Enfa สรุปให้

  • ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น มีภาวะความดันโลหิตสูง มีความผิดปกติกับไต หรือมีน้ำหนักตัวมาก

  • ครรภ์เป็นพิษจากความดันโลหิตสูงถือว่าพบได้บ่อยสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าหากไม่ควบคุมความดันโลหิตให้สมดุล อาจเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษรุนแรงได้

  • สำหรับผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง ควรจะงดแอลกอฮอล์ อาหารที่มีโซเดียมสูง ไขมันสูง น้ำตาลสูง เพราะล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ง่าย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ครรภ์เป็นพิษคืออะไรและสาเหตุของครรภ์เป็นพิษ
     • อาการเตือนภาวะครรภ์เป็นพิษ
     • การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ
     • ครรภ์เป็นพิษห้ามกินอะไร
     • แนะนำอาหารช่วยลดความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ
     • ลดความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษด้วยการกินแบบ “เมดิเตอร์เรเนียน”
     • ป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งภาวะอันตรายของการตั้งครรภ์ที่จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ทันที หากปล่อยไว้จะส่งผลเสียต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ บทความนี้จาก Enfa จะพาคุณแม่มาทำความรู้จักกับภาวะครรภ์เป็นพิษให้มากขึ้นกันค่ะ

รู้จักกับภาวะครรภ์เป็นพิษ และสาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษ


ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ถือเป็นความผิดปกติที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการตั้งครรภ์ค่ะ โดยจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไตเสียหาย โปรตีนในปัสสาวะสูง และอาจมีความเสียหายต่ออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย

โดยสามารถตรวจพบภาวะครรภ์เป็นพิษได้เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้ สาเหตุของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษนั้น ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่ก็มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้มีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ไม่ว่าจะเป็น

          • ตั้งครรภ์ครั้งแรก
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือตั้งครรภ์ตอนมากกว่า 35 ปี
          • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น
          • คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือตั้งครรภ์ทารกมากกว่า 2 คน
          • คุณแม่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • ตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
          • คุณแม่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายอยู่แล้ว
          • คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์

อาการเตือนเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ


สัญญาณและอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ

          • ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์หรือเริ่มตั้งครรภ์

          • คุณแม่มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคไตมาตั้งแต่เดิมแล้ว

          • แพทย์ตรวจครรภ์ตามนัดแล้วพบว่ามีปริมาณโปรตีนปะปนอยู่มากในปัสสาวะของคุณแม่

          • แพทย์ตรวจครรภ์ตามนัดแล้วพบว่าคุณแม่มีระดับเกล็ดเลือดลดลง

          • แพทย์ตรวจครรภ์ตามนัดแล้วพบว่าคุณแม่มีค่าเอนไซม์ในตับสูง

          • คุณแม่มีอาการปวดศีรษะรุนแรง

          • คุณแม่มีอาการตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง

          • คุณแม่มีอาการบวมน้ำบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมที่ใบหน้าและมือ

          • คุณแม่มีอาการหายใจถี่ ๆ

          • คุณแม่มีอาการปวดท้องช่วงบน หรือบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา

          • คุณแม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

          • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

          • คุณแม่มีอาการเนื้อบุ๋ม คือมีอาการบวมที่มือและเท้า เมื่อกดลงไปแล้วมีการบุ๋ม เนื้อไม่คืนทรงทันที

ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อรักษาชีวิตของแม่ หรือเพื่อป้องกันอันตรายทั้งแม่และทารกในครรภ์ แพทย์อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที หรือร้ายแรงที่สุดแพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์

การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ


โดยมากแล้วการรักษาครรภ์เป็นพิษก็จะมีการรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรค โดยแพทย์อาจจะต้องให้ยาลดความดันโลหิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ

ส่วนในกรณีที่มีอาการครรภ์เป็นพิษในระดับรุนแรง แพทย์อาจจะต้องมีการวินิจฉัยเร่งคลอด ซึ่งจะต้องมาดูกันอีกทีว่าขณะนั้นอายุครรภ์มากน้อยแค่ไหน ถ้าอายุครรภ์น้อยมาก ๆ แพทย์อาจจะต้องให้ยากระตุ้นปอดเพื่อประคับประคองคุณแม่เพื่อให้ทารกสามารถอยู่ในครรภ์ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์ที่สามารถคลอดทารกได้อย่างปลอดภัย และภาวะครรภ์เป็นพิษอยู่ในระดับที่ฉุกเฉิน หรือรุนแรงมากจริง ๆ แพทย์จำเป็นจะต้องรักษาโดยการเร่งคลอด หรือผ่าคลอดทันที

และในกรณีที่สุดจะยื้อ คือคุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรง และทารกมีอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 34 สัปดาห์ ซึ่งมีโอกาสน้อยที่ทารกในครรภ์จะมีชีวิตรอด แพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพื่อรักษาชีวิตของคุณแม่เอาไว้

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ครรภ์เป็นพิษห้ามกินอะไร


แม้ว่าครรภ์เป็นพิษจะไม่มีวิธีป้องกันได้อย่าง 100% แต่การปรับปรุงพฤติกรรมการกินให้ดีต่อสุขภาพอยู่เสมอ ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงของครรภ์เป็นพิษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

ดังนั้น คุณแม่จึงควรใส่ใจกับอาหารการกินให้มากเป็นพิเศษ และควรงดเว้นอาหารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้สมดุล

          • หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ความดันโลหิตสูงได้

          • แอลกอฮอล์ มีส่วนทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงมากถึง 50% และยังส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย

          • อาหารที่มีไขมันสูง ควรกินแต่พอดี หรือควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรกินบ่อย เพราะถ้าหากกินสะสมเข้าไปมาก ๆ จะยิ่งเพิ่มโอกาสทำให้เกิดความดันโลหิตสูง

          • อาหารที่มีน้ำตาลในปริมาณมาก นอกจากจะเสี่ยงต่อเบาหวานแล้ว ก็ยังทำให้เกิดความดันโลหิตสูงด้วย

แนะนำอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ


อาหารอาจจะไม่ได้ช่วยทำให้ภาวะครรภ์เป็นพิษหายไปได้ แต่...หากเลือกกินอาหารที่เหมาะสม ก็จะช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่พุ่งสูงจนทำให้ความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษเพิ่มขึ้นได้ค่ะ

โดยอาหารที่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง อันจะนำไปสู่ภาวะครรภ์เป็นพิษ มีดังนี้ 

          • กลุ่มอาหารที่มีโซเดียมน้อย เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ผัก ผลไม้ ร่างกายได้รับโซเดียมจากอาหารเหล่านี้เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเกลือ หรือกินอาหารที่มีโซเดียมสูงเข้าไปอีก เพราะจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้

          • กลุ่มอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผักต่าง ๆ ผลไม้ต่าง ๆ ถั่วต่าง ๆ โพแทสเซียมจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับน้ำและโซเดียมออกจากร่างกายได้ดี

          • กลุ่มอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ผลิตภัณฑ์จากนม นอกจากจะช่วยให้กระดูกแข็งแรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิตด้วย

          • กลุ่มอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น ธัญพืชและถั่วชนิดต่าง ๆ แมกนีเซียมถือว่าเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง

กินอาหารแบบ “เมดิเตอร์เรเนียน” ช่วยลดความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษได้จริงหรือ?


จากผลการศึกษาพบว่า คุณแม่ที่กินอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนนั้นมีแนวโน้มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษที่ลดลงอย่างมีนัยะสำคัญ แต่เป็นไปได้อย่างไร? ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันก่อนว่า กินแบบเมดิเตอร์เรเนียน เนี่ย เขากินกันอย่างไร?

อาหารแบบเมดิเตอร์เรนียนนั้นจะเน้นธัญพืชเป็นสำคัญ ได้แก่ ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ถั่วต่าง ๆ ข้าวกล้อง เน้นโปรตีนจากไข่และปลา หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวจากเนื้อแดงหรือเนื้อแปรรูปต่าง ๆ รวมถึงเน้นไขมันดีจากน้ำมันมะกอกด้วย

ซึ่งเมื่อเราพิจารณากันตรงนี้แล้วก็จะเห็นว่ารูปแบบอาหารเช่นนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยลดน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ดีทีเดียว เพราะไม่เน้นไขมันสูง และลดปริมาณน้ำตาลลง ทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาจมีส่วนช่วยรักษาสมดุลของความดันโลหิต และช่วยลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดครรภ์เป็นพิษ

Enfamama TAP No. 1

ป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างไร


ภาวะครรภ์เป็นพิษไม่สามารถที่จะป้องกันได้ค่ะ แต่...สามารถที่จะลดความเสี่ยงได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากคุณพ่อคุณแม่มีการไปปรึกษากับแพทย์ตั้งแต่ก่อนที่จะตั้งครรภ์ มีการตรวจสุขภาพเพื่อหาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เลยว่าคุณแม่มีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษหรือไม่

ถ้าหากคุณแม่มีแนวโน้มที่จะเกิดครรภ์เป็นพิษ แพทย์ก็จะแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพ เพื่อให้คุณแม่สามารถรักษาสมดุลของร่างกายที่แข็งแรงเอาไว้ให้ได้นานที่สุด และยังสามารถเตรียมการรับมือในกรณีที่เริ่มเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษสูงเอาไว้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยค่ะ



บทความแนะนำสำหรับโภชนาการคุณแม่ตั้งครรภ์