ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ยาสำหรับเด็ก

ยาสามัญประจำบ้านสำหรับเด็ก เช็กให้ดี ยาแบบไหนควรมีติดบ้านไว้

Enfa สรุปให้

  • ยาสามัญประจำบ้าน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องมีติดบ้านไว้ เพื่อใช้ในกรณีที่เด็ก ๆ มีอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรงหรือฉุกเฉินและจำเป็นจะต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนจะถึงมือแพทย์
  • ยาสำหรับเด็กที่ควรมีติดบ้านไว้ เช่น ยาแก้ไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ ยาบรรเทาอาการผดผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย ผงน้ำตาลเกลือแร่สำหรับอาการท้องเสีย เป็นต้น
  • ยาสำหรับเด็กบางชนิด ไม่ควรซื้อมาใช้งานเองและจำเป็นจะต้องให้แพทย์สั่งจ่ายหรือใช้งานตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น เพราะตัวยาอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อเด็ก หากไม่อยู่ในความดูแลของแพทย์

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ทำไมถึงควรมียาสำหรับเด็กไว้ที่บ้าน
     • ยาสำหรับเด็กที่ควรมีติดบ้าน
     • ยาสำหรับเด็กที่ไม่ควรซื้อมาใช้เอง
     • ไขข้อข้องใจเรื่องยาสำหรับเด็กกับ Enfa Smart Club

ยาสามัญประจำบ้าน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งของใช้จำเป็นที่ควรจะมีติดบ้านไว้ เผื่อในกรณีที่มีอาการป่วยไม่รุนแรง หรือฉุกเฉินและต้องได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถนำออกมาใช้งานได้อย่างสะดวกและทันท่วงที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านที่มีเด็ก ๆ อยู่ ยิ่งจำเป็นจะต้องมียาต่าง ๆ ติดบ้านเอาไว้ แต่ยาสามัญประจำบ้านสำหรับเด็กควรมีอะไรบ้าง ยาแก้ปวดท้องเด็กจำเป็นไหม ยาแก้ไอสำหรับเด็กควรจะต้องมีหรือเปล่า ตามมาหาคำตอบกันค่ะ

ทำไมคุณพ่อคุณแม่จึงควรมียาสำหรับเด็กติดบ้าน


เพราะการเจ็บป่วยนั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาได้ค่ะ และเด็ก ๆ อาจจะไม่สบายหรือเจ็บป่วยขึ้นมาวันไหนและเวลาใดก็ได้  

ดังนั้น การมียาสำหรับเด็กติดบ้านเอาไว้ ก็จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือกับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ในเบื้องต้นได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป 

ยาสำหรับเด็กที่ควรมีติดบ้าน


ตู้ยาหรือกล่องเก็บยาภายในบ้านที่มีเด็ก ๆ อาศัยร่วมด้วย ควรจะมียาสำหรับเด็กเก็บสำรองเอาไว้ให้เพียงพอ โดยยาสำคัญ ๆ ที่ควรจะต้องมี ได้แก่

ยาแก้ปวดท้องเด็ก  

ยาแก้ปวดท้องสำหรับเด็กที่มีความปลอดภัยและสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น 

  • ยาธาตุน้ำแดง สำหรับเด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี ให้กินครั้งละครึ่งช้อนโต๊ะ ถึง 1 ช้อนโต๊ะ 
  • ยาธาตุน้ำขาว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี ให้กินครั้งละครึ่งช้อนโต๊ะ ถึง 1 ช้อนโต๊ะ 
  • ยาลดกรดหรือยาเคลือบกระเพาะอาหาร สำหรับเด็กอายุระหว่าง 3-6 ปี  ให้กินครั้งละครึ่งช้อนโต๊ะ ถึง 1 ช้อนชา ส่วนเด็กที่อายุ 6-12 ปี ให้กินครั้งละ 1-2 ช้อนชา หรือ ครึ่ง - 1 เม็ด 
  • มหาหิงค์ สามารถใช้กับทารกแรกเกิดขึ้นไป โดยทามหาหิงค์ที่บริเวณหน้าท้อง รอบสะดือ ต้นขา เท้า และฝ่าเท้าของทารกเมื่อทารกมีอาการปวดท้องหรือไม่สบายท้อง 

ยาลดไข้สำหรับเด็ก  

ยาลดไข้สําหรับทารกแรกเกิด ยาลดไข้สำหรับเด็กเล็กและเด็กโตที่ควรมีติดบ้านไว้ เช่น 

  • พาราเซตามอลชนิดน้ำ สำหรับเด็กอายุ 4-7 ปี กินครั้งละ 1-2 ช้อนชา เด็กอายุ 1-4 ปี กินครั้งละครึ่ง-1ช้อนชา เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี กินครั้งละครึ่งช้อนชา 
  • พาราเซตามอลชนิดเม็ด สำหรับเด็กอายุ 7-12 ปี กินครั้งละครึ่ง-1 เม็ด เด็กอายุ 4-7 ปี กินครั้งละครึ่งเม็ด 

ยาแก้แพ้สำหรับเด็ก 

ยาแก้แพ้สำหรับเด็กที่ควรมีติดบ้านไว้ เช่น 

  • เซทิริซีน (Cetirizine) 
  • ลอราทาดีน (Loratadine) 
  • เดสลอราทาดีน (Desloratadine) 

แผ่นเจลลดไข้สำหรับเด็ก 

แผ่นเจลลดไข้ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรมีติดบ้านไว้ เพราะมีส่วนช่วยลดไข้และบรรเทาความร้อนออกจากร่างกายได้ แต่ควรทำควบคู่ไปกับการเช็ดตัวนะคะ การแปะแผ่นเจลลดไข้ ไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีไปกว่าการเช็ดตัวค่ะ 

ยาทาผื่นผ้าอ้อมและแมลงสัตว์กัดต่อย 

ยาทาผื่นผ้าอ้อมและแมลงสัตว์กัดต่อย ที่ควรมีติดบ้านไว้ เช่น 

  • คาลาไมน์ โลชัน สำหรับทาผิวหนังเมื่อมีอาการแพ้และอาการคัน 
  • ยาหม่องสำหรับเด็ก ไม่ควรใช้ยาหม่องทั่วไปของผู้ใหญ่กับเด็กเล็กและทารก 
  • ครีมบำรุงผิวหรือออยล์บำรุงผิวสำหรับเด็ก 
  • ผงน้ำตาลเกลือแร่ สำหรับอาการท้องเสีย

นอกจากนี้ ยังควรมีอุปกรณ์ทำแผลสำรอง ไม่ว่าจะเป็น ผ้าก็อซ พลาสเตอร์ปิดแผล น้ำเกลือ น้ำยาฆ่าเชื้อและน้ำยาใส่แผล แอลกอฮอล์ เป็นต้น สำหรับกรณีที่ลูกน้อยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง

ยาสำหรับเด็กที่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด


ยาสามัญประจำบ้านสำหรับเด็ก แม้โดยทั่วไปจะมีความปลอดภัย แต่ก็มียาบางชนิดที่มีความเสี่ยงร่วมด้วยเช่นกันและไม่ควรที่จะซื้อยาเหล่านั้นมาให้เด็ก ๆ กินเองโดยเด็ดขาด หากไม่ได้สั่งจ่ายยาจากแพทย์ อาทิ

  • ยาฆ่าเชื้อสำหรับเด็ก 

ยาฆ่าเชื้อสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็น อะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) หรือเพนิซิลลิน (Penicillin) ยาเหล่านี้ ไม่ควรซื้อมาให้ลูกกินเองนะคะ ควรใช้ก็ต่อเมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าจำเป็นต้องใช้ และจะต้องใช้ในปริมาณที่แพทย์แนะนำเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อเด็ก 

  • ยาแก้อักเสบสำหรับเด็ก 

ยาแก้อักเสบจำพวก ไอบูโพรเฟน หรือแอสไพริน โดยทั่วไปจะสามารถใช้กับเด็กได้ แต่จำเป็นจะต้องใช้ในปริมาณตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้นค่ะ ไม่ควรซื้อยามาให้ลูกใช้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแอสไพริน ที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ หากใช้งานไม่ถูกวิธี หรือนอกเหนือจากที่แพทย์แนะนำ 

  • ยาแก้ไอสำหรับเด็ก 

แม้ว่ายาแก้ไอโดยทั่วไปจะปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่ก็ยังจำเป็นจะต้องให้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำเท่านั้นค่ะ ไม่ควรให้ลูกกินยาแก้ไอพร่ำเพรื่อ เพราะอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งยา “Dextromethorphan” ซึ่งไม่ควรใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี เพราะมีโอกาสที่จะนำไปสู่อาการชัก ปวดศีรษะ หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ จำเป็นจะต้องใช้ภายใต้การดูและและแนะนำจากแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อมาใช้เองเด็ดขาด 

  • ยาลดน้ำมูกสำหรับเด็ก 

ยาลดน้ำมูกส่วนมากมีความปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่จะมียาลดน้ำมูกบางตัวที่ไม่ควรซื้อมาใช้เอง จำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยและสั่งจ่ายจากแทพย์เท่านั้น คือ ซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มยาอันตราย จำเป็นจะต้องใช้งานตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น ไม่ควรซื้อมาให้ลูกกินเองค่ะ

ไขข้อข้องใจเรื่องยาสำหรับเด็กกับ Enfa Smart Club


ลูกปวดท้อง ท้องอืด 5 ขวบ กินยาอะไร? 

เด็กที่มีอาการท้องอืด สามารถกินยาลดกรดหรือยาเคลือบกระเพาะอาหาร โดยเด็กอายุระหว่าง 3-6 ปี  ให้กินครั้งละครึ่งช้อนโต๊ะ ถึง 1 ช้อนชา 

ยาลดไข้สูงสำหรับเด็ก ต้องเลือกอย่างไร? 

ควรเลือกที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก หรือซื้อยาตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำเท่านั้น เช่น พาราเซตามอล ไม่ควรเลือกตัวยาใด ๆ ที่นอกเหนือไปจากที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ เพราะอาจจะให้ผลข้างเคียงที่อันตรายต่อเด็กได้ 

ยาแก้ไข้สำหรับเด็ก จำเป็นต้องให้ชนิดน้ำเท่านั้นไหม? 

ยาลดไข้สำหรับเด็ก มีทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ สามารถใช้แบบไหนก็ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับเด็กเป็นสำคัญ

หากเด็กยังกินยาเม็ดไม่ได้ หรือไม่ชอบกินยาเม็ด หรือกินยาเม็ดลำบาก การให้ยาน้ำถือว่าเหมาะสำหรับเด็กมากกว่า แต่ถ้าเด็กสามารถกินยาเม็ดได้แล้ว ก็สามารถให้ยาแก้ไข้ชนิดเม็ดได้ค่ะ 

ยาแก้ปวดท้องของเด็ก ให้กินแบบผู้ใหญ่ได้หรือไม่? 

ยาแก้ปวดท้องทารก หรือเด็กเล็ก ควรใช้ยาที่เหมาะสำหรับเด็กจะปลอดภัยกว่า เนื่องจากตัวยาบางชนิดอาจเหมาะสำหรับวัยุร่นและวัยผู้ใหญ่ แต่ไม่เหมาะสำหรับจะใช้ในเด็ก 

ที่สำคัญคือก่อนจะให้ลูกกินยาอะไร ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนว่ายาตัวนี้ลูกกินได้ไหม แล้วควรให้ยาแบบไหนถึงจะปลอดภัยกับลูกที่สุด เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ดูแลลูก

บทความที่แนะนำ

ลูกตัวร้อน ลูกมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ รับมือยังไงดี
ยาน้ำไกร๊ปวอเตอร์ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อในเด็กได้จริงหรือ?
using-liquid-medicines-for-children
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner