ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 32 สัปดาห์ อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 32 สัปดาห์ อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 18 นิ้ว หนักประมาณ 1.8-2 กิโลกรัม หรือมีขนาดพอ ๆ กับมันแกว หรือแตงโมผลย่อม ๆ
  • อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ขนอ่อนที่ปกคลุมร่างกายเพื่อให้ความอบอุ่นของทารก จะค่อย ๆ หลุดลอกออก
  • อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ชั้นไขมันเริ่มเกาะติดกับชั้นผิว ทำให้ตอนนี้ผิวของทารกไม่ได้เป็นสีใสแล้ว แต่มีสีผิวใกล้เคียงกับสีผิวคุณแม่

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 32 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 32
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 32 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 32 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 32 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 32 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าขณะนี้คุณแม่ท้อง 32 สัปดาห์ได้ตั้งครรภ์ครบ 8 เดือนแล้วค่ะ เหลืออีกแค่ 1 เดือนสุดท้ายก็จะได้พบกับเจ้าตัวเล็กในครรภ์เสียที คุณแม่เริ่มอดใจรอกันไม่ไหวแล้วใช่ไหมล่ะคะ?

แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น คุณแม่จะต้องผ่านการตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์ไปให้ได้ก่อนค่ะ มาดูกันว่าสัปดาห์นี้คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง แล้วเจ้าเบบี๋อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ มีพัฒนาการอะไรเพิ่มขึ้นบ้างนะ

ท้อง 32 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


ในสัปดาห์นี้ทารกจะดิ้นถี่มากขึ้น จนคุณแม่สามารถจับลูกดิ้นได้หลายครั้ง ซึ่งคุณแม่ควรจะต้องนับลูกดิ้นเป็นประจำทุกวัน ถือเป็นกิจวัตรที่ไม่ควรพลาดเด็ดขาดค่ะ นอกจากดิ้นเก่งแล้ว ในสัปดาห์นี้ทารกหลายคนยังเริ่มกลับหัวอยู่ในท่าพร้อมคลอดกันแล้วด้วยนะคะ

อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ในวันสุดท้ายของสัปดาห์นี้จะเท่ากับว่าคุณแม่ได้ตั้งครรภ์ครบ 8 เดือนค่ะ

ท้อง 32 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 32 สัปดาห์หลายคนยังสามารถเปลี่ยนท่าทางเอาหัวขึ้น และเอาหัวลงอยู่บ้าง แต่ทารกหลายคนก็เริ่มกลับหัวลงอยู่ในท่าที่พร้อมคลอดแล้วค่ะ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กหลายคนก็จะเริ่มกลับหัวในระหว่างสัปดาห์ที่ 32-36 สัปดาห์ แต่ก็ไม่ใช่ทารกทุกคนนะคะที่เริ่มกลับหัวในสัปดาห์นี้ ทารกบางคนอาจจะเริ่มกลับหัวในช่วงสัปดาห์ที่ 35 เป็นต้นไป

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 32 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


พัฒนาการของทารกในสัปดาห์นี้ โดยมากจะเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น และอยู่ในระบบที่สมบูรณ์พร้อมที่จะเริ่มทำงานทันทีหลังคลอด

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 32 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 18 นิ้ว มีขนาดพอ ๆ กับมันแกว หรือแตงโมผลย่อม ๆ ค่ะ

ท้อง 32 สัปดาห์ น้ำหนักลูก หนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 1.8-2 กิโลกรัมค่ะ

ท้อง 32 สัปดาห์ ดิ้นมากแค่ไหนกัน

ในสัปดาห์ที่ 32 นี้ พื้นที่ภายในมดลูกนั้นยังกว้างพอที่จะทำให้ทารกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ อีกทั้งระบบร่างกายของทารกก็พัฒนามาจนเกือบสมบูรณ์แล้ว ทำให้การตอบสนองต่อแสง สี เสียงทำได้ดีขึ้น เวลาคุยกัน อ่านนิทาน หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง ลูกสามารถจะตอบโต้ด้วยการดิ้นหรือเตะท้องได้มากขึ้น

แต่ถ้าถามว่าลูกจะดิ้นบ่อยแค่ไหน อันนี้ตอบได้ยากค่ะ เพราะทารกแต่ละคนจะดิ้นมากดิ้นน้อยไม่เท่ากัน และทารกในระยะนี้สามารถดิ้นได้มากกว่า 300-400 ครั้งต่อวัน หรืออาจดิ้นได้มากถึง 700 ครั้งต่อวันค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ทารกในครรภ์ดิ้นมากในสัปดาห์นี้ คุณแม่จะรู้สึกว่าทารกดิ้นมากในสัปดาห์นี้ ดิ้นแบบกระแทกหนักๆ แรงๆ เพราะช่วงนี้พื้นที่ภายในมดลูกมีมาก ทารกสามารถดิ้นเหวี่ยงแขนเหวี่ยงขาได้ ทำให้คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นแรงมากกว่าปกติ

          • ทารกบางคนเริ่มมีการกลับหัวลงในสัปดาห์นี้ แต่ถ้ายังไม่กลับหัว ก็ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด

          • ปอดของทารกใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และทารกเริ่มฝึกการหายใจโดยการหายใจเอาน้ำคร่ำออก

          • ร่างกายของทารกเริ่มสะสมแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น เหล็ก แคลเซียม และฟอสฟอรัส โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ซึ่งสามารถอยู่ในร่างกายของทารกได้นาน 6 เดือนหลังจากคลอด และจะสะสมอีกครั้งเมื่อทารกเริ่มกินอาหารตามวัยค่ะ ซึ่งถ้าหากคุณแม่มีภาวะขาดแคลนธาตุเหล็กตั้งแต่ตอนนี้ ก็เสี่ยงที่ทารกจะคลอดมาพร้อมกับภาวะโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็กค่ะ

          • ขนอ่อนที่ปกคลุมร่างกายเพื่อให้ความอบอุ่นของทารก จะค่อย ๆ หลุดลอกออก

          • ชั้นไขมันเริ่มเกาะติดกับชั้นผิว ทำให้ตอนนี้ผิวของทารกไม่ได้เป็นสีใสอีกต่อไป แต่มีสีใกล้เคียงกับสีผิวของคุณแม่

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์


แม่ท้อง 32 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ มีดังนี้

          • มดลูกของคุณแม่ที่ท้องได้ 32 สัปดาห์ จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มดันขึ้นมาที่หน้าอก ทำให้ปอดถูกเบียดเล็กลง ส่งผลให้คุณแม่หายใจถี่ขึ้น ช่วงนี้พยายามนอนหัวสูงขึ้นจะทำให้อาการแน่นหน้าอกเหนื่อยง่ายลดน้อยลง

          • ขนาดตัวของทารกจะใหญ่ขึ้นคับเต็มภายในโพรงมดลูก บางครั้งเท้าอาจถีบขึ้นไปถึงซี่โครงมดลูกที่โตขึ้นจะไปค้ำกดชายโครงทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บชายโครงได้ โดยมากมักเจ็บทางด้านขวามากกว่าด้านซ้าย บางครั้งคุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกมีการบีบตัวอยู่บ่อย ๆ เพราะมดลูกที่ขยายตัวมากจะมีความไวต่อการกระตุ้นได้ง่าย

          • ถ้ามดลูกบีบตัวบ่อยมากขึ้นและเริ่มมีอาการเจ็บมากขึ้นควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูว่าเป็นการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดหรือไม่ เพราะช่วงที่ตั้งครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ หรือ 8 เดือน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

          • ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง จึงควรอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น วิธีนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของกระเพาะอาหารและลำไส้ได้

          • ทารกบางคนเริ่มกลับศีรษะลงแล้ว ขณะที่มดลูกจะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนไปยันกับขอบของชายโครงทั้งสองข้าง แรงกดนี้ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บชายโครงได้ให้พยายามนั่งยืนโดยยืดตัวตรง จะช่วยลดอาการเจ็บนี้ได้

อาหารคนท้อง 32 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 32 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 32 สัปดาห์ ที่พบได้บ่อยในช่วงนี้


อาการคนท้อง 32 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • ขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นของทารก ส่งผลให้ร่างกายของคุณแม่ต้องรับน้ำหนักที่มากขึ้น ทำให้รู้สึกเสียวแปลบ ชา หรือปวดร้าวจากหลังส่วนล่างลงมาที่ขา และทำให้ปวดสะโพก

          • ขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นก็ดันและเบียดกระเพาะอาหารมากขึ้น ทำให้ท้องผูกบ่อย อาหารไม่ย่อย และเป็นกรดไหลย้อนถี่ขึ้นด้วย

          • นอกจากกระเพาะอาหารแล้ว กระเพาะปัสสาวะก็ถูกเบียดมากขึ้นเช่นกัน คุณแม่จึงมีอาการปวดปัสสาวะหลายครั้งต่อวัน

          • นอกจากขนาดครรภ์ที่ใหญ่จนนอนไม่สบายตัวแล้ว ฮอร์โมนในร่างกายช่วงนี้ก็ส่งผลให้คุณแม่นอนหลับยากขึ้นด้วยเหมือนกัน

          • มีอาการท้องแข็งบ่อยขึ้น แต่ยังไม่ใช่อาการท้องแข็งที่ส่งสัญญาณใกล้คลอด

          • คุณแม่บางคนอาจพบว่ามีน้ำนมไหลออกมามากขึ้น

ตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์ สัปดาห์นี้มีนัดตรวจอะไรไหม


สัปดาห์นี้ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะนัดเข้ามาทำการตรวจครรภ์ค่ะ โดยจะดูว่าทุกอย่างยังเป็นปกติดีไหม ทารกในครรภ์ยังเจริญเติบโตตามปกติหรือเปล่า การดิ้นเป็นอย่างไร คุณแม่มีอาการผิดปกติในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่

เพื่อให้แน่ใจว่าการตั้งครรภ์ยังเป็นไปด้วยดี และไม่มีภาวะเสี่ยงใด ๆ ส่วนกรณีที่มีภาวะอันตราย แพทย์ก็จะเริ่มเตรียมแผนรับมือและป้องกันความเสี่ยงนั้น ๆ

ท้อง 32 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 32 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย ปกติไหม

อาการท้องแข็งในคนท้องไตรมาสสามนั้นถือว่าเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เป็นเรื่องปกติค่ะ ซึ่งอาการท้องแข็งบ่อยจะปกติก็ต่อเมื่ออาการปวดจากอาการท้องแข็งนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และสามารถทุเลาได้เอง โดยการเปลี่ยนอริยาบถ การนอนพัก หรือการกินยาแก้ปวดสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้

แต่...ถ้าหากมีอาการท้องแข็งบ่อย และมีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดแต่ละครั้งใช้เวลานาน และอาการไม่ทุเลาลงแม้ว่าจะนอนพักหรือกินยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น อันนี้ถือว่าไม่ปกติ และควรไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจเสี่ยงที่ปากมดลูกจะเปิด และเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 32 สัปดาห์ ปวดหน่วง เกิดจากอะไร

อาการปวดหน่วงที่ท้อง โดยมากมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูก การยืดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่หน้าท้อง ซึ่งอาการปวดแบบนี้จะปวดเป็นพัก ๆ ไม่นานก็หาย นอนพัก กินยา หรือเปลี่ยนอริยาบถก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ท้อง 32 สัปดาห์ ปวดอวัยวะเพศ

ท้อง 32 สัปดาห์ ปวดจิมิ หรือเจ็บที่อวัยวะเพศ อาจมีสาเหตุมาจากเอ็นกระดูกเชิงกรานยืดออกเพื่อรองรับน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในช่องคลอดยืดออก จึงทำให้รู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศได้

ซึ่งอาการปวดมิจินี้ถือว่าพบได้โดยทั่วไปสำหรับคนท้องไตรมาสสองและไตรมาสสามค่ะ แต่ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดมากขึ้นกว่าเดิม แนะนำให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

ท้อง 32 สัปดาห์ มีเลือดออก อันตรายไหม

เลือดออกขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม ตอบยากค่ะ เพราะอาจมาจากสาเหตุโดยทั่วไป หรือเป็นสัญญาณอันตรายก็ได้ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจะดีที่สุด เพื่อจะได้ทราบว่าอาการเลือดออกนี้มีสาเหตุมาจากอะไร

ถ้าหากเป็นเลือดเก่าที่คั่งค้างนานแล้ว หรือเลือดจากการมีเพศสัมพันธ์ก็ถือว่าไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้าเป็นเลือดที่เกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเสี่ยงต่อการแท้ง หรือมีการคลอดก่อนกำหนด กรณีที่รุนแรงเช่นนี้ แพทย์สามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

ท้อง 32 สัปดาห์ ปวดหัวหน่าว หมายความว่าอะไร

อาการปวดหัวหน่าวในไตรมาสสามนั้น ถือเป็นธรรมชาติของคนท้อง และมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง โดยอาการปวดหัวหน่าวนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

          • ฮอร์โมนตั้งครรภ์ส่งผลให้กล้ามเนื้อมีการคลายตัว ช่องคลอดขยาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดลูก

          • ขนาดตัวของทารกและมดลูกขยาย หรือตั้งครรภ์แฝด ทำให้เชิงกรานของคุณแม่ขยายและต้องรับน้ำหนักมาก จึงรู้สึกปวดหัวหน่าวได้

          • การไหลเวียนเลือดไม่ค่อยดี เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ ก็จะทำให้ขาบวมหรือมีอาการตึงที่หัวหน่าว

          • การอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวหน่าวได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากอาการหัวหน่าวของคุณแม่นั้นรุนแรงมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ปวดจนลุกไม่ไหว ปวดจนนอนไม่หลับ หรือกินยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ดีขึ้นเลย อาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

สัญญาณเตือนการคลอดก่อนกำหนด

หากคุณแม่มีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์หรือติดต่อเบอร์ฉุกเฉินกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทันทีค่ะ

          • มีเลือดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดได้

          • มีอาการน้ำเดิน หรือสังเกตเห็นว่ามีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ

          • มดลูกบีบตัวถี่ขึ้น มีอาการปวดท้องรุนแรง และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการไม่ทุเลาลง

          • ปวดหน่วงที่อุ้งเชิงกรานร้าวไปจนถึงขา

          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้น

          • มีอาการบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลากดลงแล้วผิวหนังจะบุ๋ม ไม่คืนทรงทันที และมีความดันโลหิตขึ้นสูง นี่คือสัญญาณเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้

เตรียมพร้อมของเตรียมคลอดและของใช้สำหรับลูกน้อย

เมื่อเข้าไตรมาสสาม คุณแม่สามารถเริ่มเตรียมของต่าง ๆ ที่จะใช้หลังคลอดได้เลย เพื่อที่ว่าหากมีการคลอดขึ้นมาอย่างฉุกละหุก คุณแม่สามารถหยิบของเตรียมคลอดและไปโรงพยาบาลได้เลยทันที โดยของเตรียมคลอดสำหรับแม่และลูกน้อยที่ควรเตรียมไว้ มีดังนี้

ของใช้เตรียมคลอดสำหรับลูกน้อย

          • คาร์ซีท หรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ควรมีติดรถไว้เมื่อใกล้กำหนดคลอด

          • เสื้อผ้าสำหรับเด็กทารก เตรียมเผื่อหรือให้เพียงพอ

          • ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กทารก

          • ผ้าอ้อม ผ้าสะอาดสำหรับการเช็ดทำความสะอาด

          • ของใช้ทำความสะอาดร่างกายสำหรับเด็ก ได้แก่ ยาสระผมสำหรับเด็กแรกเกิด สบู่สำหรับเด็กแรกเกิด

          • สมุดบันทึกพัฒนาการของเด็ก

          • ผ้าห่อตัวเด็ก ควรเลือกเป็นผ้านุ่ม ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก

          • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน

ของใช้เตรียมคลอดสำหรับคุณแม่

          • เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หรือเอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพต่าง ๆ รวมถึงเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับใช้ในการแจ้งเกิด เอกสารหรือสมุดฝากครรภ์ ใบนัดแพทย์ บันทึกการตั้งครรภ์ ใบขับขี่ เอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพหรือประกันสังคม

          • ชื่อสำหรับการแจ้งเกิดเด็ก

          • เสื้อผ้าตัวหลวม เพื่อให้รู้สึกสบายตัว และไม่รัดและเสียดสีบาดแผลจากการคลอด

          • เสื้อผ้าอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชุด หรือเตรียมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยน

          • ชุดชั้นในอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชุด หรือเตรียมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยน

          • บราสำหรับให้นม เพื่อช่วยให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้อย่างสะดวกมากขึ้น

          • แผ่นซับน้ำนม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมส่วนเกินไหลออกมาเปื้อนเสื้อผ้า

          • ผ้าอนามัยหลังคลอด เพื่อซับเปลี่ยนน้ำคาวปลาหลังคลอด

          • ของใช้ทำความสะอาดร่างกาย ได้แก่ ครีมอาบน้ำหรือสบู่ ยาสระผม ครีมนวดผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก

          • ของใช้ส่วนตัว ได้แก่ ครีมทาผิว ครีมทาหน้า โรลออนระงับกลิ่นกาย ลิปบาล์ม เครื่องสำอาง หวีผม ยางรัดผม

          • ของใช้อื่น ๆ ตามแต่ไลฟ์สไตล์ เช่น หูฟัง หนังสือ คอมพิวเตอร์แบบพกพา ไอแพด โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ กล้อง

          • ขนมหรืออาหารที่สามารถกินได้หลังคลอด และมีประโยชน์ในการสร้างน้ำนม

          • เงินสด หรือบัตรเครดิต

          • ยารักษาโรค หรือยาที่แพทย์แนะนำ

          • รองเท้าแตะสำหรับใส่ในบ้าน

          • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน

          • ขวดสำหรับใส่น้ำดื่ม หรือน้ำดื่ม

รับมือกับกรดไหลย้อนและอาการท้องผูก

คุณแม่ที่มีอาการกรดไหลย้อนและอาการท้องผูกบ่อย ๆ สามารถรับมือได้ ดังนี้

รับมือกับอาการกรดไหลย้อน

          • แบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อ ช่วยให้กระเพาะอาหารสามารถย่อยอาหารได้ดีกว่าการกินอาหารมื้อใหญ่ทีเดียว

          • กินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด เพื่อให้กระเพาะอาหารสามารถย่อยอาหารได้ดีขึ้น หากเคี้ยวไม่ละเอียด อาหารชิ้นใหญ่เกินไป ใช้เวลาย่อยนานขึ้น

          • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ทั้งเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดอง ของทอด และแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้อาการกรดไหลย้อนแย่ลง

          • ไม่กินข้าวคำ น้ำคำ เพราะจะยิ่งทำให้มีของเหลวในกระเพาะอาหารมากขึ้น เสี่ยงที่อาหารและกรดในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหารง่ายขึ้น

          • ไม่นอนทันทีหลังจากที่กินอาหารเสร็จ เพราะกระเพาะอาหารยังทำการย่อยอาหารอยู่ เสี่ยงจะทำให้เกิดอาการกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น

          • ยาลดกรดในกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ปลอดภัยต่อคนท้อง แม่ท้องสามารถกินเพื่อบรรเทากรดในกระเพาะอาหารได้ค่ะ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเลย แม้ว่าจะกินยาก็แล้ว ปรับพฤติกรรมการกินก็แล้ว ควรไปพบแพทย์ค่ะ

รับมือกับอาการท้องผูก

          • กินอาหารที่มีกากใย หรือมีไฟเบอร์สูง เพื่อเพิ่มปริมาณกากใยในลำไส้ และกระตุ้นการเคลื่อนตัวภายในลำไส้ได้เร็วขึ้น

          • ดื่มน้ำให้มากขึ้น จะช่วยให้อุจาระอ่อนนุ่ม ง่ายต่อการขับถ่าย

          • แบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ เพื่อให้กระเพาะอาหารมีเวลาในการย่อยอาหารมากขึ้น ไม่ทำงานหนักจนเกินไป

          • ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ป้องการอาการท้องผูก

          • หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาหรือรับยาที่เหมาะสมจากแพทย์ค่ะ ไม่ควรซื้อยาแก้ท้องผูกมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางชนิดเสี่ยงเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ได้

คลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอดดีนะ

การคลอดที่ดีที่สุดคือการคลอดธรรมชาติ เพราะเด็กจะได้รับจุลินทรีย์ธรรมชาติและสารภูมิคุ้มกันจากช่องคลอดของแม่ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เด็กแข็งแรง มีแนวโน้มช่วยลดความเสี่ยงของภูมิแพ้ต่าง ๆ ได้ และช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็วขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แม่ทุกคนที่อยู่ในสภาวะที่พร้อมต่อการคลอดธรรมชาติ เพราะบางครั้งทารกอาจตัวใหญ่เกินกว่าที่จะคลอดธรรมชาติ หรือทารกไม่ยอมกลับหัว หรือเกิดอุบัติเหตุคลอดธรรมชาติ เช่น แม่หมดสติระหว่างคลอด หรือมีภาวะเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้แม่ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้สำเร็จ

แพทย์ก็จะวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก แต่ถ้าหากคุณแม่ไม่ได้มีความผิดปกติใด ๆ ทารกไม่ได้มีความเสี่ยงใด และไม่ได้มีความยึดมั่นถือมั่นกับฤกษ์คลอด แพทย์ก็แนะนำให้ทำการผ่าคลอดจะดีกว่าค่ะ

รู้จักกับ “น้ำนมเหลือง”

น้ำนมเหลือง หรือ Colostrum เป็นน้ำนมแรกของแม่ที่จะไหลออกมาก่อนน้ำนมส่วนอื่น ๆ โดยน้ำนมเหลืองนี้จัดว่าเป็นนมแม่ส่วนที่ดีที่สุด อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายร้อยชนิด เช่น แลคโตเฟอร์ริน, MFGM, DHA เป็นต้น

ซึ่งสารอาหารในระยะน้ำนมเหลืองนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการครบรอบด้านทั้งสมอง ภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารของทารก มากไปกว่านั้น น้ำนมเหลือง ยังถือได้ว่าว่าเป็นวัคซีนเข็มแรกของลูก เนื่องจากมีสารภูมิคุ้มกันซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม น้ำนมเหลืองนั้นจะไหลออกมาแค่เพียง 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเลยค่ะว่า ทำไมคุณแม่ควรรีบให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะถ้าหากพ้นไปจาก 1-3 วันหลังคลอดแล้ว ทารกก็จะพลาดโอกาสที่จะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่ดีที่สุดช่วงนี้ไปค่ะ

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 32 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์?

การคลอดก่อนกำหนด ถือว่าเป็นภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ และส่งผลเสียต่อทารกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น

          • ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์

          • อวัยวะและระบบภายในร่างกายยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ทุกระบบ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

          • เสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อสูง เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์

          • เสี่ยงที่จะมีปัญหาการมองเห็น เนื่องจากจอประสาทตายังไม่สมบูรณ์

          • เสี่ยงที่จะมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ เพราะถึงแม้ว่าปอดจะพัฒนามากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์

          • ระบบลำไส้ของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงเสี่ยงที่จะเกิดลำไส้อักเสบ หรือลำไส้เน่าได้

          • ทารกอาจเกิดมามีพัฒนาการด้านต่าง ๆ หรือบางอย่างที่ช้ากว่าเด็กทั่วไปที่คลอดตามกำหนด

ท้อง 32 สัปดาห์ ปวดเชิงกราน ปกติไหม?

ขนาดตัวของทารกและมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น หรือการตั้งครรภ์แฝด ทำให้เชิงกรานของคุณแม่ขยายและต้องรับน้ำหนักมากขึ้น จึงรู้สึกปวดที่เชิงกรานหรือปวดตามหัวหน่าวได้ค่ะ แต่ถ้าอาการปวดรุนแรงและไม่ทุเลาลงเลย คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ท้อง 32 สัปดาห์ น้ำคร่ำน้อย อันตรายไหม?

ภาวะน้ำคร่ำน้อยถือว่าอันตรายค่ะ โดยจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ และมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ทารกเสียชีวิตได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณแม่ควรต้องไปพบแพทย์ทุกครั้งตามนัด เพื่อที่แพทย์จะได้สามารถติดตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ได้อย่างทันท่วงที

ท้อง 32 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าขวาง น่ากังวลไหม?

ขึ้นอยู่กับว่า ลูกอยู่ในท่าขวาง แล้วเปลี่ยนท่ากลับมาอยู่ในท่าปกติไหม เพราะทารกในระยะนี้สามารถเปลี่ยนแปลงท่าทางได้ตลอดเวลาค่ะ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์อีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าการนอนในท่าขวางของทารกจะปลอดภัยต่อจริง ๆ และไม่ส่งผลเสียใด ๆ

ท้อง 32 สัปดาห์ หายใจไม่ค่อยออก เป็นเรื่องปกติหรือเปล่า?

เนื่องจากขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนเบียดและดันขึ้นมาที่หน้าอก ทำให้ปอดถูกเบียดจนมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้คุณแม่หายใจถี่ขึ้น มีอาการแน่นหน้าอก และหายใจไม่ค่อยออกค่ะ

การนอนโดยยกศีรษะให้สูงขึ้น อาจช่วยให้อาการหายใจไม่ออกดีขึ้นได้ แต่ถ้าคุณแม่หายใจไม่ออก แล้วเริ่มหน้ามืด หรือหมดสติบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ท้อง 32 สัปดาห์ ท้องเสีย ควรดูแลตัวเองอย่างไร?

คุณแม่ที่ท้องเสีย สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้

          • กินอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

          • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่รสเผ็ดจัด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบย่อยอาหารและทำให้ท้องเสียแย่ลง

          • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้อาการท้องเสียหนักขึ้นได้

          • ดื่มน้ำ หรือดื่มเกลือแร่สำหรับอาการท้องเสีย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้

          • ในกรณีที่มีอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ คุณแม่ควรกินยาตามที่แพทย์สั่ง คนท้องไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษากับแพทย์ เพราะยาบางอย่างอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้

          • แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นเลย หรือท้องเสียติดต่อกัน 1-2 วัน คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner