฟังผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจโดยที่ไม่รู้สึกขัดเขิน หรือรู้สึกแปลกแยกจากสังคม

ความฉลาดทางสังคมสำคัญอย่างไร ทำไมแค่ IQ/EQ ดีจึงไม่เพียงพอ

การมีความฉลาดทางสติปัญญาที่ดี หรือมี IQ ที่ดี กับการมีความฉลาดทางอารมณ์ หรือมี EQ ที่ดี เป็น 2 ทักษะที่เมื่ออยู่ควบคู่กันแล้วส่งเสริมให้ชีวิตก้าวไปสู่ความสำเร็จได้

เพราะมีไอคิวที่ดี จึงมีประสิทธิภาพในการคิดและการลงมือทำที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ และเมื่อมีอีคิวที่ดี ก็จะทำให้รู้จักที่จะวางตนในสังคม รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และรู้จักที่จะจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ทั้ง IQ และ EQ จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ ดังนั้น การมีทักษะความฉลาดทางสังคม หรือมี SQ ที่ดี ก็จะช่วยให้สามารถปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉลาดที่จะใช้ทักษะความรู้ความสามารถในการสร้างประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ฉลาดที่รู้จักจัดการกับอารมณ์ของตนเองเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม รู้ว่าควรแสดงความรู้สึกและปฏิบัติตนอย่างไรที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นและตนเอง

ความฉลาดทางสังคม จึงเป็นส่วนเสริมให้บุคคลนั้น ๆ สามารถที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข เพราะรู้จักที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

SQ ประกอบด้วยอะไรบ้าง


คุณสมบัติของความฉลาดทางสังคม ประกอบด้วย

  • การตระหนักรู้ต่อตนเอง (Self-Awareness) คือ รู้ว่าตนเองเป็นใคร รู้สึกอย่างไร สิ่งใดที่ตนเองชอบและไม่ชอบ
  • การตระหนักรู้ต่อสังคม (Social-Awareness) คือ รู้ว่าสังคมให้ความสำคัญกับสิ่งใด มีอะไรเกิดขึ้นในสังคม รู้จักที่จะรับฟังคนอื่น ๆ ในสังคม
  • ความเชื่อและทัศนคติทางสังคมที่พัฒนาขึ้น (Evolved Social Beliefs And Attitudes) คือ การเปิดกว้าง เปิดใจ รู้จักที่รับฟังความเห็นต่าง ๆ จนก่อเกิดเป็นแนวคิดและทัศนคติที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับสังคม ไม่เชื่อหรือจมปลักอยู่กับแนวคิดเดิม ๆ  
  • ความสามารถในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ซับซ้อน (Capacity To Manage Complex Social Change) คือ รู้จักที่จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เด็กที่มี SQ ดี จะมีลักษณะแบบนี้


เด็กที่ได้รับการฝึกฝนทักษะการเข้าสังคมมาเป็นอย่างดี จะมีลักษณะของความฉลาดทางสังคม ดังนี้

  • เป็นผู้ฟังที่ดี การใช้ชีวิตในสังคมจะเป็นแต่ผู้พูดไม่ได้ แต่ต้องรู้จักที่จะฟัง และตั้งใจฟังอย่างจริงใจ เพื่อให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้อื่นจะสื่อสาร และเกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากมีแต่ผู้พูดเพียงฝ่ายเดียว ก็จะเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่เกิดการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
  • มีทักษะในการสื่อสาร เด็กที่ฉลาดในการเข้าสังคมจะรู้จักที่จะรักษาบรรยากาศในการพูดคุย ไม่ทำให้บรรยากาศแย่ลงหรือหยุดชะงัก รู้จักที่จะสานต่อบทสนทนาให้สามารถไปต่อได้อย่างไหลลื่น โดยที่ทั้งสองฝ่ายสามารถแบ่งปันเรื่องราวได้พอ ๆ กัน ไม่มีฝ่ายใดต้องเป็นคนรับฟังแต่เพียงฝ่ายเดียว
  • มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สิ่งนี้ถือว่าเป็นลักษณะที่สำคัญมากในการเข้าสังคม เพราะสังคมนั้นมีความหลากหลาย แต่ละคนมาจากพื้นฐานที่ต่างกัน หากเด็กรู้จัก เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มักรู้จักที่จะพูด คิด และปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อไม่กระทบกระเทือนความรู้สึกของอีกฝ่าย
  • รู้เวลาที่เหมาะสม รู้ว่าเวลาไหนควรพูดเรื่องอะไร และเรื่องไหนที่ไม่ควรจะพูด รู้ว่าควรตอบสนองต่อเหตุการณ์ตรงหน้าอย่างไรเพื่อที่จะรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้อย่างยาวนาน
  • แสดงออกอย่างเหมาะสม รู้จักที่จะชื่นชม ยินดีกับผู้อื่น มีการแสดงออกและปฏิบัติตนกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม โดยที่ไม่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกแย่
  • รู้จักสร้างความประทับใจ เมื่ออยู่ในสังคม เด็กรู้จักที่จะสร้างความประทับใจเล็กน้อยต่อผู้อื่น ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็ไม่เขินอายที่จะกล่าวชมผู้อื่นอย่างจริงใจ
  • ไม่สานต่อบทสนทนาที่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง เด็กรู้จักที่จะรับฟังบทสนทนาต่าง ๆ อย่างเท่าทัน และรู้จักที่จะไม่ตอบโต้ในบทสนทนาที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือการโต้เถียงที่รุนแรง

เข้าใจการพัฒนาความฉลาดทางสังคมของเด็กแต่ละช่วงวัย


การพัฒนาความฉลาดทางสังคมของเด็กนั้น ต้องทำให้เหมาะสมกับวัย เพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจและแสดงออกได้เหมาะสมกับช่วงวัยของตนเอง เพราะเด็กวัยต่างกัน ก็จะแสดงออกและเข้าสังคมที่แตกต่างกันไป

เด็กวัยทารก ยังไม่สามารถที่จะบอกความต้องการของตนเองได้ การสื่อสารจึงทำได้ผ่านการยิ้มหัวเราะ และร้องไห้ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้จักที่จะเลียนแบบท่าทางและการพูดของคนอื่น ๆ พยายามที่จะสื่อสารกับคนรอบตัวผ่านการพูดแบบอ้อแอ้

  • เด็กวัย 2-3 ปี ถือเป็นช่วงวัยที่เริ่มรู้จักกับการเข้าสังคมอย่างเต็มตัว รู้จักที่จะเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ เริ่มมีความสนใจที่จะเล่นเหมือนกับคนอื่น ๆ  
  • เด็กวัย 4-5 ปี เด็กวัยอนุบาลนี้รู้จักที่จะเล่นกับเพื่อนเพศเดียวกันและเพื่อนต่างเพศ สามารถเข้าใจข้อปฏิบัติและกฎกติกาง่าย ๆ ในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้
  • เด็กวัย 6-12 ปี สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเพื่อนที่หลากหลายได้มากขึ้น และรู้ว่าสังคมแบบไหนที่ตนเองชอบและสบายใจ เริ่มมีเพื่อนสนิท และกลุ่มเพื่อนที่ให้ความสนใจในเรื่องเดียวกัน
  • เด็กวัย 13-18 ปี เป็นช่วงวัยแห่งการค้นหาตัวตน เด็กวัยนี้จะแสดงออกถึงความเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ นิยมที่จะอยู่ในกลุ่มเพื่อนหรือสังคมที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน มีแนวคิดเหมือน ๆ กัน ซึ่งหากเลือกคบเพื่อนที่ดี ก็จะผลักดันและสนับสนุนกันให้เติบโตไปในทางที่เหมาะสมได้ แต่ถ้าเลือกคบเพื่อนที่ไม่ได้ตรงกับจริตของตนเอง ก็จะให้ผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดความอึดอัด ไม่เป็นตัวของตัวเอง

ลูกขาดทักษะการเข้าสังคม คุณพ่อคุณแม่จะช่วยส่งเสริมยังไงดี


พ่อกับแม่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับลูกได้ตลอดเวลา ไม่สามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ของเด็ก ๆ ได้ ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้ที่จะสอนลูกปรับตัวเข้าสังคมตั้งแต่ยังน้อย เพื่อให้ลูกสามารถใช้ชีวิตอยู่รอดในสังคมได้อย่างมีความสุข

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนลูกปรับตัวเข้าสังคมได้ ดังนี้

  • เป็นแบบอย่างที่ดี หากอยากให้ลูกเข้าสังคมเป็น คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องไม่อายที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่คนอื่น ๆ รู้จักที่จะทักทายคนใกล้ตัว พาลูกไปเจอสังคมใหม่ ๆ ด้วยกัน เพราะถ้าพ่อแม่ขี้อายแล้วจะสอนลูกให้กล้าที่จะเข้าสังคมและมีเพื่อนได้อย่างไร
  • พูดคุยเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเป็นประจำ ถามลูกทุกวันว่าวันนี้เป็นอย่างไร ทำไมถึงรู้สึกอย่างนั้น หรือเห็นสิ่งนั้นแล้วรู้สึกอย่างไร ทำไมถึงคิดเช่นนั้น เพื่อสอนให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และแนะนำวิธีจัดการกับอารมณ์ของตนเองอย่างเหมาะสม
  • ผลัดกันพูดและผลัดกันฟัง เวลาพูดกับลูก คอยชี้แนะให้ลูกฟังอย่างตั้งใจ และทวนอีกครั้งว่าเรากำลังพูดถึงอะไรอยู่ เมื่อถึงคราวที่ลูกพูดและเล่าให้ฟัง พ่อกับแม่ก็ต้องฟังอย่างตั้งใจด้วย ไม่ใช่ฟังแบบขอไปที สิ่งนี้จะช่วยฝึกฝนให้เด็กเป็นผู้ฟังที่ดี และรู้จักที่จะให้เกียรติผู้พูด
  • สอนมารยาทพื้นฐานที่ควรมี ความมีน้ำใจ การขอโทษ การขอบคุณ มารยาทง่าย ๆ ที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเล็ก สอนให้ลูกรู้จักขอบคุณเมื่อได้รับความช่วยเหลือ ขอโทษเมื่อทำสิ่งที่ผิดพลาด ร้องขออย่างเหมาะสมเมื่อต้องการความช่วยเหลือ เพราะถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ละเลยเรื่องมารยาทแบบง่าย ๆ เด็กจะใช้ชีวิตในสังคมลำบาก เพราะไม่เข้าใจมารยาททางสังคม และมีโอกาสที่จะถูกสังคมตอบกลับอย่างรุนแรง
  • สอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง สิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ เลยนะคะ อย่าลืมว่าพ่อกับแม่ไม่สามารถวิ่งเข้าไปช่วยลูกได้ทุกอย่าง เด็กจึงต้องรู้จักที่จะช่วยเหลือตัวเอง ต้องทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมภายนอก จะไม่มีใครมาคอยช่วยเหลือประคบประหงมลูกของเราอีกต่อไป และเด็กก็ไม่สามารถจะทำตัวเอาแต่ใจกับผู้อื่นและได้รับความช่วยเหลือทันทีเหมือนที่ทำกับพ่อแม่ได้
  • ชื่นชมลูกบ่อย ๆ เมื่อลูกทำในสิ่งที่ควรได้รับการชมเชย การมองข้ามหรือปล่อยปละละเลย หรือไม่ชมลูกเลย เอาแต่ตำหนิอย่างเดียว จะทำให้ลูกเติบโตมาด้วยความกังวล กลัวความผิดพลาด ไม่มั่นใจในตัวเอง และเป็นคนขี้อายเก็บเนื้อเก็บตัว คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้กับลูกผ่านการพูดชมเชยกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ลูกทำ

ลูกไม่มีเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยเหลือยังไงดี


ลูกไม่มีเพื่อนเล่นที่โรงเรียน กรณีแบบนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย และจะกลายมาเป็นปมชีวิตของเด็ก ๆ ได้ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาลูกไม่มีเพื่อนนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องละทิ้งอีโก้ของตัวเองลงมาให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรกเลยค่ะ  

เนื่องจากบางครั้งลูกไม่มีเพื่อน อาจเพราะถูกแกล้ง ถูกรังแกจากเด็กคนอื่น ๆ และบางครั้งที่ลูกก็ไม่มีเพื่อนเพราะลูกเราเองนั่นแหละที่ทำนิสัยไม่ดีกับคนอื่น ๆ เป็นลูกของเราเองนั่นแหละที่ไปแกล้งคนอื่นจนไม่มีใครเล่นด้วย

ที่ต้องแนะนำให้วางใจเป็นกลางไม่เปักใจเข้าข้างลูกตัวเอง ก็เพราะบางครั้งลูกของเรา อาจไม่ได้น่ารักสำหรับคนอื่นเสมอไป เราจะหลอกตัวเองว่าลูกฉันเป็นคนดีตลอดไปไม่ได้ เพราะเมื่อลูกไปถึงโรงเรียนแล้ว อาจกลายเป็นเด็กอีกคนที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้จักมาก่อน ก็เป็นไปได้เหมือนกัน

ดังนั้น วิธีรับมือที่เหมาะสมในกรณีที่ลูกไม่มีเพื่อนเล่น ได้แก่

1. อย่าเพิ่งคิดว่าเรารู้จักลูกของเราอย่างถ่องแท้ ต้องเปิดใจที่จะยอมรับด้วยว่า บางครั้งอาจเป็นลูกของเราเองนั่นแหละที่มีพฤติกรรมไม่ดี จนเพื่อน ๆ ไม่ยอมเล่นด้วย

2. เก็บข้อมูลที่ลูกเล่ามาให้ละเอียด และรีเช็กสถานการณ์อีกครั้งหนึ่งว่าเกิดอะไรขึ้น ใครทำอะไร เมื่อไหร่ ทำอย่างไร ทำที่ไหน อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมดเมื่อฟังจบแค่เพียงรอบเดียว ควรฟังอย่างมีวิจารณญาณ

3. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางโรงเรียน การไปที่โรงเรียนนี้ ไม่ใช่ไปเพื่อเอาเรื่องนะคะ แต่เป็นการไปเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่รับฟังมานั้น ตรงกับสิ่งที่คุณครูเจอไหม ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพื่อจะได้รับมือร่วมกันอย่างเหมาะสม

4. เพื่อนลูกก็เหมือนเพื่อนของพ่อกับแม่ พยายามเป็นมิตรกับเพื่อน ๆ ของลูก เพราะเพื่อนของลูกก็จะมีมุมมองต่อลูกของเราอีกแบบหนึ่ง ในแบบที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนเลยก็ได้ การฟังความจากผู้อยู่ในเหตุการณ์จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ประมวลความจริงได้ชัดเจนขึ้น

5. ในกรณีที่ลูกเราเป็นผู้ถูกกระทำ ลูกถูกแกล้งจริง ต้องแนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สอนให้ลูกรู้จักปกป้องตนเอง แต่ถ้าหากยังถูกแกล้ง และไม่มีเพื่อนเลยอยู่ คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถแก้ปัญหาในขั้นตอนต่อไป เช่น อาจจะเป็นการไปพูดคุยที่โรงเรียน หรืออาจต้องย้ายโรงเรียนในกรณีที่ถูกแกล้งจนเกินเหตุ

6. ในกรณีที่ลูกของเราเองนั่นแหละที่เป็นตัวปัญญาจนไม่มีเพื่อนเล่นด้วย คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักที่จะยอมรับความจริงและไม่ถือหางลูกตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่สนเรื่องจริงที่เกิดขึ้น การทำแบบนี้มีแต่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นที่ตำหนิของสังคม

คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกอย่างตรงไปตรงมา บอกให้ลูกทราบว่าสิ่งที่พ่อกับแม่รับรู้มาเป็นแบบนี้ ลูกทำแบบนั้นจริงไหม ทำไมลูกถึงทำแบบนั้น พร้อมแนะนำให้ลูกรู้จักที่จะขอโทษอย่างจริงใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ไม่ดุ ไม่ตำหนิ ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตอนนี้เขากำลังเป็นที่รังเกียจของพ่อแม่ แต่ควรแสดงออกว่าเราจะรับผิดชอบเรื่องนี้ไปด้วยกัน พ่อแม่อยู่เคียงข้างลูกเสมอ อาจพากันไปซื้อขนมเพื่อขอโทษเพื่อนด้วยกัน เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว้าเหว่ และไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งให้ต้องเผชิญกับการกระทำของตัวเองแค่คนเดียว

เลือก Enfa สูตรที่ใช่ แบรนด์เดียวที่เสริม MFGM

เด็กควรได้กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนแรกของชีวิต เพื่อให้ได้รับสารอาหารและสารภูมิคุ้มกันที่มีประโยชน์ในการเจริญเติบโตและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

แต่ในกรณีที่แม่ไม่สามารถให้นมลูกได้เอง สามารถปรึกษากับแพทย์ เพื่อเลือกนมเสริมที่มีสารอาหารเหมาะสมกับวัยของลูก

ซึ่งนมที่เหมาะสำหรับเด็ก ควรจะต้องมี “MFGM” หรือเยื่อหุ้มอนุภาคไขมันที่พบในน้ำนมแม่ (Milk Fat Globule Membrane) ประกอบด้วยโปรตีนและไขมันกว่า 150 ชนิด อย่างสฟิงโกไมอิลีน ฟอสโฟลิปิด แกงกลิโอไซต์ มีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสมองที่ดีของลูกน้อย ส่งเสริมการทำงานของสมองให้ลูกน้อยทั้งด้านสติปัญญา และอารมณ์ เพื่อให้ลูกได้สารอาหารที่ดีต่อการเติบโตอย่างสมวัย และดีต่อพัฒนาการด้านสมองตั้งแต่ 1 ขวบแรกของชีวิต

ไขข้อข้องใจเรื่องความฉลาดทางสังคม กับ Enfa Smart Club


ลูกไม่มีเพื่อนที่โรงเรียน ควรย้ายโรงเรียนดีไหม?

การย้ายโรงเรียน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะถ้าลูกของเราเองนั่นแหละที่นิสัยไม่ดี จนไม่มีเพื่อนคบ แบบนี้จะย้ายอีกกี่โรงเรียน ก็ไม่ได้ช่วยให้ลูกมีเพื่อนขึ้นมาได้

หากลูกไม่มีเพื่อนที่โรงเรียน อาจต้องเริ่มสอนให้ลูกรู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน สอนวิธีรับมือเมื่อถูกแกล้ง สอนให้รู้จักป้องกันตนเอง และรักษาสิทธิ์ของตนเอง หากลูกแก้ปัญหาด้วยตัวเองแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิม คุณพ่อคุณแม่ควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อาจต้องพูดคุยกับโรงเรียน เพื่อหาทางรับมือร่วมกัน

แต่ถ้าทุกอย่างยังไม่มีอะไรดีขึ้น ลูกยังไม่มีเพื่อนเหมือนเดิม หรือลูกถูกลั่นแกล้งมากขึ้นจนกระทบต่อสภาพจิตใจ การย้ายโรงเรียนอาจเป็นทางออกที่ดีกว่า

ส่วนกรณีที่ลูกเรานั่นแหละที่เป็นตัวการทำให้คนอื่นไม่อยากเล่นด้วย ก็ต้องยอมรับความจริงและปลูกฝังการวางตัวในสังคมกันใหม่ เพื่อที่เด็กจะได้ปรับปรุงนิสัยของตัวเอง และเป็นที่รักของคนอื่น ๆ ซึ่งถ้าหากไม่แก้ไข ต่อให้ลูกย้ายอีกกี่โรงเรียน ก็ไม่มีใครอยากเป็นเพื่อนกับลูกของเราอยู่ดีค่ะ

การพัฒนาทักษะทางสังคม ปฐมวัย มีขั้นตอนยังไงบ้าง?

การพัฒนาทักษะทางสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ที่บ้าน ดังนี้

  • พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี หากพ่อแม่มีพฤติกรรมที่ดี ลูกก็จะซึมซับและเลียนแบบสิ่งดี ๆ จากพ่อแม่
  • พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกของกันและกัน จะช่วยให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง และสอนให้เด็กจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
  • มีกฎกติกากับลูก สร้างข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้เด็กมีวินัย รู้จักควบคุมตนเอง เป็นการฝึกฝนให้รู้จักกติกาของสังคม
  • สอนมารยาทพื้นฐาน ขอบคุณเมื่อได้รับความช่วยเหลือ ขอโทษเมื่อทำผิด ขอร้องหรือขออนุญาตอย่างเหมาะสมเมื่อต้องการความช่วยเหลือมารยาทที่ดี จะทำให้เด็กเข้าสังคมได้อย่างมีความสุข
  • ชื่นชมเด็กบ่อย ๆ ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะเหลิง เด็กที่ไม่เคยถูกชมเลย จะโตมาเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงอก เพราะกลัวถูกตำหนิ ชมลูกเมื่อเข้าทำในสิ่งที่น่าชื่นชม เพื่อสร้างความรักและความศรัทธาในตัวเองให้กับลูก

ลูกไม่มีเพื่อนสนิท พ่อแม่ควรกังวลไหม?

ความกังวลหากลูกไม่มีเพื่อนสนิทเลย อาจแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ

  1. กังวลที่ลูกไม่มีเพื่อนสนิท เพราะลูกเราเองนั่นแหละที่นิสัยไม่ดีจนไม่มีใครอยากสนิทด้วย หากไม่ปรับพฤติกรรมของลูก ก็จะทำให้ลูกเติบโตมาเป็นที่ตำหนิของคนอื่น ๆ ไม่มีใครอยากคบหาด้วย
  2. กังวลที่ลูกไม่มีเพื่อนสนิท เพราะถูกกลั่นแกล้งรังแก กรณีแบบนี้ต้องสอนให้ลูกรู้จักป้องกันตัวเอง และจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม เพราะพ่อกับแม่ไม่สามารถไปนั่งเรียนกับลูกได้ทุกวัน แต่ถ้าลูกพยายามแล้วยังไม่ได้ผล ก็ถึงคราวพ่อกับแม่ยื่นมือเข้ามาช่วย 


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

บทความที่แนะนำ

age-appropriate-developmental-toys
baby-refuses-to-eat
brain-training-games-for-kids
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner