ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 36 สัปดาห์ อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 36 สัปดาห์ อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว หนักประมาณ 2.7 กิโลกรัม มีขนาดพอ ๆ กับมะละกอ หรือมีขนาดประมาณผักกาดหอมหัวใหญ่ ๆ
  • อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ กระดูกของทารกจะเริ่มแข็ง แต่ส่วนกะโหลกศีรษะจะยังคงอ่อนและมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถคลอดผ่านช่องเชิงกรานได้ง่ายขึ้น
  • อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ร่างกายและระบบต่างๆ ของทารกเติบโตครบสมบูรณ์ ถ้ามีการคลอดตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้เป็นต้นไปถือว่าเป็นทารกที่ครบกำหนดแล้ว ทารกสามารถหายใจได้เองและดูดนมได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 36 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 36
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 36 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 36 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 36 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 36 สัปดาห์แล้ว ชวนมารูจักกับอาการใกล้คลอด
     • ท้อง 36 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ตั้งครรภ์มาตั้งนาน ย่อมถึงวันนี้ วันที่คุณแม่ตั้งครรภ์ครบ 9 เดือน เป็นการเดินทางที่ยาวนานมากเลยใช่ไหมคะ แต่อดใจไว้อีกนิดค่ะ เพราะอีก 3-4 ข้างหน้า ทารกก็จะคลอดออกมาแล้ว

แถมต้องมาลุ้นกันอีกทีนะว่าจะเป็นสัปดาห์ไหน เพราะระหว่าง 37-40 สัปดาห์ ทารกอาจจะคลอดออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ค่ะ ขอให้คุณแม่เตรียมพร้อมให้ดี

แต่ก่อนจะไปถึงช่วงนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่าในสัปดาห์ของการตั้งครรภ์ครบรอบ 9 เดือน หรือท้อง 36 สัปดาห์นี้ คุณแม่และทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างนะ

ท้อง 36 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


หากสัปดาห์ที่แล้วทารกยังไม่ยอมกลับหัว ก็จะเริ่มเอาหัวลงในสัปดาห์นี้ค่ะ คุณแม่จึงเริ่มปวดที่อุ้งเชิงกรานและอวัยวะโดยรอบเชิงกรานมากขึ้น รวมถึงปัสสาวะบ่อยขึ้นด้วย เพราะทารกเริ่มเบียดมาที่กระเพาะปัสสาวะมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง ซึ่งทารกในสัปดาห์นี้จะมีขนาดตัวพอ ๆ กับขนาดตัวของทารกแรกคลอดแล้วด้วยค่ะ

อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ในวันสุดท้ายของสัปดาห์นี้ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับคุณแม่ตั้งครรภ์ครบ 9 เดือนแล้วค่ะ

ท้อง 36 สัปดาห์ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 36 ส่วนใหญ่อยู่ในท่ากลับหัวลงเพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอดแล้วค่ะ แต่ก็ไม่ใช่ทารกทุกคนนะคะที่เริ่มกลับหัวในสัปดาห์นี้ มีทารกหลายคนที่อายุครรภ์ถึง 36 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมกลับหัว และไปเริ่มกลับหัวในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจวบจนถึงกำหนดคลอดแล้วทารกยังไม่ยอมกลับหัว ในกรณีนี้แพทย์จะช่วยหมุนทารกให้กลับหัวมาอยู่ในท่าที่ถูกต้อง หรืออาจพิจารณาให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก เพื่อให้ทารกหมุนตัวและกลับหัวได้ง่ายขึ้น

แต่ถ้าหากเด็กไม่ยอมกลับหัวจริง ๆ แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของทารกและคุณแม่ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 36 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในสัปดาห์นี้ แม้ว่าใกล้จะถึงกำหนดคลอดแล้ว แต่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบต่าง ๆ ของทารกในสัปดาห์นี้ใกล้จะถึงจุดสมบูรณ์แล้วค่ะ

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 36 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว มีขนาดพอ ๆ กับมะละกอ หรือมีขนาดประมาณผักกาดหอมหัวใหญ่ ๆ ค่ะ

อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ น้ำหนักทารก มีน้ำหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 2.7 กิโลกรัมค่ะ

ท้อง 36 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากแค่ไหน

ทารกอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ จะเริ่มดิ้นน้อยลงแล้วค่ะ เนื่องจากพื้นที่ในมดลูกมีไม่มากพอที่ทารกจะสามารถเคลื่อนไหวหรือขยับตัวได้อย่างอิสระเหมือนเคย

อย่างไรก็ตาม แม้ความถี่บ่อยในการดิ้นของทารกจะเริ่มลดลง แต่คุณแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนับลูกดิ้นทุกวัน โดยควรจะนับได้ 10 ครั้งต่อวัน เมื่อนับครบ 10 ให้หยุดนับได้

แต่ถ้าหมดวันแล้วนับไม่ครบ 10 ครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้ ถ้าหากในครึ่งวันเช้า ทารกดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอจนถึงตอนเย็น

ท้อง 36 สัปดาห์ ลูกกลับหัวแล้วหรือยัง

ทารกอายุครรภ์ตั้งแต่ 36 สัปดาห์ ส่วนมากจะกลับหัวอยู่ในท่าเตรียมคลอดแล้วค่ะ แต่ถ้าสัปดาห์นี้ทารกยังไม่ยอมกลับหัว อาจจะต้องรอดูในสัปดาห์ถัดไปว่าเริ่มกลัวหัวหรือยัง

ซึ่งถ้าหากถึงกำหนดต้องคลอดแล้ว แต่ทารกยังไม่ยอมกลับหัว แพทย์จะช่วยปรับท่าให้ทารกอยู่ในท่าพร้อมคลอด โดยอาจจะต้องมีการนวดปรับท่า การให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก

แต่ถ้าหากถึงกำหนดคลอดแล้วเด็กไม่ยอมกลับหัวจริง ๆ แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของทารกและคุณแม่ค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ใบหน้าของทารกจะมีลักษณะกลมโต แก้มป่อง เนื่องจากกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ ได้รับการพัฒนาจนสมบูรณ์และพร้อมที่จะทำงานแล้ว

          • กระดูกของทารกจะเริ่มแข็ง แต่ส่วนกะโหลกศีรษะจะยังคงอ่อนและมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถคลอดผ่านช่องเชิงกรานได้ง่ายขึ้น

          • เส้นผมทารกจะขึ้นมาทั่วศีรษะแล้ว รวมทั้งขนอ่อน ๆ ก็ปกคลุมทั่วร่างกายแล้ว

          • ผิวหนังยังมีขี้ผึ้งบาง ๆ เคลือบอยู่เพื่อป้องกันผิวของทารกหลังจากคลอดออก

          • ทารกอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ร่างกายและระบบต่างๆ ของทารกก็จะเติบโตครบสมบูรณ์ ถ้าคลอดออกมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้เป็นต้นไปถือว่าเป็นทารกที่ครบกำหนดแล้ว สามารถหายใจได้เองและดูดนมได้

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์


แม่ท้อง 36 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ มีดังนี้

          • คุณแม่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ จะเริ่มรู้สึกว่าท้องแข็งบ่อยขึ้น เนื่องจากมดลูกมีการบีบตัว การบีบตัวนี้ก็จะไม่สม่ำเสมอ ไม่ต่อเนื่อง เป็นสักระยะแล้วก็หายไปที่เราเรียกว่าเจ็บครรภ์เตือน การหดตัวรัดตัวของมดลูกนี้ก็เพื่อดันตัวทารกมาประชิดปากมดลูกเพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอดออกมานั่นเอง

          • อาการของเจ็บท้องเตือนที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ที่ท้องได้ 36 สัปดาห์ คือ มีการแข็งตัวทั่วท้อง แต่นานไม่เกิน 30 วินาทีและวันหนึ่งไม่ควรเกิน 8-10 ครั้ง ถ้าเจ็บแล้วลองเปลี่ยนอิริยาบถ มักจะหายไปเองแต่ถ้าเจ็บเป็นเวลานานขึ้นเรื่อย ๆ และถี่ขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอดร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ทันที

          • ทารกเริ่มเคลื่อนตัวลงใกล้ช่องคลอด และเตรียมพร้อมที่จะคลอด ทำให้อุ้งเชิงกรานขยายเพื่อรองรับน้ำหนักที่กดลงมา ช่วงนี้อวัยวะเชิงกรานจะทำหน้าที่หนักมากขึ้น ทำให้มีอาการปวดเมื่อยขา เท้าบวม และปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นด้วยค่ะ

          • คุณแม่อาจรู้สึกหายใจได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อทารกกลับหัวลงสู่เชิงกราน ทำให้แรงกดดันต่อปอดและกระเพาะอาหารน้อยลง แต่กลายเป็นอวัยวะส่วนล่างที่ทำงานมากขึ้นแทน เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น เท้าบวมมากขึ้น

          • คุณแม่จะเริ่มกินอาหารได้น้อยลง เพราะกระเพาะอาหารถูกทารกและมดลูกเบียดให้เล็กลง ทำให้ปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวันอาจจะลดลงมากกว่าปกติค่ะ

          • นอกจากจะกินอาหารได้น้อยลงแล้ว คุณแม่หลายคนเริ่มมีน้ำหนักตัวลดน้อยลงด้วย เพราะไม่สามารถกินอาหารได้มากเท่าแต่ก่อน แต่...คุณแม่ยังจำเป็นจะต้องควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมนะคะ สำหรับคุณแม่ไตรมาสสามที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติ ควรดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นมาไม่เกิน 3.5-4.5 กิโลกรัม หรือไม่ควรเกิน 5 กิโลกรัม

อาหารคนท้อง 36 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 36 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 36 สัปดาห์ ที่พบได้ในช่วงนี้


อาการคนท้อง 36 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • มีอาการปวดที่อุ้งเชิงกรานและอวัยวะบริเวณเชิงกรานมากขึ้น เพราะทารกเริ่มหย่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกรานแล้ว ทำให้อวัยวะส่วนนี้ต้องรับแรงกดดันจากทารกมากขึ้น

          • น้ำหนักของทารกกดดันลงมาที่กระเพาะปัสสาวะมากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่มีอาการปวดปัสสาวะบ่อยกว่าเดิม

          • มีอาการท้องแข็งและปวดท้องมากขึ้น แต่จะไม่ปวดมาก ปวดไม่นานก็หายไป ซึ่งเป็นอาการเจ็บครรภ์หลอก แต่ถ้าเริ่มปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ทุเลาลง เริ่มมีมูกหรือของเหลวไหลออกจากช่องคลอด และปากมดลูกขยาย แปลว่าเป็นสัญญาณใกล้คลอด

          • เนื้อเยื่อในร่างกายยังคงสะสมน้ำมากขึ้น ทำให้มีอาการบวมน้ำ หรือมีอาการบวมที่มือ เท้า และข้อเท้า

          • รู้สึกอึดอัดที่หน้าท้องมากขึ้น เพราะหน้าท้องมีขนาดใหญ่มาก อีกทั้งทารกก็หนักมากถึง 2.7 กิโลกรัม ทำให้คุณแม่ปวดเมื่อยได้ง่าย เพราะต้องแบกรับน้ำหนักนี้ไว้ตลอดทั้งวัน

ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ สัปดาห์นี้มีนัดตรวจอะไรไหม


โดยปกติแล้วสัปดาห์นี้แพทย์อาจจะนัดให้คุณแม่เข้ามาอัลตราซาวนด์ตรวจครรภ์เพื่อดูว่าอัตราการเต้นหัวใจของทารกเป็นปกติไหม พัฒนาการเป็นอย่างไร และทารกเริ่มกลับหัวหรือยัง

ซึ่งส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์ว่าควรจะรอจนถึงสัปดาห์ถัดไปเพื่อดูว่าทารกจะกลับหัวไหม หรือจะช่วยปรับท่าเพื่อให้ทารกเริ่มกลับหัวตั้งแต่ตอนนี้เลย

ท้อง 36 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อยแต่ไม่ปวดท้อง อาการแบบนี้ใกล้คลอดหรือไม่? มารู้จักอาการใกล้คลอดกัน!


หากมีอาการท้องแข็งบ่อย แต่ไม่ได้ปวดท้อง หรืออาจจะปวดท้องแต่ไม่ได้ปวดมาก หรือแค่เพียงรู้สึกไม่สบายท้องเท่านั้น นี่เป็นอาการเจ็บครรภ์หลอกค่ะ ไม่ใช่อาการเจ็บครรภ์ใกล้คลอด แต่ถ้าหากมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณใกล้คลอด

          • มีอาการปวดท้องรุนแรง โดยอาจจุปวดท้องทุก ๆ 10-20 นาที แล้วเริ่มปวดถี่ขึ้นเป็นทุก ๆ 5-10 นาที และอาการปวดไม่ทุเลาลงเลย มีแต่ปวดแรงขึ้น ๆ
          • มีของเหลว หรือมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด
          • น้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน คือมีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก
          • ปากมดลูกเริ่มขยาย โดยอาจจะเปิดกว้างขึ้นชั่วโมงละ 1-2 เซนติเมตร

หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นสัญญาณใกล้คลอด และอาจจะมีการคลอดเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่


อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ ปวดหน่วง ปกติไหม

อาการปวดหน่วงที่ท้อง ถามว่าควรกังวลไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าอาการปวดหน่วงนั้นรุนแรงมากแค่ไหน เพราะโดยมากแล้วคนท้องจะมีอาการปวดหน่วงเนื่องจากการขยายตัวของมดลูก การยืดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่หน้าท้องอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ทารกอาจอยู่ในท่ากลับหัวแล้ว ยิ่งทำให้มีแรงกดลงมาที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น ทำให้มีอาการปวดหน่วงมากขึ้นได้ในสัปดาห์นี้ค่ะ อย่างไรก็ตาม อาการปวดแบบนี้จะปวดเป็นพัก ๆ ไม่นานก็หาย นอนพัก กินยา หรือเปลี่ยนอริยาบถก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ท้อง 36 สัปดาห์ ปวดอวัยวะเพศ เกิดจากอะไร

ท้อง 36 สัปดาห์ ปวดจิมิมาก หรือเจ็บที่อวัยวะเพศ อาจมีสาเหตุมาจากเอ็นกระดูกเชิงกรานยืดออกเพื่อรองรับน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในช่องคลอดยืดออก

มากไปกว่านั้น ในสัปดาห์นี้ทารกอาจอยู่ในท่ากลับหัวแล้ว ยิ่งทำให้มีแรงกดลงมาที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น และอาการปวดอาจลามจากท้องน้อยมาจนถึงอวัยวะเพศ จึงทำให้รู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศได้

ซึ่งอาการปวดมิจินี้ถือว่าพบได้โดยทั่วไปสำหรับคนท้องไตรมาสสองและไตรมาสสามค่ะ แต่ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดมากขึ้นกว่าเดิม แนะนำให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย ควรกังวลไหม

อาการท้องแข็งบ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ โดยมากแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องเป็นครั้งคราว แต่จะไม่ปวดนาน แล้วก็จะหายไปเอง การเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้ กรณีแบบนี้ไม่อันตรายค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดท้องของคุณแม่นั้นเริ่มปวดถี่ขึ้น ปวดหลายครั้งต่อวัน อาการปวดนั้นค่อย ๆ รุนแรงขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง แม้ว่าจะลองเปลี่ยนท่าทาง หรือกินยาแก้ปวดก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 36 สัปดาห์ เท้าบวมมาก จะเป็นอะไรไหม

อาการเท้าบวม ถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในคนท้องค่ะ แต่ถ้าหากอาการเท้าบวมของคุณแม่ไม่ดีขึ้นเลย หรือเริ่มเท้าบวมจนกระทั่งกดลงไปที่เนื้อแล้วเนื้อบุ๋ม และใช้เวลาคืนทรงช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ค่ะ

ท้อง 36 สัปดาห์ มีเลือดออก ปกติหรือเปล่า

ตอบยากค่ะ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเลือดที่ไหลออกมาในขณะนี้ เป็นเลือดที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ การแท้ง สัญญาณความผิดปกติ หรือเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด

ดังนั้น หากมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ แนะนำว่าให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์จะดีที่สุดค่ะ เพื่อที่ว่าหากเป็นสัญญาณของความผิดปกติ หรือภาวะฉุกเฉินจริง ๆ แพทย์ก็จะได้รักษาได้ทันเวลา

ท้อง 36 สัปดาห์ หายใจไม่ค่อยออก เป็นเรื่องปกติหรือเปล่า

เนื่องจากขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนเบียดและดันขึ้นมาที่หน้าอก ทำให้ปอดถูกเบียดจนมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้คุณแม่หายใจถี่ขึ้น มีอาการแน่นหน้าอก และหายใจไม่ค่อยออกค่ะ

การนอนโดยยกศีรษะให้สูงขึ้น อาจช่วยให้อาการหายใจไม่ออกดีขึ้นได้ แต่ถ้าคุณแม่หายใจไม่ออก แล้วเริ่มหน้ามืด หรือหมดสติบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

สัญญาณเตือนการคลอดก่อนกำหนด

หากคุณแม่มีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์หรือติดต่อเบอร์ฉุกเฉินกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทันทีค่ะ

          • มีเลือดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดได้
          • มีอาการน้ำเดิน หรือสังเกตเห็นว่ามีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ
          • มดลูกบีบตัวถี่ขึ้น มีอาการปวดท้องรุนแรง และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการไม่ทุเลาลง
          • ปวดหน่วงที่อุ้งเชิงกรานร้าวไปจนถึงขา
          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้น
          • มีอาการบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลากดลงแล้วผิวหนังจะบุ๋ม ไม่คืนทรงทันที และมีความดันโลหิตขึ้นสูง นี่คือสัญญาณเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้

เจ็บท้องจริงกับเจ็บท้องหลอกต่างกันตรงไหน

อาการเจ็บท้องหลอก และ เจ็บท้องจริงนั้น ค่อนข้างจะมีความแตกต่างกันค่ะ ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

อาการเจ็บท้องหลอก คุณแม่จะมีอาการดังนี้

          • จะมีการหดตัวของมดลูกบ่อย แต่จะไม่หดตัวติด ๆ กัน หรือมีการหดตัวน้อยกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

          • การหดตัวแต่ละครั้งจะทำให้รู้สึกปวดท้องนานราว ๆ 10-20 วินาที และปวดที่บริเวณท้องส่วนหน้า หรือบริเวณเชิงกราน

          • อาการปวดท้องสามารถหายเองได้เพียงแค่เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้

อาการเจ็บท้องจริง คุณแม่จะมีอาการดังนี้

          • มีการหดตัวของมดลูกบ่อย แต่มีการหดตัวติด ๆ กัน หรือมีการหดตัวมากกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

          • การหดตัวแต่ละครั้งจะทำให้รู้สึกปวดท้องนานราว ๆ 30-70 วินาที

          • มีอาการปวดตั้งแต่ช่วงหลังส่วนหน้า แล้วลามไปยังบริเวณท้องส่วนหน้า หรือบางทีก็เริ่มปวดมาตั้งแต่ท้องส่วนหน้า และลามไปยังบริเวณหลังส่วนล่าง

          • อาการปวดท้องสามารถหายเองได้เพียงแค่เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้

          • มีมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด และมีอาการน้ำเดินด้วย

          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทำความรู้จักกับ “น้ำนมเหลือง”

น้ำนมเหลือง หรือ Colostrum เป็นน้ำนมแรกของแม่ที่จะไหลออกมาก่อนน้ำนมส่วนอื่น ๆ โดยน้ำนมเหลืองนี้จัดว่าเป็นนมแม่ส่วนที่ดีที่สุด ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายร้อยชนิด เช่น แลคโตเฟอร์ริน, MFGM, DHA เป็นต้น

ซึ่งสารอาหารในระยะน้ำนมเหลืองนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการครบรอบด้านทั้งสมอง ภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารของทารก มากไปกว่านั้น น้ำนมเหลือง ยังถือได้ว่าว่าเป็นวัคซีนเข็มแรกของลูก เนื่องจากมีสารภูมิคุ้มกันซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม น้ำนมเหลืองนั้นจะไหลออกมาแค่เพียง 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเลยค่ะว่า ทำไมคุณแม่ควรรีบให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะถ้าหากพ้นไปจาก 1-3 วันหลังคลอดแล้ว ทารกก็จะพลาดโอกาสที่จะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่ดีที่สุดช่วงนี้ไปค่ะ

จำเป็นต้องซื้อคาร์ซีทให้ลูกแรกเกิดไหม และของใช้สำหรับเด็กแรกเกิดอื่น ๆ ที่คุณแม่ต้องเตรียม

คาร์ซีทถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับเด็กเล็ก และจำเป็นจะต้องเตรียมไว้ก่อนจะใกล้คลอดด้วย เพื่อให้สามารถใช้งานได้ทันทีที่ทารกคลอดออกมา แล้วทำไมต้องมีคาร์ซีทด้วยล่ะ?

ที่จำเป็นต้องมีก็เป็นเพราะว่าคาร์ซีทถูกออกแบบมาเพื่อช่วยป้องกันการบาดเจ็บของเด็กเมื่อเกิดอุบัติเหตุในขณะเดินทางด้วยรถยนต์ เนื่องจากระบบความปลอดภัยบนรถยนต์ เช่น เบาะนั่ง เข็มขัดนิรภัย หรือถุงลมนิรภัย เหล่านี้ล้วนออกแบบมาเพื่อสรีระของผู้ใหญ่ และไม่รองรับสรีระของเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี

ซึ่งนอกจากคาร์ซีทแล้ว ยังมีของใช้สำหรับทารกแรกเกิดอีกหลายอย่างที่คุณแม่ควรเตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนี้

          • เสื้อผ้าสำหรับเด็กทารก เตรียมเผื่อหรือให้เพียงพอ
          • ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กทารก
          • ผ้าอ้อม ผ้าสะอาดสำหรับการเช็ดทำความสะอาด
          • ของใช้ทำความสะอาดร่างกายสำหรับเด็ก ได้แก่ ยาสระผมสำหรับเด็กแรกเกิด สบู่สำหรับเด็กแรกเกิด
          • สมุดบันทึกพัฒนาการของเด็ก
          • ผ้าห่อตัวเด็ก ควรเลือกเป็นผ้านุ่ม ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก
          • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 36 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ท้อง 36 สัปดาห์ ท้องเสีย ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

คุณแม่ที่ท้องเสีย สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้

          • กินอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

          • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่รสเผ็ดจัด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบย่อยอาหารและทำให้ท้องเสียแย่ลง

          • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้อาการท้องเสียหนักขึ้นได้

          • ดื่มน้ำหรือดื่มเกลือแร่สำหรับอาการท้องเสีย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้

          • ในกรณีที่มีอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ คุณแม่ควรกินยาตามที่แพทย์สั่ง คนท้องไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษากับแพทย์ เพราะยาบางอย่างอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้

          • แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นเลย หรือท้องเสียติดต่อกัน 1-2 วัน คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ท้อง 36 สัปดาห์ ตกขาว เป็นเรื่องปกติไหม?

การมีตกขาวถือเป็นเรื่องปกติของคนท้องค่ะ เพราะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอดก็จะมีมูกตกขาวออกมามากขึ้น เป็นสัญญาณว่าใกล้คลอด

อย่างไรก็ตาม หากตกขาวมีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ สีขาว หรือมีสีเหลือง หรือสีเทา ตกขาวมีลักษณะข้นเหนียว มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคันร่วมด้วย อาจเป็นตกขาวทมี่เกิดจากการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาค่ะ

ท้อง 36 สัปดาห์ เวียนหัว คลื่นไส้ เป็นอาการแพ้ท้องไหม?

เป็นไปได้ 2 กรณีค่ะ คือคุณแม่มีอาการแพ้ท้องยาวนานมาจนถึงไตรมาสสามจริง ๆ ส่วนอีกกรณีคือ เกิดจากขนาดของมดลูกที่ใหญ่โตมากขึ้นทุก ๆ วัน จนไปกดทับหรือเบียดดันเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดทำได้ไม่ดี อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้ได้ค่ะ

ท้อง 36 สัปดาห์ นอนไม่หลับ ทำยังไงดี?

สำหรับคุณแม่ที่มีอาการนอนไม่หลับบ่อย ๆ สามารถรับมือได้ ดังนี้

          • ช่วงที่ใกล้จะเข้านอน ควรลดการดื่มน้ำลง เพราะถ้าหากดื่มน้ำมากเกินไป จะทำให้คุณแม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อย ๆ ตอนกลางคืน

          • หมั่นออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานกับที่ โยคะคนท้อง พิลาทิสคนท้อง การออกกำลังกายช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นค่ะ

          • พยายามลดความเครียดและความวิตกกังวลต่าง ๆ ทำจิตใจให้สบาย เพราะความเครียดเหล่านี้มีผลทำให้คุณแม่นอนไม่หลับ และวิตกอยู่กับสิ่งนั้น ๆ ตลอดคืน ซึ่งการลดความเครียดนั้นก็ไม่สงวนวิธีค่ะ

คุณแม่บางคนอาจจะชอบสวดมนต์ ทำสมาธิ หรือถ้าการอ่านหนังสือ การดูหนัง หรือวิธีใด ๆ ที่ช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายได้ ก็สามารถทำได้เลย

          • เลือกหมอนที่เหมาะกับตนเอง ควรเลือกที่ไม่นิ่มจนเกินไป และไม่แข็งจนเกินไป มีขนาดพอเหมาะ หรือเลือกหมอนที่คุณแม่หนุนแล้วรู้สึกสบายตัวมากที่สุด จะช่วยให้หลับสบายขึ้นได้ค่ะ

          • ปรับเรื่องอาหารการกิน มื้อเย็นไม่ควรจะกินอาหารหนักจนเกินไป เพราะจะทำให้ไม่สบายท้อง หรือมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย จะยิ่งทำให้นอนไม่หลับ

          • ปรับบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะสม ไม่ควรร้อนเกินไป แสงสว่างควรจะน้อย และไม่ควรมีเสียงรบกวน เพื่อช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ง่ายขึ้น

          • แต่ถ้าหากอาการนอนไม่หลับไม่ดีขึ้นเลยแม้ว่าจะลองหลายวิธีแล้ว คุณแม่ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

ของใช้เด็กแรกเกิด
how-long-is-maternity-leave
ลูกกลับหัวตอนกี่เดือน ลูกไม่ยอมกลับหัวสักที อันตรายไหม
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner