ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 31 สัปดาห์ อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 31 สัปดาห์ อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 17-18 นิ้ว หนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม และมีขนาดพอ ๆ กับผลมะพร้าว
  • อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ ระบบสืบพันธุ์พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทารกเพศชายอัณฑะจะเคลื่อนตัวลงมาผ่านขาหนีบไปยังถุงอัณฑะ ส่วนทารกเพศหญิงจะเริ่มมีปุ่มคลิตอริส
  • อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ ปอดและระบบย่อยอาหารของทารกพัฒนาจนเกือบสมบูรณ์และพร้อมที่จะทำงานหลังคลอดแล้ว

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 31 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 31
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 31 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 31 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 31 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 31 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 31 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 31 สัปดาห์ ถือได้ว่าคุณแม่เข้าใกล้เส้นชัยมาเรื่อย ๆ แล้วค่ะ อีกไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้ก็จะเริ่มนับถอยหลังใกล้คลอด แต่แม่ตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์ มีอาการอย่างไรบ้าง แล้วทารกอายุครรภ์ 31 สัปดาห์จะโตขึ้นขนาดไหนแล้วนะ

ท้อง 31 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


สัปดาห์นี้ทารกจะดิ้นแรงมากขึ้น เนื่องจากระบบกล้ามเนื้อและกระดูกในร่างกายแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ จึงสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระ ขณะที่ระบบสืบพันธุ์ของทารกในครรภ์ก็พัฒนาจนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว

อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 31 สัปดาห์ ยังไม่อยู่ในท่าที่พร้อมคลอดค่ะ และไม่มีท่าที่ตายตัวด้วย เพราะสามารถเปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนตำแหน่งได้ทั้งวัน ตอนเช้าอาจเอาหัวลง แต่ตอนบ่ายก็อาจกลับเอาหัวขึ้น เนื่องจากมดลูกยังมีพื้นมากพอให้ทารกดิ้นและเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระค่ะ

อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 31 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 7 เดือน กับอีก 3 สัปดาห์ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 31 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


พัฒนาการของทารกในสัปดาห์นี้ ถือว่าเป็นช่วงที่นับถอยหลังสู่ความสมบูรณ์ของระบบต่าง ๆ ในร่างกายทารกในครรภ์ ทั้งระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินหายใจ รวมถึงระบบย่อยอาหารด้วย

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 31 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 31 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 17-18 นิ้ว มีขนาดพอ ๆ กับผลมะพร้าวค่ะ

ท้อง 31 สัปดาห์ ลูกหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 กิโลกรัมค่ะ

ท้อง 31 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากแค่ไหน

ในสัปดาห์ที่ 31 นี้ พื้นที่ภายในมดลูกนั้นยังกว้างพอที่จะทำให้ทารกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ อีกทั้งระบบร่างกายของทารกก็พัฒนามาจนเกือบสมบูรณ์แล้ว ทำให้การตอบสนองต่อแสง สี เสียงทำได้ดีขึ้น เวลาคุยกัน อ่านนิทาน หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง ลูกสามารถจะตอบโต้ด้วยการดิ้นหรือเตะท้องได้มากขึ้น

แต่ถ้าถามว่าลูกจะดิ้นบ่อยแค่ไหน อันนี้ตอบได้ยากค่ะ เพราะทารกแต่ละคนจะดิ้นมากดิ้นน้อยไม่เท่ากัน และทารกในระยะนี้สามารถดิ้นได้มากกว่า 300-400 ครั้งต่อวัน หรืออาจดิ้นได้มากถึง 700 ครั้งต่อวันค่ะ

ท้อง 31 สัปดาห์ ลูกกลับหัวยัง

ในสัปดาห์นี้ทารกส่วนมากจะยังไม่เริ่มกลับหัวค่ะ แต่ถัดจากสัปดาห์นี้ไป ทารกหลาย ๆ คนจะเริ่มกลับหัวพร้อมคลอดแล้ว อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วทารกจะพร้อมกลัวหัวมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 35 เป็นต้นไปค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 31 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ทารกในครรภ์สามารถขยับหัวหมุนไปด้านข้างได้แล้ว ทั้งยังสามารถเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้คล่องแคล่วมากขึ้นด้วย

          • ทารกเคลื่อนไหวถี่ขึ้นด้วยการเตะและกลับตัวขึ้น ๆ ลง ๆ หลายครั้ง ทำให้คุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกดิ้นถี่มาก และยิ่งลูกดิ้นมาก ลูกเตะมาก ก็แปลว่าลูกน้อยแข็งแรงมากนั่นเองค่ะ

          • แขน ขา และลำตัวเริ่มมีไขมันสะสมมากขึ้นทำให้ผิวไม่ค่อยเหี่ยวย่นเหมือนตอนแรก

          • ปอดของทารกจะพัฒนาขึ้นจนเกือบสมบูรณ์ถุงลมในปอดสามารถหลั่งสารลดแรงตึงผิวออกมาเพื่อช่วยให้ถุงลมคงรูปไม่แฟบติดกัน

          • ระบบย่อยอาหารเกือบสมบูรณ์และพร้อมที่จะทำงานแล้ว

          • ช่วงนี้คุณแม่อาจสังเกตถึงช่วงเวลาที่ทารกตื่นเพราะทารกจะมีการเคลื่อนไหว หรือนอนหลับที่ชัดเจนมากขึ้น

          • ระบบสืบพันธุ์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับทารกเพศชายอัณฑะจะเคลื่อนตัวลงมาผ่านขาหนีบไปยังถุงอัณฑะ ส่วนทารกเพศหญิงก็จะเริ่มมีปุ่มคลิตอริสปรากฏขึ้นในสัปดาห์นี้

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 31 สัปดาห์


แม่ท้อง 31 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ มีดังนี้

          • ช่วงนี้คุณแม่รู้สึกว่ามดลูกหดเกร็งและคลายตัวเป็นระยะ ๆ มากขึ้น การปวดเกร็งแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 30 วินาที แต่ถ้ามดลูกบีบตัวมากผิดปกติ หรือถ้าเริ่มมีน้ำหรือมีเมือก เหลว ๆ หรือเลือดไหลออกจากช่องคลอด ต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที

          • คุณแม่บางคนอาจจะมีอาการปัสสาวะเล็ดเวลาไอ จาม หรือหัวเราะ เกิดจากการที่ท้องโตขึ้น แรงดันในช่องท้องมากขึ้น จนแรงดันในกระเพาะปัสสาวะมากกว่าแรงรัดของหูรูดกระเพาะปัสสาวะวิธีควบคุมไม่ให้ปัสสาวะเล็ดออกมา คือเวลาคุณแม่จะไอหรือจาม ให้ขมิบก้นไว้ก่อนทุกครั้ง และพยายามปัสสาวะทันทีที่รู้สึกปวดปัสสาวะ เข้าห้องน้ำปัสสาวะให้บ่อยครั้ง ควรใส่ผ้าอนามัยหรือแผ่นซับหากรู้สึกอับชื้น ไม่สะอาด

          • คุณแม่บางคนอาจมีน้ำนมไหลออกมาเป็นครั้งแรกจากหน้าอกอาจต้องหาผ้าปิดรองไว้ที่หัวนมเวลาใส่ชุดชั้นใน เพื่อป้องกันน้ำนมไหลเลอะเปื้อนเสื้อชั้นในโดยไม่รู้ตัว

          • ขนาดท้องของคุณแม่ตอนนี้ก็ยังคงใหญ่ขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดไปหมด ไม่ว่าจะขยับตัวไปทำอะไรก็ตาม และบางคนเริ่มกินอาหารได้น้อยลง เพราะรู้สึกอึดอัดท้อง กินเข้าไปนิดหน่อยก็รู้สึกอิ่มซะแล้ว

          • อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการตั้งครรภ์ในไตรมาสสาม ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นและหนักมากถึง 1.6 กิโลกรัม จึงทำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น แต่...คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติ ยังจำเป็นที่จะต้องดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นมาไม่เกิน 3.5-4.5 กิโลกรัม หรือไม่ควรเกิน 5 กิโลกรัมในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ค่ะ

อาหารคนท้อง 31 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 31 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 31 สัปดาห์ ที่พบได้บ่อยในช่วงนี้


อาการคนท้อง 31 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
          • มีอาการปวดหรือตึงที่หลังถี่ขึ้น เพราะขนาดครรภ์เริ่มโน้มไปข้างหน้ามากขึ้น
          • เริ่มมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ
          • ขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น ความปวดเมื่อยต่าง ๆ ทำให้นอนหลับยากขึ้น
          • มีน้ำนมไหลออกมาบ่อย จนรู้สึกเฉอะแฉะที่บริเวณหัวนม
          • มีอาการคันที่หน้าท้องบ่อย ๆ

ตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์ สัปดาห์นี้มีนัดตรวจอะไรไหม


ในสัปดาห์นี้โดยมากแล้วถ้าการตั้งครรภ์เป็นปกติ ไม่มีอะไรน่าเป็นกังวล ก็อาจจะไม่ได้มีนัดกับแพทย์ค่ะ เว้นแต่ว่าคุณแม่มีภาวะความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน หรือครรภ์เป็นพิษ

กรณีเช่นนี้แพทย์อาจจะนัดให้มาทำการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูว่าทารกในครรภ์ยังเจริญเติบโตตามปกติหรือไม่ เพื่อจะได้หาทางรับมือได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่คุณแม่เริ่มเข้าใกล้จุดอันตรายของการตั้งครรภ์มากขึ้นเรื่อย ๆ

อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ ท้องตึงแข็ง ปกติไหม

อาการท้องแข็งตึง คือ อาการมดลูกหดรัดตัวจนกระทั่งกล้ายเป็นก้อนกลม ๆ กดลงไปจะรู้สึกว่าเป็นก้อนแข็ง ๆ ซึ่งอาการท้องแข็งตึงนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (ถือว่าเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด)
          • การกลั้นปัสสาวะนาน ๆ
          • การมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง
          • การออกแรงมาก หรือการทำงานหนัก
          • การพักผ่อนน้อย
          • การอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ
          • ลูกดิ้นบ่อย

ซึ่งอาการท้องแข็งตึงนี้พบได้เป็นปกติในแม่ตั้งครรภ์ค่ะ นอนพัก หรือปรับเปลี่ยนอริยาบถก็ช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่...ถ้าหากมีอาการปวดทุกครึ่งชั่วโมง ติดต่อกันนานถึง 2-3 ชั่วโมง แนะนำให้ไปพบแพทย์ค่ะ เพราะถ้าทิ้งเอาไว้นาน ๆ จะเสี่ยงมีอาการปากมดลูกเปิด และเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้

ท้อง 31 สัปดาห์ ปวดหน่วง ต้องกังวลไหม

อาการปวดหน่วงที่ท้อง ถามว่าควรกังวลไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าอาการปวดหน่วงนั้นรุนแรงมากแค่ไหน เพราะโดยมากแล้วคนท้องจะมีอาการปวดหน่วงเนื่องจากการขยายตัวของมดลูก การยืดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่หน้าท้องอยู่แล้ว

ซึ่งอาการปวดแบบนี้จะปวดเป็นพัก ๆ ไม่นานก็หาย นอนพัก กินยา หรือเปลี่ยนอริยาบถก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ท้อง 31 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย อันตรายไหม

อาการท้องแข็งบ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ โดยมากแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องเป็นครั้งคราว แต่จะไม่ปวดนาน อาจจะปวดประมาณ 10-20 นาที แล้วก็จะหายไปเอง การเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้ กรณีแบบนี้ไม่อันตรายค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดท้องของคุณแม่นั้นเริ่มปวดถี่ขึ้น ปวดหลายครั้งต่อวัน อาการปวดนั้นค่อย ๆ รุนแรงขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง แม้ว่าจะลองเปลี่ยนท่าทาง หรือกินยาแก้ปวดก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 31 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย หมายความว่าอะไร

อาการปวดท้องน้อยก็เป็นอาการปกติของแม่ท้องค่ะ แม่ท้องหลายคนมีอาการปวดท้องน้อยเป็นครั้งคราว เพราะอย่างที่บอกว่ามดลูกของคุณแม่นั้นจะมีการขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย

ทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อที่ยึดมดลูกมีการดึงรั้งกัน จึงทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องน้อย ซึ่งก็จะไม่ใช่อาการปวดที่รุนแรงค่ะ ปวดเป็นพัก ๆ ก็ดีขึ้น นั่งพัก นอนพัก หรือกินยาก็ช่วยให้ดีขึ้นได้

แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ท้อง 31 สัปดาห์ ปวดหัวหน่าว คืออะไร

อาการปวดหัวหน่าวในไตรมาสสามนั้น ถือเป็นธรรมชาติของคนท้อง และมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง โดยอาการปวดหัวหน่าวนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ

          • ฮอร์โมนตั้งครรภ์ส่งผลให้กล้ามเนื้อมีการคลายตัว ช่องคลอดขยาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดลูก

          • ขนาดตัวของทารกและมดลูกขยาย หรือตั้งครรภ์แฝด ทำให้เชิงกรานของคุณแม่ขยายและต้องรับน้ำหนักมาก จึงรู้สึกปวดหัวหน่าวได้

          • การไหลเวียนเลือดไม่ค่อยดี เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ ก็จะทำให้ขาบวมหรือมีอาการตึงที่หัวหน่าว

          • การอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวหน่าวได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากอาการหัวหน่าวของคุณแม่นั้นรุนแรงมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ปวดจนลุกไม่ไหว ปวดจนนอนไม่หลับ หรือกินยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ดีขึ้นเลย อาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 31 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

ฝึกนับลูกดิ้น

การนับลูกดิ้นนั้น คุณแม่ควรนับ 2 ครั้งต่อวัน โดยครั้งแรกของวันให้เริ่มนับในตอนเช้า แต่ควรนับในตอนที่คุณแม่ไม่ได้ทำงานบ้านหรือกิจกรรมใด ๆ นะคะ เพราะถ้านับไป ทำอย่างอื่นไป จะทำให้การนับคลาดเคลื่อนได้ และนับครั้งที่สองในตอนเย็น ๆ หรือจะนับในตอนหัวค่ำก็ได้ค่ะ โดยการนับลูกดิ้น ให้นับดังนี้

          • ในแต่ละครั้งที่นับ ให้ทำการจับเวลาและนับดูว่าลูกดิ้นครบ 10 ครั้งเมื่อไหร่ เช่น เริ่มจับเวลาตอน 8 โมง และนับลูกดิ้นครั้งที่ 10 ได้ตอน 11 โมง ก็ให้บันทึกลงไปค่ะ

          • แต่ทารกในครรภ์จะดิ้นมากหรือน้อยแตกต่างกันไป เด็กบางคนพลังเยอะมาก อาจจะดิ้นครบ 10 ครั้งตั้งแต่ 10 นาทีแรก อันนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ ลูกดิ้นมากแปลว่าลูกมีสุขภาพแข็งแรงดี

          • แต่ถ้าจับเวลา 1 ชั่วโมงแล้วลูกยังดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก็ยังไม่ต้องตกใจนะคะ ให้คุณแม่หาอะไรกินรองท้องก่อน แล้วไปนอนพักสักครู่ จากนั้นค่อยเริ่มนับอีกครั้ง ถ้าภายใน 1 ชั่วโมง ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก็อย่าเพิ่งหยุดนับค่ะ ให้นับต่อไปและจดบันทึกเอาไว้ว่าลูกน้อยดิ้นครบ 10 ครั้งในเวลากี่ชั่วโมง

          • ส่วนในกรณีที่หมดวันแล้ว หรือครบทั้ง 12 ชั่วโมงแล้ว ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

          • และถ้าหากในช่วงครึ่งวันเช้า คุณแม่นับลูกดิ้นแล้วพบว่าลูกดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้ง ไม่ต้องรอให้หมดวันนะคะ ตรงดิ่งไปที่โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที แล้วรีบเข้ารับการตรวจครรภ์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ค่ะ

รู้ทันภาวะครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ถือเป็นความผิดปกติที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการตั้งครรภ์ค่ะ และส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ก็มักจะมีภาวะครรภ์เป็นพิษตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป

โดยภาวะครรภ์เป็นพิษ จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไตเสียหาย โปรตีนในปัสสาวะสูง และอาจมีความเสียหายต่ออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย ภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • ตั้งครรภ์ครั้งแรก
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือตั้งครรภ์ตอนมากกว่า 35 ปี
          • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น
          • คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือตั้งครรภ์ทารกมากกว่า 2 คน
          • คุณแม่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • ตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
          • คุณแม่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายอยู่แล้ว
          • คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์

โดยสัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่

          • ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว
          • มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต หรือตรวจพบโปรตีนปริมาณมากในปัสสาวะ
          • ระดับเกล็ดเลือดลดลง
          • ค่าเอนไซม์ในตับสูง
          • มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
          • มีอาการตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง
          • มีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมที่ใบหน้าและมือ
          • หายใจถี่ ๆ
          • ปวดท้องช่วงบน หรือบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา
          • คลื่นไส้หรืออาเจียน
          • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ หรือในกรณีที่ฉุกเฉินมากจริง ๆ อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที หรือร้ายแรงที่สุดแพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์

คุณแม่ท้องนอนไม่หลับ แก้ปัญหานี้อย่างไรดี

สำหรับคุณแม่ที่มีอาการนอนไม่หลับบ่อย ๆ สามารถรับมือได้ ดังนี้

          • ช่วงที่ใกล้จะเข้านอน ควรลดการดื่มน้ำลง เพราะถ้าหากดื่มน้ำมากเกินไป จะทำให้คุณแม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อย ๆ ตอนกลางคืน

          • หมั่นออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานกับที่ โยคะคนท้อง พิลาทิสคนท้อง การออกกำลังกายช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นค่ะ

          • พยายามลดความเครียดและความวิตกกังวลต่าง ๆ ทำจิตใจให้สบาย เพราะความเครียดเหล่านี้มีผลทำให้คุณแม่นอนไม่หลับ และวิตกอยู่กับสิ่งนั้น ๆ ตลอดคืน ซึ่งการลดความเครียดนั้นก็ไม่สงวนวิธีค่ะ คุณแม่บางคนอาจจะชอบสวดมนต์ ทำสมาธิ หรือถ้าการอ่านหนังสือ การดูหนัง หรือวิธีใด ๆ ที่ช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายได้ ก็สามารถทำได้เลย

          • เลือกหมอนที่เหมาะกับตนเอง ควรเลือกที่ไม่นิ่มจนเกินไป และไม่แข็งจนเกินไป มีขนาดพอเหมาะ หรือเลือกหมอนที่คุณแม่หนุนแล้วรู้สึกสบายตัวมากที่สุด จะช่วยให้หลับสบายขึ้นได้ค่ะ

          • ปรับเรื่องอาหารการกิน มื้อเย็นไม่ควรจะกินอาหารหนักจนเกินไป เพราะจะทำให้ไม่สบายท้อง หรือมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย จะยิ่งทำให้นอนไม่หลับ

          • ปรับบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะสม ไม่ควรร้อนเกินไป แสงสว่างควรจะน้อย และไม่ควรมีเสียงรบกวน เพื่อช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ง่ายขึ้น

          • แต่ถ้าหากอาการนอนไม่หลับไม่ดีขึ้นเลยแม้ว่าจะลองหลายวิธีแล้ว คุณแม่ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

รองเท้าคนท้อง เลือกอย่างไรให้ใส่สบาย

เมื่อตั้งครรภ์ ขนาดเท้าของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลง คือมีอาการบวมขึ้น และน้ำหนักครรภ์ที่มากขึ้นยังทำให้ช่วงขาและเท้าต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การสวมใส่รองเท้าแบบเดิม ๆ อาจจะไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพของคุณแม่ โดยคุณแม่ควรจะเลือกรองเท้าที่เหมาะสมสำหรับคนท้อง ดังนี้

          • เลือกรองเท้าที่พื้นไม่แข็งจนเกินไป แต่ก็ต้องไม่นิ่มจนเกินไป ควรเลือกที่นิ่มและยืดหยุ่นกำลังดี เพื่อให้รู้สึกสบายเท้าในเวลาก้าวเดิน

          • เลือกรองเท้าที่มีขนาดเหมาะสมกับเท้า ไม่หลวม หรือคับจนเกินไป และทางที่ดีคุณแม่ควรไปเลือกไซซ์ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่มีอาการเท้าบวม ทำให้ไซซ์รองเท้าปกติที่เคยใส่ อาจจะใส่แล้วรู้สึกไม่สบาย หรือคับเกินไปค่ะ

          • เลือกรองเท้าที่ส้นต่ำ เพื่อไม่เป็นการเพิ่มแรงกดไปที่เท้าส่วนหน้ามากจนเกินไป จะทำให้อาการปวดเมื่อยแย่ลง

          • เลือกรองเท้าที่มีการยึดเกาะเป็นอย่างดี อย่าเลือกแค่เพราะว่าสวยหรือนุ่มกำลังดีเพียงอย่างเดียว อย่าลืมว่าการลื่นหรือหกล้มในขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้ค่ะ

          • เลือกรองเท้าที่น้ำหนักเบา เพราะจะช่วยให้การเคลื่อนไหวสะดวก ไม่รู้สึกเมื่อยมากขึ้นที่ต้องรับทั้งน้ำหนักในการตั้งครรภ์ แล้วยังต้องมารับน้ำหนักของรองเท้าที่สวมอยู่อีก

กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์

คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมพัฒนาการลูกในท้องได้ง่าย ๆ เพียงหมั่นพูดคุยกับลูก อ่านหนังสือนิทาน หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง เพราะทารกอายุครรภ์ 31 สัปดาห์ สามารถได้ยินเสียงรอบตัวได้มากขึ้นแล้ว ทั้งยังสามารถตอบรับกับสิ่งเร้ารอบตัวได้มากขึ้นด้วย

การพูดคุยกับลูก เป็นกิจกรรมที่มีผลโดยตรงต่อการพัฒนาเซลล์สมองของลูกทั้งสิ้น แรงสั่นสะเทือนของเส้นเสียงจะค่อย ๆ ซึมผ่านผนังหน้าท้อง น้ำคร่ำ มายังทารก เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อยในครรภ์ ทำให้ทารกคุ้นเคยกับคำต่าง ๆ และมีพัฒนาการทางภาษา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารต่อไป

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 31 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ท้อง 31 สัปดาห์ ลูกดิ้นต่ำ หมายความว่าอะไร?

ลูกดิ้นต่ำ อันนี้อาจจะต้องมาตีความหมายคำว่า “ต่ำ” กันก่อนค่ะ ถ้าหากดิ้นต่ำ หมายถึงดิ้นน้อยลง อันนี้คุณแม่ต้องนับลูกดิ้นค่ะ ถ้าลูกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ภายใน 12 ชั่วโมง หรือลูกดิ้นน้อยกว่า 4-5 ครั้งในครึ่งวันเช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ค่ะ

แต่...ถ้าหากดิ้นต่ำ หมายถึง การสัมผัสได้ว่าการดิ้นของลูกนั้นอยู่ต่ำกว่าสะดือหรือต่ำกว่าท้องน้อย อันนี้ก็ไม่ถือว่าอันตรายค่ะ เพราะอย่างที่บอกว่าทารกมีการเปลี่ยนแปลงท่าทางอยู่ตลอด เดี๋ยวเอาหัวลง เดี๋ยวเอาก้นลง ดังนั้น บางครั้ง ลูกอาจเอาก้นหรือขาลง แล้วมีการดิ้น การเตะเกิดขึ้นตอนนั้นพอดี คุณแม่จึงสัมผัสการดิ้นของลูกอยู่ต่ำกว่าสะดือหรือท้องน้อยค่ะ

อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ สามารถคลอดได้ไหม?

ถ้าหากทารกคลอดตอนอายุครรภ์ 31 สัปดาห์จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดค่ะ อย่างไรก็ตาม หากมีการคลอดเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้จริง ๆ ก็ถือว่าทารกมีโอกาสรอดสูงค่ะ

เนื่องจากมีพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้เกือบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสมบูรณ์อยู่ในระดับที่ว่าถ้ามีเหตุต้องคลอดออกมาในตอนนี้ ทารกก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้

แต่...จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เนื่องจากปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ ระบบต่าง ๆ และอวัยวะอีกหลายส่วนยังทำงานได้ไม่เต็มที่เท่ากับเด็กที่คลอดตามกำหนดค่ะ

อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ ควรรับประทานอะไร?

แม่ท้องควรท่องเอาไว้เลยค่ะว่าจะต้องกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ในแต่ละวันควรกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ และควรจะต้องเน้นสารอาหารจำพวก โคลีน กรดโฟลิก ดีเอชเอ ไอโอดีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินซี ซึ่งเป็นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์

มากไปกว่านี้ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ เพราะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

preterm-birth
คนท้องกินอะไรลูกฉลาด บำรุงครรภ์ยังไงให้ลูกน้อยสมองดี
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner