ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 33 สัปดาห์ อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 33 สัปดาห์ อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 18-19 นิ้ว หนักประมาณ 2 กิโลกรัม หรือมีขนาดพอ ๆ กับผลทุเรียน
  • อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ กระดูกของทารกแข็งแรงและเชื่อมต่อกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมถ้าต้องคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ
  • อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ สมองของและระบบประสาทส่วนกลางของทารกพัฒนามากขึ้น เส้นใยประสาทมีการสร้างเยื่อหุ้มที่มาจากไขมัน ทำให้การส่งผ่านสัญญาณในเส้นประสาททำได้รวดเร็วขึ้นด้วย

ท้อง 33 สัปดาห์ อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 33 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 33
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 33 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 33 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 33 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 33 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 33 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 33 สัปดาห์ ทารกในครรภ์ของคุณแม่ไม่เพียงแต่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ จนเกือบจะสมบูรณ์แล้วด้วย

เรามาดูกันดีกว่าว่าคุณแม่อายุครรภ์ 33 สัปดาห์นี้ ทารกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แล้วคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นบ้างในระยะนี้ ตามไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันกับ Enfa ได้เลยค่ะ

ท้อง 33 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


ทารกในครรภ์สัปดาห์นี้มีพัฒนาการด้านสมองและระบบประสาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้จะสมบูรณ์แล้ว มากไปกว่านั้น ทารกก็เริ่มประสานการหายใจกับการดูดและการกลืนมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมกับชีวิตหลังคลอด

ท้อง 33 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 33 สัปดาห์หลายคนยังสามารถเปลี่ยนท่าทางเอาหัวขึ้น และเอาหัวลงอยู่บ้าง แต่ทารกหลายคนก็เริ่มอยู่ในท่าที่พร้อมคลอดแล้วค่ะ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทารกทุกคนนะคะที่เริ่มกลับหัวในสัปดาห์นี้ ทารกบางคนอาจจะเริ่มกลับหัวในช่วงสัปดาห์ที่ 35 เป็นต้นไป แต่เด็กหลายคนก็จะเริ่มกลับหัวในระหว่างสัปดาห์ที่ 32-36 สัปดาห์ค่ะ

อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 30 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 8 เดือน 1 สัปดาห์ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 33 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในสัปดาห์นี้ มีแต่พัฒนาเพิ่มมากขึ้น ไม่มีหยุดนิ่ง ซึ่งระบบต่าง ๆ ของทารกในสัปดาห์นี้ก็พัฒนามาจนใกล้จะถึงจุดสมบูรณ์แล้วค่ะ

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 33 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 18-19 นิ้ว มีขนาดพอ ๆ กับผลทุเรียนค่ะ

อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ น้ำหนักลูกเท่าไหร่

อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 2 กิโลกรัมค่ะ

ท้อง 33 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากแค่ไหนกัน

ในสัปดาห์ที่ 33 นี้ พื้นที่ภายในมดลูกนั้นยังกว้างพอที่จะทำให้ทารกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ อีกทั้งระบบร่างกายของทารกก็พัฒนามาจนเกือบสมบูรณ์แล้ว ทำให้การตอบสนองต่อแสง สี เสียงทำได้ดีขึ้น เวลาคุยกัน อ่านนิทาน หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง ลูกสามารถจะตอบโต้ด้วยการดิ้นหรือเตะท้องได้มากขึ้น

แต่ถ้าถามว่าลูกจะดิ้นบ่อยแค่ไหน อันนี้ตอบได้ยากค่ะ เพราะทารกแต่ละคนจะดิ้นมากดิ้นน้อยไม่เท่ากัน และทารกในระยะนี้สามารถดิ้นได้มากกว่า 300-400 ครั้งต่อวัน หรืออาจดิ้นได้มากถึง 700 ครั้งต่อวันค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ มีดังนี้

          • สมองของทารกในครรภ์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ระบบประสาทส่วนกลางของทารกพัฒนาไปอย่างมาก เส้นใยประสาทมีการสร้างเยื่อหุ้มที่มาจากไขมัน ทำให้การส่งผ่านสัญญาณในเส้นประสาททำได้รวดเร็วขึ้น มีการแผ่กิ่งก้านสาขา เพื่อเชื่อมต่อกันเป็นร่างแหของระบบประสาท

          • กระดูกของทารกแข็งแรงและเชื่อมต่อกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมถ้าต้องคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ

          • ผมของทารกหนาขึ้น สีผมในช่วงนี้อาจเปลี่ยนไป เมื่อทารกโตขึ้นขณะเดียวกัน ขนอ่อนตามส่วนต่างๆ จะหลุดร่วงไปเกือบหมดและสร้างขนชุดใหม่ที่หนาขึ้นปกคลุมไขเคลือบผิวหนัง

          • นัยน์ตาของลูกน้อยเริ่มปรับให้เข้ากับแสงสว่างหรือความมืดได้แล้ว

          • ปริมาณน้ำคร่ำของคุณแม่อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวน้อยลง คุณแม่จึงรู้สึกลูกดิ้นแรงน้อยลง แต่ความถี่ของการดิ้นยังไม่เปลี่ยนแปลง

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 33 สัปดาห์


แม่ท้อง 33 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ มีดังนี้

          • ภาวะโลหิตจางในคุณแม่ที่ท้องได้ 33 สัปดาห์จะเริ่มลดลง เนื่องจากปริมาณพลาสมาเริ่มมีปริมาณเท่ากับเซลล์เม็ดเลือดแดง อีกทั้งภาวะร่างกายของคุณแม่ในช่วงนี้จะสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารมื้อปกติเพิ่มขึ้นคุณแม่จึงไม่ต้องกังวลกับการบำรุงด้วยธาตุเหล็กอีกต่อไปแล้วเว้นแต่คุณแม่จะเป็นโรคโลหิตจาง

          • ในอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ คุณแม่จะมีอาการท้องแข็งถี่ขึ้น มดลูกอาจจะหดรัดตัวเป็นก้อนนูน การเริ่มแข็งตัวจะแข็งช้า ๆ คลายตัวช้า ๆ ไม่สม่ำเสมอ ไม่รู้สึกเจ็บท้อง แต่หากมดลูกมีการบีบตัวถี่ผิดปกติ เจ็บมากกว่าปกติ หรือ มีของเหลวไหลออกมาทางช่องคลอดด้วย คุณแม่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

          • อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มมีอาการปวดและชาที่นิ้วมือ ข้อมือและมือ คล้ายกับว่าเนื้อเยื่อในร่างกายกำลังกด ทับเส้นประสาทอยู่พยายามเหยียดนิ้วมือและข้อมือให้ตึง แช่มือในน้ำอุ่นตอนเช้า 5 -10 นาที จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นอาการปวดและชาจะลดลง

          • อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการตั้งครรภ์ในไตรมาสสาม ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นและหนักมากถึง 2 กิโลกรัม จึงทำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น แต่...คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติ ยังจำเป็นที่จะต้องดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นมาไม่เกิน 3.5-4.5 กิโลกรัม หรือไม่ควรเกิน 5 กิโลกรัมในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ค่ะ

อาหารคนท้อง 33 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 33 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 33 สัปดาห์ ที่พบได้บ่อยช่วงนี้


อาการคนท้อง 33 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • มีอาการร้อนวูบวาบบ่อยขึ้น เนื่องมาจากระบบเผาผลาญที่ทำงานหนักมากขึ้น

          • ความผันผวนของฮอร์โมนในระยะนี้ และความเครียดที่เพิ่มขึ้น ส่งให้คุณแม่อาจจะมีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ

          • ขนาดของมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นและเริ่มดันขึ้นมาที่หน้าอก ทำให้ปอดถูกเบียดเล็กลง ส่งผลให้คุณแม่หายใจถี่ขึ้น หายใจลำบาก

          • คุณแม่มีอาการหลง ๆ ลืมๆ บ่อย

          • ขนาดของมดลูกเริ่มเบียดบังอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน และท้องผูกบ่อยขึ้น

          • ข้อเท้าบวมมากขึ้น เพราะต้องรับน้ำหนักตัวและน้ำหนักของทารกในครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น

          • มีน้ำนมไหลออกมาเป็นระยะ ๆ เป็นสัญญาณว่าเต้านมพร้อมแล้วที่จะผลิตน้ำนมหลังคลอดแล้วค่ะ

ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ สัปดาห์นี้มีนัดตรวจอะไรไหม


ในสัปดาห์นี้แพทย์อาจจะมีการนัดเข้ามาตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อวัดการเคลื่อนไหว การหายใจ กล้ามเนื้อ อวัยวะ และปริมาณน้ำคร่ำของทารกในครรภ์ว่าเป็นปกติดีหรือไม่ หรือคุณแม่และทารกในครรภ์มีความเสี่ยงใด ๆ ที่อาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดหรือไม่

ในกรณีที่มีความเสี่ยงรุนแรงต่อการตั้งครรภ์ แพทย์จะเร่งวินิจฉัยทำการป้องกันหรืออาจวินิจฉัยให้มีการทำคลอดก่อนกำหนดเพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์

ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 33 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย ปกติไหม หรือใกล้คลอดแล้ว

อาการท้องแข็งในคนท้องไตรมาสสามนั้นถือว่าเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เป็นเรื่องปกติค่ะ ซึ่งอาการท้องแข็งบ่อยจะปกติก็ต่อเมื่ออาการปวดจากอาการท้องแข็งนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และสามารถทุเลาได้เอง โดยการเปลี่ยนอริยาบถ การนอนพัก หรือการกินยาแก้ปวดสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้

แต่...ถ้าหากมีอาการท้องแข็งบ่อย และมีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดแต่ละครั้งใช้เวลานาน และอาการไม่ทุเลาลงแม้ว่าจะนอนพักหรือกินยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น อันนี้ถือว่าไม่ปกติ และควรไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจเสี่ยงที่ปากมดลูกจะเปิด และเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 33 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย ควรกังวลหรือไม่

อาการปวดท้องน้อย ถือว่าเป็นอาการปกติของแม่ท้องค่ะ แม่ท้องหลายคนมีอาการปวดท้องน้อยเป็นครั้งคราว เพราะอย่างที่บอกว่ามดลูกของคุณแม่นั้นจะมีการขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย

ทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อที่ยึดมดลูกมีการดึงรั้งกัน จึงทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องน้อย ซึ่งก็จะไม่ใช่อาการปวดที่รุนแรงค่ะ ปวดเป็นพัก ๆ ก็ดีขึ้น นั่งพัก นอนพัก หรือกินยาก็ช่วยให้ดีขึ้นได้

แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ท้อง 33 สัปดาห์ ปวดอวัยวะเพศ ปกติไหม

ท้อง 33 สัปดาห์ ปวดจิมิ เจ็บที่อวัยวะเพศ อาจมีสาเหตุมาจากเอ็นกระดูกเชิงกรานยืดออกเพื่อรองรับน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในช่องคลอดยืดออก จึงทำให้รู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศได้

ซึ่งอาการปวดมิจินี้ถือว่าพบได้โดยทั่วไปสำหรับคนท้องไตรมาสสองและไตรมาสสามค่ะ แต่ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดมากขึ้นกว่าเดิม แนะนำให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

ท้อง 33 สัปดาห์ ปวดหน่วง เกิดจากอะไร

อาการปวดหน่วงที่ท้อง โดยมากมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูก การยืดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่หน้าท้อง ซึ่งอาการปวดแบบนี้จะปวดเป็นพัก ๆ ไม่นานก็หาย นอนพัก กินยา หรือเปลี่ยนอริยาบถก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ท้อง 33 สัปดาห์ มีเลือดออก ควรทำอย่างไร

หากมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าอาการเลือดออกนี้มีสาเหตุมาจากอะไร ถ้าหากเป็นเลือดเก่าที่คั่งค้างนานแล้ว หรือเลือดจากการมีเพศสัมพันธ์ก็ถือว่าไม่ต้องกังวลอะไร

แต่ถ้าเป็นเลือดที่เกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเสี่ยงต่อการแท้ง หรือมีการคลอดก่อนกำหนด กรณีที่รุนแรงเช่นนี้ แพทย์สามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 33 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

มาลองฝึกหายใจเตรียมตัวสำหรับการคลอด

การฝึกหายใจให้ชินถือว่ามีประโยชน์ต่อการคลอดมากค่ะ เพราะถ้าหายใจถูกจังหวะ ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และยังช่วยให้คุณแม่มีแรงเพียงพอที่จะเบ่งคลอดต่อไปด้วย โดยการฝึกหายใจเตรียมคลอด สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้

1. การหายใจแบบลึก และช้า

คุณแม่ควรเริ่มหายใจแบบลึกและช้า ในช่วงแรกที่เริ่มเจ็บท้อง เพราะเป็นช่วงที่มดลูกยังไม่บีบรัดตัวแรงมาก คุณแม่จึงยังไม่รู้สึกทรมานนัก

วิธีการฝึก:

          • เมื่อเริ่มเจ็บท้อง ให้คุณแม่สูดลมหายใจเข้าปอดลึก ๆ และช้า ๆ นับจังหวะ 1-5 แบบช้า ๆ จนครบ
          • จากนั้นค่อย ๆ หายใจออกทางปากช้า ๆ แล้วนับจังหวะ 1-5
          • เมื่อมดลูกเริ่มคลาย และรู้สึกเจ็บน้อยลง ให้คุณแม่หายใจเข้า-ออกอย่างเต็มที่ 1 ครั้ง จากนั้นคุณแม่ค่อย ๆ หายใจตามปกติเป็นการเสร็จสิ้น

2. การหายใจแบบตื้น เร็วและเบา (แบบเป่าเทียน)

ในกรณีที่คุณแม่เจ็บครรภ์แรง และปากมดลูกเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่จะมีอาการปวดรุนแรงมาก ควรใช้การหายใจแบบตื้นและเร็ว

วิธีการฝึก:

          • เมื่อมดลูกบีบตัว และคุณแม่เริ่มเจ็บท้อง ให้คุณแม่หายใจเข้า-ออก เต็มที่ 1 ครั้ง
          • จากนั้นหายใจเข้าทางจมูกแบบตื้น เร็ว และเบา 4-6 ครั้ง ติดต่อกันแบบเร็ว ๆ ให้นึกภาพว่ากำลังหายใจในเวลาเหนื่อยหอบค่ะ
          • เวลาหายใจ ให้คุณแม่หายใจออกโดยการห่อปาก และเป่าลมออกทางปากเบา ๆ 1 ครั้ง
          • ให้คุณแม่หายใจแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมดลูกเริ่มคลายตัว และอาการปวดทุเลาลง แล้วเปลี่ยนมาหายใจแบบลึกและช้า

เฝ้าระวังการคลอดก่อนกำหนด

คุณแม่ควรสังเกตร่างกายและอาการต่าง ๆ อยู่เสมอค่ะ เพื่อดูว่ามีอาการใด ๆ ที่อาจจะนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดหรือไม่

หากคุณแม่มีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์หรือติดต่อเบอร์ฉุกเฉินกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทันทีค่ะ

          • มีเลือดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดได้

          • มีอาการน้ำเดิน หรือสังเกตเห็นว่ามีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ

          • มดลูกบีบตัวถี่ขึ้น มีอาการปวดท้องรุนแรง และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการไม่ทุเลาลง

          • ปวดหน่วงที่อุ้งเชิงกรานร้าวไปจนถึงขา

          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้น

          • มีอาการบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลากดลงแล้วผิวหนังจะบุ๋ม ไม่คืนทรงทันที และมีความดันโลหิตขึ้นสูง นี่คือสัญญาณเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้

เจ็บท้องจริง VS เจ็บท้องหลอก ต่างกันอย่างไรนะ

อาการเจ็บท้องหลอก และ เจ็บท้องจริงนั้น ค่อนข้างจะมีความแตกต่างกันค่ะ ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

อาการเจ็บท้องหลอก คุณแม่จะมีอาการดังนี้

          • จะมีการหดตัวของมดลูกบ่อย แต่จะไม่หดตัวติด ๆ กัน หรือมีการหดตัวน้อยกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

          • การหดตัวแต่ละครั้งจะทำให้รู้สึกปวดท้องนานราว ๆ 10-20 วินาที และปวดที่บริเวณท้องส่วนหน้า หรือบริเวณเชิงกราน

          • อาการปวดท้องสามารถหายเองได้เพียงแค่เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้

อาการเจ็บท้องจริง คุณแม่จะมีอาการดังนี้

          • มีการหดตัวของมดลูกบ่อย แต่มีการหดตัวติด ๆ กัน หรือมีการหดตัวมากกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

          • การหดตัวแต่ละครั้งจะทำให้รู้สึกปวดท้องนานราว ๆ 30-70 วินาที

          • มีอาการปวดตั้งแต่ช่วงหลังส่วนหน้า แล้วลามไปยังบริเวณท้องส่วนหน้า หรือบางทีก็เริ่มปวดมาตั้งแต่ท้องส่วนหน้า และลามไปยังบริเวณหลังส่วนล่าง

          • อาการปวดท้องสามารถหายเองได้เพียงแค่เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้

          • มีมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด และมีอาการน้ำเดินด้วย

          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ ควรกังวลมากน้อยแค่ไหน

อาการท้องแข็งบ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ โดยมากแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องเป็นครั้งคราว แต่จะไม่ปวดนาน แล้วก็จะหายไปเอง การเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้ กรณีแบบนี้ไม่อันตรายค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดท้องของคุณแม่นั้นเริ่มปวดถี่ขึ้น ปวดหลายครั้งต่อวัน และอาการปวดนั้นค่อย ๆ รุนแรงขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง แม้ว่าจะลองเปลี่ยนท่าทาง หรือกินยาแก้ปวดก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

รู้จักกับ “น้ำนมเหลือง”

น้ำนมเหลือง หรือ Colostrum เป็นน้ำนมแรกของแม่ที่จะไหลออกมาก่อนน้ำนมส่วนอื่น ๆ โดยน้ำนมเหลืองนี้จัดว่าเป็นนมแม่ส่วนที่ดีที่สุด ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายร้อยชนิด เช่น แลคโตเฟอร์ริน, MFGM, DHA เป็นต้น

ซึ่งสารอาหารในระยะน้ำนมเหลืองนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการครบรอบด้านทั้งสมอง ภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารของทารก มากไปกว่านั้น น้ำนมเหลือง ยังถือได้ว่าว่าเป็นวัคซีนเข็มแรกของลูก เนื่องจากมีสารภูมิคุ้มกันซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม น้ำนมเหลืองนั้นจะไหลออกมาแค่เพียง 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเลยค่ะว่า ทำไมคุณแม่ควรรีบให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะถ้าหากพ้นไปจาก 1-3 วันหลังคลอดแล้ว ทารกก็จะพลาดโอกาสที่จะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่ดีที่สุดช่วงนี้ไปค่ะ

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 33 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ตารางน้ำหนักทารกในครรภ์ 33 สัปดาห์?

ตามตารางน้ำหนักทารกในครรภ์ อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ จะมีน้ำหนักประมาณ 1.9 - 2 กิโลกรัมค่ะ

คลอดตอน 33 สัปดาห์ อันตรายไหม?

การคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดค่ะ ซึ่งการคลอดในระยะนี้แม้ว่าทารกจะมีโอกาสรอดชีวิตสูง แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่มากเช่นกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

          • ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์
          • อวัยวะและระบบภายในร่างกายยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ทุกระบบ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
          • เสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อสูง เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์
          • เสี่ยงที่จะมีปัญหาการมองเห็น เนื่องจากจอประสาทตายังไม่สมบูรณ์
          • เสี่ยงที่จะมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ เพราะถึงแม้ว่าปอดจะพัฒนามากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์
          • ระบบลำไส้ของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงเสี่ยงที่จะเกิดลำไส้อักเสบ หรือลำไส้เน่าได้
          • ทารกอาจเกิดมามีพัฒนาการด้านต่าง ๆ หรือบางอย่างที่ช้ากว่าเด็กทั่วไปที่คลอดตามกำหนด

อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ คลอดได้ไหม?

ถ้าหากทารกคลอดตอนอายุครรภ์ 33 สัปดาห์จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากมีการคลอดเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้จริง ๆ ก็ถือว่าทารกมีโอกาสรอดสูงค่ะ เนื่องจากมีพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้เกือบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสมบูรณ์อยู่ในระดับที่ว่าถ้ามีเหตุต้องคลอดออกมาในตอนนี้ ทารกก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้

แต่...จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เนื่องจากทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ ปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ ระบบต่าง ๆ และอวัยวะอีกหลายส่วนยังทำงานได้ไม่เต็มที่เท่ากับเด็กที่คลอดตามกำหนดค่ะ

ท้อง 33 สัปดาห์ มีตกขาว แบบนี้ปกติหรือเปล่า?

การมีตกขาวถือเป็นเรื่องปกติของคนท้องค่ะ เพราะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอดก็จะมีมูกตกขาวออกมามากขึ้น เป็นสัญญาณว่าใกล้คลอด

อย่างไรก็ตาม หากตกขาวมีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ สีขาว หรือมีสีเหลือง หรือสีเทา ตกขาวมีลักษณะข้นเหนียว มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคันร่วมด้วย อาจเป็นตกขาวทมี่เกิดจากการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาค่ะ

ท้อง 33 สัปดาห์ เท้าบวม บรรเทาอาการนี้ยังไงดี?

คุณแม่ที่มีอาการบวมที่เท้า หรือข้อเท้า อาจสามารถรับมือด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

          • เวลานอนให้นอนตะแคง และควรยกปลายเท้าให้สูงขึ้น โดยอาจจะใช้หมอนรองที่บริเวณข้อเท้าก็ได้ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

          • คุณแม่ควรเปลี่ยนอริยาบถบ่อย ๆ เพราะการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ จะทำให้เกิดแรงกดทับ และทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี

          • หลีกเลี่ยงการสวมแหวน กำไล หรือนาฬิกาที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้อาการบวมที่มือ หรือบวมที่นิ้วแย่ลง

          • ไม่สวมถุงเท้าและรองเท้าที่รัดแน่น เพราะจะยิ่งทำให้อาการบวมแย่ลง

          • พยายามลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะการบริโภคโซเดียมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้มีอาการตัวบวมง่าย

อย่างไรก็ตาม หากอาการบวมของคุณแม่ไม่ดีขึ้นเลย หรือเริ่มบวมจนกระทั่งกดลงไปที่เนื้อแล้วเนื้อบุ๋ม และใช้เวลาคืนทรงช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

น้ำเดิน น้ำคร่ำแตก สัญญาณก่อนคลอดที่ต้องจับตาดูให้ดี
อาการเจ็บท้องคลอด อันไหนเจ็บท้องจริง อันไหนเจ็บท้องหลอก
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner