ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 34 สัปดาห์ อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 34 สัปดาห์ อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว หนักประมาณ 2.2 กิโลกรัม หรือมีขนาดพอ ๆ กับ ผลแคนตาลูป
  • อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ เซลล์สมองทารกในครรภ์ขยายขนาดโตขึ้น มีการแผ่ขยายสร้างโยงใยของระบบประสาทมากขึ้น มีการเชื่อมโยงประสานของเส้นใยมากขึ้น
  • อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ทารกในครรภ์จะเริ่มกลับหัว อยู่ในท่าเอาศีรษะลงมาอยู่เหนือช่องเชิงกราน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะออกมาดูโลกแล้ว

ท้อง 34 สัปดาห์ อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 34 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 34
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 34 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 34 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 34 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 34 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 34 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

แม่ท้อง 34 สัปดาห์เริ่มตื่นเต้นและใจจดจ่อกับวันคลอดมากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ Enfa ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจไปพร้อม ๆ กันกับคุณแม่จนกว่าจะถึงวันคลอดด้วยคนค่ะ

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ช่วงอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ถือว่าเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของทารกน้อยและคุณแม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ แต่จะมีอะไรเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้บ้างนั้น มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้เลยค่ะ

ท้อง 34 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


สัปดาห์นี้ทารกจะมีพัฒนาการด้านสมองที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ระบบสมองและเซลล์ประสาทของทารกทำงานเชื่อมต่อกันอย่างไม่หยุดยั้ง มากไปกว่านั้น ทารกหลายคนจะเริ่มกลับหัวลงในสัปดาห์นี้แล้วค่ะ

แต่ถ้าลูกน้อยยังไม่ยอมกลับหัวตอนนี้ ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ เพราะลูกน้อยอาจจะเริ่มกลับหัวในสัปดาห์ถัดไปก็ได้

ท้อง 34 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 34 สัปดาห์หลายคนยังสามารถเปลี่ยนท่าทางเอาหัวขั้น และเอาหัวลงอยู่บ้าง แต่ทารกหลายคนก็เริ่มอยู่ในท่าที่พร้อมคลอดแล้วค่ะ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทารกทุกคนนะคะที่เริ่มกลับหัวในสัปดาห์นี้ ทารกบางคนอาจจะเริ่มกลับหัวในช่วงสัปดาห์ที่ 35 เป็นต้นไป แต่เด็กหลายคนก็จะเริ่มกลับหัวในระหว่างสัปดาห์ที่ 32-36 สัปดาห์ค่ะ

อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 8 เดือน 2 สัปดาห์ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 34 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในสัปดาห์นี้ มีแต่พัฒนาเพิ่มมากขึ้น ไม่มีหยุดนิ่ง ซึ่งระบบต่าง ๆ ของทารกในสัปดาห์นี้ก็พัฒนามาจนใกล้จะถึงจุดสมบูรณ์แล้วค่ะ

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 34 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว มีขนาดพอ ๆ กับ ผลแคนตาลูปค่ะ

ท้อง 34 สัปดาห์ ลูกหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 2.2 กิโลกรัมค่ะ

ท้อง 34 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากแค่ไหนกัน

ในสัปดาห์ที่ 34 นี้ พื้นที่ภายในมดลูกนั้นยังกว้างพอที่จะทำให้ทารกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ อีกทั้งระบบร่างกายของทารกก็พัฒนามาจนเกือบสมบูรณ์แล้ว ทำให้การตอบสนองต่อแสง สี เสียงทำได้ดีขึ้น เวลาคุยกัน อ่านนิทาน หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง ลูกสามารถจะตอบโต้ด้วยการดิ้นหรือเตะท้องได้มากขึ้น

แต่ถ้าถามว่าลูกจะดิ้นบ่อยแค่ไหน อันนี้ตอบได้ยากค่ะ เพราะทารกแต่ละคนจะดิ้นมากดิ้นน้อยไม่เท่ากัน และทารกในระยะนี้สามารถดิ้นได้มากกว่า 300-400 ครั้งต่อวัน หรืออาจดิ้นได้มากถึง 700 ครั้งต่อวันค่ะ

ท้อง 34 สัปดาห์ ลูกกลับหัวหรือยัง

ทารกหลายคนเริ่มมีการกลับหัวอยู่ในท่าที่พร้อมคลอดในระหว่างสัปดาห์ที่ 32-36 ของการตั้งครรภ์ค่ะ ซึ่งในสัปดาห์นี้ลูกน้อยของคุณแม่อาจจะกลับหัวแล้วก็ได้ แต่ถ้ายังไม่กลับหัวในตอนนี้ ก็อาจจะเริ่มกลับหัวในสัปดาห์ถัดไปค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ มีดังนี้

          • เซลล์สมองทารกในครรภ์ขยายขนาดโตขึ้น มีการแผ่ขยายสร้างโยงใยของระบบประสาทมากขึ้น สมองมีการหยักตัวเป็นร่องเพิ่มขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ เพื่อเป็นแหล่งเก็บสะสมข้อมูลยิ่งเซลล์สมองมีขนาดใหญ่

มีเส้นใยมาก ยิ่งมีการเชื่อมโยงประสานของเส้นใยมาก และมีร่องสมองมาก ก็ยิ่งทำให้มีความจำ มีการเรียนรู้ และรับรู้ข้อมูลต่างๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          • ไขมันเริ่มสะสมใต้ผิวหนังมากขึ้นในระหว่างอายุครรภ์ 34 สัปดาห์นี้ เพื่อเตรียมพร้อมให้ทารกรู้สึกอบอุ่นตอนออกไปเจอโลกภายนอก ไขมันช่วยทำให้ผิวของทารกเรียบตึงขึ้นด้วย

          • ระบบประสาทส่วนกลางและปอดเริ่มพัฒนาจนเกือบสมบูรณ์

          • ต่อมหมวกไตของเขาจะผลิตฮอร์โมนสเตียรอยด์มากขึ้นเป็น 10 เท่า

          • เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์แล้ว ส่วนใหญ่ทารกในครรภ์จะอยู่ในท่าเอาศีรษะลงมาอยู่เหนือช่องเชิงกรานในท่ากลับหัวและเตรียมพร้อมที่จะออกมาดูโลกแล้ว

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 34 สัปดาห์


แม่ท้อง 34 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ มีดังนี้

          • ในช่วงที่คุณแม่ท้อง 34 สัปดาห์ จะรู้สึกอึดอัดมากขึ้น รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียมากขึ้นเพราะท้องที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้ตอนกลางคืนนอนหลับไม่สนิท อีกทั้งปวดปัสสาวะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ พอตื่นเช้ามาจึงเหมือนยังนอนหลับไม่พอ

          • ช่วงระหว่างอายุครรภ์ 34 สัปดาห์นี้ ให้คุณแม่งดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงให้น้อยลง เพื่อเก็บพลังงานเตรียมพร้อมเอาไว้สำหรับการคลอด

          • คุณแม่ควรหมั่นดูแลหัวนมไม่ให้แห้ง บำรุงด้วยมอยเจอไรเซอร์เป็นประจำ และถ้าคุณแม่มีหัวนมบอดควรใช้นิ้วมือคีบและดึงออกมาบ่อยๆ หากหลังจากอายุครรภ์ 34 สัปดาห์แล้วยังมีปัญหาเรื่องหัวนมบอด ควรรีบปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ

          • ขนาดท้องของคุณแม่ตอนนี้ก็ยังคงใหญ่ขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดไปหมดไม่ว่าจะขยับตัวไปทำอะไรก็ตาม และบางคนเริ่มกินอาหารได้น้อยลง เพราะรู้สึกอึดอัดท้อง กินเข้าไปนิดหน่อยก็รู้สึกอิ่มซะแล้ว

          • อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการตั้งครรภ์ในไตรมาสสาม ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นและหนักมากถึง 1 กิโลกรัม จึงทำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น แต่...คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติ ยังจำเป็นที่จะต้องดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นมาไม่เกิน 3.5-4.5 กิโลกรัม หรือไม่ควรเกิน 5 กิโลกรัมในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ค่ะ

อาหารคนท้อง 34 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 34 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 34 สัปดาห์ ที่พบได้ในช่วงนี้


อาการคนท้อง 34 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • ทารกเริ่มมีการออกแรงดันลงมาที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ปวดหน่วงที่หัวหน่าวแล้ว ยังทำให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อยขึ้นอีกด้วย

          • รอยแตกลายเริ่มชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งรอยแตกลายมากขึ้น อาการคันก็ยิ่งตามมา

          • คุณแม่เริ่มทำอะไรได้ช้าลง เพราะเหนื่อยง่าย เนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักของทารกที่มากถึง 2.2 กิโลกรัมอยู่ตลอดเวลา

          • ปวดเมื่อยอวัยวะส่วนล่างมากขึ้น เพราะทารกเริ่มกลับหัวลง และออกแรงกดลงมาที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น ทำให้ปวดร้าวลงสะโพก ปวดขา และเท้าบวมมากขึ้นด้วย

          • นอนไม่ค่อยหลับยังคงเป็นปัญหาสามัญประจำคนท้อง เพราะขนาดครรภ์ที่ใหญ่จนอึดอัด ทำให้นอนไม่ค่อยสบาย แนะนำให้คุณแม่นอนในท่าตะแคงซ้าย จะช่วยกระจายการรับน้ำหนักของทารกในครรภ์ได้ดีขึ้น รวมถึงการใช้หมอนรองที่หลังก็ช่วยให้สบายตัวมากขึ้นด้วย

อยู่ดี ๆ น้ำนมก็ไหล ต้องทำยังไงดีนะ

อาการน้ำนมไหลช่วงไตรมาสสามถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ นี่คือสัญญาณที่บอกว่าเต้านมมีการผลิตน้ำนมที่พร้อมสำหรับจะป้อนทารกหลังคลอดแล้ว และนับถอยหลังจากนี้อีกไม่นานก็จะมีการคลอดก็จะเกิดขึ้น

ซึ่งอาการน้ำนมไหลออกมานี้ อาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกรำคาญ ไม่สบายตัว เพราะรู้สึกเฉอะแฉะที่หัวนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมีน้ำนมไหลออกมาแทบจะทั้งวัน ก็อาจจะทำให้รู้สึกรำคาญหรือเฉอะแฉะมากขึ้นไปอีก คุณแม่สามารถใช้แผ่นแปะซับน้ำนมได้ค่ะ จะช่วยลดความชื้นแฉะให้น้อยลงได้ ทำให้รู้สึกสบายตัวมากขึ้น

ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ สัปดาห์นี้มีนัดตรวจอะไรไหม


สัปดาห์นี้แพทย์อาจจะนัดให้คุณแม่เข้ามาทำการตรวจครรภ์และติดตามการตั้งครรภ์ตามปกติ โดยนอกจากจะตรวจพัฒนาการของทารกตามปกติแล้ว แพทย์อาจจะมีการวัดอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในช่วงเวลา 20 นาที เพื่อดูว่าทารกมีปฏิกิริยาตอบสนองตามปกติหรือไม่

มากไปกว่านั้น แพทย์อาจจะมีการสอบถามและทดสอบความเครียดของคุณแม่ด้วยว่าช่วงนี้เครียดมากขึ้นไหม วิตกกังวลมากขึ้นหรือเปล่า สภาวะจิตใจเป็นอย่างไร เพราะถ้าหากคุณแม่เครียดมากเกินไป จะส่งผลต่อทารกในครรภ์และเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่


อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย ปกติไหม

ท้อง 34 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไปในคนท้องไตรมาสสามค่ะ อย่างไรก็ตาม อาการท้องแข็งบ่อยจะปกติก็ต่อเมื่ออาการปวดจากอาการท้องแข็งนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และสามารถทุเลาได้เอง โดยการเปลี่ยนอริยาบถ การนอนพัก หรือการกินยาแก้ปวดสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้

แต่...ถ้าหากมีอาการท้องแข็งบ่อย และมีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดแต่ละครั้งใช้เวลานาน และอาการไม่ทุเลาลงแม้ว่าจะนอนพักหรือกินยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น อันนี้ถือว่าไม่ปกติ และควรไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจเสี่ยงที่ปากมดลูกจะเปิด และเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ปวดหน่วง ปกติไหม

อาการปวดหน่วงที่ท้อง ถามว่าควรกังวลไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าอาการปวดหน่วงนั้นรุนแรงมากแค่ไหน เพราะโดยมากแล้วคนท้องจะมีอาการปวดหน่วงเนื่องจากการขยายตัวของมดลูก การยืดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่หน้าท้องอยู่แล้ว

ซึ่งอาการปวดแบบนี้จะปวดเป็นพัก ๆ ไม่นานก็หาย นอนพัก กินยา หรือเปลี่ยนอริยาบถก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ท้อง 34 สัปดาห์ ปวดจิมิ ปกติหรือไม่

ท้อง 34 สัปดาห์ ปวดจิมิ หรือเจ็บที่อวัยวะเพศ อาจมีสาเหตุมาจากเอ็นกระดูกเชิงกรานยืดออกเพื่อรองรับน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในช่องคลอดยืดออก จึงทำให้รู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศได้

ซึ่งอาการปวดมิจินี้ถือว่าพบได้โดยทั่วไปสำหรับคนท้องไตรมาสสองและไตรมาสสามค่ะ แต่ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดมากขึ้นกว่าเดิม แนะนำให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

ท้อง 34 สัปดาห์ มีเลือดออก อันตรายไหม

เลือดออกขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม ตอบยากค่ะ เพราะอาจมาจากสาเหตุโดยทั่วไป หรือเป็นสัญญาณอันตรายก็ได้ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจะดีที่สุด เพื่อจะได้ทราบว่าอาการเลือดออกนี้มีสาเหตุมาจากอะไร

ถ้าหากเป็นเลือดเก่าที่คั่งค้างนานแล้ว หรือเลือดจากการมีเพศสัมพันธ์ก็ถือว่าไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้าเป็นเลือดที่เกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเสี่ยงต่อการแท้ง หรือมีการคลอดก่อนกำหนด กรณีที่รุนแรงเช่นนี้ แพทย์้สามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

ท้อง 34 สัปดาห์ หายใจไม่สะดวก คืออะไร

เนื่องจากขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนเบียดและดันขึ้นมาที่หน้าอก ทำให้ปอดถูกเบียดจนมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้คุณแม่หายใจถี่ขึ้น มีอาการแน่นหน้าอก และหายใจไม่ค่อยออกค่ะ

การนอนโดยยกศีรษะให้สูงขึ้น อาจช่วยให้อาการหายใจไม่ออกดีขึ้นได้ แต่ถ้าคุณแม่หายใจไม่ออก แล้วเริ่มหน้ามืด หรือหมดสติบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 34 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

เฝ้าระวังการคลอดก่อนกำหนด

คุณแม่ควรสังเกตร่างกายและอาการต่าง ๆ อยู่เสมอค่ะ เพื่อดูว่ามีอาการใด ๆ ที่อาจจะนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดหรือไม่

หากคุณแม่มีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์หรือติดต่อเบอร์ฉุกเฉินกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทันทีค่ะ

          • มีเลือดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดได้

          • มีอาการน้ำเดิน หรือสังเกตเห็นว่ามีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ

          • มดลูกบีบตัวถี่ขึ้น มีอาการปวดท้องรุนแรง และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการไม่ทุเลาลง

          • ปวดหน่วงที่อุ้งเชิงกรานร้าวไปจนถึงขา

          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้น

          • มีอาการบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลากดลงแล้วผิวหนังจะบุ๋ม ไม่คืนทรงทันที และมีความดันโลหิตขึ้นสูง นี่คือสัญญาณเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้

มาลองฝึกหายใจเตรียมตัวสำหรับการคลอด

การฝึกหายใจให้ชินถือว่ามีประโยชน์ต่อการคลอดมากค่ะ เพราะถ้าหายใจถูกจังหวะ ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และยังช่วยให้คุณแม่มีแรงเพียงพอที่จะเบ่งคลอดต่อไปด้วย โดยการฝึกหายใจเตรียมคลอด สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้

1. การหายใจแบบลึก และช้า

คุณแม่ควรเริ่มหายใจแบบลึกและช้า ในช่วงแรกที่เริ่มเจ็บท้อง เพราะเป็นช่วงที่มดลูกยังไม่บีบรัดตัวแรงมาก คุณแม่จึงยังไม่รู้สึกทรมานนัก

วิธีการฝึก:

          • เมื่อเริ่มเจ็บท้อง ให้คุณแม่สูดลมหายใจเข้าปอดลึก ๆ และช้า ๆ นับจังหวะ 1-5 แบบช้า ๆ จนครบ
          • จากนั้นค่อย ๆ หายใจออกทางปากช้า ๆ แล้วนับจังหวะ 1-5
          • เมื่อมดลูกเริ่มคลาย และรู้สึกเจ็บน้อยลง ให้คุณแม่หายใจเข้า-ออกอย่างเต็มที่ 1 ครั้ง จากนั้นคุณแม่ค่อย ๆ หายใจตามปกติเป็นการเสร็จสิ้น

2. การหายใจแบบตื้น เร็วและเบา (แบบเป่าเทียน)

ในกรณีที่คุณแม่เจ็บครรภ์แรง และปากมดลูกเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่จะมีอาการปวดรุนแรงมาก ควรใช้การหายใจแบบตื้นและเร็ว

วิธีการฝึก:

          • เมื่อมดลูกบีบตัว และคุณแม่เริ่มเจ็บท้อง ให้คุณแม่หายใจเข้า-ออก เต็มที่ 1 ครั้ง
          • จากนั้นหายใจเข้าทางจมูกแบบตื้น เร็ว และเบา 4-6 ครั้ง ติดต่อกันแบบเร็ว ๆ ให้นึกภาพว่ากำลังหายใจในเวลาเหนื่อยหอบค่ะ
          • เวลาหายใจ ให้คุณแม่หายใจออกโดยการห่อปาก และเป่าลมออกทางปากเบา ๆ 1 ครั้ง
          • ให้คุณแม่หายใจแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมดลูกเริ่มคลายตัว และอาการปวดทุเลาลง แล้วเปลี่ยนมาหายใจแบบลึกและช้า

เจ็บท้องจริงกับเจ็บท้องหลอกต่างกันตรงไหน

อาการเจ็บท้องหลอก และ เจ็บท้องจริงนั้น ค่อนข้างจะมีความแตกต่างกันค่ะ ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

อาการเจ็บท้องหลอก คุณแม่จะมีอาการดังนี้

          • จะมีการหดตัวของมดลูกบ่อย แต่จะไม่หดตัวติด ๆ กัน หรือมีการหดตัวน้อยกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

          • การหดตัวแต่ละครั้งจะทำให้รู้สึกปวดท้องนานราว ๆ 10-20 วินาที และปวดที่บริเวณท้องส่วนหน้า หรือบริเวณเชิงกราน

          • อาการปวดท้องสามารถหายเองได้เพียงแค่เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้

อาการเจ็บท้องจริง คุณแม่จะมีอาการดังนี้

          • มีการหดตัวของมดลูกบ่อย แต่มีการหดตัวติด ๆ กัน หรือมีการหดตัวมากกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

          • การหดตัวแต่ละครั้งจะทำให้รู้สึกปวดท้องนานราว ๆ 30-70 วินาที

          • มีอาการปวดตั้งแต่ช่วงหลังส่วนหน้า แล้วลามไปยังบริเวณท้องส่วนหน้า หรือบางทีก็เริ่มปวดมาตั้งแต่ท้องส่วนหน้า และลามไปยังบริเวณหลังส่วนล่าง

          • อาการปวดท้องสามารถหายเองได้เพียงแค่เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้

          • มีมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด และมีอาการน้ำเดินด้วย

          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

อาการท้องแข็งแบบไหนที่ควรกังวล

อาการท้องแข็งในคนท้องไตรมาสสามนั้นถือว่าเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เป็นเรื่องปกติค่ะ ซึ่งอาการท้องแข็งบ่อยจะปกติก็ต่อเมื่ออาการปวดจากอาการท้องแข็งนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และสามารถทุเลาได้เอง โดยการเปลี่ยนอริยาบถ การนอนพัก หรือการกินยาแก้ปวดสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้

แต่...ถ้าหากมีอาการท้องแข็งบ่อย และมีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดแต่ละครั้งใช้เวลานาน และอาการไม่ทุเลาลงแม้ว่าจะนอนพักหรือกินยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น อันนี้ถือว่าไม่ปกติ และควรไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจเสี่ยงที่ปากมดลูกจะเปิด และเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ทำความรู้จักกับ “น้ำนมเหลือง”

น้ำนมเหลือง หรือ Colostrum เป็นน้ำนมแรกของแม่ที่จะไหลออกมาก่อนน้ำนมส่วนอื่น ๆ โดยน้ำนมเหลืองนี้จัดว่าเป็นนมแม่ส่วนที่ดีที่สุด ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายร้อยชนิด เช่น แลคโตเฟอร์ริน, MFGM, DHA เป็นต้น

ซึ่งสารอาหารในระยะน้ำนมเหลืองนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการครบรอบด้านทั้งสมอง ภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารของทารก มากไปกว่านั้น น้ำนมเหลือง ยังถือได้ว่าว่าเป็นวัคซีนเข็มแรกของลูก เนื่องจากมีสารภูมิคุ้มกันซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม น้ำนมเหลืองนั้นจะไหลออกมาแค่เพียง 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเลยค่ะว่า ทำไมคุณแม่ควรรีบให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะถ้าหากพ้นไปจาก 1-3 วันหลังคลอดแล้ว ทารกก็จะพลาดโอกาสที่จะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่ดีที่สุดช่วงนี้ไปค่ะ

เลือกซื้อคาร์ซีทสำหรับเด็กแรกเกิดอย่างไร

สำหรับต่างประเทศ คาร์ซีทไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องจำเป็นจะต้องมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็กขณะโดยสารกับรถยนต์

ขณะที่ประเทศไทยยังมีการตระหนักถึงเรื่องคาร์ซีทกันอยู่น้อยมาก แม้ในปัจจุบันจะมีการออกกฎหมายเรื่องคาร์ซีทแล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความตื่นตัวนั้นยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก

ซึ่งคาร์ซีทถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับเด็กเล็ก เพราะถูกออกแบบมาเพื่อช่วยป้องกันการบาดเจ็บของเด็กเมื่อเกิดอุบัติเหตุในขณะเดินทางด้วยรถยนต์ เนื่องจากระบบความปลอดภัยบนรถยนต์ เช่น เบาะนั่ง เข็มขัดนิรภัย หรือถุงลมนิรภัย

เหล่านี้ล้วนออกแบบมาเพื่อสรีระของผู้ใหญ่ และไม่รองรับสรีระของเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี โดยการเลือกคาร์ซีท คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาเลือกซื้อคาร์ซีทที่มีคุณภาพ ดังนี้

          • เลือกซื้อคาร์ซีทที่ผลิตออกมาใหม่และล่าสุดเสมอ ไม่ควรเลือกซื้อคาร์ซีทมือสอง หรือผลิตมาหลายปีแล้ว เนื่องจากอาจจะมีความเสื่อมสภาพ

          • ในกรณีที่จะใช้คาร์ซีทมือสอง ควรรับเฉพาะคาร์ซีทจากเพื่อนหรือครอบครัวที่สนิทกันและรู้ประวัติกันเป็นอย่างดีเท่านั้น คาร์ซีทไม่ควรจะเก่าเกินไป เพราะประสิทธิภาพความปลอดภัยอาจลดลงตามอายุการใช้งาน

          • เลือกคาร์ซีทสำหรับทารกหรือเด็กที่เหมาะสมกับส่วนสูงและน้ำหนักในปัจจุบันของลูกเสมอ

          • ก่อนจะไปซื้อคาร์ซีท ต้องตรวจสอบรถยนต์ของที่บ้านดูก่อนด้วยว่ามีระบบการติดตั้งแบบใด รถยนต์รองรับระบบ ISOfix หรือ ISOfit เพื่อจะได้ซื้อคาร์ซีทได้ตรงกับระบบการติดตั้งของรถยนต์

          • เลือกซื้อคาร์ซีทกับสถานบริการที่เชื่อถือได้ พนักงานติดตั้งมีความชำนาญ อย่าเลือกเพราะโปรโมชั่นหรือของแถม เพราะความปลอดภัยของลูกไม่ใช่โปรโมชั่นที่เสียไปแล้วจะหามาทดแทนใหม่ได้นะคะ

          • หากเป็นไปได้ควรเลือกคาร์ซีทที่มีความปลอดภัยมาตรฐานของสหภาพยุโรปหรืออียู เพราะสามารถเชื่อมั่นได้ว่ามีการผลิตตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรเตรียมให้เจ้าตัวน้อย

เมื่อเข้าไตรมาสสาม คุณแม่สามารถเริ่มเตรียมของต่าง ๆ ที่จะใช้หลังคลอดได้เลย เพื่อที่ว่าหากมีการคลอดขึ้นมาอย่างฉุกละหุก คุณแม่สามารถหยิบของเตรียมคลอดและไปโรงพยาบาลได้เลยทันที โดยของเตรียมคลอดสำหรับลูกน้อยที่ควรเตรียมไว้ มีดังนี้

          • คาร์ซีท หรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ควรมีติดรถไว้เมื่อใกล้กำหนดคลอด
          • เสื้อผ้าสำหรับเด็กทารก เตรียมเผื่อหรือให้เพียงพอ
          • ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กทารก
          • ผ้าอ้อม ผ้าสะอาดสำหรับการเช็ดทำความสะอาด
          • ของใช้ทำความสะอาดร่างกายสำหรับเด็ก ได้แก่ ยาสระผมสำหรับเด็กแรกเกิด สบู่สำหรับเด็กแรกเกิด
          • สมุดบันทึกพัฒนาการของเด็ก
          • ผ้าห่อตัวเด็ก ควรเลือกเป็นผ้านุ่ม ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก
          • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 34 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ ลูกไม่กลับหัว ต้องกังวลไหม?

ทารกบางคนเริ่มกลัวหัวตั้งแต่อายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์ ดังนั้น ถ้าหากลูกเริ่มกลับหัวในระยะนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกค่ะ ถ้าหากยังไม่มีอาการใกล้คลอดใด ๆ เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทารกทุกคนที่จะเริ่มกลับหัวในสัปดาห์นี้เสมอไปค่ะ และโดยมากแล้วทารกจะพร้อมกลับหัวมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 35 เป็นต้นไปค่ะ

ท้อง 34 สัปดาห์ เท้าบวม บรรเทาอาการบวมยังไงดี?

คุณแม่ที่มีอาการบวมที่เท้า หรือข้อเท้า อาจสามารถรับมือด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

          • เวลานอนให้นอนตะแคง และควรยกปลายเท้าให้สูงขึ้น โดยอาจจะใช้หมอนรองที่บริเวณข้อเท้าก็ได้ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

          • คุณแม่ควรเปลี่ยนอริยาบถบ่อย ๆ เพราะการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ จะทำให้เกิดแรงกดทับ และทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี

          • หลีกเลี่ยงการสวมแหวน กำไล หรือนาฬิกาที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้อาการบวมที่มือ หรือบวมที่นิ้วแย่ลง

          • ไม่สวมถุงเท้าและรองเท้าที่รัดแน่น เพราะจะยิ่งทำให้อาการบวมแย่ลง

          • พยายามลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะการบริโภคโซเดียมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้มีอาการตัวบวมง่าย

อย่างไรก็ตาม หากอาการบวมของคุณแม่ไม่ดีขึ้นเลย หรือเริ่มบวมจนกระทั่งกดลงไปที่เนื้อแล้วเนื้อบุ๋ม และใช้เวลาคืนทรงช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ค่ะ

พัฒนาการทารกในครรภ์ 34 สัปดาห์ เป็นอย่างไร?

พัฒนาการของทารกในระยะนี้ จะเป็นช่วงที่เข้าใกล้การเป็นระบบร่างกายที่สมบูรณ์มากขึ้น หลาย ๆ ระบบเริ่มทำงาน และหลาย ๆ ระบบก็พัฒนามากขึ้นจนจะเสร็จสิ้นการพัฒนาแล้ว

อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ทารกจะมีพัฒนาการที่โดดเด่นในเรื่องของสมอง ขนาดเซลล์สมองจะใหญ่ขึ้นและโยงใยของระบบประสาทมากขึ้น รวมถึงยังมีการหยักตัวเป็นรอยมากขึ้นอีกด้วย ขณะที่ระบบประสาทส่วนกลางและปอดก็พัฒนาจนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

รวมถึงต่อมไขมันของทารกก็มีการสะสมไขมันใต้ชั้นผิวหนังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไขมันที่เพิ่มมานี้นอกจากจะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ทารกแล้ว ยังทำให้ผิวของเจ้าตัวเล็กมีความเรียบตึง ไม่หย่อนคล้อยแบบช่วงแรก ๆ

รับมืออย่างไร เมื่อท้อง 34 สัปดาห์ ปวดหลังบ่อย?

หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแทน

          • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายบ้าง เช่น การเดิน ปั่นจักรบาน โยคะ เพื่อช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

          • เวลานอนให้ใช้หมอนรองที่หว่างขา หรือเอว หรือหลัง เพื่อลดแรงกดทับที่หลัง

          • ปรับเปลี่ยนอริยาบถให้เหมาะสม ไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังงอ เพราะจะทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้

          • ทาครีมยาบรรเทาอาการปวดหลัง

          • ไปนวดกับแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญการนวดคนท้อง และควรแจ้งกับคนนวดทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์

          • กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ

คลอดตอน 34 สัปดาห์ อันตรายไหม?

การคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดค่ะ ซึ่งการคลอดในระยะนี้แม้ว่าทารกจะมีโอกาสรอดชีวิตสูง แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่มากเช่นกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

          • ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์

          • อวัยวะและระบบภายในร่างกายยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ทุกระบบ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

          • เสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อสูง เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์

          • เสี่ยงที่จะมีปัญหาการมองเห็น เนื่องจากจอประสาทตายังไม่สมบูรณ์

          • เสี่ยงที่จะมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ เพราะถึงแม้ว่าปอดจะพัฒนามากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์

          • ระบบลำไส้ของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงเสี่ยงที่จะเกิดลำไส้อักเสบ หรือลำไส้เน่าได้

          • ทารกอาจเกิดมามีพัฒนาการด้านต่าง ๆ หรือบางอย่างที่ช้ากว่าเด็กทั่วไปที่คลอดตามกำหนด

ท้อง 34 สัปดาห์ คลอดได้ไหม?

ถ้าหากทารกคลอดตอนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากมีการคลอดเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้จริง ๆ ก็ถือว่าทารกมีโอกาสรอดสูงค่ะ เนื่องจากมีพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้เกือบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสมบูรณ์อยู่ในระดับที่ว่าถ้ามีเหตุต้องคลอดออกมาในตอนนี้ ทารกก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้

แต่...จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เนื่องจากทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ ปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ ระบบต่าง ๆ และอวัยวะอีกหลายส่วนยังทำงานได้ไม่เต็มที่เท่ากับเด็กที่คลอดตามกำหนดค่ะ

ท้องแข็งนานขนาดไหนถึงจะคลอด?

ค่อนข้างจะเจาะจงได้ยากค่ะว่ามีอาการท้องแข็งนานเท่าไหร่ก่อนจะคลอด เพราะแม่แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเจ็บท้องแข็งไม่นาน ก็มีการคลอดเกิดขึ้น

แต่บางครั้งคุณแม่อาจจะมีอาการท้องแข็งนานแล้ว แต่ปากมดลูกยังไม่เปิดสักที ก็จะยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น หรือถ้าให้ยาเร่งคลอดแล้ว แต่ปากมดลูกยังไม่เปิด ก็อาจจำเป็นจะต้องรอไปก่อน หรือถ้าหากทารกมีขนาดตัวใหญ่ ก็อาจจะวินิจฉัยให้ผ่าคลอดแทน

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณแม่มีอาการท้องแข็งหลายครั้งต่อวัน หรือมีอาการปวดท้องทุก ๆ 10-20 นาที และอาการปวดเริ่มรุนแรงขึ้น จากปวดแค่ 10-20 วินาที เป็น 40-50 วินาที และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย หรือมีอาการปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณใกล้คลอดค่ะ

ท้อง 34 สัปดาห์ ลูกโก่งตัวบ่อย ปกติไหม?

ช่วงไตรมาสสามลูกจะโก่งตัวบ่อยเป็นปกติค่ะ และไม่ส่งผลเสียอะไรต่อการตั้งครรภ์ แต่จะทำให้มดลูกบีบรัดตัวมากขึ้น และมีอาการท้องแข็งบ่อย

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าทารกมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ขนาดของมดลูกเหลือพื้นที่ในการเคลื่อนไหวน้อยลง ทารกจึงอาจจะดิ้นแรง หรือโกงตัวบ่อย ๆ เพราะรู้สึกอึดอัดกับพื้นที่แคบ ๆ นี้



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

เดินทางกับลูกน้อยอย่างปลอดภัยด้วย “คาร์ซีท”
pregnant-belly
ISOfix คืออะไร จำเป็นสำหรับการติดตั้งคาร์ซีทแค่ไหน
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner