ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 29 สัปดาห์ อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 29 สัปดาห์ อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 16-17 นิ้ว ประมาณ 1.1 - 1.3 กิโลกรัม มีขนาดเท่ากับบัตเตอร์นัท สควอช (Butternut Squash) หรือ ฟักทองบัตเตอร์นัท
  • อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ กล้ามเนื้อต่าง ๆ และปอดของทารกกำลังเติบโตเต็มที่จนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว ขณะที่ศีรษะของทารกก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับสมองที่ขยายตัวมากขึ้น
  • อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มดิ้นมากขึ้นและคุณแม่สามารถรู้สึกได้ชัดเจนมาก และบางครั้งทารกอาจดิ้นแรงจนทำให้คุณแม่จุกได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 29 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 29
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 29 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 29 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 29 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 29 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 29 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 29 สัปดาห์นี้ เรียกได้ว่าขาของคุณแม่ก้าวเข้ามาสู่ไตรมาสสามของการตั้งครรภ์แบบเต็มตัวแล้วจริง ๆ และคุณแม่ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์ก็ชักจะรู้สึกอึดอัดกับขนาดครรภ์ที่ขยายต่อเนื่องราวกับจะไม่มีที่สิ้นสุดนี้

คุณแม่อายุครรภ์ 29 สัปดาห์หลายคนจึงพ่วงมากับอาการปวดเมื่อยร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่นอกจากอาการปวดเมื่อย ปวดหลังแล้ว คุณแม่ยังมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ไหม แล้วเจ้าตัวเล็กในครรภ์โตขึ้นขนาดไหนแล้วนะ ตามไปหาคำตอบพร้อมกันกับ Enfa ได้เลยค่ะ

ท้อง 29 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


ทารกอายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ถือว่าเป็นช่วงวัยที่ทารกมีแต่คำว่า “มากขึ้น” เพราะระบบต่าง ๆ ของทารกนั้นพัฒนามาจนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว และเกือบทุกระบบก็เริ่มทำงานกันแล้ว ทำให้ในระยะนี้ทารกมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ตอบสนองต่อแสงมากขึ้น ดิ้นแรงขึ้น ตัวใหญ่ขึ้น เป็นต้น

ท้อง 29 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 29 สัปดาห์นั้น ภายในมดลูกยังมีพื้นที่มากพอจะให้ทารกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระค่ะ ดังนั้น ทารกจึงจะไม่ขลุกอยู่ในท่าเดิมไปตลอดตั้งครรภ์ แต่สามารถเปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนตำแหน่งได้ทั้งวัน เพื่อให้ตัวเองรู้สึกสบายตัวมากขึ้น ถ้ารู้สึกสบายในท่าในก็จะอยู่ท่านั้น แล้วถึงจะเปลี่ยนอีกเมื่อเริ่มรู้สึกไม่สบายตัว เช่น ตอนเช้าลูกอาจจะเอาหัวลง แต่ตอนบ่ายกลับเอาหัวขึ้น เป็นต้น

อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 7 เดือน 1 สัปดาห์ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 29 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกในสัปดาห์นี้มีความพร้อมสำหรับการคลอดมากขึ้น และเกือบทุกระบบก็เริ่มการทำงานกันเป็นปกติแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าในกรณีที่ทารกคลอดก่อนกำหนดตอน 7 เดือน หลายคนสามารถมีชีวิตรอดและเติบโตมาได้ปกติภายในการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ เพราะระบบร่างกายของทารกในตอนนี้นั้นพร้อมต่อการคลอดแล้วค่ะ

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 29 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 16-17 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับบัตเตอร์นัท สควอช (Butternut Squash) หรือ ฟักทองบัตเตอร์นัทค่ะ

ท้อง 29 สัปดาห์ ลูกหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 1.1 - 1.3 กิโลกรัมค่ะ

ท้อง 29 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากแค่ไหนกัน

แม้จะเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 แล้ว แต่พื้นที่ภายในมดลูกนั้นยังกว้างพอที่จะทำให้ทารกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ อีกทั้งระบบร่างกายของทารกก็พัฒนามาจนเกือบสมบูรณ์แล้ว ทำให้การตอบสนองต่อแสง สี เสียงทำได้ดีขึ้น เวลาคุยกัน อ่านนิทาน หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง ลูกสามารถจะตอบโต้ด้วยการดิ้นหรือเตะท้องได้มากขึ้น

แต่ถ้าถามว่าลูกจะดิ้นบ่อยแค่ไหน อันนี้ตอบได้ยากค่ะ เพราะทารกแต่ละคนจะดิ้นมากดิ้นน้อยไม่เท่ากัน และทารกในระยะนี้สามารถดิ้นได้มากกว่า 300-400 ครั้งต่อวันค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 29 สัปดาห์ มีดังนี้

           • กล้ามเนื้อต่าง ๆ และปอดของทารกกำลังเติบโตเต็มที่จนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว

           • ศีรษะของทารกใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับสมองที่ขยายตัวขึ้น

           • ระยะนี้ถ้ามีแสงสว่างเข้าไปในมดลูก การมองเห็นของลูกพัฒนามากจนสามารถลืมตาและหันหน้ามาทางต้นกำเนิดแสง และกะพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงได้แล้ว

           • ทารกจะเริ่มดิ้นมากขึ้นและคุณแม่สามารถรู้สึกได้ชัดเจนมาก และบางครั้งทารกอาจดิ้นแรงจนทำให้คุณแม่จุกได้

           • ชั้นไขมันใต้ผิวหนังสะสมหนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในโลกภายนอก

           • เล็บของทารกในขณะนี้ได้งอกออกมาถึงปลายนิ้วแล้ว

           • ช่วงนี้ร่างกายทารกกำลังต้องการสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตอย่างมากมายและอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโปรตีน วิตามินซี กรดโฟลิก และธาตุเหล็กเพราะกระดูกกำลังต้องการแคลเซียมถึง 250 มิลลิกรัมทุกวัน

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 29 สัปดาห์


แม่ท้อง 29 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ มีดังนี้

           • หัวนมของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มาแล้ว 29 สัปดาห์ อาจมีน้ำนมสีเหลืองข้นไหลออกมาเพราะโปรแลคตินกระตุ้นเต้านมพร้อมผลิตน้ำนมซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการทำงานของเต้านมคุณแม่ควรรับประทานอาหารคนท้องที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินซี วิตามินดีจะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่เตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนมไว้ให้กับลูกน้อย

           • เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 29 สัปดาห์ อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตจะมีการเปลี่ยนแปลง อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหมือนเวียนหัวตลอดเวลาเกิดความเฉื่อยชาจนไม่อยากทำอะไรแม้แต่เปลี่ยนท่าทางของตัวเองตอนนั่งตอนนอนช่วงนี้อย่าเพิ่งลุกยืนเร็วๆ เพราะอาจทำให้หน้ามืดเป็นลมและหกล้มได้ง่าย ๆ

           • ส่วนขนาดท้องไม่ต้องพูดถึงค่ะ หน้าท้องของคุณแม่ตอนนี้เหมือนกับยัดลูกบอลเอาไว้แล้ว หากแต่ภายในลูกบอลนี้มีทารกตัวน้อยเจริญเติบโตอยู่ ซึ่งขนาดครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นี้ยังคงทำให้คุณแม่มีอาการปวดหลัง ปวดขา ปวดเมื่อย และเป็นตะคริวได้บ่อย ๆ ค่ะ

           • ในระยะนี้คุณแม่หลายคนอาจรู้สึกว่าท้องแข็งบ่อย ซึ่งถ้าหากคุณแม่มีอาการปวดท้องเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

           • อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการตั้งครรภ์ในไตรมาสสาม ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นและหนักมากถึง 1 กิโลกรัม จึงทำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น แต่...คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติ ยังจำเป็นที่จะต้องดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นมาไม่เกิน 3.5-4.5 กิโลกรัม หรือไม่ควรเกิน 5 กิโลกรัมในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ค่ะ

อาหารคนท้อง 29 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 29 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

           • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

           • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

           • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

           • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

           • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

           • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

           • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

อาหารแนะนำสำหรับคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

สำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องมีการควบคุมอาหารอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสุง อาหารที่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานคืออาหารจำพวกผัก ผลไม้ และอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย เพื่อช่วยควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ก่อให้เกิดภาวะข้างเคียงตามมา

โดยในแต่ละมื้อ คุณแม่ควรปรับปรุงอาหารการกิน ดังนี้

           • มื้อเช้า: คุณแม่เบาหวานควรเลือกกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น โจ๊กปลา หรือ โจ๊กไก่ หรือจะเป็นข้าวต้มก็ได้ค่ะ

           • มื้อกลางวัน: เลือกกินอาหารที่มีรสชาติจัดขึ้นมาได้บ้างเล็กน้อย แต่ไม่ควรรสจัดเกินไป หวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด ควรเลี่ยงค่ะ แนะนำเป็นก๋วยเตี๋ยว เกาเหลา

           • มื้อเย็น: เลือกกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย เพื่อไม่ให้แน่นหรืออึดอัดท้องเกินไป อาจส่งผลเสียต่อการนอนได้ แนะนำเป็นแกงเลียง ผัดผักต่าง ๆ

ส่วนผลไม้ จริง ๆ แล้วหากไม่ได้มีอาการแพ้ผลไม้ชนิดใดเป็นพิเศษ คนท้องกินผลไม้ได้ทุกชนิดค่ะ แต่สำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวาน ควรเลือกกินผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย จะดีต่อสุขภาพมากกว่า เช่น มะละกอ สับปะรด พุทรา มังคุด แอปเปิ้ล ทับทิม แก้วมังกร ลองกอง มะม่วง ฝรั่ง องุ่น เป็นต้น

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 29 สัปดาห์ ที่คุณแม่พบบ่อยช่วงนี้


อาการคนท้อง 29 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

           • หน้าท้องที่ขยายตัวมากขึ้น นอกจากจะทำให้เกิดรอยแตกลายแล้ว ยังทำให้คุณแม่มีอาการคันที่หน้าท้องมากขึ้นด้วย คุณแม่ควรบำรุงทั้งครีมป้องกันรอยแตกลาย และครีมทาบรรเทาอาการคัน

           • ขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ขึ้นเริ่มกดดันกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารไม่ย่อย ท้องอืดง่าย หรือเป็นกรดไหลย้อนบ่อย ๆ

           • ขนาดของทารกและมดลูกที่ใหญ่ขึ้นทุกวัน ๆ จนเบียดบังการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ทำให้การย่อยอาหารทำได้ยากขึ้น จึงท้องผูกได้ง่าย และหลายคนเริ่มเสี่ยงต่อริดสีดวงทวาร

           • ท้องแข็งบ่อยขึ้น แต่ระวังจะสับสนว่ามีอาการเจ็บท้องใกล้คลอดนะคะ ถ้าหากปวดท้องแล้วหายได้เอง ปวดแบบไม่รุนแรงมากถือว่าปกติค่ะ แต่ถ้าปวดมาก ปวดบ่อย ทำยังไงก็ไม่หายปวด และปาดมดลูกเริ่มเปิด กรณีนี้ถือว่าอันตรายและเสี่ยงต่อการคลอด ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

           • การไหลเวียนเลือดและการสูบฉีดเลือดที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ อาจส่งผลให้คุณแม่รู้สึกวิงเวียนศีรษะหรือปวดศีรษะได้ง่ายขึ้น

           • เนื่องจากขนาดตัวของทารกที่ใหญ่ขึ้น ทำให้อวัยวะช่วงหลังและอวัยวะส่วนล่างเริ่มต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเอ็นและข้อต่อบริเวณเชิงกรานก็เริ่มมีการคลายตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด จึงทำให้คุณแม่มีอาการปวดหลัง ปวดขา ปวดสะโพกบ่อย

           • ยิ่งมดลูกขยายมากเท่าไหร่ คุณแม่ยิ่งปัสสาวะบ่อยมากขึ้น เพราะขนาดของมดลูกไปกดดันไตและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ไตผลิตปัสสาวะมากขึ้น

           • นอนไม่ค่อยหลับเพราะขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นทำให้คุณแม่นอนไม่ค่อยสบายตัว ไหนจะอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหลัง ปวดขาที่รุมเร้าอีก หากคุณแม่นอนไม่หลับบ่อย ๆ ลองเล่นโยคะที่ออกกำลังกายเบา ๆ อาจช่วยได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเลยจนพักผ่อนน้อย ควรไปพบแพทย์นะคะ

ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์ สัปดาห์นี้มีนัดตรวจอะไรบ้างไหม


ในสัปดาห์นี้แพทย์อาจจะไม่ได้มีการนัดพบกับคุณแม่แต่อย่างใดค่ะ ถ้าหากคุณแม่ไม่ได้มีภาวะความเสี่ยงใด ๆ ที่จะต้องมาพบแพทย์ทุกสัปดาห์ ส่วนในกรณีที่แพทย์นัดพบ คุณแม่ควรไม่ควรพลาดนัดนะคะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากคุณแม่มีสัญญาณเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อยู่แล้ว ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อให้แพทย์สามารถติดตามการตั้งครรภ์ของคุณแม่ได้อย่างละเอียดและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อค่ะ

อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 29 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย ปกติไหม

อาการท้องแข็งบ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ โดยมากแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก

           • ทารกดิ้นแรง
           • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
           • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
           • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องเป็นครั้งคราว แต่จะไม่ปวดนาน อาจจะปวดประมาณ 10-20 นาที แล้วก็จะหายไปเอง การเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้ กรณีแบบนี้ไม่อันตรายค่ะ

แต่ถ้าหากอาการปวดท้องของคุณแม่นั้นเริ่มปวดถี่ขึ้น ปวดหลายครั้งต่อวัน และอาการปวดนั้นค่อย ๆ รุนแรงขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง แม้ว่าจะลองเปลี่ยนท่าทาง หรือกินยาแก้ปวดก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 29 สัปดาห์ รู้สึกเจ็บอวัยวะเพศ ปกติไหม

ท้อง 29 สัปดาห์ ปวดจิมิ เจ็บที่อวัยวะเพศ อาจมีสาเหตุมาจากเอ็นกระดูกเชิงกรานยืดออกเพื่อรองรับน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในช่องคลอดยืดออก จึงทำให้รู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศได้

ซึ่งอาการปวดมิจินี้ถือว่าพบได้โดยทั่วไปสำหรับคนท้องไตรมาสสองและไตรมาสสามค่ะ แต่ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดมากขึ้นกว่าเดิม แนะนำให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

ท้อง 29 สัปดาห์ ปวดท้อง อันตรายไหม

อาการปวดท้องนั้นมีสาเหตุที่กว้างและหลากหลายมากค่ะ ซึ่งอาการปวดท้องของคุณแม่อาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูกและการขยายตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ท้อง จึงทำให้มีอาการปวดท้องในขณะตั้งครรภ์ได้

หรือแม้แต่การกินมากเกินไป อาการท้องอืด ท้องผูกในขณะตั้งครรภ์ ก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องได้เช่นกัน และส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้ส่งผลเสียที่รุนแรงต่อการตั้งครรภ์ค่ะ

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณแม่มีอาการปวดท้องแต่อาการไม่ดีขึ้นเลย หรือมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ หรือมีอาการปากมดลูกเปิดก่อนถึงกำหนดคลอด กรณีแบบนี้ถือว่าอันตรายและจำเป็นจะต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะคุณแม่อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นค่ะ

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 29 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

นับลูกดิ้น นับอย่างไร

เมื่อทารกอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มดิ้นเป็นเวลามากขึ้น จะไม่ดิ้นสะเปะสะปะแบบเมื่อก่อนแล้ว คุณแม่จึงสามารถนับลูกดิ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปค่ะ

คุณแม่ควรนับลูกดิ้น 2 ครั้งต่อวัน โดยครั้งแรกของวันให้เริ่มนับในตอนเช้า แต่ควรนับในตอนที่คุณแม่ไม่ได้ทำงานบ้านหรือกิจกรรมใด ๆ นะคะ เพราะถ้านับไป ทำอย่างอื่นไป จะทำให้การนับคลาดเคลื่อนได้ และนับครั้งที่สองในตอนเย็น ๆ หรือจะนับในตอนหัวค่ำก็ได้ค่ะ

โดยการนับลูกดิ้น ให้นับดังนี้

           • ในแต่ละครั้งที่นับ ให้ทำการจับเวลาและนับดูว่าลูกดิ้นครบ 10 ครั้งเมื่อไหร่ เช่น เริ่มจับเวลาตอน 8 โมง และนับลูกดิ้นครั้งที่ 10 ได้ตอน 11 โมง ก็ให้บันทึกลงไปค่ะ

           • แต่ทารกในครรภ์จะดิ้นมากหรือน้อยแตกต่างกันไป เด็กบางคนพลังเยอะมาก อาจจะดิ้นครบ 10 ครั้งตั้งแต่ 10 นาทีแรก อันนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ ลูกดิ้นมากแปลว่าลูกมีสุขภาพแข็งแรงดี

           • แต่ถ้าจับเวลา 1 ชั่วโมงแล้วลูกยังดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก็ยังไม่ต้องตกใจนะคะ ให้คุณแม่หาอะไรกินรองท้องก่อน แล้วไปนอนพักสักครู่ จากนั้นค่อยเริ่มนับอีกครั้ง ถ้าภายใน 1 ชั่วโมง ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก็อย่าเพิ่งหยุดนับค่ะ ให้นับต่อไปและจดบันทึกเอาไว้ว่าลูกน้อยดิ้นครบ 10 ครั้งในเวลากี่ชั่วโมง

           • ส่วนในกรณีที่หมดวันแล้ว หรือครบทั้ง 12 ชั่วโมงแล้ว ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

           • และถ้าหากในช่วงครึ่งวันเช้า คุณแม่นับลูกดิ้นแล้วพบว่าลูกดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้ง ไม่ต้องรอให้หมดวันนะคะ ตรงดิ่งไปที่โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที แล้วรีบเข้ารับการตรวจครรภ์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ค่ะ

การออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์

การออกกำลังกายสำหรับคนท้องโดยมากแล้วถือว่ามีความปลอดภัย และไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงที่รุนแรงต่อการตั้งครรภ์ แต่...ไม่ใช่สำหรับแม่ทุกคนค่ะ!

เพราะแม่แต่ละคนมีพื้นฐานสุขภาพที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การออกกำลังกายตอนตั้งครรภ์จึงมีปัจจัยที่แตกต่างกัน แนะนำให้คุณแม่ปรึกษากับแพทย์เพื่อดูว่าสามารถออกกำลังกายได้ไหม และควรออกกำลังกายแบบไหนถึงจะเหมาะสมและไม่มีอันตราย

โดยกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เช่น

           • การเดิน โดยอาจจะเป็นการเดินช้า หรือเดินเร็วก็ได้
           • การว่ายน้ำ
           • การปั่นจักรยานกับที่
           • โยคะคนท้อง
           • พิลาทิสสำหรับคนท้อง
           • การเต้นแอโรบิกแบบเบา ๆ

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์ดูก่อนนะคะว่าพื้นฐานสุขภาพของคุณแม่เนี่ย สามารถออกกำลังกายได้ไหม ถ้าหากได้ ควรออกกำลังกายแบบไหน และถ้าหากไม่ได้ แต่คุณแม่อยากจะยืดเส้นยืดสายบ้าง ควรทำกิจกรรมใด แพทย์จะช่วยประเมินความเสี่ยงและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับสุขภาพของคุณแม่ได้ดีที่สุดค่ะ

บวมผิดปกติ อาการเตือนภาวะครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ถือเป็นความผิดปกติที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการตั้งครรภ์ค่ะ โดยสัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ อาการบวมตามใบหน้า มือ และเท้า

หากคุณแม่รู้สึกว่าอาการบวมนี้บวมมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอาการบวมที่กดลงไปแล้วผิวหนังไม่คืนตัวทันที แต่กดลงไปแล้วบุ๋ม และใช้เวลานานกว่าที่ผิวหนังจะคืนตัวปกติ

ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ หรือในกรณีที่ฉุกเฉินมากจริง ๆ อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที หรือร้ายแรงที่สุดแพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์

ท่านอนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ปกติแล้วท่านอนที่เหมาะสมสำหรับแม่ท้องคือท่านอนหงาย กับ ท่านอนตะแคงค่ะ แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในไตรมาสสาม การนอนหงายจะไม่เหมาะกับคุณแม่แล้วค่ะ

เพราะขนาดครรภ์และน้ำหนักตัวของคุณแม่เพิ่มมากขึ้น การนอนหงายจะยิ่งทำให้เกิดการกดทับที่หลังมากขึ้นกว่าเดิม มากไปกว่านั้น มดลูกหรือทารกในครรภ์อาจจะไปกดทับเส้นเลือดใหญ่กลางลำตัว ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี เสี่ยงต่อภาวะความดันต่ำ ทำให้เป็นลมหรือหมดสติได้ค่ะ

ส่วนท่านอนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณแม่ไตรมาสสามนี้คือท่านอนตะแคงซ้ายค่ะ ท่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มดลูกกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ และช่วยให้เลือดจากขาไหลย้อนกลับเข้าสู่หัวใจได้ดีขึ้น ทำให้ไตสามารถขับถ่ายของเสียได้ตามปกติ

นอกจากนี้ เวลานอน คุณแม่ควรหาหมอนใบเล็ก ๆ นุ่ม ๆ มารองท้อง หรือรองที่ขา เพื่อช่วยรับน้ำหนักท้องและไม่ให้ท้องโย้ลงต่ำมากไป เพราะจะทำให้คุณแม่รู้สึกตึงและถ่วงท้องมากเกินไป

1,000 วันแรกคืออะไร และสำคัญอย่างไร

การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ซึ่ง 1,000 วันแรก จะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ดังนี้

ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร

เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย

ไขขัอข้องใจเมื่อท้อง 29 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


29 สัปดาห์ ลูกกลับหัว แล้วหรือยัง?

ทารกมีการกลับหัวอยู่ตลอดค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสอง ขนาดมดลูกมีเนื้อที่มากพอให้ทารกสามารถกลับหัว กลับหาง เปลี่ยนท่าทางได้ตลอดเวลา ซึ่งทารกก็จะเลือกอยู่ในท่าที่ตัวเองรู้สึกสบาย ถ้าเริ่มเมื่อย หรือรู้สึกไม่สบายตัวก็จะมีการเปลี่ยนท่าอีกจนกว่าจะรู้สึกสบายตัวค่ะ

ดังนั้น ในช่วงนี้ถ้าหากพบทารกกลับหัวจึงไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ แต่เมื่ออายุครรภ์ 35-36 สัปดาห์ขึ้นไป ตอนนี้ทารกมีขนาดใหญ่มากขึ้น เนื้อที่ภายในมดลูกก็ไม่ได้มากพอให้ทารกเปลี่ยนท่าได้บ่อย ๆ ดังนั้น ช่วงนี้ทารกอยู่ในท่าไหนก็จะอยู่ในท่านั้น จะไม่เปลี่ยนท่าบ่อย ๆ เหมือนในช่วงไตรมาสสองแล้วค่ะ

ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน?

เนื่องจากอายุครรภ์ 29 สัปดาห์นี้ มดลูกยังมีพื้นที่มากพอให้ทารกสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และทารกจะเปลี่ยนอริยาบถเมื่อรู้สึกว่าไม่สบายตัว ดังนั้น ทารกจึงเปลี่ยนท่าทางอยู่ตลอดค่ะ ตอนเช้าอาจจะเอาหัวลง พอตกเย็นอาจจะเอาหัวขึ้นก็ได้

ท้อง 29 สัปดาห์ ลูกดิ้นน้อย อันตรายไหม?

ทารกดิ้นน้อยอันตรายไหม? อันตรายแน่นอนค่ะ เพราะทารกอาจจะขาดออกซิเจน รกพันคอ หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น แต่...คุณแม่จะรู้ว่าลูกดิ้นน้อยได้นั้น คุณแม่จะต้องทำการนับลูกดิ้นค่ะ ซึ่งถ้าหากนับแล้วพบว่า

           • คุณแม่พยายามนับลูกดิ้นมาจนครบ 12 ชั่วโมงแล้ว แต่ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

           • หรือคุณแม่นับลูกดิ้นในครึ่งวันเช้า แล้วพบว่าลูกดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้ง ไม่ต้องรอให้หมดวันนะคะ ตรงดิ่งไปที่โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที แล้วรีบเข้ารับการตรวจครรภ์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ค่ะ

ท้อง 29 สัปดาห์ ลูกดิ้นต่ำ หมายความว่าอะไร?

ลูกดิ้นต่ำ อันนี้อาจจะต้องมาตีความหมายคำว่า “ต่ำ” กันก่อนค่ะ ถ้าหากดิ้นต่ำ หมายถึงดิ้นน้อยลง อันนี้คุณแม่ต้องนับลูกดิ้นค่ะ ถ้าลูกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ภายใน 12 ชั่วโมง หรือลูกดิ้นน้อยกว่า 4-5 ครั้งในครึ่งวันเช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ค่ะ

แต่...ถ้าหากดิ้นต่ำ หมายถึง การสัมผัสได้ว่าการดิ้นของลูกนั้นอยู่ต่ำกว่าสะดือหรือต่ำกว่าท้องน้อย อันนี้ก็ไม่ถือว่าอันตรายค่ะ เพราะอย่างที่บอกว่าทารกมีการเปลี่ยนแปลงท่าทางอยู่ตลอด เดี๋ยวเอาหัวลง เดี๋ยวเอาก้นลง ดังนั้น บางครั้ง ลูกอาจเอาก้นหรือขาลง แล้วมีการดิ้น การเตะเกิดขึ้นตอนนั้นพอดี คุณแม่จึงสัมผัสการดิ้นของลูกอยู่ต่ำกว่าสะดือหรือท้องน้อยค่ะ

ท้อง 29 สัปดาห์ ปวดหลังบ่อย ๆ บรรเทาอาการยังไง?

หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้

           • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแทน

           • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายบ้าง เช่น การเดิน ปั่นจักรบาน โยคะ เพื่อช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

           • เวลานอนให้ใช้หมอนรองที่หว่างขา หรือเอว หรือหลัง เพื่อลดแรงกดทับที่หลัง

           • ปรับเปลี่ยนอริยาบถให้เหมาะสม ไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังงอ เพราะจะทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้

           • ทาครีมยาบรรเทาอาการปวดหลัง

           • ไปนวดกับแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญการนวดคนท้อง และควรแจ้งกับคนนวดทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์

           • กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ

อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ควรกินอะไร?

แม่อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ ควรกินอาหารให้หลากหลาย มีประโยชน์ และควรจะครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ทั้งแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง และควรจะเน้นสารอาหารที่ดีต่อการตั้งครรภ์ ได้แก่

           • ดีเอชเอ พบมากในอาหารจำพวก ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

           • ธาตุเหล็ก พบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

           • โฟเลต พบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

           • แคลเซียม พบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

           • ไอโอดีน พบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

           • โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

           • โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

อายุครรภ์ 29 สัปดาห์ คลอดได้ไหม?

ทารกอายุครรภ์ 29 สัปดาห์นี้ ถือว่ามีพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้เกือบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสมบูรณ์อยู่ในระดับที่ว่าถ้ามีเหตุต้องคลอดออกมาในตอนนี้ ทารกก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้

แต่...จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เนื่องจากปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ ระบบต่าง ๆ และอวัยวะอีกหลายส่วนยังทำงานได้ไม่เต็มที่เท่ากับเด็กที่คลอดตามกำหนดค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

คนท้องกินกาแฟได้ไหม
baby-movements-during-pregnancy
เช็ก! 15 สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย เกิดจากอะไร
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner